ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-วันก่อนคณะรัฐมนตรี เห็นชอบกับ ผลการประชุม“คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)” ครั้งที่ 10/2556 ที่สำนักงบประมาณ เสนอเบื้องต้น อนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการเยียวยา ฟื้นฟู และป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยอย่างบูรณาการ หรืองบน้ำท่วม จำนวน 1.2 แสนล้านบาท ภายในวงเงิน ที่คงเหลือ 103,214,800 บาท
สำหรับเงิน 1.2 แสนล้านบาท เป็นเงินก้อนเดียวกับที่พรรคฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกตในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล เมื่อปีที่แล้วว่า “ไม่น่าจะโปร่งใส”
ถูกจัดเป็นงบที่ใช้ฟื้นฟูและเยียวยาพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติในส่วนของการปรับปรุงถนนที่ได้รับความเสียหาย ในปี 2554
ฝ่ายค้านอ้างว่า มีการทุจริตมากถึง 30,000-40,000 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้อยู่กับ เจ๊แดง และ คนหัวขาว ที่ สตง. และ ปปท. ตรวจสอบแล้วพบว่ามีการทุจริตจริง
เงินคงเหลือนี้ 103,214,800 บาท จะถูกผ่องถ่าย เพื่อดำเนินโครงการ “เขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำชี จังหวัด ร้อยเอ็ด” จำนวน 6 โครงการ โดยระบุว่า จากจะสามารถป้องกันความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่สำคัญของแม่น้ำชีและมีความพร้อมที่จะดำเนินการ โดยให้หน่วยงานที่ รับผิดชอบขอตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง
พร้อมกับอนุมัติงบประมาณวงเงิน 70,000,000 บาทให้กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในส่วนของสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เป็นผู้ดำเนินโครงการจัดทำ “เรือสำรวจระดับแม่น้ำและคลอง” ที่สำคัญ เพื่อสำรวจการเปลี่ยนแปลงของลำน้ำ
ตามข้อเสนอของ กบอ.เชื่อว่าจะมี ประโยชน์ในระยะยาวต่อการสนับสนุนระบบคลังข้อมูลน้ำเพื่อการบริหารจัดการ น้ำและป้องกันอุทกภัยของประเทศ โดยให้ “สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไว้เดิมพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมใน 2 แนวทาง คือ ดำเนินการในลักษณะเบิกจ่ายแทนกันโดยขอทำความตกลงกับกรมบัญชีกลาง หรือดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
รัฐบาล ยังได้จัดงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(องค์การมหาชน) (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ โดยเป็นระบบกลางที่รวบรวมจัดเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูล จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 12 หน่วยงาน ให้อยู่ภายใต้ฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันระบบแล้วเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการแก่ภาครัฐ
ดูตัวเลขเงินคงเหลือ 103,214,800 บาท ที่จะนำลงในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 6 โครงการ ประกอบด้วย โครงการปรับปรุงเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี บ้านรัตนวารี หมู่ที่ 16 ตำบลพนมไพร อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด (จุดที่ 1 ตอนเหนือ) โครงการปรับปรุงเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี บ้านรัตนวารี หมู่ที่ 16 ตำบลพนมไพร อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด (จุดที่ 2 ตอนกลาง)
โครงการปรับปรุงเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี บ้านรัตนวารี หมู่ที่ 16 ตำบลพนมไพร อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด (จุดที่ 3 ตอนใต้) โครงการปรับปรุงเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี บ้านท่าโพธิ์ หมู่ที่ 11 ตำบลโพธิ์ใหญ่ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด (จุดที่ 1 ตอนเหนือ)
โครงการปรับปรุงเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี บ้านท่าโพธิ์ หมู่ที่ 11 ตำบลโพธิ์ใหญ่ อำเภอ พนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด (จุดที่ 2 ตอนใต้) และ โครงการปรับปรุงเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี บ้านท่าไฮ หมู่ที่ 13 ตำบลโพธิ์ใหญ่ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด
อีกด้าน “โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท” ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการโครงการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนโครงการออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามที่ประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เสนอ
เรื่องนี้ “นายปลอดประสพ สุรัสวดี”รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน(กบอ.) บอกว่า รัฐบาลจะเดินหน้าจะอนุมัติงบประมาณ 180 ล้านบาท ได้ในการประชุม ครม. สัปดาห์หน้า 24 ก.ย.56 นี้
เป็นเงินงบประมาณที่จะนำมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน 39 จังหวัด
ได้แก่กลุ่มพื้นที่ต้นน้ำ 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย และเพชรบูรณ์
กลุ่มพื้นที่กลางน้ำ (ตอนบน/ล่าง) 16 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อ่างทอง ลพบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรีและกาญจนบุรี
กลุ่มพื้นที่ปลายน้ำ 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรีและจันบุรี
นอกจากนี้ยังมีในส่วนของกลุ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2จังหวัด คือชัยภูมิและสกลนคร และกลุ่มพื้นที่ภาคใต้ มีเพียงจังหวัดเดียวคือ จังหวัดสงขลา
โดยจะเริ่มทำประชาพิจารณ์ ในภาคเหนือทั้งหมด 12 จังหวัด เริ่มที่ต้นที่เชียงใหม่เป็นจังหวัดแรก ในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ ส่วนภาคกลาง ทั้งหมด 19 จังหวัด เริ่มต้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ในวันที่ 2 ตุลาคมเช่นกัน ส่วนกรุงเทพมหานคร จะเป็นพื้นที่สุดท้ายคือวันที่ 19 พฤศจิกายน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด เริ่มที่จังหวัดสกลนคร ในวันที่ 30 ตุลาคม ภาคตะวันออก 2 จังหวัด เริ่มที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ในวันที่ 25 ตุลาคม และภาคใต้ 1 จังหวัด ในวันที่ 1 พฤศจิกายน
คาดว่าจะมีคนเข้าร่วมมากกว่า 60,000 คน และใช้เวลาให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน จากนี้จะต้องมีการประกาศให้ประชาชนรับทราบกำหนดการรับฟังความคิดเห็นภายในวันที่ 10 กันยายนนี้
มาดูรายชื่อของ “คณะอนุกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน” หรือ (อรป.) ที่นายปลอดประสพ เซ็นแต่งตั้งขึ้นมานั้น ประกอบด้วย
นายกมล สุขสมบูรณ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) เป็นประธานคณะอนุกรรมการ มีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) เป็นรองประธานคณะอนุกรรมการด้านปฏิบัติการ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นรองประธานฯด้านสารัตถะนายสุรจิตต์ อินทรชิต รองอธิบดีกรมประมง เป็นรองประธานฯด้านแผน
นอกจากนั้นมีอนุกรรมการรวมแล้ว 20 คน อาทิ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกรมชลประทาน ผู้แทนกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำ ผู้แทนกรมประชาสัมพันธ์ ผู้แทนองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ(กรอ.) ผู้แทนภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานกบอ.แต่งตั้งจำนวนไม่เกิน3คน และมีผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สปน. เป็นอนุฯและเลขานุการ
โดยอาศัยอำนาจตามระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ.2555 ข้อ 11(6) โดย
สำหรับอำนาจหน้าที่ของอนุฯชุดนี้ คือ 1.จัดทำแผนประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 2.จัดทำนิทรรศการและเอกสารทางวิชาการ สิ่งพิมพ์ เพื่อการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ 3.จัดสถานที่และวิธีการรวมทั้งการคัดเลือกหน่วยงาน องค์กรและประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 4.รวบรวมและประมวลความคิดเห็นของประชาชนเสนอกบอ. 5.ให้แต่งตั้งคณะทำงานได้ตามความจำเป็น คณะทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านการจัดทำแผนการรับฟังความคิดเห็น ด้านปฏิบัติการการรับฟังความคิดเห็น และด้านสารัตถะ 6.ปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย
ในตอนท้ายของคำสั่งระบุทิ้งท้ายด้วยว่า "ในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ให้สามารถรับการสนับสนุนทางเทคนิคจากบริษัทผู้รับจ้างที่ได้รับการคัดเลือก"
มีกระแสว่า แม้นายกฯยิ่งลักษณ์ จะสั่งยุติ การประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดลพบุรี ไปอย่างไม่มีกำหนดแต่นายปลอดประสพ และตัวแทนจากบริษัทเค-วอเตอร์ ได้ขึ้นบินสำรวจพื้นที่ “แนวฟลัดเวย์ฝังตะวันออก” เพื่อยืนยันเส้นทางจากสภาพพื้นที่จริง และประเมินความยากของโครงการแล้ว
อีกด้านนายนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะประธานที่ปรึกษา รมว.เกษตร ได้ร่วมประชุมกับ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กรมชลประทาน เพื่อหารือในเรื่องนี้ด้วย
ท้ายสุด “นายปลอดประสพ นายบรรหาร” ยืนยันเหมือนกันว่า น้ำจะไม่ท่วมเหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน