xs
xsm
sm
md
lg

ชง4 ข้อปูทบทวนนํ้า 3.5แสนล. ‘ปลอด’เพี้ยนไม่เลิก!ด่ากลุ่มค้านไอ้เหี้-

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้(3 มิ.ย.56) นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะทำงานด้านกฎหมาย ในฐานะตัวแทนคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ.เข้าพบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เพื่อชี้แจงแนวทางการป้องกันการทุจริตในการประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้ พ.ร.ก. 3.5 แสนล้านบาท
นายธงทอง ในฐานะคณะกรรมการคัดเลือกและจัดซื้อโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน กล่าวว่า แม้การประมูลโครงการจะใช้วิธีพิเศษ แต่ได้ดำเนินการด้วยความรอบคอบ โดยผ่านการปรึกษากับอัยการ และกฤษฎีกามาโดยตลอด แต่ก็พร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของ ป.ป.ช.
ด้านนายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ สบอช.ระบุถึงความคืบหน้าการคัดเลือกผู้ประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำว่า อนุกรรมการคัดเลือกด้านเทคนิคที่มีนายอภิชาติ อนุกูลอำไพ เป็นประธาน อยู่ระหว่างการตรวจทานข้อเสนอการออกแบบ และก่อสร้างของเอกชน เพราะมีเอกสารและข้อมูลเป็นจำนวนมาก ที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และรัดกุม
ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.ยอมรับแนวทางป้องกันการทุจริตของ กบอ.ได้ คาดว่าการพิจารณาในขั้นตอนเทคนิคจะเสร็จสมบูรณ์ภายในสัปดาห์นี้ และจะเรียกเอกชนเข้าต่อรองราคาในสัปดาห์หน้า
อีกด้านนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันที่ 9 มิ.ย.นี้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ จะเสนอให้ทบทวนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เนื่องจากวิตกเรื่องความไม่ชัดเจนของโครงการและผลกระทบที่จะเกิดกับภาคประชาชน ขณะที่รัฐไม่ได้เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเท่าที่ควร
ทั้งนี้ ได้สรุปข้อเสนอแนะ 4 ประเด็นที่ควรจะมีการพิจารณา ประกอบด้วย 1.โครงการดังกล่าวไม่เปิดกว้างให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม เนื่องจากไม่เปิดเผยรายละเอียดของโครงการให้รับทราบก่อน โดยเฉพาะแผนสร้างฟลัดเวย์ และการเวนคืนที่ดิน ที่อาจกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นรัฐบาลควรมีแผนแม่บท (มาสเตอร์แพลน) เพื่อให้รู้ล่วงหน้าว่าจะทำอะไรบ้าง
2.การจัดลำดับความสำคัญของโครงการ ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลมีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้งบประมาณทั้งหมดในคราวเดียว 3.5 แสนล้านบาท รัฐบาลอาจเริ่มจากการใช้งบประมาณเพียงแค่ 10-15% ของโครงการ หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาทก่อน โดยมีการประเมินประสิทธิภาพของโครงการ หลังจากนั้นจึงพิจารณาโครงการอื่นๆ เพื่อต่อยอดจากโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว เนื่องจากการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำต้องใช้เวลานานมาก จึงควรพิจารณาให้รอบคอบและดูสภาพของพื้นที่ไปด้วยน่าจะเหมาะสมกว่า
ขณะเดียวกัน ต้องย้อนมองการใช้งบน้ำท่วมที่ผ่านมา 1.2 แสนล้านบาท ว่านำไปดำเนินโครงการใดบ้าง และมีประสิทธิภาพเพียงใด
3.ควรให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมในปี 2554 ต้องยอมรับว่าสาเหตุหลักมาจากความล้มเหลวของการบริหารจัดการของภาครัฐ เพราะไม่เคยมีศูนย์ปฏิบัติการแบบเบ็ดเสร็จ และไม่ได้เตรียมพร้อมกับการบริหารจัดการปริมาณน้ำจำนวนมาก ถ้ารัฐบาลมีการบริหารที่ดี รับทราบปริมาณการกักเก็บน้ำของเขื่อน และสามารถบริหารการระบายน้ำได้เหมาะสม คงไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ดังนั้นในโครงการ 3.5 แสนล้านบาท ควรจะมีการบริหารจัดการอยู่ด้วย และอาจไม่ต้องใช้เงินในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากก็ได้
4.การเลือกใช้รูปแบบดีไซน์แอนด์บิวท์ หรือสร้างไปออกแบบไปในขณะที่ไม่มีมาสเตอร์แพลนออกมา โดยให้ผู้รับเหมาออกแบบและสร้างตามแบบที่กำหนดนั้น ต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อประชาชนด้วย เนื่องจากในด้านธุรกิจ การก่อสร้างแต่ละโครงการต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าการลงทุนเป็นอันดับแรก และอาจละเลยเรื่องผลที่จะเกิดต่อปัจจัยแวดล้อมต่างๆ
“จะเสนอนายกฯ ขอให้ทบทวนกระบวนการที่เดินหน้าไปแล้ว และควรเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่านี้ ต้องดูว่าจำเป็นต้องเร่งเดินหน้าโครงการอย่างรีบเร่งหรือไม่ รวมถึงการใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ ที่ผ่านมาทางองค์กรได้รับการร้องเรียนและแสดงความเป็นห่วงต่อโครงการนี้อย่างมากจากการตรวจสอบมีผู้ที่เสนอความเห็นผ่านเว็บไซต์ 4 ล้านแฟนเพจแล้ว จึงต้องการให้รัฐบาลรับฟังเสียงสะท้อนเหล่านี้ด้วย เพื่อให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพและสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้จริง”นายวิชัย กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการจัดเวที "เพื่อไทย เพื่ออนาคตประเทศไทย" ณ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี จ.เชียงใหม่ 2 มิ.ย. 56 ที่ผ่านมา ทางพรรคเพื่อไทยได้จัดขึ้น เพื่อชี้แจงความคืบหน้าโครงการต่างๆ ของรัฐบาลและอุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาดได้แนะนำตัวนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นปราศรัย จากนั้นนายปลอดประสพได้กล่าวทักทายพี่น้องชาวเสื้อแดงเชียงใหม่ พร้อมหยอดพูดว่า ได้ดูผมเล่นหรอป่าว พร้อมขอบคุณทุกคนช่วงประชุมน้ำ มีไอ้พวกบ้าบอคอแตกอะไรจะมาประท้วงการชุมนุมน้ำ แล้วท่านทั้งหลายก็จัดคณะไปเก็บขยะ มันก็โกรธผมนะ ว่าผมไปด่ามันว่าขยะ ที่จริงยังน้อยไปนะ ในใจนะ(แต่พูดเสียงดังออกไมค์) ผมอยากจะด่าไอ้เหี้-ด้วยซ้ำไป แต่ผมไม่ได้ด่ากลัวเค้าฟ้อง
จากนั้นนายปลอดประสพ ได้กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลกำลังเริ่มต้นเดินหน้าบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศแบบบูรณาการ วงเงิน350,000 ล้านบาท เพื่อป้องกันอุทกภัยและภัยแล้ง ซึ่งถ้าสำเร็จ มั่นใจว่าประเทศไทยจะไม่มีน้ำท่วมอย่างน้อย 10 ปี
นายปลอดประสพ ยืนยันว่า โครงการนี้ไม่มีฮั้วประมูล และไม่มีทุจริต เพราะมีบริษัทเข้าร่วมประมูลกว่า 10 บริษัท ไม่ใช่ฮั้วประมูลสร้างโรงพักทั่วประเทศของรัฐบาลชุดก่อน ที่มีรายเดียวได้รับสัมปทาน
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีมีนายทุนไปสร้างบ้านในพื้นที่เตรียมการสร้างเขื่อนที่ จ.ชัยภูมิ เพื่อรอรับเงินชดเชย ว่า ทางผู้ว่าฯรายงานมาแล้ว และตนเปิดไฟเขียวให้อำนาจผู้ว่าฯชัยภูมิสามารถจัดการได้เต็มที่หากพบว่ามีนายทุนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการซื้อพื้นที่ที่มีการสร้างเขื่อนเพื่อขอรับเงินชดเชย เพราะการที่เข้ามาปลูกบ้านทั้งที่รู้อยู่แล้วพื้นที่ตรงนี้จะมีการสร้างเขื่อน เป็นเรื่องที่ไม่สมควร เพราะถือเป็นการส่งเสริมให้มีการเรียกร้องค่ารื้อถอน ซึ่งต้องนำภาษีของประชาชนมาจ่าย การกระทำแบบนี้ถือเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น