ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
เมื่อเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอภายใต้เงื่อนไขเดียวกัน เหตุการณ์นั้นก็จะ มีร่องรอยของแบบแผนซึ่งผู้คนสามารถสังเกตได้ หากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นรู้จักสรุปบทเรียน พวกเขาย่อมคาดการณ์ได้ว่าภายใต้เหตุการณ์ทำนองเดียวกัน จะมีสิ่งใดบ้างที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่หากไร้การสรุปบทเรียน ไม่ใส่ใจด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ น้ำพุแห่งปัญญาย่อมไม่ผุดออกมาจากใต้ผืนพิภพ
การกระทำผิดซ้ำซากของผู้คนจำนวนมากในแวดวงของผู้มีอำนาจรัฐ ไทย ทำ ให้ผมเห็นว่าพวกเขามีการสรุปบทเรียนน้อยมาก ในบางกรณี บางกลุ่มอาจมีการสรุปบทเรียนอยู่บ้าง แต่ทว่าระดับการไตร่ตรองโดยใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบเพื่อค้นหาปัญหาเป็นไปอย่างไร้ระบบ เมื่อกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ปัญหาจึงสามารถทำได้อย่างเสี่ยงเสี้ยวและผิวเผิน โดยอาจแก้ปัญหาบางอย่างได้ แต่กลับกลายเป็นว่าไปสร้างปัญหาอย่างอื่นขึ้นมาทดแทน ทำนอง “อุดที่นี่ โผล่ที่โน่น” หรือแนวทางบางอย่างก็แก้ได้แต่เพียงอาการของปัญหาเท่านั้น
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เรื่อง การให้วุฒิสมาชิกทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งเป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นถึงการกระทำผิดซ้ำซากของนักการเมืองไทย เพราะการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกทั้งหมดเคยสร้างผลผลิตที่ไม่พึงปรารถนาขึ้นมา นั่นคือ ทำให้ได้วุฒิสมาชิกจำนวนมากที่เป็นบุพการี หรือ ภรรยา หรือบุตร หรือเครือญาติของบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลลัพธ์ที่ตามมาคือการทำให้ “วุฒิสภา” กลายเป็น “ญาติสภา” อันเป็นการรวบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่กลุ่มเครือญาติของตระกูลการเมืองอย่างเข้มข้น ซึ่งได้สร้างผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงต่อวุฒิสภา จนทำให้เกิดภาวะ “การสูญเสียหน้าที่ สิ้นความชอบธรรม” อย่างสิ้นเชิง จนสังคมตราหน้าให้เป็น “สภาผัวเมีย”
การตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของวุฒิสภา ก็จะกลายเป็น “พิธีกรรม” ที่ไร้คุณค่าและความหมายทางการเมือง เพราะว่าผู้ตรวจสอบกับผู้ถูกตรวจสอบมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ การตรวจสอบแบบลูบหน้าปะจมูกอันเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเมื่อครั้งวุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง ก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นอีกอันเป็นการซ้ำรอยเดิม และวุฒิสภาก็จะกลายเป็น “สภาตรายาง” ที่ประทับรับรองความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลอย่างสมบูรณ์แบบ
บางคนอาจบอกว่าเราไม่ควรมองในแง่ร้ายเกินไป ควรให้เกียรติต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามา คนไทยบางส่วนอาจคิดเยี่ยงนี้ โดยเฉพาะคนที่ไร้เดียงสาทางการเมือง ซึ่งมักจะติดตามการเมืองอย่างผิวเผิน จึงทำให้ขาดความเข้าใจในความปรารถนาและพฤติกรรมที่แท้จริงของนักการเมือง และคิดเอาว่า การให้เกียรติตำแหน่งเป็นสิ่งที่พึงกระทำ โดยลืมไปว่า เกียรติที่แท้จริงหาได้อยู่ที่ว่าตำแหน่งนั้นคืออะไร แต่อยู่ที่ว่า “คนที่ดำรงตำแหน่งนั้นทำอะไรแก่บ้านเมืองและเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรมแก่ผู้คนในสังคมมากน้อยเพียงใด”
ขณะที่ประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิด มีความเข้าใจวิธีคิด และพฤติกรรมของนักการเมืองในอดีตอย่างทะลุปรุโปร่ง ย่อมมีความแม่นยำในการคาดการณ์พฤติกรรมอนาคตของกลุ่มนักการเมืองอยู่บ้าง พวกเขาไม่หวังอย่างลมๆแล้งๆว่า วุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้ง จะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลอย่างแข็งขัน ในเมื่อแบบแผนพฤติกรรมในอดีตและปัจจุบัน เปิดเผยให้เห็นอย่างชัดเจนว่า วุฒิสมาชิกส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้งเลือกการกระทำที่ทำให้พวกเขาได้รับผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด โดยการสนับสนุนรัฐบาลอย่างไม่ลืมหูลืมตา เมื่อการกระทำในอดีตและปัจจุบันของ สว.เลือกตั้งเป็นแบบนี้ โอกาสที่จะแสดงพฤติกรรมแบบเดิมในอนาคตก็จะมีสูงยิ่ง
หน้าที่อีกประการหนึ่งของวุฒิสภาคือการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เชิงต่างตอบแทนเช่นเดียวกัน เมื่อ สว.และรัฐบาลเป็นพวกเดียวกันเสียแล้ว ผู้ที่จะถูกคัดเลือกมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ย่อมถูกกำหนดจากฝ่ายการเมือง เมื่อเป็นเช่นนั้นหน้าที่หลักของ กกต. อันได้แก่ การจัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์และยุติธรรมก็ย่อมมิอาจบรรลุได้ เช่นเดียวกันการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเลือกก็จะกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าขานดุจนิยายปรัมปรา กกต.ก็จะกลายเป็น “เสมียนและจับกัง” ในการสร้างบันไดที่แข็งแกร่งให้แก่นักการเมืองเดินเข้าสู่อำนาจอย่างยโสโอหังต่อไป
ส่วน ป.ป.ช.ที่จะเกิดจาก วุฒิสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งก็ย่อมประสบชะตากรรมเดียวกันกับ กกต. การปราบปรามการทุจริตเอาผู้ผิดมาลงโทษซึ่งทำได้เพียงน้อยนิดอยู่แล้วในปัจจุบัน ก็ยิ่งจะทำได้น้อยลงไปอีกในอนาคต ปปช. จะกลายเป็นองค์กรที่ไร้ความหมายและความสำคัญใดๆอีกต่อสังคม และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณของการทุจริตโดยนักการเมืองผู้ฉ้อฉล
ส่วนหน้าที่ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะกลายเป็นเครื่องมือแก่ผู้กุมอำนาจรัฐ พวกเขาจะใช้กลไกนี้เพื่อรังแกและจัดการกับนักการเมืองที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม หากรัฐบาลไม่พอใจนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามคนใด หรือไม่พอใจวุฒิสมาชิกเสียงข้างน้อยผู้ใด หรือ ประสงค์จะเอาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระออกจากตำแหน่ง พวกเขาก็สามารถสั่ง วุฒิสมาชิกเสียงส่วนใหญ่ที่พรรคพวกเขาใน “ญาติสภา” ซึ่ง อาจเรียกเสียใหม่ให้สอดคล้องระหว่างองค์ประกอบกับพฤติกรรมว่า “ญาติทาสสภา” ให้ดำเนินการถอดถอนฝ่ายตรงข้ามตนเองอย่างง่ายดาย
ด้านการกลั่นกรองกฎหมายเพื่อสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนและความสงบของบ้านเมือง ก็จะกลายเป็นเพียงตำนานที่จะเล่าขานต่อๆกันมา กฎหมายจะถูกออกมาเพื่อตอบสนองผลประโยชน์และเพิ่มอำนาจแก่กลุ่มพวกพ้องตนเองเป็นหลัก กฎหมายประเภทนิรโทษกรรมล้างความผิด กฎหมายที่ให้อำนาจในการใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไร้การตรวจสอบ กฎหมายที่เพิ่มอำนาจสร้างความมั่นคงแก่ตระกูลชนชั้นนำทางการเมือง จะถูกทยอยผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนกฎหมายที่บรรดานักการเมืองในระบบ “ญาติทาสสภา” จะไม่มีวันผลักดันให้เกิดขึ้น คือ กฎหมายที่เพิ่มอำนาจประชาชน สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพิ่มสวัสดิการอย่างยั่งยืนแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง การกำหนดโครงสร้างใหม่เพื่อจัดสรรทรัพยากร เช่น น้ำมัน ที่ดิน ให้เป็นธรรม และ การเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
เมื่อการเมืองไทย เกิดระบบ “ญาติทาสสภา” อย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งที่เราจะเห็นในอนาคตก็คือรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ที่มีเนื้อหาประหลาดพิกลจะถูกบัญญัติขึ้นมาตามอำเภอใจ โดยไม่ยึดหลักคุณธรรม ความยุติธรรม ความเท่าเทียม ความชอบธรรม สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพอีกต่อไป
หากวุฒิสมาชิกเสียงข้างมากและรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่กำลังสุมหัวมั่วสุม เร่งรีบ เร่งรัด ข่มขู่ ปิดกั้น บีบคั้น และบีบน้ำตาอยู่ในขณะนี้ประสบความสำเร็จ สามารถผลักดันและออกแบบระบบ “ญาติทาสสภา” ได้สมบูรณ์แบบตามเป้าหมายที่กำหนด อนาคตข้างหน้าของสังคมไทยคงยากที่จะหลีกเลี่ยงกับการเกิดของสถานการณ์อันสยดสยองนองเลือดอย่างไม่เคยมีมากก่อนในประวัติศาสตร์ในระดับที่สูงยิ่ง