xs
xsm
sm
md
lg

"สภาอัปยศ"ป่วนอีก "ค้อนแดง"สั่งตร.ลากคอ"วัชระ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (4ก.ย.) มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณา ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของส.ว. โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้ ได้มีการอภิปรายในมาตรา 5 ในประเด็นการแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่ยังไม่ทันได้เริ่ม สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้ขอหารือถึงปัญหาการชุมนุมเกษตรกรชาวสวนยาง โดยขอให้งดเว้นการประชุมร่วมเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วหันมาหารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประท้วงและต้องการให้ดำเนินการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ
ขณะที่ นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร ให้สภาแจงเอกสารการใช้จ่ายงบประมาณในสำนักงานเลขาธิการสภา แต่นายสมศักดิ์ ได้ตัดบทให้เข้าวาระต่อไป ส่วนปัญหาต่างๆให้ไปกระทู้ถามในวันอื่น แต่นายวัชระ ไม่ยินยอม และลุกเดินมาหน้าบังลังก์ประธาน พร้อมกับตะโกนเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง จนนายสมศักดิ์ ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภามาควบคุมตัว ทำให้เกิดการยื้อยุดกันไปมาอย่างชุลมุน จนในที่สุดนายสมศักดิ์ ได้ยอมให้เจ้าหน้าที่ออกไป และให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อภิปราย
ด้านนายธนา ชีรวินิช ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวตำหนิการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ ว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้สมาชิกถูกอำนาจมึดคุกคามการทำหน้าที่ ถึงต้องมีรัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ โดยสมาชิกต้องคำนึงถึง แต่คนที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือ ประธานสภาเอง ต้องทนเห็นคนอื่นรักแกเพื่อนสมาชิกไม่ได้ ถ้าเกิดอะไร ต้องออกมาปกป้อง แต่กลับขัดขวางตลอด และสั่งให้เจ้าหน้าที่มาจับกุม ทำผิดบทบัญญัติเสียเอง เป็นสิ่งน่าละอายที่สุด แทนที่ปกป้องกลับไม่ทำ ถ้ามีการสั่งจับอีกเมื่อไร ประธานกำลังทำผิดรัฐธรรมนูญเอง และต้องรับผิดชอบ เพราะมีหน้าที่ปกป้อง ไม่ใช่ข่มขู่สมาชิก
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประธานใช้อำนาจถูกต้องแล้ว ไมได้ขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และเสนอให้พักการประชุม เพื่อเริ่มต้นใหม่ แล้วเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน
นายสมศักดิ์ ยืนยันว่า จะสั่งให้เลขาฯ ส่งเอกสารวันนี้ ส่วนการให้นายวัชระออกไป เพราะต้องการให้ไปสงบสติอารมณ์ และมีพฤติกรรมแบบนี้หลายครั้งแล้ว จึงยืนยันว่า ทุกอย่างได้ดำเนินการตามขั้นตอน
ขณะที่ ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส. ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย กล่าวสนับสนุนการทำงานของนายสมศักดิ์ และเสนอให้มีการสอบจริยธรรม นายวัชระ แต่นายสมศักดิ์กล่าวปัดว่า หากต้องการจะให้มีการสอบจริยธรรม สมาชิกต้องเสนอเรื่องขึ้นมาเอง หากจะให้ตนสอบเอง คงจะไม่สอบ

**ขุดพฤติกรรมในอดีตมาประจาน

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการถกเถียงกันร่วมครึ่งชั่วโมง นายสมศักดิ์ ได้ตัดสินใจสั่งพักการประชุม 10 นาที เพื่อให้สมาชิกได้สงบสติ อารมณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ยังคงอภิปรายตำหนิการทำหน้าที่ของ นายสมศักดิ์ ที่มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภา ควบคุมตัวนายวัชระ ทำให้เกิดการโต้เถียงกันไปมาระหว่างส.ส.พรรคเพื่อไทย กับพรรคประชาธิปัตย์ อีกครั้ง โดยต่างก็สาวถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เพื่อตำหนิกันไปมา
นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส. อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้ถ่ายคลิปย้อนหลังลากเก้าอี้ ถูกขว้างแฟ้ม มาฉายซ้ำ และประธานถูกกระทำมาได้ และปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากอะไรจะได้เป็นเครื่องเตือนสติ เพราะส.ส.บางคนก็ไม่เคยเคารพ และปฏิบัติตาม ดังนั้นหากให้ตำรวจมานำตัวออกไปก็ถือว่าชอบอยู่แล้ว
ด้านนายวัชระ กล่าวว่า ตนเข้าใจประธานทำหน้าที่ให้เข้าตา แต่ตนก็ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้ประชาชน และเรียกร้องการแก้ปัญหา คือเรื่องยางพารา เพราะผู้ชุมนุมถูกยิงตาย และรัฐบาลจะให้เงินเยียวยารวมแล้ว 7.9 ล้านบาทหรือไม่ และรวมถึงขอเอกสารการทุจริตในสภาฯ ไป 2 เดือน ทั้งที่ประธานสภาฯ ให้เลขาธิการสภาฯ ส่งเอกสาร แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยส่งเอกสารให้ตน ทั้งนี้ หากใครให้สอบจริยธรรมตนก็ยินดี ก็ขอให้ตรวจสอบท่านประธานด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากเหตุการณ์ฉุดกระชากตน ได้ทำให้ไมโครโฟนหัก เพราะเอามือไปยึดเอาไว้ และตนยินดีจะชดใช้เงิน 1 พันบาท หากไม่พอมาหักเงินเดือนตนได้อีก
“ผมได้รับทราบว่าท่านฝึกอบรมให้ตำรวจอุ้มส.ส.หลายครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่สำเร็จ เพราะตำรวจกระซิบบอกผมว่า ท่านใช้อำนาจเผด็จการ และผมไม่อยากให้ใช่อีก ครั้งนี้ผมอโหสิกรรมให้ แต่หากครั้งหน้าไม่ยอม” นายวัชระ ระบุ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า หากเป็นไปได้ก็จะไม่ใช้ตำรวจ และตนก็อะลุ้มอล่วย มาโดยตลอด ตนให้เกียรติสมาชิก แต่ที่เกิดปัญหาเพราะสมาชิกไม่ให้เกียรติตน และไม่อยากให้เกิดปัญหา ซึ่งทุกคนต้องช่วยกัน และยึดข้อบังคับ ส่วนข้อกล่าวว่าหาว่าเผด็จการนั้นฝ่ายค้านก็ว่าตนเป็น ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ให้ยึดข้อบังคับ ไม่ทราบว่า ตนจะต้องทำอย่างไร
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันนี้ที่มีความขัดแย้งเป็นเพราะประธานอะลุ้มอล่วย เพราะรู้ว่าการพิจารณารัฐธรรมนูญ มีมาหลายวัน หากเพื่อนสมาชิกให้ความเห็นตรงกันว่า รัฐธรรมนูญใช้บังคับกับบุคลที่มีการเลือกตั้ง ส.ว.ก็ต้องช่วยกัน แต่ท่านบอกว่าไม่อยากให้รัฐธรรมนูญนี้ออกมา หลายคนไม่ต้องการให้คลอดออกมา สมัยที่ตนเป็นฝ่ายค้าน กฎหมายหลายฉบับ เราไม่เห็นด้วย ก็อภิปรายไม่เห็นด้วย หรือวอล์กเอาต์ออกไป แต่ขณะนี้รัฐสภาเปลี่ยนวิธีการที่เรียกว่า ประเพณีปฏิบัติ ที่ต้องทำตามข้อบังคับการประชุม และท่านประธานใช้ข้อบังคับแต่สมาชิก ก็ไม่เชื่อ และเคยไปเชิญออกไม่ออกก็มีวิธีการต่อไปขั้นตอนไปตามรูปแบบ แต่เมื่อสมาชิกไม่ใช้ข้อบังคับ แปลว่า ไม่เคารพไม่กฎหมาย ดังนั้น ที่นี่ก็ไม่ควรออกกฎหมาย ไม่สมควรเปิดประชุมรัฐสภา เพราะที่นี่ไม่สามารถเป็นตัวอย่างได้ และเราจะถูกต่อว่า
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การพูดจาเสียดสีว่าพวกตนทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง อยากบอกว่าสมัยที่นายวิชาญ เป็นฝ่ายค้าน ทำยิ่งกว่านี้ไม่เหมือนพวกตนทำวันนี้ นายวิชาญเอาพวกมาล้อมสภาฯ เอาพวกมาไล่จับกุมตนในสภาฯ พวกตนไม่ได้ทำ ไม่มีพฤติกรรมที่หยาบช้า เลวทรามขนาดนั้น วันนี้มากล่าวหาว่าพวกตนขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่เป็นความจริง เพราะพวกตนกำลังใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติตามกติกา
นายวิชาญได้ประท้วงให้นายสุเทพ ถอนคำพูดที่บอกว่า ตัวเองเอาคนมาล้อมสภาฯ มาจับกุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แต่นายสมศักดิ์ วินิจฉัยไม่ให้ใครถอนคำพูด เพราะทุกคนที่พูดมาตลอดได้พาดพิงลักษณะนี้เหมือนกันหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากปล่อยให้สองฝ่ายโต้กันไปมา จนนายสมศักดิ์ ต้องขอสั่งพักการประชุมอักครั้ง เพื่อไปทำธุระส่วนตัว
เมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง นายสมศักดิ์ ได้พยายามดำเนินการพิจารณา มาตรา 5 แต่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้เสนอให้โอกาสฝ่ายค้านได้หารือถึงปัญหาราคายางพาราอีกครั้ง โดยส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในพื้นที่ภาคใต้ ได้ทยอยลุกขึ้นอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร ได้ขอให้นายสมศักดิ์ ใช้ฐานะประมุขสภานิติบัญญัติ ทำหนังสือเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาร่วมฟัง และชี้แจงการอภิปรายของส.ส. เกี่ยวกับปัญหายางพารา ในวันพรุ่งนี้ ( 5 ก.ย.) ด้วย ซึ่งนายสมศักดิ์ ก็รับปากว่าจะดำเนินการให้
จากนั้นที่ประชุมจึงได้เริ่มเข้าเนื้อหาการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 5 เกี่ยวกับที่มาของส.ว. เมื่อเวลา 14.30 น.

** ต้องหยุดสภาผัว-เมีย

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มอภิปรายใน มาตรา 5 เรื่องคุณสมบัติของผู้ลงสมัคร ส.ว. ว่า ตนสงวนคำแปรญัตติเนื่องจากมีข้อสงสัยต่อความบริสุทธิ์ใจที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย ของคณะกรรมาธิการฯ ที่ดูเหมือนว่าจะมุ่งแต่ประโยชน์ของพวกพ้องตัวเอง
การที่คณะกรรมาธิการยกเลิกข้อความในมาตรา 115 (5)(6)(7)(9) ของรัฐธรรมนูญปี 50 โดยรัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้บุพการี คู่สมรส บุตร ของ ส.ส. ลงรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ว. และคนที่มีตำแหน่งในพรรคการเมือง เคยเป็นรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องพ้นจากตำแหน่งอย่างน้อย 5 ปี ถึงจะลงรับสมัครส.ว.ได้ แต่กรรมาธิการชุดนี้ยกเลิกกฎดังกล่าวทั้งหมด ตนจึงเชื่อว่า คณะกรรมาธิการฯ มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ มีผลประโยชน์แอบแฝง ตนเชื่อว่าไม่มี ส.ส.คนใดที่จะเปลี่ยนมาเป็น ส.ว. การที่คณะกรรมาธิการ ระบุเรื่อง ส.ส.ทิ้งเอาไว้ เพราะต้องการให้มีระบบการบริหารจัดการภายในจังหวัด ว่าจะเอาคนใดลง ส.ว. หรือ ส.ส. ซึ่งหากเมื่อใดที่พรรคการเมืองสามารถเข้าไปครอบงำได้ทั้งสองสภา ประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลขององค์กรอิสระ จะเสื่อมลงไปทันที
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า พ่อแม่ที่เป็น ส.ส. ย่อมมีอำนาจในการสั่งลูกที่เป็นส.ว.อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการแก้กฎหมายเช่นนี้ เป็นการทำลายเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญปี 50 อย่างชัดเจน ที่ต้องการไม่ให้วุฒิสมาชิกเกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง การเขียนกฎหมายแบบนี้ เป็นความจงใจที่จะให้อิทธิพลทางการเมืองเข้าไปครอบงำวุฒิสภา ทั้งที่รัฐบาลอ้างมาตลอดว่า รัฐธรรมนูญปี 40 มาจากประชาชน และดีกว่าปี 50 แต่ในความจริงแล้ว เป็นเพียงการหยิบยกแต่ประเด็นที่ตรงใจ ข้อใดที่ไม่ตรงใจ ไม่ได้ประโยชน์ ก็ไม่เอามา ตนจึงเชื่อว่าคณะกรรมาธิการ จะทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 จากการแกไขรัฐธรรมนูญแบบนี้
นายสามารถ แก้วมีชัย ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวชี้แจงว่า ทางกรรมาธิการพร้อมที่จะทำการแก้ไข แต่ขอฟังความคิดเห็นของสมาชิกก่อน ว่า มีเหตุผลอย่างไร

นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมร่วมรัฐสภา ว่า ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 นั้นมีความสำคัญมาก และเป็นมาตราที่เริ่มต้นสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะต่างตอบแทน แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน ระหว่างรัฐบาล และ ส.ว. โดยมีการเปิดโอกาสให้ ส.ว.สมัครรับเลือกตั้งซ้ำได้อีก ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 50 ไม่เปิดโอกาสให้ส.ว.สมัครรับเลือกตั้งซ้ำ เพื่อไม่ให้ยึดโยงกับการเมือง
ส่วนที่มีข่าวว่ากรรมาธิการวิสามัญแก้รัฐธรรมนูญ จะทบทวนการแก้ไข และทบทวน มาตรา 5 นั้น ตนยังไม่ทราบว่าจะมีการแก้ไข ทบทวนในรูปแบบไหน อย่างไร แต่โดยเนื้อหา ตนยังยืนยันว่าจะแก้แค่สภาผัวเมียไม่พอ ต้องแก้สภาผลัดกันเกาหลังด้วย เพราะเป็นหัวใจสำคัญ ที่รัฐบาล และ ส.ว. แลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า การลงมติใน มาตรา 5 นั้น อาจจะเป็นการขัดกันซึ่งผลประโยชน์ เพราะขณะที่สมาชิกรัฐสภาลงมติสนับสนุนให้ตนเองสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งซ้ำได้อีก ขณะที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันห้ามไว้ ซึ่งก็ต้องระมัดระวัง เพราะหากมีเรื่องผลประโยชน์ขัดกันเกิดขึ้น อาจนำไปสู่การถอดถอนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น