xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายค้านโวยลักไก่แก้ที่มา ส.ว.ไม่โปร่งใส “ชินวรณ์” ยันเครือญาติ ส.ส.ไม่สมควรรับตำแหน่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ภาพจากแฟ้ม)
ถกชำเรารัฐธรรมนูญ กมธ.เสียงข้างมากหวังลักไก่แก้มาตรา 5 กลับไปเหมือนร่างรับหลักการ เสนอพักประชุมหารือ อ้าง “สุเทพ” แนะทางออกให้คงตามร่างเดิม เจอ ปชป. โวยไม่โปร่งใส สุดท้ายต้องยอมถอย “ชินวรณ์” ยันเครือญาติ ส.ส.ไม่สมควรรับตำแหน่ง ส.ว. เสนอต้องพ้นจากพรรคการเมืองและ ส.ส.2 ปี

วันนี้ (4 ก.ย.) ที่รัฐสภา ในช่วงบ่าย สมาชิกจากพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากฝ่ายสรรหา ได้อภิปรายไม่เห็นด้วยต่อการที่กรรมาธิการให้ตัดข้อความห้ามผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะเป็นการผิดหลักการของวุฒิสภาที่จะต้องมีความเป็นกลาง มีอิสระ ไม่ยึดติดอำนาจ และทำหน้าที่แต่งตั้งองค์กรอิสระและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับการให้วุฒิสภาสามารถไปลงสมัครรับเลือกตั้งต่อเนื่องได้ ขณะที่นักการเมืองอื่นๆ ต้องเว้นวรรค 5 ปีถึงจะมาลงสมัครวุฒิสภาได้ถือว่าไม่มีความยุติธรรม

หลังจากผู้อภิปรายส่วนใหญ่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนั้นส่งผลให้ นายสามารถได้ขอพักประชุม 30 นาที เพื่อขอกลับไปแก้ไขกฎหมายในมาตรา 5 แต่ปรากฏว่ามีการพักการประชุมไปร่วมชั่วโมง เมื่อเปิดมาอีกครั้งเวลา 18.00 น. โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ซักถามถึงเหตุผลที่สั่งพักการประชุมว่าเพื่ออะไร

นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการวิสามัญ ชี้แจงว่า เพื่อให้กรรมาธิการเสียงข้างมากไปหารือกันว่าที่รับฟังกันมาเป็นอย่างไร เพื่อให้การประชุมดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน เพื่อเตรียมตอบคำถามในที่ประชุม

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ หนึ่งในกรรมาธิการเสียงข้างน้อยกล่าวว่า ประธานควรให้โอกาสกรรมาธิการเสียงข้างน้อยได้แสดงความเห็นตามสิทธิรัฐธรรมนูญก่อน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกับจัดฉากสมคบกัน คือ เมื่อมีการชี้แจงจากกรรมาธิการท่านหนึ่ง ประธานกรรมาธิการก็ลุกไปหารือกับประธานที่ประชุม แล้วสั่งพักการประชุม พวกตนก็แปลกใจว่าพักเพื่ออะไร เมื่อกำลังพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด กระบวนการก็ควรทำตามข้อบังคับรัฐธรรมนูญเพื่อความโปร่งใส เมื่อมีข้อความเรียกหารือเข้ามาพวกตนก็เดินตามไป โดยประธานกรรมาธิการใช้คำพูดว่าเพื่อให้กรรมาธิการเสียงข้างมากได้หารือ แต่ตนได้แย้งว่าไม่ควรทำเช่นนี้ เพราะกระบวนการชี้ให้เห็นว่าพยามรวบรัดใช้เสียงข้างมากลากไป ไม่สมควรทำ และไม่ชอบด้วยข้อบังคับ และไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงเพราะไม่มีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างโปร่งใส ไม่มีการให้สมาชิกอภิปราย

“และที่สำคัญ ข้อบังคับข้อที่ 12 ระบุว่าต้องแจ้งก่อนล่วงหน้า3 วัน หากกรณีเร่งด่วนอย่างน้อย1 วันเพราะต้องใช้ข้อบังคับการประชุมร่วมสภาโดยอนุโลม แต่กลับตัดบทว่าเป็นเพียงการหารือ อย่าใช้วิธีการเหมือนที่ผ่านมา ที่ต้องลากเลยมาหลายวันก็เพราะเสียงข้างมากลากไปทำกันลุกลี้ลุกลน เหมือนที่ข้อกล่าวหาว่าพยายามทำตามใบสั่ง ต่อไปอย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก” นายชินวรณ์กล่าว

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประธานชี้แจงว่าทำทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจรอบคอบ มีเหตุผลที่สุดแล้ว แต่จู่ๆ ประธานก็เสนอต่อที่ประชุมว่าขอพักการประชุม ซึ่งก็มีการพักไปนาน พวกตนก็รอว่าจะมาแจ้งอย่างไร ก็มาแจ้งว่าไปหารือกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก วิธีปฏิบัติแบบนี้ไม่เคยเห็นคณะอื่นเขาทำกัน ทำแบบนี้ได้ด้วยหรือ นึกฉุกใจอะไรมาก็ขอพักเพื่อไปหารือกัน และที่ไปหารือกันได้ผลเรื่องอะไร ประเด็นไหนบ้าง ผลของการหารือของเสียงข้างมากคิดอะไร พวกตนจะได้กำหนดแนวทางในการอภิปรายในสภาต่อไปได้ ตนต้องการคำตอบว่าไปหารือเรื่องอะไร และกรรมาธิการจะทำอะไรต่อ ทำให้นายสามารถชี้แจงอีกครั้งว่า ที่ขอพักการประชุมเพื่อไปหารือกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก หากมีมติแก้ไขมาตรา 5 หลังจากที่เราฟังเสียงที่ประชุมแล้วก็มาปรึกษาหารือว่าตรงไหนประเด็นใดฟังแล้วมีเหตุมีผล หรือกลับไปร่างเดิมหรือไม่ หากย้อนไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เรื่องการเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญในอดีต ที่มีการเสนอให้นำกฎหมายการเลือกตั้งท้องถิ่นมาใช้ แต่มีการทักท้วงเรื่องศักดิ์ของกฎหมายต้องสูงกว่านั้น ที่สุดก็มีการพักการประชุม และทบทวนร่างและนำเสนอต่อที่ประชุม ทำให้ไม่ยืดเยื้อ กรณีนี้ก็เช่นกัน ถ้าอะไรที่เห็นพ้องกับที่ประชุมใหญ่ เราเห็นด้วยก็ทำให้ทุกอย่างราบรื่นแต่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่มาร่วมหารือด้วยก็ท้วงติงว่าต้องนัดหารือล่วงหน้า แต่เมื่อสมาชิกไม่สบายใจก็ถือว่าไม่ได้ปรึกษาหารืออะไรกัน สุดแล้วแต่เสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาจะว่าว่าอย่างไร ตอนนี้ถือว่ากรรมาธิการยังยืนตามเสียงข้างมากอยู่

นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงเสริมว่า เมื่อมีการพูดคุยกันว่าควรจะกลับไปร่างเดิมหรือไม่เพื่อให้ง่ายต่อการให้สภาเดินหน้าไปได้ และได้มีโอกาสหารือกับนายสุเทพ และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์บางส่วน จึงได้นำมาเล่าสู่กันฟัง วันนี้ก็ถือเป็นเรื่องดีที่มีการเชิญมาพูดคุยกัน เป็นแค่การหารือยังไม่มีข้อยุติ วันนี้เสียเวลาไปมากแล้ว อยากให้ดำเนินการประชุมต่อไป

ด้านนายสุเทพกล่าวว่า จะเป็นนายชวน หลีกภัย หรือตน ไม่มีอำนาจตัดสินใจภายในพรรค ต้องขึ้นอยู่กับอำนาจประธานวิปฝ่ายค้าน ไม่มีใครแหกมติวิปไปได้เพราะพรรคมีวินัย แต่ถ้าสนทนานอกรอบว่าอย่างนั้นอย่างนี้ดีหรือไม่ เช่น มาตรา 5 ที่เห็นด้วยกับพวกตน ว่าจะไม่แก้ไขโดยเอาแบบเดิมก็ดี เพราะพวกตนไม่เอาอยู่แล้วที่แก้ไป และไม่เฉพาะมาตรา 5 แต่ทุกมาตรา และถ้าไม่เห็นด้วยกรรมาธิการจะเปลี่ยนอย่างไร จะพักการประชุมแล้วให้กรรมาธิการหารือกันแล้วมีข้อสรุปเลยนั้นทำไม่ได้ต้องนัดหมายล่วงหน้า จะประชุมกันแค่ 30 นาทีแล้วกลับมาแบบนี้ไม่ถูกต้อง

ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ได้เสนอทางออกโดยให้เลื่อนการประชุมออกไป โดยให้กรรมาธิการได้มีโอกาสหารือกันเพื่อหาข้อยุติว่าจะแก้ไขอย่างไรทั้งประเด็นมาตรา 5 และมาตราอื่นๆที่คาดว่าจะมีปัญหาด้วย เพื่อทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับ ซึ่งนายสมศักดิ์ ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว แต่ปรากฏว่าตัวแทนวิปวุฒิสภาได้เห็นควรให้เดินหน้าประชุมต่อไป เพื่อเสียเวลามาทั้งวันแล้ว จากนั้นสมาชิกได้เริ่มทยอยอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

นายชินวรณ์ บุณยเกรียติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอภิปรายในมาตรา 5 เรื่องคุณสมบัติของผู้ลงสมัคร ส.ว.ว่า ตนขอสงวนความเห็นในข้อที่คณะกรรมาธิการแก้ให้บุคคลในครอบครัวสามารถลงรับสมัครเป็น ส.ว.ได้ ตนจึงขอแก้ไขในเรื่องนี้ โดยผู้ที่จะเป็น ส.ว.ได้จะต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของ ส.ส.เพื่อป้องกันสภาผัวเมีย อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2549 ในส่วนเรื่องระยะเวลานั้น ตนขอเสนอให้ ส.ว.จะต้องไม่เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมือง ไม่เป็น ส.ส.ก่อนการลงรับสมัคร ส.ว.อยู่ภายใต้เงื่อนไข 2 ปี เพื่อให้วุฒิสภามีความเป็นกลาง

นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า ในรัฐธรรมนูญปี 40 มีข้อกล่าวหาว่า ครอบงำวุฒิสภาด้วยทุนสามานย์ แต่ในปีนี้เรากลับมายืนที่จุดเดิม ที่เป็นจุดเริ่มที่สำคัญในการทำลายระบอบประชาธิปไตย และวิถีรัฐสภา วันนี้กรรมาธิการกำลังถูกด่าว่าหลับหูหลับตาทำลายประเทศ ทางกรรมาธิการจึงพยายามลืมตาขึ้นกลับมาแก้ไขสิ่งที่ตัวเองได้เขียนไป ซึ่งจะตัดเพียงแค่เรื่องสภาผัวเมียออกไป แต่ผู้ที่เป็น ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ยังสามารถลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ว.ได้ตั้งแต่วันแรกที่พ้นตำแหน่ง เพราะฉะนั้นผู้ที่จะมาเป็น ส.ว.ต่อจากนี้ จะเป็นผู้ที่มีฐานเสียงในการเลือกตั้งและมีความเชื่อมโยง การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ทำเพื่อประโยชน์ของบรรดาคนที่นั่งอยู่ในสภาแห่งนี้เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น