xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แก้ที่มาส.ว. รับใช้ทุนสามานย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สามารถ แก้วมีชัย
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ก่อนที่จะมีความชัดเจนว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ ในวันที่ 7 ส.ค. ที่จะถึงนี้ จะมีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ กับพวก เป็นลำดับแรกนั้น ก็มีการถกเถียงกันพอสมควรในฟากของรัฐบาล โดยเฉพาะในพรรคเพื่อไทย เพราะกลุ่มส.ส.เสื้อแดง ยืนยันให้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯก่อน ขณะที่ส.ส.อีกส่วนหนึ่งที่คิดว่าหากทำเช่นนั้น อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง บานปลายได้ เพราะฝ่ายค้านประกาศชัด จะต่อต้านทั้งในสภา นอกสภา ขณะที่กลุ่มหน้ากากขาว กลุ่มทหารแก่สนามม้า และกลุ่มอดีตคอมมิวนิสต์ ที่สนามหลวง ก็มาอุ่นเครื่องรอคัดค้านอยู่แล้ว

กลุ่มส.ส.ที่ไม่อยากให้เกิดเรื่อง จึงคิดว่าควรจะนำ ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2557 มาพิจารณาก่อน แต่ติดขัดอยู่ที่เงื่อนเวลา เพราะขณะนี้ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนก.ค. เมื่อเสร็จแล้ว ยังต้องมีการจัดทำรูปเล่ม เพื่อแจกให้ ส.ส.ได้นำไปศึกษารายละเอียดก่อนที่จะมีการอภิปรายกัน เลยไม่ทันวันที่ 7ส.ค.

จึงมีแนวคิดว่า ควรจะหลีกเลี่ยงเรื่องร้อนๆไปก่อน ด้วยการเรียกประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา โดยมีการประสานกันระหว่าง วิปรัฐบาล กับวิปวุฒิสภา แล้วว่าจะพิจารณากันในวันที่ 6-7 ส.ค.

แต่ในที่สุด "นายใหญ่จากดูไบ" ก็ส่งสัญญาณ ให้เดินหน้า นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษฯ ขึ้นมาพิจารณาเป็นลำดับแรก หวังซื้อใจคนเสื้อแดงอีกครั้ง เพื่อใช้เป็น"แบ็กอัพ" ในการออกกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน โครงการนำ 3.5 แสนล้าน รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ตั้งท่ารออยู่ โดยไม่สนใจต่อกระแสต้านที่กำลังก่อตัวขึ้น

ถ้าจะว่าไปแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ดูเผินๆ เหมือนไม่ใช่เรื่องร้อน แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดแล้วก็จะเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องที่จะมองข้าม หรือดูเบาได้เลย

ทั้งนี้จากการเปิดเผยของ นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ บอกว่า จะมีการแก้ไขทั้งสิ้น 13 มาตรา ซึ่งขณะนี้ผ่านชั้นกรรมาธิการฯแล้ว เตรียมยื่นบรรจุเข้าวาระในสภา

ซึ่งร่างแก้ไข มีสาระสำคัญ คือ จากเดิมที่มี ส.ว.150 คน มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และมาจากการสรรหา 73 คน ให้เปลี่ยนเป็นมี ส.ว. 200 คน ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยไม่จำเป็นต้องเว้นวรรค หากลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง ก็สามารถมาลงสมัครได้ทันที ทั้งเปิดโอกาสให้บุพการี คู่สมรส หรือบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่งส.ส. และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถมาลงสมัครเป็น ส.ว.ได้ จากแต่เดิมมีการห้ามไว้

นอกจากนี้ยังให้ ส.ว.สรรหา อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระที่เหลืออยู่ แต่ในช่วงที่มีการเลือก ส.ว. ที่มาจาการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ ระหว่างนี้ก็ให้จำกัดอำนาจของส.ว.สรรหา โดยไม่สามารถแต่งตั้ง หรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

แค่นี้ก็พอเห็นภาพในอนาคตแล้วว่าพรรคการเมืองที่คุมสภาล่าง กำลังวางแผนจะคุมสภาสูงให้ได้แบบเบ็ดเสร็จ เพราะการเลือกตั้งส.ว. หนีไม่พ้นจากการครอบงำของทุนสามานย์ ในคราบของพรรคการเมืองอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม มีผู้ขอสวงนคำแปรญัตติ 57คน ที่ขอให้ตัดทุกมาตราที่แก้ไขใหม่นี้ทิ้ง โดยให้ยังคงมี ส.ว.ที่มาจากการสรรหาเหมือนเดิม ซึ้่งเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ เพราะถือว่า เป็นการแปรญัตติ ที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา มาตรา 96 วรรค 3

จึงต้องติดตามว่า ทั้ง 57 คน จะยังสามารถอภิปรายคัดค้านในที่ประชุมรัฐสภาได้หรือไม่ และในที่สุดแล้วจะหยุดยั้งแผนการยึดทั้งสภาล่าง สภาสูง ของทุนสามานย์ได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น