xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ด้าน-ได้ อาย-อด! เด็กแม้วเร่งเกมเปลี่ยน ส.ว.เป็นสภาผัวเมีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฯ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-“ระบอบทักษิณ”ยังคงเดินหน้าแก้ไขกฎกติกาการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ทุนสามานย์พวกพ้องของพวกเขา อย่างไม่หยุดยั้ง โดยไม่สนใจความถูกต้องชอบธรรม

ล่าสุด ได้มีการแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.)ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะทำให้สภาสูงของไทยกลับไปสู่สภาพ “สภาผัวเมีย”และเปิดทางให้ทุนสามานย์ใช้เงินซื้อได้ง่ายๆ เหมือนในช่วงปี 2544-2549 ยุคที่ นช.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111, มาตรา 112, มาตรา 115, มาตรา 116 วรรคสอง, มาตรา 117, มาตรา 118, มาตรา 120 และมาตรา 241 วรรคหนึ่ง และยกเลิกมาตรา 113 และมาตรา 114 เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.เป็นนัดสุดท้าย

ที่ประชุมวันนั้นมีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย บริวารผู้รับใช้ นช.ทักษิณอีกคน ในฐานะประธาน กมธ.เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างรายงานของ กมธ. ก่อนส่งให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ในต้นสัปดาห์ถัดไป เพื่อให้นายสมศักดิ์บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมภายใน 15 วัน นับจากวันที่ 1 สิงหาคม

ร่างแก้ไขดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี โดยไม่จำเป็นต้องเว้นวรรค หากลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองก็สามารถมาลงสมัครได้ทันที ทั้งเปิดโอกาสให้ คู่สมรส บุตร ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถมาลงสมัครเป็น ส.ว.ได้

นอกจากนี้ให้ ส.ว.สรรหาชุดปัจจุบัน อยู่ในตำแหน่งจนครบวาระที่เหลืออยู่ แต่ในช่วงที่มีการเลือก ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ ระหว่างนี้ก็ให้จำกัดอำนาจของ ส.ว.สรรหา โดยไม่สามารถแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

นายสามารถอ้างว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.นี้ มีผู้เสนอคำแปรญัตติทั้งสิ้น 202 คน แต่ในจำนวนนี้มีผู้สงวนคำแปรญัตติจำนวน 57 คนที่ขอแปรญัตติขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา มาตรา 96 วรรค 3 เพราะขอแปรญัตติตัดทุกมาตราทิ้ง รวมทั้งให้มี ส.ว.มาจากการสรรหาเหมือนเดิม ซึ่งขัดต่อหลักการที่รับมา คือ ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แต่ตนเห็นว่าควรจะนำคำแปรญัตติที่ขัดข้อบังคับของทั้ง 57 คนใส่ไว้ในรายงาน และให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติว่าจะงดเว้นข้อบังคับฯ ให้ทั้ง 57 คนสามารถอภิปรายได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีกรรมาธิการบางคนก็เห็นว่าไม่ควรส่งคำแปรญัตติของทั้ง 57 คนไปยังรัฐสภา เพราะถือว่าผิดหลักการ และหากให้อภิปรายอีกก็จะเป็นการอภิปรายซ้ำเหมือนในวาระรับหลักการ ก็จะยิ่งเสียเวลา เพราะแค่นี้ก็มีคนขอแปรญัตติมากอยู่แล้ว

นายสามารถ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 23 ก.ค.อ้างถึงความจำเป็นต้องเร่งรีบหาข้อสรุปในประเด็นที่ของ ส.ว.ว่า “สาเหตุที่เราต้องรีบนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีเงื่อนไขของเวลา เนื่องจาก ส.ว.เลือกตั้ง จะหมดวาระลงในวันที่ 2 มี.ค. 2557 ดังนั้นเมื่อรัฐสภาได้พิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 แล้วก็จะต้องไปสู่ขั้นตอนของการออกกฎหมายลูกอีก 120 วัน ก็เสร็จประมาณปลายปี 2556 ตรงนี้ไม่ใช่การมุบมิบทำกันแต่อย่างไร”

นายสามารถ อ้างว่า ด้วยเงื่อนไขของเวลาที่ถูกกำหนด และเข้าใจว่าประธานรัฐสภาได้หารือกับวิปรัฐบาล วิปวุฒิสภา ซึ่งต้องหารือกับวิปฝ่ายค้านด้วย เพราะอำนาจการบรรจุระเบียบวาระเป็นของประธานรัฐสภา ทั้งนี้ หลังจากการประชุมครั้งสุดท้ายในวันที่ 25 ก.ค. สรุปรายงานและข้อสังเกต ส่งต่อ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์แล้ว ตามข้อบังคับประธานจะต้องบรรจุภายใน 15 วัน นับจากวันเปิดสมัยประชุมวันที่ 1 ส.ค.นี้ ส่วนจะเป็นวันไหนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและเป็นอำนาจของประธานรัฐสภา

ขณะที่มีกระแสข่าวว่าวิปรัฐบาลได้ประสานไปยังวิปวุฒิสภาแล้วเพื่อขอพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว.ในวันที่ 6-7 ส.ค.นี้

เห็นได้ชัดว่า มีความเร่งรีบที่จะให้ประเด็นที่มาของ ส.ว.ได้ข้อยุติโดยเร็ว และให้เป็นไปตามความต้องการของ นช.ทักษิณ หัวโจกใหญ่ของนักการเมืองทุนสามานย์ ที่ต้องการกลับมาควบคุมวุฒิสภาให้อยู่ใต้อุ้งมือ เหมือนเขาเคยทำได้ในช่วงที่เป็นนายกฯ

ฉายา“สภาทาส”ของวุฒิสภา ที่สื่อมวลชนตั้งให้คู่กับฉายา “ปลอกคอพันธุ์ชิน” ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อก่อนสิ้นปี 2548 ย่อมการันตีถึงผลงานการครอบงำอำนาจนิติบัญญัติของคนชื่อทักษิณ ชินวัตร ได้เป็นอย่างดี

แต่นั่นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประชาชนที่รู้เท่าทันพากันออกมาชุมนุมขับไล่ และทำให้ นช.ทักษิณถูกโค่นอำนาจในที่สุด

บทเรียนความเป็นสภาทาสของวุฒิสภาไทยในยุคระบอบทักษิณครองเมืองทำให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดที่มาของ ส.ว.ใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550

จากเดิมรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนด ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน โดยคิดสัดส่วนตามจำนวนประชากรแต่ละจังหวัด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาที่ ส.ว.กลายเป็นนักเลือกตั้งอีกประเภทหนึ่ง และ ส.ว.ที่ได้รับเลือกตั้งจำนวนมากเป็นญาติพี่น้องหรือเป็นคนในเครือข่ายของ ส.ส. ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและได้เปรียบในการเลือกตั้งมากกว่า เมื่อเข้าไปสู่วุฒิสภาจึงไม่ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารหรือถ่วงดุลสภาผู้แทนฯ นั่นเพราะ ส.ว.ก็มีความใกล้ชิดและเป็นพรรคพวกกันกับ ส.ส.

ส.ส.ร.2550 จึงเปลี่ยนที่มาของ ส.ว.ให้มีทั้ง ส.ว.เลือกตั้ง จังหวัดละ 1 คน และ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา ซึ่งมาจากการเสนอชื่อขององค์กรต่างๆ ทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาชีพ เพื่อถ่วงดุลกับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง และเพิ่มอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้มากขึ้น

หลังจากปี 2550 เป็นต้นมา จึงมี ส.ว.จำนวนหนึ่งที่รู้จักในนาม “กลุ่ม 40 ส.ว.” ทำหน้าที่คอยตรวจสอบฝ่ายบริหารอย่างแข็งขัน เพราะไม่ได้มีผลประโยชน์ยึดโยงกับรัฐบาล และไม่ต้องกังวลเรื่องผลการเลือกตั้ง

โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลหุ่นเชิดของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมามีอำนาจ กลุ่ม 40 ส.ว.ที่ส่วนใหญ่มาจากการสรรหา ได้กลายเป็นเสมือนก้างขวางคอของระบอบทักษิณ เพราะคอยทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ ที่ส่อเค้าว่าจะทุจริต เช่น การออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อใช้ใครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ที่ถูก ส.ว.กลุ่มนี้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

และผลงานที่ทำให้ นช.ทักษิณเจ็บแค้นที่สุด เป็นการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาใช้แทนฉบับปี 2550 ทั้งฉบับ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า ให้ไปสอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อน ทำให้การแก้ไขมาตรา 291 ยังค้างเติ่งอยู่ที่วาระ 3 และ แผนการของ นช.ทักษิณที่จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในการล้างผิดให้ตัวเอง ต้องหยุดชะงักลง

หลังจากนั้น เครือข่ายของ นช.ทักษิณในสภาได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นรายมาตรา และดันไปแก้ไขมาตรา 68 ตัดสิทธิของประชาชนที่จะยื่นร้องกรณีการทำผิดรัฐธรรมนูญต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง โดยให้ยื่นต่ออัยการสูงสุดช่องทางเดียว จึงถูก ส.ว.จากกลุ่ม 40 ส.ว.ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขมาตรา 68 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

นี่เป็นตัวอย่างบางตอน ที่ทำให้ นช.ทักษิณหมายมั่นปั้นมือว่าจะกำจัด ส.ว.สรรหาให้สูญพันธุ์ และให้มี ส.ว.มาจากการเลือกตั้งที่เขาสามารถซื้อไว้ใช้งานได้เหมือนเดิม จึงเป็นที่มาของการแก้ไขประเด็นที่มาของ ส.ว.อย่างรวบรัดและเร่งรีบ

ที่น่าเกลียดไปกว่านั้น คือการหลอกล่อให้ ส.ว.สรรหาชุดปัจจุบันสนับสนุนร่างแก้ไขนี้ โดยกำหนดให้ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ เพียงแต่ไม่ให้มีอำนาจในการถอดถอนนักการเมือง

นช.ทักษิณและเครือข่ายบริวาร ยังคงแสดงธาตุแท้ความตะกละตะกราม เอาแต่ได้ ไม่เคยเปลี่ยนแปลง


กำลังโหลดความคิดเห็น