ถกงบฯ 57 วันที่ 2 ส.ว. แนะรัฐจัดทำแผนการใช้จ่ายงบฯ ให้ชัดเจนและติดตามปัญหาการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น “ประสาร” ติง รบ.ตัดงบองค์กรอิสระ สวนทางการยกเรื่องต่อต้านการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ ขณะที่ ปธ.วุฒิฯ พอใจภาพรวมการอภิปรายวานนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พรุ่งนี้รัฐสภาเตรียมพิจารณาแก้ รธน.ประเด็นที่มาของ ส.ว. ต่อ โดยเริ่มพิจารณาต่อที่มาตรา 5 ว่าด้วยคุณสมบัติของ ส.ว.
วันนี้ (3 ก.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี นพ.อนันต์ อริยะชัยพาณิชย์ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 2,525,000 ล้านบาทที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นวันที่ 2 เป็นการอภิปรายของสมาชิกที่สงวนคำแปรญัตติ จำนวน 54 คน ในภาพรวมการจัดทำงบประมาณสมาชิก โดยนายสุริยา ปันจอร์ ส.ว.สตูล อภิปรายเน้นถึงการทำหน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมควรจะมีการปลูกฝังอบรมเยาวชนไทยให้รู้จักวัฒนธรรมไทย ความรักความสามัคคีของคนในชาติ ที่สำคัญให้เน้นการจัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้มีการชัดเจน รวมถึงต้องติดตามตรวจสอบไม่ให้มีการทุจริตหรือฉ้อราษฎร์บังหลวงเกิดขึ้น
ขณะที่นายนิรันดร์ ประดิษฐกุจ ส.ว.สรรหา อภิปรายเกี่ยวกับการปรับลดงบประมาณขององค์กรอิสระ อย่างเช่นการตัดงบของศาลยุติธรรมที่ขอไป 2.6 หมื่นล้านบาทถูกตัดเหลือ 14 หมื่นล้าน ถามถูกปรับลดงบประมาณในขั้นตอนคณะกรรมาธิการฯ อีกเหลือ 1 หมื่นล้านบาททำให้การพิจารณาคดีต่างๆต้องล่าช้าลงไปอีก รวมทั้งตัดงบของ ป.ป.ช.ด้วย นอกจากนี้การจัดสรรงบประมาณในยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ก็จัดให้หลายหน่วยงานต่างคนต่างของบประมาณเข้ามาสะเปะสะปะ ทำไมไม่จัดงบให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งรับผิดชอบโดยตรง ไม่เช่นนั้นในปี 58 ก็ต้องจัดสรรงบประมาณกันใหม่ ทั้งนี้ สิ่งที่ตนตำหนิคือการนำงบประมาณในของโครงการการก่อสร้างสถานีตำรวจทั่วประเทศมาใช้ในการรองรับการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงที่ผ่านมาดูแล 59 กองร้อยจำนวน 175 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้รัฐบาลต้องหางบมาเพิ่มหรืออาจจะต้องจัดงบผูกพันอีก
นายสิริวัฒน์ ไกรสินธ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช อภิปรายถึงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ว่าการชุมนุมของเกษตรกร จ.นครศรีธรรมราช ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ดังนั้นอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา สิ่งที่ตนนำมาพูดยอมรับว่าเกษตรกรที่เสียชีวิตเป็นญาติห่างๆ ของตนแต่ตนไม่มีอะไรจะเสีย เพราะคราวหน้าก็จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว. หรือ อบจ., ส.ส. ดังนั้นขอเสนอทางออกในภาพรวม คือ 1. รัฐจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงตลอดไป ส่วนเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น ขอให้เร่งเข้าไปเยียวยา 2. ตนสนับสนุนการเจรจาโดยสันติ โดยรัฐต้องส่งคนที่มีอำนาจเต็มไปเจรจา เพื่อเป็นการให้เกียรติชาวสวน รวมถึงตัวแทนเกษตรกรต้องเป็นบุคคลที่สร้างความไว้วางใจ และมีเอกภาพในการเจรจาต่อรอง 3.ในการแก้ปัญหาระยะสั้น คือ ยกเลิกการเก็บเงินเซส ที่พบว่ามีการเก็บเพิ่ม 3-5 บาทต่อกิโลกรัม และขอให้นักการเมืองทุกพรรคยุติการเข้าไปแทรกแซงการชุมนุม 4. การแก้ปัญหาระยะกลาง ต้องมีการทบทวนตัวเลขการส่งออกยางพาราไปต่างประเทศ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการส่งออก 86% และบริโภคภายใน 14% เพื่อลดปัญหาราคาตกต่ำที่อิงกับราคาตลาดโลก เบื้องต้นในการลงทุนระบบขนส่ง 2 ล้านล้าน เสนอให้จัดงบประมาณ10% หรือ 2 แสนล้านบาท ทำถนนที่มาจากยางพารา 5. ข้อเสนอแนะระยะยาว ตั้งเป้าให้ผลิตผลิตภัณฑ์ 50% มาใช้ในประเทศ
ต่อมานายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 โดยตั้งข้อสังเกตงบประมาณในส่วนขององค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ถูกตัดลดงบลงกว่าครึ่งหนึ่งจากที่ได้ขอ ว่า สวนทางกับกรณีที่รัฐบาลดำเนินการยกเรื่องต่อต้านการทุจริต เป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้นหากรัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาทุจริตจริง จะต้องกล้าจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรอิสระเหล่านี้
ด้านนายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา อภิปรายเสนอให้รัฐบาลปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดทำงบประมาณใหม่ เนื่องจากปัจจุบันมีความล้าหลังทำให้ไม่สามารถประเมินได้ว่าการใช้งานงบประมาณในแต่ละปี ประสบความสำเร็จแค่ไหน ทั้งที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยขอให้หน่วยงานที่จัดทำงบประมาณปรับปรุงระบบประเมินการใช้งบประมาณออกมาเป็นแต่ละหน่วยไม่ใช้การจัดทำรวมแบบยุทธศาสตร์ เพราะมีความซ้ำซ้อน
ขณะที่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า พอใจภาพรวมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งมีทั้งข้อเสนอแนะและข้อท้วงติง และนายกฯและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมรับฟังข้อเสนอแนะ และจะนำไปปรับใช้ยุทธศาสตร์การทำงานของรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ ในเวลา 22.00 น.จะมีการโหวตเห็นชอบร่างงบประมาณปี 57 ต่อไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 189 วรรค 3
ขณะที่ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ซึ่งจะเริ่มเวลา 10.00 น. โดยเป็นการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... ประเด็นที่มาของ ส.ว. ต่อจากการประชุมเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเป็นวันที่ 7 ของการพิจารณา เริ่มที่มาตรา 5 ว่าด้วยคุณสมบัติของ ส.ว. ที่คาดว่าจะใช้เวลานานพิจารณา เนื่องจากเป็นการแก้ไขให้บุพการี คู่สมรส หรือบุตรของ ส.ส. สามารถลงสมัคร ส.ว.ได้ รวมถึงระบุคุณสมบัติใหม่ให้ผู้ที่เคยเป็น ส.ส. สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอเว้นวรรค 5 ปี
อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่จะปรับแก้ในส่วนคุณสมบัติที่กรรมาธิการฯ แก้ไขให้บุพการี คู่สมรสของ ส.ส. และผู้ที่พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไม่ถึง 5 ปี ลงสมัคร ส.ว.ได้ โดยอาจกลับไปใช้ร่างเดิมที่ไม่อนุญาตให้สามีและภรรยาของ ส.ส.ลงสมัคร ส.ว. หลังมีเสียงวิจารณ์เรื่องดังกล่าวเป็นจำนวนมาก