xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประกาศเจตนารมณ์ต้านโกง ปาหี่“ปู”กลบภาพเน่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 2 ก.ค.2556
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-วันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา หลังจากปรับ ครม.แล้วเสร็จหมาดๆ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็นำคณะรัฐมนตรีพร้อมด้วยปลัดกระทรวง อธิบดี และผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ร่วมทำพิธีกรรมที่เรียกว่า “การประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่น” ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลทันที

ในพิธีกรรมดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์อ่านสคริปต์ที่เต็มไปด้วยถ้อยคำสวยหรูว่า การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันถือเป็นภารกิจและหน้าที่และนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลและข้าราชการทุกคนทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ ที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นยุทธศาสตร์และแผนเชิงรุกในการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งจะทำให้การบริหารบ้านเมืองเจริญก้าวหน้าและสัมฤทธิผล

น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาในการบริหารงานและแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชัน รัฐบาลมีการยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานให้มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหลายมาตรการ เช่น เสริมสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม ปลุกจิตสำนึกและค่านิยมสังคม การเปิดสายด่วนและเว็บไซต์ร้องทุกข์ ติดตั้งตู้ร้องเรียน จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน แก้กฎ ก.พ.เร่งรัดให้ลงโทษภายใน 120 วัน และการแก้ไข พ.ร.บ.เกี่ยวกับการฟอกเงินและการก่อการร้าย โดยมาตรการต่างๆ ได้มีการบูรณาการหน่วยงานราชการ เช่น ดีเอสไอ, ป.ป.ง., ป.ป.ช. เพื่อสร้างความร่วมมือในการทำงานอย่างต่อเนื่อง

น.ส.ยิ่งลักษณ์บอกอีกว่า รัฐบาลได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมอีก 3 ประการ เพื่อให้ประเทศอยู่ในระดับสากล ประการแรกจะมีการผลักดันให้หน่วยงานราชการเปิดเผยข้อมูลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ทุกขั้นตอน และสร้างความเท่าเทียมระหว่างผู้เสนอราคาและผู้เสนองานทุกราย ประการที่ 2 ให้มีการคัดเลือกบุคคลจากภาคส่วนต่างๆ และรับการฝึกอบรมความรู้ทักษะเพื่อเข้าสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง

ประการที่ 3 รัฐบาลจะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขัับเคลื่อนการเสริมสร้างความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมีหน้าที่คัดเลือกผู้สังเกตการณ์ บันทึกข้อมูลและติดตามข้อมูลเพื่อคอยตรวจสอบ รวมถึงติดตามภาพรวมและประสานงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต หรือ ศปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมาตรการทั้งหมดจะใช้ในโครงการที่งบประมาณวงเงินสูง โครงการที่ประชาชนสนใจ เช่น โครงการรถเมล์เอ็นจีวี และโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวตบท้ายว่า รัฐบาลจะดำเนินการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันโดยเน้นการกระทำเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และยืนยันว่า “แม้จะเป็นผู้ที่มีอิทธิพล หากพบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชันรัฐบาลจะดำเนินการตามกฎหมายทันที”

อย่างไรก็ตาม คำพูดสุดเท่ห์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ดังกล่าว ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่น ว่ารัฐบาลชุดนี้จะเอาจริงเอาจังกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นตามที่ประกาศแต่อย่างใด

ตรงกันกันข้าม กลับมองว่านี่เป็นเพียงปาหี่ ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์รีบจัดมาแสดง ในจังหวะการปรับ ครม.ใหม่ เพื่อลบภาพเน่าเฟะของ ครม.ชุดเดิมที่เต็มไปด้วยข้อหาการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงมากมาย เท่านั้น

หากพิจารณาดูที่เนื้อหาของคำประกาศเจตนารมณ์ที่รัฐบาลประกาศออกมาครั้งนี้ ก็ไม่แตกต่างจาก“ข้อตกลงคุณธรรม” หรือ Integrity Pactที่“องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศไทย” นำเสนอให้รัฐบาลไปดำเนินการก่อนหน้านี้

โดยเนื้อหาของ“ข้อตกลงคุณธรรม” ที่องค์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่นฯ อันมีนายประมนต์ สุธีวงศ์ กรรมการบริษัทเครือเอสซีจี เป็นประธานนั้น มีส่วนที่คล้ายกับคำประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่นของรัฐบาล คือ การกำหนดให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน กำหนดให้ภาครัฐเปิดเผยข้อมูลต่อผู้เสนอราคาหรือผู้เสนองานทุกรายอย่างเท่าเทียม และเสนอให้มีการสรรหาผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อคอยสอดส่องดูแลความผิดปกติต่างๆ

มีข้อสังเกตว่า องค์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่นฯ ได้ผลักดัน“ข้อตกลงคุณธรรม”ให้รัฐบาลไปดำเนินการ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 แล้ว แต่ก็ยังไม่มีการตอบรับจากรัฐบาลอย่างเป็นจริงเป็นจัง

จนกระทั่งภาพลักษณ์ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เมื่อมีกรณีการทุจริตคอร์รัปชั่นปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าว ที่มีการทุจริตทุกขั้นตอน โดยเฉพาะขั้นตอนที่มีการโกงกินกันอย่างมโหฬารที่สุด คือการระบายข้าว ซึ่งมีชื่อของคนในครอบครัวชินวัตร และคนใกล้ชิดรัฐมนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ล่าสุดคือโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลเพิ่งเปิดประมูลหาบริษัทเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้าง ทั้งที่ยังไม่มีรายละเอียดโครงการ และไม่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม

ซึ่งก็เกิดเรื่องราวฉาวโฉ่ กรณีบริษัท เค.วอเตอร์ จากเกาหลีใต้ที่สามารถประมูลโครงการไปได้ 2 โมดูล มูลค่ากว่า 1.63 แสนล้านบาท แต่ต่อมาถูกเปิดโปงว่ามีสถานะทางการเงินไม่ดี และไม่มีประสบการณ์ในการทำโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่มาก่อน พร้อมกับมีภาพ นช.ทักษิณ ชินวัตร ไปเยี่ยมบริษัทดังกล่าวก่อนมาร่วมประมูลโครงการ

นอกจากนั้น ศาลปกครอง ยังได้มีคำพิพากษาให้รัฐบาลไปจัดทำประชาพิจารณ์โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านก่อน เนื่องจากการดำเนินการที่ผ่านมา โครงการนี้ยังไม่ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 และสั่งให้ผู้ถูกฟ้อง ปฏิบัติหรือดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 มาตรา 58 มาตรา 67 มาตรา 85 และมาตรา 87 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 37 มาตรา 38 มาตรา 60 มาตรา 63 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 5ประกอบมาตรา 11 นั่นคือการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน ให้ครบถ้วนก่อนการดำเนินโครงการ

นัยตามคำสั่งของศาลปกครอง สะท้อนให้เห็นว่า โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์กำลังเร่งรีบดำเนินการนั้น เป็นโครงการที่ผิดกฎหมาย เพราะยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น ยังเป็นโครงการที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันไม่ให้มีการทุจริต

สิ่งที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นกรณีโครงการรับจำนำข้าว หรือโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน จึงตรงกันข้ามกับคำประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นประธานทำพิธี เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา

หากรัฐบาลนี้จริงใจต่อการต่อต้านการทุจริตแล้ว เหตุใด “ข้อตกลงคุณธรรม”ที่องค์กรต่อต้านการคอร์รัปชั่น เสนอต่อรัฐบาลไปก่อนหน้านี้ จึงถูกแช่แข็งเอาไว้ จนเมื่อภาพลักษณ์เรื่องการโกงกินของรัฐบาลตกต่ำอย่างหนัก รัฐบาลจึงไปคัดลอกเอามาทำเป็นคำประกาศสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้รัฐบาลเท่านั้น

และที่สำคัญ หลังจากการประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่นแล้ว ก็ยังไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงในโครงการที่ส่อว่ามีการทุจริต ทั้งโครงการจำนำข้าว ที่กลับลำรับจำนำตันละ 15,000 บาทตามเดิม โครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านที่รัฐบาลกำลังหาช่องกฎหมายเพื่อเดินหน้าต่อ หรืออาจทำประชาพิจารณ์พอเป็นพิธี รวมทั้งโครงการเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ที่จะยังเดินหน้าไปตามกำหนดเดิม

การประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการคอร์รัปชั่น ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่ต่างไปจากการประกาศสงครามกับการคอร์รัปชั่น ในยุค นช.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งรัฐบาลชุดนั้นก็เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะกาารคอร์รัปชั่นโดยตัวนายกฯ เอง จนเป็นเหตุให้ประชาชนออกมาขับไล่ และทหารออกมายึดอำนาจในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น