xs
xsm
sm
md
lg

ผลหาดใหญ่โพล ปชช.ตั้งจิตอธิษฐานวันวิสาขบูชาขอให้นักการเมืองขี้โกงหายไปจากประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - หาดใหญ่โพล สำรวจเรื่อง “วิสาขบูชา พัฒนาจิตใจให้เป็นอารยชน” สิ่งที่ประชาชนอธิษฐานจิตในวันวิสาขบูชา คือ ขอให้ทุกคนตั้งมั่นในการคิด พูด ประพฤติตนเป็นคนดี และขอให้นักการเมืองที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงสูญหายไปจากประเทศไทย

หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ และการร่วมทำกิจกรรมในช่วงเทศกาลวันวิสาขบูชา ประจำปี พ.ศ.2556 โดยกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจครั้งนี้ เป็นประชาชนในเขตภาคใต้ตอนล่าง จำนวน 1,096 คน โดยใช้แบบสำรวจเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 10-15 พฤษภาคม 2556 สรุปผลการสำรวจ ดังนี้

กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 65.2) เพศชาย (ร้อยละ 34.8) มีอายุเฉลี่ย 28-55 ปี มีอายุระหว่าง 24-35 ปีสูงที่สุด (ร้อยละ 42.0) รองลงมา มีอายุน้อยกว่า 23 ปี (ร้อยละ 26.8) มีอายุมากกว่า 50 ปี (ร้อยละ 16.3) ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เหลือมีอายุระหว่าง 36-50 ปี (ร้อยละ 15.0) ประกอบอาชีพนักเรียนนักศึกษามากที่สุด (ร้อยละ 27.0) รองลงมาเป็นพนักงานบริษัท หรือองค์กรธุรกิจเอกชน (ร้อยละ 25.6) อาชีพค้าขาย (ร้อยละ 19.7) ดำเนินธุรกิจอิสระ/เจ้าของกิจการ (ร้อยละ 18.8) และอาชีพอื่นๆ (ร้อยละ 8.9 )

ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ทราบว่าวันวิสาขบูชาเป็นวันประสูติ-ตรัสรู้-ปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า (ร้อยละ 62.4) ส่วนประชาชนที่ทราบว่าหลักธรรมเรื่องความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ (อริยสัจ 4) ถือกำเนิดครั้งแรกในวันวิสาขบูชา (ร้อยละ 50.5) ปีนี้ประชาชนคิดว่าจะไปวัดในวันวิสาขบูชา (ร้อยละ 51.1) ส่วนปีที่แล้ว ประชาชนไปวัดในวันวิสาขบูชา (ร้อยละ 61.2)

ประชาชนจะนึกถึงวัด-พระสงฆ์ เมื่อต้องการทำความดีเพื่อพัฒนาจิตใจตนเอง (ร้อยละ 53.4) รองลงมาคือ เมื่อมีเทศกาลงานบุญ เช่น ทอดกฐิน-ผ้าป่า เป็นต้น (ร้อยละ 43.4) เมื่อดวงตก-มีเคราะห์ (ร้อยละ 35.6) และเมื่อต้องการจะนิมนต์พระทำพิธีต่างๆ เช่น แต่งงาน/งานศพ (ร้อยละ 32.6) ตามลำดับ

ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า สภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบันมีผลทำให้การเข้าร่วมทำกิจกรรมทางศาสนาน้อยลงกว่าในอดีต (ร้อยละ 69.4) ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วย กับคำกล่าวที่ว่า “การดำเนินชีวิตตามหลักธรรมของพุทธศาสนา ทำให้ถูกเอาเปรียบ หรือถูกรังแกจากคนรอบข้างได้” (ร้อยละ 62.2) ประชาชนส่วนมากเห็นว่า ความเจริญทางวัตถุมีผลให้ประชาชนมีความเสื่อมถอยด้านจิตใจ (ร้อยละ 83.3)

ประชาชนเห็นว่า วัดและพระสงฆ์สามารถเป็นที่พึ่งทางจิตใจได้บางครั้ง (ร้อยละ 55.0) เป็นที่พึ่งทางใจได้เสมอ (ร้อยละ 36.7) และเป็นที่พึ่งไม่ได้เลย (ร้อยละ 8.3) ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” (ร้อยละ 61.7) แต่ประชาชนส่วนมากก็ยังเชื่อว่า ความดีสามารถเป็นเกราะคุ้มภัยให้แก่ผู้ทำความดีได้ (ร้อยละ 89.4)

หลักธรรม-หลักปฏิบัติที่ประชาชนนำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุดคือ ความมีสติสัมปชัญญะ (ร้อยละ 36.9) รองลงมาคือ ความซื่อสัตย์-กตัญญู (ร้อยละ 26.3) และ ความมานะอดทน (ร้อยละ 12.2) ตามลำดับ

สถานการณ์ของพระสงฆ์ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชาชนเป็นห่วงมากที่สุดคือ พระสงฆ์มีความเสี่ยงภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบ (ร้อยละ 56.7) รองลงมาคือ พระสงฆ์มีจำนวนน้อยลงทุกวัน (ร้อยละ 44.5 ) พระสงฆ์ประพฤติตนนอกจารีตมากขึ้น (ร้อยละ 42.6) และขาดแคลนพระสงฆ์ที่ถึงร้อยด้วยคุณวุฒิ-คุณธรรม (ร้อยละ 41.4) ตามลำดับ

สิ่งที่ประชาชนอธิษฐานจิตขอในวันวิสาขบูชามากที่สุดคือ ขอให้ทุกคนตั้งมั่นในการคิด-พูด-ประพฤติตนเป็นคนดี (ร้อยละ 46.9) รองลงมาคือ ขอให้นักการเมืองที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงสูญหายไปจากประเทศไทย (ร้อยละ 43.0) ขอให้ตัวเองมีแต่ความสุขความเจริญ (ร้อยละ 42.8) ขอให้ทุกคนรักใคร่สามัคคีกัน (ร้อยละ 42.2) และขอให้พี่น้องจังหวัดชายแดนใต้มีแต่ความสุขแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง (ร้อยละ 42.1)
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น