ประธานวุฒิสภา อ้างไม่ได้ไถเงิน กสทช.30 ล้าน สัมมนาพัฒนาเครือข่ายและชุมชนเข้มแข็ง หวังเผยแพร่ผลงานตัวเองเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง ส.ว.ล่วงหน้า ยันเป็นโครงการความร่วมมือของวุฒิสภา กับ กสทช.มานานแล้ว เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ประสานงานของบประมาณ 30 ล้านบาท จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ในโครงการสัมมนาพัฒนาเครือข่ายและชุมชนเข้มแข็งประเทศยั่งยืนว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือของวุฒิสภา กับ กสทช.มาเป็นเวลานานแล้ว โดย กสทช.มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการเผยแพร่ผลงานของตัวเองไปยังประชาชน จึงเล็งเห็นว่าการใช้ช่องทางวุฒิสภามีความเหมาะสม เพราะวุฒิสภาเป็นองค์กรที่มีเครือข่ายที่เข้มแข็งกับชุมชนที่จะช่วย กสทช.เพื่อเผยแพร่ผลงานให้ประชาชนรับทราบได้
ที่สำคัญโครงการนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อใช้เป็นช่องทางหาเสียงเลือกตั้ง ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการเฉพาะ เพราะส่วนตัวได้หาเสียงมาตลอดอยู่แล้ว นับตั้งแต่วันที่สมัครและชนะเลือกตั้ง ส.ว.ฉะเชิงเทรา ทำให้ไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้โครงการนี้หาเสียง ในทางกลับกันคิดว่าการจัดสัมมนานี้จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมให้กับประชาชนในเรื่องการเมืองการปกครองมากขึ้น
“ตั้งแต่ปี 2546 วุฒิสภาได้วางแนวทางในการสร้างความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐต่างๆ มาโดยตลอด เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย และไม่ใช่เพิ่งมาดำเนินการโครงการในช่วงนี้ และขณะเดียวกันโครงการนี้จัดขึ้นในหลายจังหวัด และผู้ที่เข้ามาอบรมก็มาจากทุกภาคของประเทศ ไม่ใช่เฉพาะที่ฉะเชิงเทราเท่านั้น แล้วแบบนี้ผมจะได้ประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งอย่างไร”
นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า มั่นใจว่าการเบิกจ่ายงบประมาณส่วนนี้ไม่ขัดกับระเบียบของ กสทช. ที่กำหนดให้เบิกจ่ายงบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมได้สูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท เพราะงบประมาณดังกล่าวมาจากการอนุมัติคณะกรรมการกสทช. ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตรกระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมที่ภายหลังโครงการเสร็จสิ้น เป็นการจับมือกันระหว่างวุฒิสภาและกสทช. โดยวุฒิสภาเป็นผู้ดำเนินการ
อย่างไรก็ตาม การวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการไม่เหมาะสมเนื่องจาก กสทช.เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับและตรวจสอบของ ตนเห็นว่าเรื่องนี้ต้องแยกออกจากกัน เพราะโครงการดังกล่าวสำนักงานเลขาธิการฯเป็นผู้รับผิดชอบ แต่สำหรับสว.ก็มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว นอกจากนี้ที่ผ่านมาโครงการจัดในพื้นที่ใด ทางวุฒิสภาก็เรียนเชิญ ส.ส. และ ส.ว.ในพื้นที่ตลอด
นางนรรัตน์ เปิดเผยอีกว่า ส่วนเรื่องงบประมาณนั้นทางวุฒิสภาได้มาแล้ว 10 ล้านบาท ส่วนอีก 20 ล้านบาทอยู่ในช่วงประสานงานและยังไม่มีกำหนดว่าจะได้เมื่อไหร่ สำหรับการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมอบรมในแต่ละรุ่นจะมาจากการคัดเลือกจากหลายภาคส่วน เช่น สว.ในพื้นที่ หอการค้า เป็นต้น รวมทั้งมาจากโครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตรกระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมด้วย
ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการ อดีต ส.ว. และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) กล่าวว่า ต้นเรื่องมาจากสำนักงานเลขาธิการฯ แต่ตนก็เชื่อว่านางนรรัตน์ไม่กล้าทำหากผู้ใหญ่ไม่สั่ง วุฒิสภามีหน้าที่เสมือนตุลาการที่ต้องกำกับ ตรวจสอบ ถอนถอดกสทช. แต่ตุลาการกลับไปรับเงินก็จะทำให้เกิดอคติรักชอบ ฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สมควรอย่างยิ่งเพราะเป็นเรื่องของหนี้บุญคุณต่างตอบแทน
นายเจิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากกำหนดการอบรมของโครงการฯจะเห็นว่ามีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพียง 2 ชั่วโมง ที่เหลือพาไปเที่ยว ผู้ร่วมสัมมนาที่มีถิ่นพำนักอยู่ใกล้ทะเลก็พาไปสัมมนาภาคเหนือ ผุ้ร่วมสัมมนาที่มีถิ่นพำนักอยู่ภาคเหนือก็พาไปสัมมนาใกล้ทะเล ซึ่งก็เป็นวิธีที่สส.และสจ.พาหัวคะแนนไปเที่ยวในช่วงเลือกตั้งโดยใช้เงินพรรคและเงินส่วนตัว แต่กรณีของวุฒิสภาใช้เงินแผ่นดิน สรุปชัดว่าเป็นการซื้อเสียงล่วงหน้า สร้างบุญคุณอีกชั้นหนึ่งให้กับหัวคะแนน
“สิบรุ่นที่จัดมาประธานวุฒิสภา (นายนิคม) ไปทุกครั้ง ไม่เปิดก็ปิด ไปสร้างคะแนน การทำแบบนี้ถือเป็นการสร้างเครือข่ายให้ตัวประธาน และทำให้กลับมาเป็นประธานอีกครั้งหรือไม่” นายเจิมศักดิ์ กล่าว
นายเจิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตนรู้สึกอับอายในฐานะ ส.ว. และในฐานะที่เคยเป็น ส.ส.ร. และกำหนดให้มีวุฒิสภาเพราะต้องการให้มีอีกหนึ่งสภาที่มีความเป็นอิสระ แต่หากไม่อิสระแล้วก็ยุบไป อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าเรื่องนี้ต้องถูกประณาม ต้องสอบจริยธรรม และน่าจะขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ที่ระบุว่าการทำหน้าที่ต้องไม่ขัดกันของผลประโยชน์