xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“กำพืด”ก่อแก้วและรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก่อแก้ว พิกุลทอง
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-คณะรัฐมนตรีของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เตรียมใช้เงิน 2.7 แสนล้านบาท รับซื้อข้าวเปลือกในราคาเกวียนละ 15,000 บาท ในฤดูกาลผลิต 2556/57

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เสนอโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ทั้งนาปีและนาปรัง โดยใช้วงเงินหมุนเวียน 2.7 แสนล้านบาท ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการของเกษตรกรเหมือนเดิม พร้อมทั้งคาดว่าจะมีข้าวเข้าร่วมโครงการ 16.5 ล้านตัน

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีข้าวนาปีเข้าร่วมโครงการ 11 ล้านตัน โดยจะเริ่มรับจำนำตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.56-28 ก.พ. โดยราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าความชื้นไม่เกิน 15% อยู่ที่ตันละ 15,000 บาท แต่จำกัดวงเงินต่อครัวเรือนไม่เกิน 350,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิความชื้นไม่เกิน 15% อยู่ที่ตันละ 20,000 บาท

ส่วนนาปรังคาดว่าจะมีข้าวเข้าร่วม 5.5 ล้านตัน และราคาจำนำข้าวเปลือกเจ้าความชื้นไม่เกิน 15% ราคาตันละ 13,000 บาท จำกัดวงเงินไม่เกิน 300,000 บาทต่อครัวเรือน

นอกจากนี้ ยังให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เกิน 1,900 ล้านบาท ในฤดูการผลิต 2556/57 โดยใช้งบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2556 โดยรับซื้อข้าวโพดกิโลกรัมละ 9 บาทที่ความชื้น 14.5% และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ความชื้นไม่เกิน 30% ราคากิโลกรัมละ 7 บาท จากเกษตรกรที่มีหนังสือรับรองเกษตรกรรายละไม่เกิน 25 ตัน

แต่สำหรับการรับซื้อยางพาราคากิโลกรัมละ 100 บาท....อย่าไปคาดหวังจากรัฐบาลชุดนี้

ที่สำคัญ ยังมี “คนเนรคุณบ้านเกิด” กล่าวหาว่า ชาวสวนยางไม่ได้เดือดร้อนจากราคายางตกต่ำ

“ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยางที่ต้องการให้ราคายางอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม ยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้ และถือเป็นข้อเรียกร้องที่ต้องการให้รัฐบาลทำไม่ได้ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบราคายางย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ปี 2551 ราคาอยู่ที่ 77 บาทต่อกิโลกรัม และปี 2552 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ที่ 57 บาทต่อกิโลกรัม”ก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยที่เป็นนักการเมืองได้เพราะเป็นแกนนำ นปช.

โกหกกันอย่างด้านด้านยิ่งกว่า “หนังหน้าธาริต + หนังหน้าไอ้ตู่ +หนังหน้าไอ้เต้น”

ทั้งๆที่ข้อเท็จจริงแล้ว ราคายางแผ่นรมควันเคยปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ 148 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อปี 2554 ในสมัยที่นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระหว่าง 9 สิงหาคม 2554 - 18 มกราคม 2555

คนพังงาที่ไม่ได้ทำสวนยางมาก่อนอย่าง ก่อแก้ว บอกว่า "ชาวสวนยางภาคใต้ไม่ได้กรีดยางเอง ในอดีตจ้างแรงงานชาวอีสานแต่ปัจจุบัน จ้างแรงงานชาวพม่า ขายยางได้ 1 กิโลกรัม แบ่งให้คนกรีดยาง 40 เปอร์เซ็นต์ เจ้าของสวนยาง 60 เปอร์เซ็นต์ ถ้าราคายางกิโลกรัมละ80 บาทคนกรีดได้ 32 บาท เจ้าของสวนได้ 48 บาท อยากถามว่าถ้าเดือดร้อนจริง ทำไมต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้คนกรีดยางด้วย ทำไมถึงไม่กรีดเอง พี่น้องชาวสวนยางภาคอีสาน ภาคเหนือกรีดยางเองไม่เดือดร้อน มีชีวิตที่สุขสบาย เป็นพืชเศรษฐกิจชั้นดี เพราฉะนั้นวันนี้เราต้องมาพูดคุยในเรื่องข้อเท็จจริง ว่าราคายางขณะนี้ไม่ได้เดือดร้อน ถ้าไม่ฟุ่มเฟือย”

น่าจะให้ไอ้คุณก่อแก้วไปกรีดยางสักเดือนพร้อมลูกเมีย จะได้รู้ว่า ในปัจจุบันเป็นพืชเศรษฐกิจชั้นดี หรือไม่ ??

ก่อแก้ว ยังประชดประชันชาวสวนยางว่า “ผมขอร้องว่าอย่าตัดต้นยางไปปลูกจำปาดะเด็ดขาด"

แต่คนสิ้นคิดอย่างก่อแก้ว กลับไม่กล้าไปพื้นที่ไปที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พังงา หรือสุราษฎร์ธานี

และที่สำคัญ ชาวสวนยางคงกระทืบติดดิน หากเจอหน้ากลางม็อบ

นอกจากนี้ คงไม่มีใครเลิกปลูกสวนยาง แล้วเนรคุณบ้านเกิดไปประจบสอพลอปลุกม็อบเผาประเทศ เหมือนที่ผ่านมา

ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงแล้ว ในยุครัฐบาลพรรคไทยรักไทย ที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ริเริ่มให้มีโครงการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลขณะนั้น (ปี 2547) ต้องการขยายพื้นที่ปลูกยางใน 36 จังหวัด โดยแบ่งเป็น 300,000 ไร่ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 700,000 ไร่ใน 19 จังหวัดภาคอีสาน  เนื่องจากราคายางพาราขณะนั้น พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์มากกว่ากิโลกรัมละ 90 บาท

แต่ปัจจุบันราคากิโลกรับละ 68 บาท

ก่อแก้ว ใช้ความกระล่อนเล่นลิ้น ปั้นน้ำเป็นตัว เพื่อกล่าวหาชาวสวนยางพารา

“ข้อเรียกร้องราคายางพาราในกิโลกรัมละ 120 บาท เป็นข้อเรียกร้องที่ต้องการให้รัฐบาลทำไม่ได้ เพราะราคา กก.ละ 120 บาท สูงมากกว่าราคาปัจจุบันถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าราคานี้ชาวสวนยางก็รวยกันหมด” ก่อแก้ว ยังก่อการร้ายตามสันดาน

ทั้งๆที่ ราคายางพาราเคยขึ้นไปถึง 148 บาทในปี 2554 แต่ไม่เห็นมีชาวสวนยางคนไหนใครรวย

นอกจากพวกรับเงินเดือนจากทักษิณ

แม้กระทั่งการเจรจาระหว่างแกนนำผู้ชุมนุม กับตัวแทนรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา ข้อเท็จจริงก็บ่งบอกว่า ชาวสวนยางต้องการให้รัฐบาลรับซื้อยางพารามากว่าราคาตลาด

โดยไม่มีกลิ่นอายของเกมการเมืองแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 09.15 น. ของวันที่ 3 ก.ย. ที่ท่าอากาศยานนานาชาติ สนามบินสุราษฎร์ธานี พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี, พล.ต.ท.ยงยุทธ เจริญวานิช ผบช.ภ.8 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ได้เจรจาร่วมกับนายมนูญ อุปลา รองประธานเครือข่ายเกษตรกรสวนยาง จ.สุราษฎร์ธานี และตัวแทนผู้ชุมนุม

ต่อมา เวลา 10.00 น. ภายหลังการเจรจาเสร็จสิ้น พล.ต.ต.ธวัชกล่าวว่า ได้รับมอบหมายจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ให้มาประสานกับแกนนำผู้ชุมนุมใน จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อรับเรื่องร้องเรียน และเชิญแกนนำไปหารือกับรองนายกฯ ที่ กทม.

นายมนูญกล่าวว่า รัฐบาลไม่ต้องคิดมาก ราคายาง 92 บาทต่อ กก.ที่เสนอไป รัฐบาลก็เพียงรับผิดชอบชดเชยในราคาส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมาเท่านั้น เช่น หากราคายางปัจจุบัน 87 บาทต่อ กก. เราขอเพิ่มเป็น 92 บาทต่อ กก. รัฐบาลก็รับผิดชอบแค่ส่วนต่าง 5 บาทเท่านั้น หากรัฐบาลช่วยเหลือตามข้อเสนอของเราจะใช้งบประมาณเพียง 5,000 ล้านบาทเท่านั้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยางได้ทั่วประเทศ วิกฤติยางพาราจะหมดไป แต่หากนายกฯ ยังนิ่งเฉยไม่ยอมแก้ไขปัญหา จะเกิดความแตกแยกทั่วประเทศจนเกินเยียวยา เพราะชาวสวนยางที่เดือดร้อนมีอยู่ทั่วประเทศ

พล.ต.ต.ธวัช และคณะ ยังได้เดินทางไปยังที่ว่าการอำเภอร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อรับข้อเสนอจากตัวแทนชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมัน จ.นครศรีธรรมราช โดย พล.ต.ต.ธวัชได้นำเสนอต่อตัวแทนเกษตรกรว่า หากต้องการให้การแก้ไขปัญหาได้ข้อยุติโดยเร็ว ทางตัวแทนควรเดินทางเข้าหารือกับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมพอใจ 

ต่อมาตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม 21 คน เดินทางไปพร้อมกับ พล.ต.ต.ธวัช ด้วยเครื่องบินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเวลา 15.30 น. เพื่อเข้าร่วมหารือกับตัวแทนรัฐบาล ในเวลา 17.00 น.

ทั้งนี้ ระหว่างรอตัวแทนเจรจา กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงปักหลักอยู่ตามจุดต่างๆ และประกาศว่าหากรัฐบาลไม่ทำตามข้อเสนอ จะยกระดับการชุมนุมทันที โดยชาวสวนสวนยางชุมพรยังปักหลักประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัดต่อเนื่อง ส่วนที่ จ.พัทลุง รวมตัวกันที่เวทีบนถนนเพชรเกษม สายพัทลุง-ตรัง ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมตัวกันที่ริมถนนเพชรเกษม หลักกิโลเมตรที่ 412-413 อ.บางสะพาน ขณะที่กลุ่มชาวสวนยางพาราที่ชุมนุมปิดถนนสุขุมวิท
 
ต่อมาเวลา 18.30 น. ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน 21 คน นำโดย นายเอียด เส้งเอียด ได้เดินทางมาถึงที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ  พร้อมกับ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง เพื่อเจรจากับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง และนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์

โดยนายเอียดชี้แจงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการที่ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ เลขาธิการนายกฯ ลงไปพบชาวบ้านในพื้นที่ อ.ชะอวด และยื่นข้อเสนอกับเกษตรกรว่า จะประกันราคายางที่กิโลกรัมละ 80 บาท และอาจจะได้ถึง 100 บาท ทำให้ชาวบ้านมีความหวัง แต่ต่อมามีการกลับคำพูด จึงเป็นชนวนให้ชาวชะอวดไม่พอใจและมีการชุมนุมมากขึ้น

"วันนั้นถ้ารัฐบาลเร่งส่งคนเข้าไปแก้ปัญหา ปัญหาดาวกระจายวันนี้ก็จะไม่เกิด ถ้าแก้ตอนนี้ยังไม่สาย เพราะถ้าประกันราคาช่วงนี้จะไม่เป็นปัญหาด้วย เพราะเป็นหน้าฝน ผลผลิตจากการกรีดยางได้น้อย ในทางกลับกันผมก็ไม่สามารถช่วยชาวบ้านที่ชุมนุมได้นานเหมือนกัน ถ้าไม่แก้ตอนนี้ชาวบ้านก็พร้อมจะจับปืนเข้าป่าเหมือนกัน" นายเอียดกล่าว

นายอำนวย ยุติธรรม ตัวแทนอีกคนกล่าวว่า “ในเรื่องเงิน 1,260 บาทต่อไร่นั้น เข้าใจที่รัฐบาลตั้งใจให้ชาวสวน  แต่ยังมีผู้ผลิตยางยังมีภาระอื่นอีก ถ้าผลักภาระทั้งหมดให้เกษตรกรคงไม่ถูก ส่วนเรื่องราคาก็เข้าใจว่าเป็นไปตามกลไกตลาด เราเองสงสัยว่าที่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไก ทำไมมีแค่ราคายางกับราคาปาร์ม แล้วข้าวล่ะ รัฐบาลก็เห็นตัวเลขการขาดทุนหลายแสนล้านไม่ใช่เหรอ”

"อยากขอข้อมูลกลับไปตอบพี่น้องว่า รัฐบาลมีเงินแทรกแซงราคาได้เท่าไหร่ กี่บาท และที่เราตั้ง 120 บาท แต่ให้ 80 บาทนั้น เราก็จะกลับไปหารือกันอีกครั้ง ซึ่งหัวใจที่ต้องการมีแค่นี้ ถ้ารับได้ก็รับ ถ้ารับไม่ได้ก็จะยกระดับการชุมนุมขึ้น  รัฐบาลมีเหตุผลอะไรในการเลือกปฏิบัติหรือไม่ช่วยคนใต้" นายอำนวยกล่าว

ขณะที่นายเอียดกล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านรอฟังอยู่ที่บ้าน  ถ้าไม่ประกัน ไม่อุ้ม แค่เติมราคาที่ว่า ถนนทุกสายเปิด ถ้าวันนี้ไม่มีคำตอบ ก็จะปิดถนนเพิ่มอีก วันนี้มาพบรัฐบาล ถ้าไม่ได้คำตอบก็หมดหน้าที่แล้ว ไม่สามารถไปคุยกับชาวบ้านได้อีก วันนี้เราขอข้าวแล้วรัฐบาลให้เกลือ เรามองว่ามันสวนทางกัน เราขอเป็นกิโลฯ แล้วรัฐบาลให้เป็นไร่ (1,260 บาทต่อไร่)

"วันนี้ถ้าไม่มีคำตอบก็เท่ากับรัฐบาลไม่จริงใจ ชาวบ้านจะไปเผาที่ไหนก็แล้วแต่ เพราะวันนี้เรามาแล้ว ไม่มาก็หาว่าเป็นอันธพาล แต่เรามาก็ต้องการคำตอบไปยังชาวบ้าน เราขอ 120 บาทก็สามารถต่อรองกันได้ ซึ่งที่ทำก็เพื่อชาวบ้านที่เดือดร้อน มิเช่นนั้นคงไม่มาขอร้อง ผมก็จะเข้าป่าไปอนุรักษ์ป่าตามความตั้งใจ เราไม่อยากถูกกล่าวว่าถูกจ้างมาเจรจา" นายเอียดกล่าว

หลังจากนั้น นายอำนวยได้เสนอต่อนายกิตติรัตน์ 2 แนวทางด้วยเสียงเข้มข้นว่า 1.รัฐบาลควรจะไปทบทวนเรื่องการแทรกแซงส่วนต่างของราคายาง ถ้าราคา 80 บาท รัฐบาลควรแทรกแซง 20 บาท และเติมส่วนต่างยาง ห้ามให้ราคาตกจาก กก.100 หากไม่ได้ตามนี้จะเรียกร้องให้พี่น้องออกมาชุมนุมหน้าที่ว่าการอำเภอทั่วจังหวัดภาคใต้ 2.เติมส่วนต่างกลไกการตลาด ไม่ว่าวิธีไหนก็ได้ให้ครบ 100 ถ้าทำไม่ได้จะต้องเสียใจในการมาหารือวันนี้ เพราะเท่ากับไม่ใส่ใจการแก้ปัญหา

นายกิตติรัตน์กล่าวตอบโต้นายอำนวยว่า "คุณเล่นละครมากเกินไป สิ่งที่คุณบอกมาไม่มีการเมืองหนุนหลัง ผมชักไม่แน่ใจแล้ว เพราะคุณอยู่หน้ากล้องจะพูดอะไรก็ได้ เพื่อเป็นการเอาใจมวลชนของคุณ มันไม่มีรัฐมนตรีคนไหนที่จะพูดว่าเมื่อมีมติ ครม.ออกไปแล้วให้นำกลับมาทบทวนได้อีก  ดังนั้นผมก็จะนำข้อเสนอของคุณเข้าที่ประชุม กนย.พรุ่งนี้"

หลังนายกิตติรัตน์ กล่าวจบ ที่ประชุมก็แยกย้ายกันออกไปในเวลา 21.00 น.

ทำให้ ตัวแทนชาวบ้านต้องแบกเกลือเป็นตันกลับนครศรีธรรมราชกันถ้วนหน้า....


เอียด เส้งเอียด
กำลังโหลดความคิดเห็น