รายงานการเมือง
รำไม่ดีโทษปี่โทษกลองเสมอต้นเสมอปลายตลอด รักษามาตรฐานตัวเองไว้แน่นปึ้ก สำหรับรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กับคิวรับมือม็อบชาวสวนยางและสวนปาล์มปิดถนนที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช มาตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา
นอกจากจะมีส่วนเกี่ยวข้องในสั่งตำรวจปราบจลาจลเข้าไปสลายการชุมนุมม็อบสวนยางเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม จนประชาชนได้รับบาดเจ็บกันระนาว แต่ “บิ๊กผิว-พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กลับมีหน้าโยนขี้ให้ผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อเหตุ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจมีแต่เอาหัวกบาลไปรับก้อนหิน หนังสติ๊ก ไม้ และมีด
ทั้งๆ ที่ไม่ได้ไปสอดส่องดูเลยว่า คำสั่งสลายการชุมนุมวันนั้น คนที่สั่งกลับเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาตัวเองอย่าง “ผู้ว่าฯ เสื้อแดง” วิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กับ พล.ต.ต.รณพงษ์ ทรายแก้ว ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช
ขณะเดียวกัน บรรดาองคาพยพในรัฐบาลก็ยังเล่นเกมอุบาทว์ ปล่อยข่าวบลัฟม็อบสารพัด ทั้งป้ายสีม็อบสวนยางว่าเป็นม็อบการเมืองบ้าง เป็นคนนอกพื้นที่มาชุมนุมบ้าง ไม่ใช่เกษตรกรชาวสวนยางตัวจริงบ้าง
หนำซ้ำยังประโคมข่าวฉายภาพให้บรรดาผู้ชุมนุมเป็น “ผู้ร้าย” คอยสร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนที่สัญจรไปมาจังหวัดภาคใต้ อ้างกระทบการขนส่งบ้าง อ้างกระทบการเดินางบ้าง อ้างว่าชาวบ้านในพื้นที่รำคาญจิตรำคาญใจต่อการชุมนุมดังกล่าวบ้าง
ด้านพวกลิ่วล้อในพรรคเพื่อไทยก็ร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็น“เด็จพี่-พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” โฆษกพรรคเพื่อไทย คนปักษ์ใต้แท้ๆ ก็ยังไหลจับต้นชนปลายให้มั่วไปเรื่อยได้ทุกเรื่อง งัดมุกถนัดปูดอักษรย่อ “ส.” มาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความวุ่นวายครั้งนี้
เช่นเดียวกับบรรดาแกนนำคนเสื้อแดงสายเลือดปักษ์ใต้ อย่าง“ก่อแก้ว พิกุลทอง” และ “วิภูแถลง พัฒนภูมิไท” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาผสมโรงโจมตีว่าม็อบสวนยางเป็นม็อบการเมืองที่มี ส.ส.ภาคใต้ พรรคประชาธิปัตย์ คอยหนุนหลังหวังให้มีเหตุการณ์เลือดตกยางออกเพื่อให้เข้าทาง
เรียกว่าคิดอะไรได้ก็ออกมาสาดใส่กันแหลก
ขณะที่รัฐบาลเองแทนที่จะแก้ปัญหาให้พี่น้องชาวสวนยางก็กลับมาเล่นการเมืองกันสนุก โดยเฉพาะในคิวส่ง “วิม รุ่งวัฒนจินดา” โฆษกด้านเศรษฐกิจออกมาแก้ตัวเหตุผลที่ไม่สามารถขยับราคาให้ได้กิโลกรัมละ 120 บาท เป็นเพราะกลัวว่าจะมีการนำยางจากต่างประเทศเข้ามา “สวมสิทธิ” เพื่อเอาราคาจำนำที่สูงกว่าราคาตลาด โดยอ้างว่าในช่วงที่ราคายางตกต่ำมีผู้ประกอบการยางรายใหญ่ได้กว้านซื้อยางกักตุนเอาไว้จำนวนมาก แล้วใช้วิธีนำมวลชนเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้รัฐบาลประกันในราคาที่สูง หากรัฐบาลยอมตามข้อเรียกร้องก็จะมีการเทขายทำกำไรกันออกมา
เรียกว่า ไปได้เรื่อยๆ จริงๆ กับกระทบชิ่งเหน็บแนมฝ่ายตรงข้าม เพราะใครก็ทราบก็รู้ว่าผู้ประกอบการตัวบิ๊กๆ ด้านนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มก๊วนซีกประชาธิปัตย์ทั้งนั้น
เอาเป็นว่าโทษทุกคน แต่ไม่เคยโทษความไร้น้ำยาของตัวเอง!!
นอกจากการจับปัญหายางมาเป็นเรื่องการเมืองซึ่งถือเป็นการไม่แสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาแล้ว อีกพฤติกรรมหนึ่งที่ตอกย้ำว่า รัฐบาลมองพี่น้องชาวสวนยางเป็น “เกษตรกรชั้นสอง” คือ การจัดฉากปาหี่ด้วยการเชิญตัวแทนพี่น้องชาวสวนยางมาหารือกับ “เดอะใหญ่-ยุคล ลิ้มแหลมทอง” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ“แรมโบ้อีสาน-สุภรณ์ อัตถาวงศ์” รองเลขาธิการนายกรัฐมตรีฝ่ายการเมือง กันที่ทำเนียบรัฐบาล
เพราะตามสภาพการณ์ที่ออกมา การเชิญมาหารือครั้งนี้แทบจะมองออกว่ารัฐบาลมีการตั้งธงเรื่องทางออกกันไว้แล้วว่าจะให้ปุ๋ยแทนเงิน ที่มาถกเครียดๆ ก็เพียงแต่สุมหัวกันเป็นพิธี ตัวแทนบางคนก็เป็นพวกที่รู้กันเตี๋ยมกันมา
จะมีก็แต่ชาวสวนยางจากภาคใต้ที่ไหวตัวทัน โมโหวอล์กเอาต์จากที่ประชุม พร้อมกับลั่นขู่เลยว่า “รัฐมนตรีคุยไม่รู้เรื่อง แล้วเจอกันวันที่ 3 กันยายน”
อย่างไรก็ดี ดูกันตามสภาพการณ์ รัฐบาลเลือกมามุกนี้ยืนกระต่ายขาเดียว ไม่มีเลี้ยวไม่มีงอให้ชาวสวนยางเลย ก็พอจะจับทางได้ว่าท้ายที่สุดรัฐบาลจะไม่ช่วยเหลืออะไรมากไปกว่าที่เห็น
เพราะแม้จะมีสารพัดข้ออ้างดูน่าฟังจนใครต่อใครหลายคนคล้อยตาม ไม่ว่าจะเป็นกลไกตลาดโลก หรืออะไรนานัปการที่สรรหาจะมาอ้าง แต่พวกที่รู้ไส้รู้พุงก็รู้เช่นเห็นชาติกันดีว่า รัฐบาลนั้นเลือกปฏิบัติ เมฆที่ยกกันมาสุดแสนเลอะเทอะ
หากยังจำกันได้เมื่อครั้งคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) มีมติปรับลดราคารับจำนำจากตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 12,000 บาท แค่ม็อบชาวนาออกมาขู่อาละวาด รัฐบาลยังลุกลี้ลุกลนรีบปรับกลับให้เท่าเดิมภายในไม่กี่วัน
เรื่องของเรื่องของความไม่พอใจของชาวนามันมีผลกับฐานเสียงกับพรรคเพื่อไทยและ “นช.แม้ว” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเต็มๆ ขืนชักช้าจะกระทบต่อเสถียรภาพ
แต่กับชาวสวนยางที่กำลังทำท่าจะประชิดกรุงอยู่ไม่กี่วัน รัฐบาลกลับไม่กระตือรือร้นจะปรับเปลี่ยนให้ นั่นเป็นเพราะฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยไม่ได้อยู่ในภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกยางกันเยอะที่สุด ดังนั้น ให้หรือไม่ให้ตามคำเรียกร้อง สำหรับพรรคเพื่อไทยมันไม่กระทบต่อฐานเสียง
ส่วนเรื่องงบประมาณที่รัฐบาลอ้างด้านๆ ว่าจะต้องใช้งบเยอะ แต่หากเหลือบไปมองดูการรับจำนำข้าวที่นำไปผลาญกันมา จนบัดนี้เจ๊งไปแล้วไม่รู้กี่แสนล้านบาท ทีกับจำนำข้าวใช้เกินราคาตลาดไป 50 เปอร์เซ็นต์ ยังดันทุรังไปได้ แต่กับยางที่ชาวสวนขอให้ประกันราคาแค่เกินราคาตลาด 30 เปอร์เซ็นต์ ดูจะยากเย็นเหลือเกิน
ถ้ารัฐบาลคิดจะอัดฉีดเม็ดเงินลงไปช่วยเหลือชาวสวนยางจริงๆ ไม่ใช่เรื่องยากเลยสำหรับรัฐบาลที่ถนัดเรื่องการทำประชานิยม แต่เป็นเพราะรัฐบาลมักคิดถึงผลประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก ตามสูตรทำกำไรหวังผลเชิงธุรกิจ สไตล์ “แม้ว ดูไบ”
และต่อให้มีการขนมวลชนมากดดันในวันที่ 3 กันยายน รัฐบาลเองก็คงเชื่อมั่นในการงัดกฎหมายโหดๆมาหวดม็อบ ยิ่งปฏิบัติการกำราบม็อบการเมืองก่อนหน้านี้ที่ว่าหนักๆ อย่าง“ม็อบสนามม้าภาคแรก” ของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์อดีตประธานองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) หรือการบล็อกไม่ให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นำมวลชนเข้าไปให้กำลังใจในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม มายังได้ผล
รอบนี้เป็นแค่ม็อบสวนยางก็เลยชะล่าใจว่าจะ “เอาอยู่”
เที่ยวนี้ทำเป็นกระหยิ่มยิ้มย่องกันไป เล่นอะไรไม่เล่น เล่นกับความเดือดร้อนประชาชน หารู้ไม่จะยิ่งเป็นการตอกลิ่มให้ประชาชนรู้สึกว่าตัวเองถูกปฏิบัติสองมาตรฐาน
ถึงวันนั้นเมื่อไรจะร้องไม่ออก