ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เห็นสภาพสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติในระหว่างการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมความเป็นข้ารับใช้ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา หรือพฤติกรรมความเถื่อนและถ่อยของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก “พรรคประชาธิปัตย์” รวมถึง “พรรคเพื่อไทย” ที่สำแดงออกมาก่อนหน้านี้ทั้งกรณีจ่าประสิทธิ์ ไชยศรีษะที่ยกรองเท้าขึ้นมา และว่าที่ ร.ต.พงศ์พันธ์ สุนทรชัย ส.ส.หนองคาย พรรคส.ส.พรรคเพื่อไทยอีกคนหนึ่งที่ใช้ไอแพดที่ได้รับแจกฟรีจากเงินภาษีของประชาชนดูรูปโป๊ในระหว่างการประชุมสภา ก็ให้อเนจอนาถใจเป็นอย่างยิ่งว่านี่หรือคือผู้แทนของปวงชนชาวไทย
แน่นอน สำหรับพรรคเพื่อไทยคงไม่ต้องสาธยายให้วุ่นวายว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมเช่นนั้น รวมถึงตัวค้อนปลอมตราดูไบที่เรียกตำรวจสภาและตำรวจปราบจลาจลมาล้อมหน้าล้อมหลัง เพราะวิญญูชนย่อมรู้เช่นเห็นชาติกันอยู่แล้วว่าเป็นทาสในเรือนเบี้ยของใคร ไม่เช่นนั้นคงไม่ใช่อำนาจของประธานตัดสิทธิสมาชิก 57 คนที่ขอแปรญัตติเพื่อสนองนายใหญ่อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู
แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว คงต้องถามว่า การสำแดงพฤติกรรมเช่นนั้น ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาบ้าง การโห่ฮาป่า การกรีดร้องของ 2 ส.ส.หญิงพรรคประชาธิปัตย์คือนางสาวนริศา อดิเทพวรพันธุ์และนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุลที่อ้างว่า ตกใจที่เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาชายพยายามจะเข้ามาจับตัวจนผู้คนวิพากษ์วิจารณ์กันทั้งบ้านทั้งเมืองได้ประโยชน์อะไร แถมนอกจากไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อชาติบ้านเมืองแล้ว ยังทำให้ประชาชนคนไทยเสื่อมศรัทธาต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างหนักเข้าไปอีก
เพราะพรรคประชาธิปัตย์รู้อยู่เต็มอกว่า ไม่ว่าจะเล่นเกมยื้ออย่างไร ก็ไม่มีวันชนะ เพราะท้ายที่สุดแล้วระบบพวกมากลากไปก็ย่อมชนะอยู่วันยังค่ำ ทั้ง “ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ….” ที่สภามีมติผ่านวาระ 1 ไปเรียบร้อยแล้ว และ “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม” แถมยังไปร่วมรับรองความชอบธรรมให้กับพรรคเพื่อไทยอีกต่างหาก
แน่นอน สำหรับแม่ยกพ่อยกพรรคประชาธิปัตย์ก็คงชูรักแร้สนับสนุนกันอย่างหน้ามืดตามัวต่อไป แต่สำหรับประชาชนผู้มีเสียงเลือกตั้งที่ยังมิได้เลือกข้างชัดเจนย่อมเกิดความรู้สึกไม่ดีกับพรรคประชาธิปัตย์ และเชื่อว่า พฤติกรรมในครั้งนี้จะส่งผลต่อคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ไม่น้อย
ด้วยเหตุดึงกล่าวจึงจำต้องย้อนถามพรรคประชาธิปัตย์กลับไปว่า จะยอมให้ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการจากการเลือกตั้งเช่นนี้หรือ หรือว่าจะตัดสินใจทางการเมืองครั้งสำคัญด้วยการประกาศให้ ส.ส.ทุกคนของพรรคประชาธิปัตย์ลาออกจากความเป็น ส.ส.ทั้งหมด เนื่องเพราะรับไม่ได้กับระบอบพวกมากลากไปที่ปู้ยี่ปู้ยำประเทศ แล้วผนึกกำลังกับภาคประชาชนเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจังตามข้อเสนอของ “สนธิ ลิ้มทองกุล” หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
“สิ่งหนึ่งที่เหมือนเป็นจุดแข็งแต่แท้จริงเป็นจุดอ่อนที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์คือ ชอบแก้ปัญหาด้วยวาทกรรม ผมเตือนด้วยความหวังดีในฐานะกัลยาณมิตรจริงๆ ว่าประชาธิปัตย์จะอยู่อย่างนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว ผมเสนอให้ประชาธิปัตย์ออกมานำมวลชนในการปฏิวัติประเทศ ผมถือว่าประชาธิปัตย์หลงผิดไปพลาดไปมีโอกาสกลับตัวได้ ผมเสนอความคิดนี้ด้วยความจริงใจ ถ้าเราเอาชาติเป็นที่ตั้ง ทิ้งองค์ประกอบโดยรวมออก เราไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นคนไทยคนหนึ่งที่หวังให้ชาติบ้านเมืองเข้มแข็ง ด้วยภาคประชาชน แล้วมากำหนดกติกากันในการที่จะให้อยู่ร่วมกันได้ มีเอกภาพในทางความคิด มีความสามัคคีในการเดินหน้าต่อไปประเทศไทยเราถึงจะอยู่รอดได้”
“ถึงเวลาที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องเสียสละบ้าง ถ้าไม่ลาออกจาก ส.ส.มานำประชาชน การเปลี่ยนแปลงในชาติบ้านเมืองจะไม่เกิดขึ้น แล้วในที่สุดพรรคประชาธิปัตย์จะต้องจบลงในประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นพรรคที่เล็กลงๆ และถ้าประเทศไทยถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ยึดเมื่อไหร่ พรรคประชาธิปัตย์คือตัวการ ถ้ายังไม่ออกมาเท่ากับยกประเทศให้เขาไป ประชาธิปัตย์มีโอกาสแค่ครั้งเดียวเท่านั้นเอง ถ้าประชาธิปัตย์รอจนถึงวาระ 3 พอยกมือแพ้ แล้วออกตอนนั้น จะกลายเป็นคนขี้แพ้ชวนตีทันที หากถามว่าแล้วใครจะบริหารประเทศ ให้ถวายคืนพระราชอำนาจแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อตั้งนายกฯและรัฐบาลมาดูแลประเทศไทย 2 ปี แล้วให้รัฐบาลชุดใหม่ตั้งงบประมาณเพื่อจัดตั้งระบบกติกากันใหม่ แล้วจะไม่มีระบบเดรัจฉานในสภาฯอีก”
นั่นคือข้อเสนอของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งดูเหมือนว่า พรรคประชาธิปัตย์จะมิได้ให้ความสนใจ
จริงอยู่ แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเห็นแสงสว่างจากปลายอุโมงค์บ้าง เมื่อ
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำรุ่น 2 และโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์” โดยยอมรับว่า ตนเองและนายประพันธ์ คูณมี ได้มีการนัดพบกับ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งประกอบด้วยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อนนายกษิต ภิรมย์ และคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช
แต่เมื่อได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” ส.ส.สุราษฎร์ธานี อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้มีบารมีตัวจริงและเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เนื่องจากสามารถผลักดันให้เป็นนายกรัฐมนตรีได้สำเร็จในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ก็ได้บทสรุปที่ชัดเจนโดยไม่ต้องมีคำถามอีกต่อไป เพราะโพสต์ทูเดย์ได้พาดหัวซึ่งเป็นบทสรุปของแก่นแกนความคิดของนายสุเทพเอาไว้ว่า “ไม่รับเงื่อนไข พธม.ถอดสูทสู้แบบอารยชน”
ทั้งนี้ นายสุเทพชี้แจงเหตุผลเอาไว้ว่า “เราจำเป็นต้องสู้ในสภา เรามีน้อยอยู่แล้ว ถ้าลาออกมาก็จบ เขาพิจารณา 3 วาระรวดได้เลย และโดยข้อเท็จจริงในสภายังมีเรื่องอีกหลายเรื่องที่ต้องต่อสู้กัน เช่น กฎหมายกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนจะเคลื่อนไหวอย่างไรเราก็ค่อยๆ ปรึกษากันไป ยังไม่แตกหักกับฝ่ายใดทั้งสิ้น เราเคลื่อนไหวเดินหน้าด้วยความมุ่งมั่นไม่เปลี่ยน ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นเป้าหมายสำคัญ เรื่องของพรรคยังเป็นเรื่องรอง”
คำถามที่มีถึงนายสุเทพก็คือ การต่อสู้ในสภาจะช่วยแก้ปัญหาหรือนำไปสู่ชัยชนะได้อย่างไรในเมื่อไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเล่นเกมยื้ออย่างไร สุดท้ายก็แพ้ระบบพวกมากลากไปวันยังค่ำ
การที่นายสุเทพอ้างว่าเพื่อมิให้พรรคเพื่อไทยพิจารณาผ่านกฎหมายทีเดียว 3 วาระรวดเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลจริงหรือ เพราะคำตอบสุดท้ายก็เหมือนกันอยู่ดี
แล้วการเป็น ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์จะมีประโยชน์อะไรต่อประเทศชาติบ้าง
ดังนั้น เมื่อพิจารณาเหตุผลโดยรอบด้านแล้ว คำถามจึงมาหยุดลงตรงที่ว่า จริงๆ แล้วมีอะไรที่อยู่เหนือจากสิ่งที่ประชาชนรับรู้หรือไม่ เพราะการที่นายสุเทพและพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจมิใช่สิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาเลยแม้แต่น้อย
เป็นไปได้หรือไม่ว่า การจัดเวทีผ่าความจริง การให้ประชาชนเดินส่ง ส.ส.เข้าสภา หรือการเล่นเกมยื้อไปมาในสภาเป็นเพียงแค่ “ปาหี่” ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น เพราะไม่มีใครเชื่อว่าระดับมันสมองของคนอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะคิดยุทธศาสตร์แบบ “แพ้ตั้งแต่อยู่ในมุ้ง” นอกเสียจากเป็นมวยล้มต้มคนดู
เหมือนเช่นเมื่อครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์จัดเวทีผ่าความจริงที่บริเวณใต้ทางด่วนอุรุพงษ์โดยเป็นการปราศรัยข้ามวันข้ามคืนเพื่อที่ในตอนเช้าจะให้ประชาชนเดินไปส่ง ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมประชุมสภาที่สังคมก็ตั้งสงสัยมาแล้วครั้งหนึ่งจนกลายเป็นวลียอดฮิต “กูว่าแล้ว....”
เพราะในครั้งนั้นถ้าพรรคประชาธิปัตย์เอาจริง มีหรือที่จะไม่สามารถระดมคนให้มาร่วมเป็นจำนวนมาก เพราะต้องไม่ลืมว่า คนที่เลือก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ทั้งระบบเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่อมีนับเป็นสิบล้านคน ซึ่งขอเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ก็จะมีคนออกมาพร้อมกับพรรคประชาธิปัตย์นับเป็นล้านคนแล้ว เว้นเสียแต่ว่าพรรคแมลงสาบและจรกาหน้าดำร่วมกับนายใหญ่ใช้ “ทฤษฎีการสมคบคิด” อย่างแนบเนียน
กล่าวคือขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งแสร้งทำเป็นว่าจะแตกหัก อีกฝ่ายหนึ่งก็แสร้งระดมตำรวจมาล้อมรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาล พร้อมประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพื่อข่มขู่ ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วเป็นการเล่นละครเพื่อตบตามวลชนของทั้งสองฝ่าย
เนื่องเพราะเป็นที่รับรู้กันว่า ความสัมพันธ์ของจรกาหน้าดำและนายใหญ่นั้นอยู่ในระดับไม่ธรรมดา เป็นคนสายพันธุ์เดียวกันชนิดที่มองตาก็รู้ใจ แถมสุดท้ายแล้วจรกาหน้าดำและพ่อรูปหล่อก็ล้วนแล้วแต่ได้รับอานิสงส์จากกฎหมายนิรโทษกรรมเช่นกัน
เช่นเดียวกับการเล่นลิเกการเมืองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เข้าอีหรอบเดียวกัน เพราะความจริงถ้าจะว่าไปแล้วการไขให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก็มิได้เกิดผลเสียกับพรรคประชาธิปัตย์เลยแม้แต่น้อย หนำซ้ำยังเกิด ผลดีมากกว่าอีกต่างหาก เพราะนั่นหมายความว่าพรรคประชาธิปัตย์เองก็สามารถส่งคนของตนเองลงสมัครรับเลือกตั้งได้ และถือเป็นการเพิ่มเก้าอี้ของพรรคในสภาอีกต่างหาก
ถามว่า ประชาชนมีสิทธิตั้งข้อสงสัยในทำนองนี้ได้หรือไม่
คำตอบก็คือได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า อดีตนายทหารใหญ่ที่เคยได้ชื่อว่าเป็น My Best Bodyguard เมื่อครั้งที่ได้รับตำแหน่งใหม่ๆ วันนี้ยังแปรเปลี่ยนไปกลายเป็น “คนที่นายใหญ่ไว้ใจมาก” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะการที่เทพเทือกปฏิเสธข้อเสนออย่างกัลยาณมิตรของนายสนธิย่อมเป็นใบเสร็จที่เฉลยทุกอย่างในตัวเองอยู่แล้ว
และถ้าพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเล่นเกมเช่นนี้ต่อไป ย่อมหมายความว่า การปฏิรูปการเมืองที่เกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศก็ย่อมจะไม่เกิด และพรรคประชาธิปัตย์หวังเพียงแค่การเปลี่ยนขั้วการเมืองเพื่อให้พรรคของตนเองกลับเข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศเท่านั้น