ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ในสังคมที่มีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย สัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงการบูรณาการเนื้อหา แก่นแท้ และจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งคือ กระบวนการปฏิบัติหน้าที่ภายในรัฐสภา
ประชาธิปไตยมีรากฐานจากความเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์มีเหตุผล การระบุว่าเหตุผลใดมีความชอบธรรมหรือไม่ อย่างน้อยต้องมีองค์ประกอบสองประการที่ขาดเสียไม่ได้คือ การยึดโยงกับหลักการเชิงจริยธรรมที่สังคมยอมรับอย่างสมเหตุสมผลและมีความสอดคล้องเชิงตรรกะภายใน กับการมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงรองรับสนับสนุนเหตุผลนั้น
กระบวนการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาจึงได้รับการคาดหวังจากสังคมว่า สมาชิกรัฐสภาควรปฏิบัติหน้าที่อย่างมีเหตุผลทั้งเชิงจริยธรรมและเชิงประจักษ์ควบคู่กันไปอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง หากสมาชิกรัฐสภาสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เช่นนั้นแล้ว ย่อมจักกล่าวได้ว่าพวกเขารักษาเนื้อหาและจิตวิญญาณของประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ทว่าหลักการที่พึงจะเป็น กับความเป็นจริงซึ่งปรากฏอยู่ตรงหน้าในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาไทย ดูเหมือนมีความห่างไกลกันมากราวกับเส้นขนานยากที่จะบรรจบพบกันได้ และนับวันเส้นขนานนี้ก็ยิ่งขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ และเบี่ยงเบนไป เนื้อหาและจิตวิญญาณของประชาธิปไตยค่อยๆจางลง ขณะที่ความเป็นเผด็จการทรราชกลับทวีความเข้มข้นและชัดเจนมากขึ้น
การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภาของรัฐสภาไทย เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ได้เปิดเผยให้สังคมเห็นว่า รัฐสภาไทยหาใช่เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยอีกต่อไป หากแก่เป็นสัญลักษณ์ของการผสมผสานกันของระบอบการปกครองที่แปลกประหลาด สภาพการณ์ดูเหมือนใกล้เคียงกับประเทศเยอรมนี ช่วงค.ศ. 1919-1933 ที่เรียกกันทั่วๆไปว่า “สาธารณรัฐไวมาร์” อันเป็นภาพของการผสมผสานระหว่างเผด็จการแบบรัฐสภากับสภาพแบบอนาธิปไตยในรัฐสภาเข้าด้วยกัน และเป็นพื้นฐานหรือบันไดให้กับพรรคนาซีได้เข้ามาควบคุมประเทศเยอรมนีได้อย่างเบ็ดเสร็จในช่วงเวลาต่อมา
เราลองมาพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ของรัฐสภาไทยเกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภา ผู้เสนอแก้ไขกำหนดให้วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจำนวน 200 คน ให้บรรดาบิดามารดา คู่สมรส พี่น้อง ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆสมัครรับเลือกตั้งได้ ให้สามารถดำรงตำแหน่งได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเว้นวรรค และให้สิทธิแก่ผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆและสมาชิกพรรคการเมืองสามารถลงสมัครได้ทันทีโดยไม่กำหนดระยะเวลาหลังจากการลาออก เนื้อเหล่านี้พวกเขาอ้างว่าสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยที่ให้สิทธิและเสรีภาพแก่ทุกคนอย่างทั่วถึงและยึดโยงกับประชาชน
แต่จะเห็นว่าเหตุผลที่ผู้เสนอแก้ไขใช้อ้างเป็นการใช้เหตุผลแบบ “กัดคัมภีร์” ของคนโง่เขลาไร้สติปัญญา เพราะว่าพวกเขามิได้พิจารณาความสมเหตุสมผลและสมจริงเป็นที่ตั้ง เหตุผลอันเป็นที่มาของการมีวุฒิสมาชิกของแต่ละประเทศในโลกที่ใช้ระบอบปกครองแบบประชาธิปไตย หาใช่เป็นเหตุผลเดียวกันกับที่นักการเมืองไทยผู้มีสติปัญญาคับแคบและมุ่งหวังแต่ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งใช้เป็นข้ออ้างแต่ประการใด
วุฒิสมาชิกของหลายประเทศในระบอบประชาธิปไตยมีที่มาและอำนาจหน้าที่แตกต่างกันตามเงื่อนไขบริบททางประวัติศาสตร์และลักษณะทางสังคมประชากรของประเทศนั้นๆ บางประเทศที่มีการปกครองแบบสหรัฐ หรือ หลายๆรัฐมารวมกันเป็นประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา วุฒิสมาชิกก็มาจากการเลือกตั้งเพื่อเป็นตัวแทนของรัฐนั้นๆ บางประเทศที่มีประวัติศาสตร์การเมืองที่แตกต่างจากประเทศอื่นเช่น ประเทศอังกฤษ วุฒิสมาชิกก็มาจากตัวแทนของกลุ่มตระกูลขุนนางทั้งฆราวาสและศาสนา บางประเทศที่มีลักษณะประชากรหลากหลาย เช่นประเทศเบลเยี่ยม การได้มาของวุฒิสมาชิกจึงมีหลากหลายวิธี ทั้งเลือกตั้งทางตรง ทางอ้อม และเป็นตามสิทธิ เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าประเทศที่ใช้ระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งกลุ่มผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออกกฎหมายมีปัญญาและคำนึงถึงโครงสร้างอำนาจและสิทธิของประชาชน เขามิได้ใช้เหตุผลแบบ “กำปันทุบดิน” หรือ เหตุผลที่คับแคบแบบกัดคัมภีร์ดุจนกแก้วนกขุนทองดังที่สมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมากของประเทศไทยปฏิบัติกันอยู่เป็นประจำจนเป็นนิสัย
หลักการพื้นฐานของการมีวุฒิสมาชิกนั้นมีความเชื่อมโยงกับการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งต้องมีลักษณะแตกต่างกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผนวกกับหลักการในการเปิดพื้นที่ทางการเมืองแต่กลุ่มคนที่หลากหลายในสังคมเพื่อสร้างความสมดุลเชิงอำนาจ อันเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีกลุ่มคนใดในสังคมจะถูกละเลยและทอดทิ้งจากการเข้าถึงอำนาจทางการเมือง ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจาต่อรองกันอย่างสร้างสรรค์และหาหนทางในการจัดสรรอำนาจให้เกิดความสมานฉันท์กันได้ในสังคม
แต่การกำหนดให้วุฒิสมาชิกทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยใช้เขตพื้นที่เหมือนกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และมีคุณสมบัติที่ละม้ายคล้ายคลึงกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์เกือบทุกอย่าง แม้จะมีขนาดของเขตเลือกตั้งที่ใหญ่กว่า ก็ยากที่จะทำให้กลุ่มคนที่เข้าสู่อำนาจทางการเมืองจะมีความแตกต่างจากกลุ่มอำนาจทางการเมืองเดิมได้
สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ ก็คือเป็นสภาพเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ช่วงที่มีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 นั่นคือ ทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร์ก็เต็มไปด้วยกลุ่มบุคคลที่เป็นเครือญาติในวงศ์ตระกูลเดียวกัน หรือ ที่เรียกกันว่า “สภาผัวเมีย” หรือ “สภาเครือญาติ” นอกจากจะเป็นการแสดงถึงการรวบอำนาจเป็นของตระกูลการเมืองไม่กี่ตระกูลในสังคมไทยแล้ว ยังเป็นการแสดงถึงความเสื่อมทรามของประชาธิปไตย ในความหมายที่ประชาชนทุกกลุ่มจะสามารถเข้าถึงอำนาจทางการเมืองได้อย่างเท่าเทียมอีกด้วย
สิ่งที่ตามมาจากการรวมศูนย์อำนาจของ “การเมืองแบบเครือญาติ” ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาคือ การทำให้เนื้อหาที่สำคัญของประชาธิปไตยสองประการถูกทำลายลงไปด้วย คือการกลั่นกรองกฎหมาย และการตรวจสอบการใช้อำนาจ ยิ่งในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ของเครือญาติและพวกพ้องแล้ว ก็ยิ่งทำให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ดังนั้นสิ่งที่เราสามารถคาดการณ์ได้หากมีวุฒิสภาเช่นนี้ก็คือ จะมีการออกกฎหมายที่สร้างประโยชน์แก่พวกพ้องตนเองเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก จะมีการละเลยไม่ตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น จะไม่มีความสำเร็จในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแก่นักการเมืองที่กระทำผิดซึ่งเป็นพวกพ้องของตนเองแต่อย่างใด และสถานการณ์ของการใช้อำนาจบาตรใหญ่ การลุแก่อำนาจก็ยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น
หลักฐานก็เริ่มประจักษ์ชัดตั้งแต่เริ่มต้น เมื่อมีการเร่งรัดของฝ่ายเสนอแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เสร็จสิ้นภายในเป้าเวลาที่กำหนด อันจะทำให้ตนเองได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ เต็มเม็ดเต็มหน่วย การปฏิบัติการลุแก่อำนาจจึงเกิดขึ้นโดยการตัดสิทธิในการพูดของสมาชิกรัฐสภาจำนวน 57 คนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ จนทำให้รัฐสภาแปลงสภาพกลายเป็น “รัฐสภานาซี” อย่างสมบูรณ์แบบ มีการนำกำลังตำรวจจำนวนมากเข้าไปอยู่ในสภาระหว่างการอภิปราย มีการจัดเตรียมตำรวจปราบจลาจลที่พร้อมในการปฏิบัติการปราบปรามภายใต้คำสั่งของผู้มีอำนาจ
รัฐสภาไทยจึงหมดสภาพของการเป็นเวทีแห่งการแสดงออกของประชาธิปไตย กลับกลายเป็นเวทีในการแสดงออกของความเป็น “รัฐสภาของทรราช” ซึ่งเต็มไปด้วยการจำกัดสิทธิเสรีภาพและการใช้อำนาจเผด็จการอย่างเต็มรูปแบบ อันปรากฏเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของประชาชนคนไทยทั้งมวลและยังได้แพร่ไปสู่ประชาคมโลกอีกด้วย
หากรัฐสภาไทยกลายเป็น “รัฐสภาเผด็จการทรราช” เสียแล้ว คำถามก็คือว่า หากเรายังยืนยันในหลักการและเนื้อหาของประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแล้ว เรายังจะยอมรับการดำรงอยู่ของรัฐสภานี้อยู่อีกหรือ หากเรายอมรับก็เท่าว่า เราก็กลายเป็นคน “ปากอย่าง ใจอย่าง” อย่างเลี่ยงไม่ได้
อ่างอาบน้ำที่เราเอาเด็กทารกลงไปแช่ เต็มไปด้วยสารพิษ สารพิษนั้นกำลังกัดกร่อนเด็กให้กลายเป็นผีตายซาก หากเราไม่ทุบอ่างทิ้งให้ทันเวลา ทารกก็คงตายแน่นอน หรือหากทุบทิ้งช้าไป ก็อาจสายเกินไป จนแม้กระทั่งทารกในอ่างเราก็ไม่อาจช่วยเหลือเยียวยาได้ทัน
เวลาในการขจัดรัฐบาล รัฐสภาทรราช กระชั้นเข้ามาเต็มที หากไม่ดำเนินการให้สำเร็จ สังคมไทยก็ไม่ต่างจาก “ทารก” ที่ถูกแช่อยู่ในอ่างน้ำที่เต็มไปด้วยสารพิษที่กัดกร่อนทั้งร่างกายและจิตวิญญาณให้สลายไป และคำถามสำคัญที่กำลังเผชิญหน้าของพลเมืองไทยทุกคนในขณะนี้ก็คือ
“หากพวกเขาปิดกั้นเสรีภาพในพูดและแสดงความคิดเห็นในรัฐสภาได้แล้ว จะมีอะไรอีกที่พวกเขาทำไม่ได้”
“หากพวกเขาแก้ไขรัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์แก่ตนเอง และรวบอำนาจเบ็ดเสร็จได้แล้ว จะมีอะไรอีกที่พวกเขาทำไม่ได้”
“หากพวกเขาออกกฎหมายเพื่อล้างผิดแก่อาชญากร อันเป็นพวกพ้องของตนเองได้แล้ว จะมีอะไรอีกที่พวกเขาทำไม่ได้”
“หากพวกเขาออกกฎหมายกู้เงินมาเผาผลาญ สร้างหนี้แก่ประเทศและผู้คนอย่างหนักอึ้งได้แล้ว จะมีอะไรอีกที่พวกเขาทำไม่ได้”