xs
xsm
sm
md
lg

ความชอบธรรมของการออกกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ในระหว่างที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง นายกรัฐมนตรีก็ออกมาเสนอให้มีการจัดตั้งสภาปฏิรูปการเมือง ซึ่งทุกคนน่าจะดูออกว่าเป็นการซื้อเวลามากกว่า เพราะการปฏิรูปการเมืองที่นายกรัฐมนตรีพูดถึง ดูเป็นเรื่องคลุมเครือชอบกล

แต่ต่อมาก็มีการไปเชิญบุคคลต่างๆ เข้ามาร่วมสภาปฏิรูปการเมือง เมื่อดูรายชื่อคนเหล่านี้แล้วก็ไม่เห็นว่าจะมาทำหรือพูดอะไรให้เป็นแก่นเป็นสารของการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยได้ เพราะดูแต่ละคนแล้วเรียกได้ว่าเคยเป็นผู้สร้างปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา

ลองมานึกดูว่าคนเหล่านี้จะมาพูดเรื่องอะไรบ้าง อย่างแรกคงจะพูดถึงเรื่องความสามัคคีในชาติ และความจำเป็นที่จะต้องหันหน้ามาปรึกษากัน แต่จะมีประเด็นทางการเมืองอะไรนอกไปจากเรื่องการนิรโทษกรรม และการสร้างความปรองดอง ไปๆ มาๆ สภาฯ นี้ก็จะเป็นเวทีถกเถียงกันในรายละเอียดของการนิรโทษกรรม

เรื่องนิรโทษกรรมนี้ ตราบใดที่พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่ได้รับอานิสงส์จากการนี้ เรื่องก็คงไม่จบ เพราะต้นเหตุแห่งความขัดแย้งไม่ได้มาจากความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ปะทะกัน แต่เกิดจาก พ.ต.ท.ทักษิณ

เมื่อพูดถึง พ.ต.ท.ทักษิณแล้ว ต้องยอมรับว่าเป็นคนเก่ง มีเครือข่ายมากมายทั่วโลก แม้กระทั่งในแอฟริกา และตะวันออกกลาง มีประสบการณ์ทางธุรกิจการเมือง มีความคิดดีฉลาดเฉลียว ขาดอยู่อย่างเดียวคือ ความกล้าหาญ และความซื่อสัตย์

ปัญหาของการเมืองไทยไม่ใช่ปัญหาด้านโครงสร้าง หรือความชอบธรรมเหมือนในอดีต แต่เป็นเรื่องส่วนบุคคลโดยแท้ และการที่จะแก้ปัญหานี้ได้ บรรดาท่านที่ได้รับเชิญมาปรึกษาคงช่วยอะไรไม่ได้ คนเดียวที่จะแก้ปัญหานี้ได้ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ นั่นเอง

ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณมีความกล้าสักนิด ก็ควรที่จะกลับมาต่อสู้คดี ถ้าหากจะกลัวว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะพรรคพวกก็เป็นรัฐบาลอยู่ และศาลคงจะให้ความเป็นธรรมได้อย่างเต็มที่
ถ้ากลับมาและต้องติดคุก อีกไม่นานก็คงพ้นโทษ เพราะคงมีการอภัยโทษเนื่องในวาระสำคัญต่างๆ หากยอมเสียสละติดคุกสัก 2-3 ปี บ้านเมืองก็จะสงบเรียบร้อย ไม่ต้องเกิดความขัดแย้งกัน แต่ความหวังนี้คงเป็นได้ยาก เว้นแต่พ.ต.ท.ทักษิณจะมีดวงตาเห็นธรรมเอง

พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าใจว่าตนต้องถูกลงโทษเพราะมีการปฏิวัติ ที่จริงลำพังความผิดที่ได้กระทำไว้ก็พอเพียงที่จะถูกลงโทษแล้ว การปฏิวัติเพียงแต่เร่งให้เกิดการดำเนินการเร็วขึ้นเท่านั้นเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว สภาปฏิรูปการเมืองจะพูดกันเรื่องอะไร ไปๆ มาๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องซื้อเวลา หรือเป็นปาหี่การเมืองหลอกต้มคนดูเท่านั้นเอง บุคคลที่เข้ามาร่วมล้วนแล้วแต่เป็นฝ่ายที่เห็นใจรัฐบาลทั้งสิ้น คนที่เห็นแตกต่างออกไป เขาก็ไม่กล้าไปชวนมาร่วมกลัวบ่อนแตก อย่างแก้วสรร เป็นต้น แก้วสรรเป็นคนดี คนตรง พูดอะไรก็ตรงๆ ขวานผ่าซาก โดยเฉพาะเรื่องการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก้วสรรบอกว่า เป็นการให้คนผิดพ้นผิด

ไปๆ มาๆ การเมืองไทยก็คงเป็นเหมือนเดิม คือปัญหาทักษิณก็ค้างคาอยู่จนกว่าจะตายไปข้างหนึ่ง แม้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะผ่านสภาฯ แต่คงมีการชุมนุมคัดค้าน และอาจเลยเถิดไปถึงการถวายฎีกาก็ได้

มีปัญหาที่ควรหยิบยกมาถกเถียงกันถึงอำนาจอันชอบธรรมของฝ่ายนิติบัญญัติ ในกรณีว่าการจะออก พ.ร.บ.มานิรโทษกรรมนั้น กระทำได้หรือไม่ อำนาจอันชอบธรรมของฝ่ายนิติบัญญัติอยู่แค่ไหน แต่มีคำกล่าวว่า “รัฐสภาอังกฤษนั้น มีอำนาจมาก สามารถออกกฎหมายอะไรมาก็ได้ แม้แต่การออกกฎหมายให้พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก และตกทางทิศตะวันออก” แต่พระอาทิตย์ก็ยังจะขึ้นทางทิศตะวันออกอยู่ดี

ฉันใดฉันนั้น รัฐสภาอาจออกกฎหมายให้คนผิดไม่มีความผิดได้ แต่ก็ยังเป็นความผิดอยู่ดี ไม่ได้มีผลทำให้ความผิดกลายเป็นความถูก

การใช้อำนาจของรัฐสภาที่มีเสียงข้างมากเด็ดขาดเช่นนี้ แม้จะมีผู้ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่อาจดำเนินการทางรัฐสภาได้ แต่ประชาชนยังสามารถอาศัยกระบวนการทางรัฐธรรมนูญคัดค้านกฎหมายนี้ได้ และประชาชนก็คงจะทำเช่นนั้นจริงๆ

การที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ออกมาคัดค้านด้วยการชุมนุมกัน นับว่าเป็นความรอบคอบ และเป็นความฉลาด เพราะช่วงเวลานี้เป็นภารกิจของพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า

การคัดค้านของประชาชนเป็นการแสดงออกในเชิงศีลธรรม ซึ่งมากกว่าการคัดค้านทางการเมือง เป็นการตั้งคำถามสำคัญที่ว่า รัฐสภาควรออกกฎหมายที่ล้างความผิดได้หรือไม่ กรณีนี้แตกต่างกับการนิรโทษกรรมผู้ก่อการรัฐประหาร เพราะการรัฐประหารสมัยก่อนไม่ได้ก่อให้เกิดความรุนแรง ความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินมากนัก แต่เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จึงต้องมีการออกกฎหมายนิรโทษผู้ก่อการรัฐประหาร

ในที่สุดข้อถกเถียงนี้จะขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ และทำให้กฎหมายขาดความชอบธรรม มีคำกล่าวว่า “There is no Unjust Law for no Law Can be Unjust” แต่รัฐสภาอาจใช้กระบวนการทางนิติบัญญัติออกกฎหมายมาได้ แต่กฎหมายนี้มีความชอบธรรมเพียงใด

ก่อนจะพูดเรื่องอื่นๆ สภาปฏิรูปควรหยิบยกประเด็นนี้มาถกเถียงกันเสียก่อนว่า รัฐสภาควรออกกฎหมายที่ขาดความชอบธรรมเช่นนี้หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น