xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพลชี้คนไม่เชื่อน้ำยา “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม-สภาปฏิรูป”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ - “นิด้าโพล” เผยผลสำรวจ พบคน 76% ไม่มั่นใจ พ.ร.บ.นิรโทษฯ จะทำให้เกิดการปรองดองของคนในชาติ ขณะที่คนกว่า 74% ไม่มั่นใจสภาปฏิรูปการเมืองของรัฐบาลว่าจะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง นักวิชาการชี้เป็นแค่ปาหี่ สร้างภาพลักษณ์ของรัฐบาล

วานนี้ (17 ส.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความเชื่อมั่นของคนไทยต่อสภาปฏิรูปการเมือง” โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2556 จากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,254 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ เกี่ยวกับความเชื่อมั่นที่มีต่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และการจัดตั้งสภาปฏิรูปการเมืองอันจะนำไปสู่ความปรองดองของคนในชาติและลดความขัดแย้งทางการเมือง และความกังวลต่อความรุนแรงทางการเมืองในระหว่างการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระที่ 2 และ 3

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะทำให้ประเทศชาติเกิดความปรองดอง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.13 ระบุว่า ไม่มั่นใจเลย รองลงมาร้อยละ 29.03 ระบุว่าไม่ค่อยมั่นใจ ร้อยละ 12.12 ระบุว่าค่อนข้างมั่นใจ มีเพียงร้อยละ 8.21 ระบุว่ามั่นใจมาก เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อสภาปฏิรูปการเมืองของรัฐบาล จะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 41.07 ระบุว่าไม่มั่นใจเลย รองลงมาร้อยละ 33.41 ระบุว่าไม่ค่อยมั่นใจ ร้อยละ 14.35 ระบุว่าค่อนข้างมั่นใจ และมีเพียงร้อยละ 7.34 ระบุว่ามั่นใจมาก

ท้ายสุดเมื่อถามถึง ความกังวลใจของประชาชนต่อความรุนแรงทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างสภาฯพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระ 2 และ 3 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.71 ระบุว่า ค่อนข้างกังวลใจ รองลงมาร้อยละ 22.81 ระบุว่า กังวลใจมาก ร้อยละ 19.54 ระบุว่าไม่กังวลเลย และร้อยละ 15.87 ระบุว่าไม่ค่อยกังวล

รองศาสตราจารย์ ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในประเด็นความมั่นใจต่อร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และความมั่นใจต่อสภาปฏิรูปทางการเมือง ที่จะนำไปสู่ความปรองดองและลดความขัดแย้ง จากผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากรัฐบาลและสวนทางกับการกระทำของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จึงทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่าจะเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้จริง

ทั้งนี้ บรรดาคนที่รัฐบาลได้เชิญเข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษาในสภาปฏิรูปการเมือง ส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมืองที่เคยสนับสนุนรัฐบาลและเคยเป็นอดีตนักการเมืองที่ไม่ค่อยได้ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมืองสักเท่าใด กลายเป็นเพียงแค่เวทีแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของนักการเมืองรุ่นลายคราม และคนส่วนใหญ่รู้ทันว่าเป็นแค่การเบี่ยงเบนความสนใจและดึงเวลา เป็นการปาหี่ สร้างภาพลักษณ์ให้รัฐบาลดูดีว่ากำลังใช้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อหวังผลทางการเมือง นักการเมืองที่รู้ทันและมีความคิดเห็นว่าไม่ใช่ทางออกที่แท้จริงของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งก็จะปฏิเสธเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่มีความมั่นใจ และหากมีการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2 และ 3 จึงกังวลว่าจะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองตามมา




กำลังโหลดความคิดเห็น