โพลราชภัฏสวนดุสิต ทำผลสำรวจรับเวทีปาหี่รัฐฯ อ้างเสียงส่วนใหญ่ ชี้ ถึงเวลาปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปความขัดแย้ง อันดับ 1 การทุจริตรองมา ระบุความแตกแยกทำปฏิรูปยากที่สุด ห่วงผลประโยชน์โกงตามมา แถมเสียงข้างมากยังเห็นด้วยรัฐฯ ปฏิรูปการเมืองในบางเรื่อง
วันนี้ (18 ส.ค.) “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สอบถามความคิดเห็นจากประชาชน เรื่องการ “ปฏิรูปการเมืองไทย” ในสายตาประชาชน โดยจากกระแสการเมืองไทยในปัจจุบันมีทั้งเรื่องของความขัดแย้งที่มีผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในภาพรวม โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านซึ่งมีทั้งการเมืองในสภาและนอกสภา ประชาชนแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจึงมีเรื่องของการปฏิรูปการเมืองจากฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็มีทั้งความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็น และจากผลสำรวจประชาชนทั้งหมดที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,648 คน ระหว่างวันที่ 12-17 สิงหาคม 2556 สรุปผลดังนี้
ต่อข้อคำถามว่า จากสถานการณ์ทางการเมืองไทย ณ วันนี้ ประชาชนคิดว่าถึงเวลาหรือยังที่จะต้องมี “การปฏิรูปการเมืองไทย” อันดับ 1 ร้อยละ 72.29 ระบุว่า ถึงเวลาแล้ว เพราะ ความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจในทางที่ผิดทำให้ประเทศไม่พัฒนา ประชาชนอยู่อย่างลำบาก ฯลฯ ส่วนอันดับ 2 ที่ระบุว่ายังไม่ถึงเวลา ร้อยละ 27.71 เพราะการปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ยังไม่มีรูปแบบแนวทางที่ชัดเจน ฯลฯ
เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าเรื่องใด ที่การเมืองไทยควรจะปฏิรูปเพื่อให้ดีขึ้น อันดับ 1 ร้อยละ 34.55 คิดว่าความขัดแย้ง แตกแยกแตกความสามัคคี แบ่งฝักแบ่งฝ่าย อันดับ 2 ร้อยละ 20.12 คิดว่าการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด อันดับ 3 ร้อยละ 17.48 คิดว่าการเสริมสร้าง ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่นักการเมือง ข้าราชการและประชาชน อันดับ 4 ร้อยละ 15.86 คิดว่าการใช้กฎหมายในทางที่ถูกต้อง เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่เอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และอันดับ 5 ร้อยละ 11.99 คิดว่าการบริหารและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี
ส่วนคำถามว่าประชาชนคิดว่าทำไม “การปฏิรูปการเมือง” จึงเป็นเรื่อง “ยากลำบาก” อันดับ 1 ร้อยละ 34.00 มองว่าเกิดจากความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย มุ่งแต่เอาชนะคะคานไม่ยอมกัน มีมุมมองที่แตกต่างกัน อันดับ 2 ร้อยละ 32.73 มองว่ามีเรื่องผลประโยชน์การทุจริตคอร์รัปชันเข้ามาเกี่ยวข้อง ความเห็นแก่ตัวเห็นแก่พวกพ้อง อันดับ 3 ร้อยละ 13.09 มองว่าผู้มีอำนาจใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด การเมืองเข้ามาแทรกแซง ยึดติดระบบการเมืองแบบเก่า อันดับ 4 ร้อยละ 11.10 มองว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน และอันดับ 5 ร้อยละ 9.08 มองว่าประชาชนไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมทางการเมือง การเมืองมักจะเป็นเรื่องของนักการเมืองเท่านั้น
ทั้งนี้เมื่อถามว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่กับแนวทาง/วิธีการปฏิรูปการเมืองไทยของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ อันดับ 1 ร้อยละ 66.17 เห็นด้วยในบางเรื่อง เพราะ รัฐบาลตั้งใจที่จะแก้ปัญหาให้ดีขึ้น สถานการณ์ต่างๆ จะได้คลี่คลาย แต่บางเรื่องก็ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน เช่น เชิญนักการเมืองระดับโลกมาเข้าร่วม การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ควรศึกษาอย่างละเอียด มีหลายเรื่องที่ควรเร่งดำเนินการ ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 22.14 ไม่เห็นด้วยทุกเรื่อง เพราะเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม สิ้นเปลืองงบประมาณ เสียเวลาในการพัฒนาประเทศ ฯลฯ อันดับ 3 ร้อยละ 11.69 เห็นด้วยทุกเรื่อง เพราะ บ้านเมืองจะได้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น สิ่งที่ดำเนินการอยู่เป็นการทำเพื่อส่วนรวม ฯลฯ