“จุรินทร์” แจงไร้ข้อสรุประยะเวลาอภิปรายงบฯ เดิมคุยกัน 2 วัน แต่แปรญัตติทุกคนอาจยืดเยื้อ ขู่ลักไกปิดประชุมมีปัญหา อย่าใช้เสียงข้างมากปิดตา ปชช. ขอ ปธ.สภาฯ ทำตามข้อบังคับ ส่วน ปชป.เล็งบี้รัฐฯ ขาดวินัยคลังทำหนี้-รายจ่ายพุ่ง รายได้ภาษีไม่ตามเป้า ไม่หวังนายกฯ โผล่แจง ชี้ตัวอย่างไม่ดี เย้ย รบ.เสียหน้า “โคฟี” เมินปาหี่ หลังแนะฟัง คอป.กลับเฉย ชี้รู้ทันเกมการเมืองเพื่อ “แม้ว”
วันนี้ (14 ส.ค.) ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานร่วมพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปสำหรับการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ที่อาจจะยืดเยื้อไปถึงวันที่ 16 ส.ค. เดิมคุยกันว่าจะใช้เวลา 2 วันแต่เนื่องจากทุกคนที่เสนอแปรญัตติจะอภิปรายทั้งหมด จึงขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่จะอภิปราย แต่ผู้ที่จะสละสิทธิในการสงวนความเห็นก็เป็นสิทธิของท่าน ทั้งนี้ การที่นายอำนวย คลังผา ประธานประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ระบุว่าจะมีการอภิปราย 4-5 คนต่อ 1 มาตรา การทำอย่างนั้นเป็นการทำผิดข้อบังคับ ซึ่งข้อบังคับระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นสิทธิ์ของผู้สงวนคำแปรญัตติรวมถึงกรรมาธิการ ก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น
เมื่อถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ที่จะมีการปิดการอภิปราย นายจุรินทร์กล่าวว่า ทำอย่างนั้นไม่ได้ หากทำเช่นนั้นการอภิปรายงบประมาณปี 57 ก็จะมีปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น รัฐบาลใช้อำนาจในการเป็นเสียงข้างมากพร่ำเพรื่อ ไม่ควรปิดหูปิดตาประชาชน อย่างไรก็ตาม ประธานสภาควรปฏิบัติตามข้อบังการประชุม ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 137 คน แยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 121 คน ขอแปรญัตติและสงวนคำแปรญัตติไว้ ส่วนอีก 15 คนเป็นกรรมาธิการที่สงวนความเห็นไว้
เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขยายเวลาประชุมไปถึงวันที่ 16 ส.ค. นายจุรินทร์กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงหากพิจารณาไม่เสร็จก็ต้องขยายเวลาไป เวลาทั้งหมดเป็นเวลาของสภาไม่ได้เป็นเวลาส่วนตัวของรัฐบาล การประชุมต้องพิจารณาเรียงตามมาตราซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม ส่วนการที่รัฐบาลกล่าวหาว่าฝ่ายค้านยื้อเวลานั้นเป็นไปไม่ได้ ความจริงคือการปฏิบัติหน้าที่ต้องเป็นไปทั้งสองฝ่าย
เมื่อถามว่าประเด็นที่จะชี้ให้ประชาชนเห็นชัดเจนในวาระ 2 คืออะไร นายจุรินทร์กล่าวว่า เรื่องของการขาดวินัยการคลังเป็นหัวใจสำคัญ ตัวเลขการก่อหนี้สูงขึ้นมาก รวมถึงรายจ่ายในแต่ละปีที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ส่วนงบลงทุนก็สูงขึ้นในอัตราที่น้อย ขณะเดียวกัน รายได้ก็เก็บไม่ได้ตามเป้าหมายในส่วนของภาษีอากรและรายได้นิติบุคคลก็เช่นกัน ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า การที่รัฐบาลระบุว่างบจะสมดุลนั้นเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้ รายละเอียดของโครงการต่างๆ ก็ชี้ชัดเจนว่ารัฐใช้เงินไปก่อหนี้ และความไม่ชอบมาพากลของโครงการต่างๆ ซึ่งเมื่อพิจารณารายชื่อของผู้ที่เสนออภิปรายในส่วนของงบกลางมีจำนวนมาก ซึ่งเป็นส่วนที่รับผิดชอบโดยตรงของนายกรัฐมนตรี และมีข้อสังเกตหลายข้อที่ต้องไปชี้แจงในสภา โดยส่วนตัวนั้นตนไม่คาดหวังว่านายกรัฐมนตรีจะมาชี้แจงในสภา ตนคิดว่านายกรัฐมนตรีเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับนักการเมืองในสภา ควรปรับปรุงแก้ไขโดยเร่งด่วน
ส่วนกรณีที่นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมืองกับรัฐบาล นายจุรินทร์กล่าวว่า รัฐบาลนั้นเสียหน้า ก่อนหน้านี้นายโคฟีเคยกล่าวให้แนวทางการแก้ปัญหาไว้แล้ว เช่น ให้ฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เมื่อเรามีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความจริงแล้ว แต่ เมื่อ คอป.เสนอว่าไม่ควรมีการเร่งรัดเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม รัฐบาลก็ไม่ปฏิบัติตาม ในที่สุดจึงเป็นที่มาทำให้คนเห็นว่าการจัดตั้งสภาปฏิรูปการเมืองของรัฐบาลแค่เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อนำไปสู่เป้าหมาย คือการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ไม่มีมาตรา 309 ซึ่งการเดินหน้าสภาปฏิรูปที่องค์ประกอบมีแต่คนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สุดท้ายจะกลายเป็นสภาข้างเดียว