xs
xsm
sm
md
lg

ถอดปริศนา การชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์ (จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางการเมืองทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีความจำเป็นต้องปรับตัว เปลี่ยนยุทธศาสตร์ และพัฒนาสมรรถภาพ เพื่อสร้างความสามารถการแข่งขัน อันจะนำไปสู่ความอยู่รอดภายในสนามการเมืองที่มีระดับการต่อสู้ที่รุนแรงและแหลมคมมากขึ้นทุกขณะ

แต่โศกนาฏกรรมของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ การขาดความไวในการรับรู้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และด้วยความที่พรรคมีลักษณะกึ่งสถาบันซึ่งผนึกแน่นไปด้วย กฎเกณฑ์ จารีต บรรทัดฐานความเชื่อ และวัฒนธรรมการเมือง จึงทำให้พรรคปรับตัวได้อย่างเชื่องช้าและมียุทธศาสตร์ที่ขาดประสิทธิผล

สิ่งแวดล้อมทางการเมืองด้านพรรคคู่แข่งในสนามเลือกตั้งและในสภาอย่าง “พรรคทักษิณ” (ผมขอใช้คำว่าพรรคทักษิณ แทนพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย) แตกต่างอย่างมากกับพรรคการเมืองคู่แข่งของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต พรรคประชาธิปัตย์เป็นรอง “พรรคทักษิณ” ในแทบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็น ภาวะการนำ การระดมทุน การจัดการภายในพรรค การจัดตั้งมวลชน การกำหนดนโยบาย การใช้ยุทธวิธีการหาคะแนน และการโฆษณาชวนเชื่อ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไรที่พรรคประชาธิปัตย์ประสบความพ่ายแพ้ในสนามการเมืองติดต่อกันมาอย่างยาวนาน

แม้ในช่วงแรกพรรคทักษิณจะมีความแข็งแกร่งในสนามการเลือกตั้งและสภา แต่มีจุดอ่อนอย่างมากใน “เวทีประชาสังคม” แต่น่าเสียดายว่า ขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่ไวพอที่จะรับรู้จุดอ่อนดังกล่าว ยังคงใช้ ”เวทีสภา” ซึ่งเป็นเวทีที่พรรคเชื่อว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญและสามารถใช้ให้เกิดประสิทธิผลได้

การใช้ยุทธวิธีเดิม ภายใต้สิ่งแวดล้อมทางการเมืองและบรรยากาศของสภาผู้แทนราษฎร์ได้ตกอยู่ในการควบคุมของ “ทรราชเสียงข้างมาก” อย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้การต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์ในสภาจึงเป็นประดุจ “แมลงปอเขย่าเสาศิลา” ไม่บังเกิดผลกระทบหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ

แต่บรรยากาศภายนอกสภากลับแตกต่างออกไป ภาคประชาสังคมในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ได้ปฏิบัติการทางการเมืองต่อสู้กับพรรคทักษิณอย่างมีประสิทธิผล ทั้งเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวการทุจริต ความโลภ การเหิมเกริมในอำนาจ และการละเมิดจารีตประเพณี และมีการจัดชุมนุมอย่างต่อเนื่องยาวนานจนทำให้ “พรรคทักษิณ” สั่นคลอน และล่มสลายไปในที่สุด

ทว่าเรื่องตลกร้ายก็คือ แม้ว่าภาคประชาชนจะแสดงพลังทางการเมืองจนเป็นที่ประจักษ์แล้ว แต่ดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่อาจรับรู้ถึงพลังอำนาจนี้ได้ และเมื่อโชคดีได้มีอำนาจในระยะสั้นๆช่วงปี 2552 ถึงกลางปี 2554 อันเป็นผลพวงที่มาจากการต่อสู้ของภาคประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังหาได้ตระหนักถึงความสำคัญของภาคประชาชนที่ถากถางเส้นทางให้ตนเองเข้าสู่อำนาจแต่อย่างใด เมื่อได้อำนาจกลับทอดทิ้งภาคประชาชน และดำเนินงานทางการเมืองตามแบบแผนเดิมของตนเอง

ตรงกันข้ามพรรคทักษิณ กลับมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงและปรับยุทธศาสตร์ได้เร็วกว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นอย่างมาก แกนนำพรรคทักษิณได้กำหนดยุทธศาสตร์เร่งรัดและขยายการจัดตั้งมวลชนออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเริ่มจากอาศัยมวลชนกลุ่มเล็กๆที่ชื่อ แนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการซึ่งเป็นคนกลุ่มเล็กๆที่ต่อต้านการรัฐประหาร ปี 2549 และขยายออกไปจนกลายเป็น “กองทัพมวลชนแดง” อันมหึมา ด้วยพลังทุน การระดมจัดตั้ง กลไกโฆษณาชวนเชื่อ และกองกำลังชุดดำ ที่เครือข่ายของระบอบทักษิณทุ่มเทลงไป และท้ายที่สุดกองกำลังเหล่านี้ก็สั่นคลอนอำนาจและทำลายความชอบธรรมของพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างมีประสิทธิผล โดยผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ถูกตีตราว่าเป็น “ฆาตกร” อันเนื่องมาจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 และเครือข่ายพรรคทักษิณได้นำวาทกรรมชุดนี้ออกไปโฆษณาชวนเชื่ออย่างกว้างขวาง

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์กลับคาดหวังยุทธศาสตร์แบบเดิมๆเพื่อเสริมสร้างอำนาจแก่ตนเอง และละเลยไม่ตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับเรื่องบูรภาพของดินแดนที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เสนอให้ยกเลิก “บันทึกความเข้าใจไทยกับกัมพูชา 2543” ในที่สุดความสัมพันธ์หลวมๆระหว่างภาคประชาชนกับพรรคประชาธิปัตย์ก็แตกสลายลงไป

แต่ดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไม่สนใจมากนักเพราะมีความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐที่ตนเองมีอยู่และเชื่อมั่นในพรรคภูมิใจไทยที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล การประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่จึงเกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2554 โดยคาดหวังว่าพรรคตนเองและพรรคภูมิใจไทยจะได้รับเลือกเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง แต่ผลการเลือกตั้งกลับออกมาตรงกันข้ามกับที่พวกเขาคาดหวังอย่างสิ้นเชิง พรรคทักษิณกลับได้รับเลือกเข้ามาโดยมีเสียงข้างมาก เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พรรคทักษิณประสบชัยชนะในการเลือกตั้งอีกครั้ง นอกจากจะมีนโยบายซื้อเสียงด้วยประชานิยมแล้ว สิ่งที่สำคัญก็คือ กระแสของมวลชนเสื้อแดงที่โจมตีและทำลายความชอบธรรมพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยอย่างได้ผล

พรรคทักษิณกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งโดยมี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นฝ่ายค้านเช่นเดิม พรรคทักษิณได้นำนโยบายประชานิยมที่หาเสียงเอาไว้ไปปฏิบัติจนสร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างมหาศาล เช่น นโยบายจำนำข้าว นโยบายรถคันแรก มีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตไม่ว่างเว้น มีความพยายามทำลายหลักนิติรัฐและนิติธรรมโดยเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ทักษิณ ชินวัตร และพวกเสื้อแดงก่อการร้ายที่ทำผิดกฎหมายเผาบ้านเผาเมือง มีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อขยายและกระชับอำนาจของตนเองและอื่นๆอีกมากมาย

การแสดงบทบาททางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ในสภาดูเหมือนจะไม่สามารถยับยั้งการกระทำใดๆของพรรคทักษิณได้ การใช้ยุทธวิธีหรือกลไกทางการเมืองใดๆในสภาผู้แทนของพรรคประชาธิปัตย์กลับประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ภาคประชาชนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกลับยังคงทรงพลังในการยับยั้งการตัดสินใจที่ลุแก่อำนาจของพรรคทักษิณได้โดยสามารถหยุดยั้งการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองเพื่อล้างความผิดแก่ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน 2555 ได้สำเร็จ

แม้แกนนำของพรรคประชาธิปัตย์อาจตระหนักและเห็นความสำคัญของพลังประชาชนและการเมืองใน “เวทีประชาสังคม” แต่การที่พรรคประชาธิปัตย์จะเข้าไปทุ่มเทในการสร้างและนำมวลชนออกมาแสดงพลังทางการเมืองนั้น ดูเหมือนยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในพรรค เพราะด้านหนึ่งแกนนำบางส่วนยังอาจติดยึดกับกรอบความคิดเดิมตามจารีตของพรรค และในอีกด้านหนึ่งอาจไม่มีบุคลากรที่มีความพร้อมและกล้าหาญเพียงพอในการนำมวลชน

อันที่จริงผู้บริหารของพรรคประชาธิปัตย์บางคนมีความพยายามเสนอแนวทางการปฏิรูปพรรค แต่ยังคงมีขอบเขตจำกัดอยู่ในการบริหารจัดการพรรค อีกทั้งยังถูกคัดค้านจากแกนนำที่ทรงอิทธิพลในพรรคหลายคนจนต้องยุติลงไป แต่พรรคก็ได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีทางการเมืองหลายอย่าง เช่นการจัดตั้งกลไกการโฆษณาชวนเชื่อ โดยจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมขึ้นมาเป็นเครื่องมือเลียนแบบพรรคทักษิณ ขณะเดียวกันก็เดินสายจัดตั้งเวทีปราศรัยใช้ชื่อว่า “ผ่าความจริง” สัญจรไปตามพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ และสามารถสร้างเป็นข่าวตามสื่อมวลชนได้เป็นระยะ โดยเฉพาะหากเวทีใดที่มีเสื้อแดงมาก่อกวน ก็ทำให้พรรคมีพื้นที่ในสื่อมากยิ่งขึ้น และทำให้พรรคอาจได้รับคะแนนสงสารจากประชาชนที่เป็นกลางมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้พฤติกรรมป่าเถื่อนของเสื้อแดงถูกรังเกียจมากตามไปด้วย ดังนั้นยุทธวิธีปราศรัยในใจกลางพื้นที่สีแดงจึงนับว่าเป็นยุทธวิธีที่ได้ผลในการช่วงชิงคะแนนสงสาร และทำลายภาพลักษณ์พรรคทักษิณผู้อุปถัมภ์เสื้อแดงไปในตัว

แต่ทว่าพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่พร้อมที่จะเปิดยุทธศาสตร์การต่อสู้ด้วยมวลชนอย่างเต็มรูปแบบ เพราะการต่อสู้กับอำนาจรัฐด้วยแนวทางมวลชนนั้น เป็นการต่อสู้ที่ผู้นำมีความเสี่ยงสูงและต้องมีความรับผิดชอบต่อมวลชน ที่ผ่านมาผลจากการต่อสู้แนวทางมวลชนคือ เกิดการบาดเจ็บ ล้มตาย พิการ ติดคุกและถูกตั้งข้อหาในคดีก่อการร้าย และนี่คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ไม่กล้าเสี่ยง

ขณะที่การต่อสู้ในสภาแทบจะไม่มีความเสี่ยงใดๆเกิดขึ้น อย่างมากก็เพียงแค่การทะเลาะ ทำร้ายร่างกายกันเล็กน้อย หรือ ถูกฟ้องหมิ่นประมาทเท่านั้น

เมื่อพรรคทักษิณมีแผนนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าพิจารณาในสภาในวันที่ 7 สิงหาคม แม้พรรคประชาธิปัตย์จะคัดค้านอย่างรุนแรง จัดเวทีปราศรัยและใช้สื่อปลุกเร้าผู้คนอย่างเร่าร้อนและต่อเนื่อง ประดุจออกศึกสงคราม ในเวทีปราศรัยจะได้ยินคำว่า “สู้หรือไม่สู้ พี่น้อง” บ่อยครั้งมาก เนื้อหา อารมณ์ และถ้อยคำ หาใช่เป็นการปราศรัยที่ให้ข้อมูลข่าวสารตามปกติ แต่มีเจตจำนงเพื่อเตรียมอารมณ์ของผู้คนให้ออกไปต่อสู้ทางการเมืองอย่างแตกหัก แต่ทว่า วาทกรรมทางการเมืองที่พูด กับการปฏิบัติทางการเมืองจริงที่เกิดขึ้น กลับไม่ค่อยสอดคล้องกันนัก

พรรคประชาธิปัตย์ใช้มวลชนสำหรับการปฏิบัติการทางการเมืองเพียงแค่ “ให้เดินไปส่ง ส.ส.” เพื่อทำหน้าที่ในสภาซึ่งเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้อยู่แล้วว่า ไม่อาจยับยั้ง “ทรราชเสียงข้างมาก” ในสภาได้ และในที่สุดผลลัพธ์ก็เป็นไปตามนั้น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านวาระที่ 1 ไปอย่างง่ายดาย โดยที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่อาจทำอะไรได้เลย ซ้ำยังถูกทำให้กลายเป็นตัวตลกในสภาอย่างน่าอับอายที่สุด

แต่สิ่งที่น่าขันยิ่งกว่าก็คือ ความคิดของผู้ออกแบบงานมวลชนของพรรคนี้ ซึ่งได้ย่ำยีและทำให้พลังอันทรงประสิทธิภาพของมวลชน กลายเป็นสิ่งตลกขบขันทางการเมืองไปแล้ว

ดังนั้นสำหรับการชุมนุมทางการเมืองที่แกนนำพรรคนี้ประกาศว่าจะดำเนินการอย่างถึงที่สุด หากร่าง พ.ร.บ. ผ่านวาระ 3 ผมคิดว่า ประวัติศาสตร์น่าจะซ้ำรอย นั่นคือเป็นละครตลกอีกเรื่องที่พรรคนี้เตรียมการกำกับและสร้างให้กับการเมืองไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น