xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละ“ประชาธิปไตยสามานย์”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ในการต่อสู้ทางการเมือง การต่อสู้ทางความคิดเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ บทความนี้ผมจึงประสงค์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยในบางแง่มุมให้กระจ่างขึ้น เหตุผลหลักคือ คำว่าประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นคำศักดิ์สิทธิระดับสากล เป็นคำที่สามารถใช้อ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การกระทำของรัฐบาลนานาประเทศ แม้ว่าโดยเนื้อแท้แล้วรัฐบาลหลายประเทศจะมีการกระทำเยี่ยงเผด็จการก็ตาม แน่นอนว่ารัฐบาลไทยก็เป็นหนึ่งในหลายประเทศที่นิยมท่องคำนี้เอาไว้ ทั้งที่การตัดสินใจและการกระทำทางการเมืองจะตรงกันข้ามกับที่พูดอย่างสิ้นเชิง

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนในเครือข่ายเสื้อแดงมีความพยายามอย่างหนักหน่วงเพื่อผูกขาดคำว่าประชาธิปไตยเอาไว้กับฝ่ายตนเอง พวกเขาใช้คำเรียกตนเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้า” และ ใช้คำเรียกฝ่ายที่คัดค้านตนเองว่า “พวกต่อต้านประชาธิปไตย” หรือไม่ก็เอาตราของคำว่า “อนุรักษ์นิยมล้าหลัง” มาติดเอาไว้ เป้าประสงค์ของการใช้คำเหล่านี้ติดป้ายแก่ผู้คัดค้านก็คือ การลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายคัดค้านตนเอง ทั้งยังเป็นการเตรียมการสร้างความชอบธรรมต่อการใช้กำลังหรือความรุนแรงเข้าปราบปรามกลุ่มผู้คัดค้าน กล่าวคือหากรัฐบาลใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้คัดค้าน ถูกต่างชาติประณามหรือสอบถามมา รัฐบาลก็จะแก้ตัวว่าทำเพื่อพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย

ในอดีตประชาชนมักจะใช้คำเรียกรัฐบาลที่ผ่านพิธีกรรมเลือกตั้งและต่อมาใช้อำนาจอย่างเบ็ดเสร็จว่า “เป็นรัฐบาลทรราชเสียงข้างมาก” หรือ “เผด็จการในเสื้อคลุมประชาธิปไตย” หรือ “เผด็จการรัฐสภา” บางที่ก็ใช้คำว่า “เผด็จการทุนสามานย์” แต่คำว่า “เผด็จการ” มีความหมายที่บ่งว่าผู้ปกครองหรือฝ่ายบริหารได้อำนาจมาโดยไม่ผ่านพิธีกรรมเลือกตั้ง ครั้นเมื่อเป็นผู้บริหารก็ใช้อำนาจสถาปนากฎหมาย บริหารและการตัดสินใจทางการเมืองโดยบุคคลหรือคณะเดียว และไม่มีกลไกใดไปตรวจสอบการใช้อำนาจเหล่านั้นได้

การใช้คำว่า “เผด็จการ” และตามหลังด้วยคำขยายต่างๆจึงดูเหมือนไม่ค่อยมีพลังมากนักในการสร้างความสั่นสะเทือนแก่รัฐบาล พวกเขาสามารถตอบโต้ได้ว่า รัฐบาลไม่เป็นเผด็จการเพราะว่าผ่านพิธีการชุบตัวจากการเลือกตั้งมาแล้ว

แต่หากเราจะเรียกรัฐบาลที่ใช้การเลือกตั้งชุบตัวว่าเป็น “รัฐบาลประชาธิปไตย” ก็คงไม่ได้ และยิ่งผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงหากเชื่อว่าพวกเขาเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้า” หรือหากเชื่อว่าพวกเขามีเจตนาจะสร้างความเข้มแข็งแก่ประชาธิปไตย ก็เป็นความเชื่อที่ดูจะปัญญาอ่อนไปหน่อย เพราะการสร้างความเข้มแข็งแก่ประชาธิปไตยหมายถึงการสร้างความเข้มแข็งแก่ประชาชนให้มีอำนาจมากขึ้น แต่สิ่งที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยทำกลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม นั่นคือ การตัดสิทธิ ลิดรอนและบั่นทอนอำนาจประชาชนให้น้อยลงไป ซึ่งเห็นได้จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ มาตรา 190 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจทางการเมืองลดลงทั้งสิ้น

คำที่ใช้เรียกระบอบการเมืองและกลุ่มคนที่ครอบครองอำนาจภายใต้ระบอบนี้ได้อย่างเหมาะสมเห็นจะเป็นคำว่า “ระบอบประชาธิปไตยสามานย์” สำหรับกรณีระบอบ และคำว่า “กลุ่มนิยมประชาธิปไตยสามานย์” สำหรับกลุ่มผู้ใช้อำนาจและกลุ่มผู้สนับสนุนระบอบนี้

ลักษณะเฉพาะของ “ประชาธิปไตยสามานย์” ที่แตกต่างจาก “ประชาธิปไตยธรรมดา”มีอยู่หลายประการ

ประการแรก การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยสามานย์เป็นการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการทุจริต การซื้อขายเสียงโดยตรง และการซื้อด้วยนโยบายประชานิยม สิ่งเหล่านี้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของบุคคลที่สนับสนุนระบอบนี้ ผู้เลือกตั้งประเภท “เงินไม่มากาไม่เป็น” มีอยู่อย่างดาษดื่น ส่วนผู้สมัคร ส.ส.เกือบทั้งหมด ก็ยึดหลัก “ซื้อเสียง ดีกว่าเสี่ยงสอบตก” นอกจากซื้อเสียงด้วยเงินสดๆแล้ว บรรดาพรรคการเมืองแทบทุกพรรคเสนอประมูลประชาชนด้วยนโยบายประชานิยม อันเป็นการตกเขียวเสนอผลประโยชน์ไว้ล่วงหน้า โดยหากได้เป็นรัฐบาลแล้วจะกู้เงินมาแจก

วิถีของการใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆนานัปการ เช่น การหลอกลวง การสร้างความหวาดกลัว การข่มขู่ประชาชน และการใช้ความรุนแรงเพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมือง เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะการเลือกตั้งก็ดูเหมือนเป็นจารีตและบรรทัดฐานสำหรับระบอบประชาธิปไตยสามานย์เช่นเดียวกัน

การเลือกตั้งแบบอิสระและเที่ยงธรรม การแข่งขันโดยใช้ปัญญาเสนอนโยบายเพื่อสร้างและกระจายความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน การสื่อสารเพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน และใช้เหตุผลอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศนะระยะยาวเป็นเสมือนอุดมคติที่ไม่มีวันจะบรรลุ และไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในโลกของความเป็นจริงภายใต้จักรวาลของระบอบประชาธิปไตยสามานย์

ประการที่สอง พรรคการเมืองของระบอบประชาธิปไตยสามานย์มี 2 ประเภท คือ พรรคการเมืองแบบ “ห้างหุ้นส่วนการเมืองจำกัด” ประกอบด้วยเจ้าของห้าง อันเป็นเถ้าแก่และเครือญาติ กลุ่มเหล่านี้เป็นผู้ลงทุนและมีอำนาจเต็มในพรรค ไม่ว่าจะมีตำแหน่งอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการในพรรคก็ตาม ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ “ลูกจ้าง” อันได้แก่ ส.ส.ในสังกัด บางพรรค เถ้าแก่ปฏิบัติต่อ ส.ส.เยี่ยงทาสรับใช้ จิกหัวใช้ไปเสี่ยงคุกแทนตัวเองและเครือญาติ ขณะเดียวกัน ส.ส. บางคนก็ภูมิใจกับการเป็น “ขี้ข้า” รับใช้เถ้าแก่ ลูกจ้างคนใดอยากได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ต้องทำงานอย่างถวายหัวเพื่อประโยชน์ของเถ้าแก่หรือไม่ก็ใช้การประจบสอพลอให้เป็นที่พอใจ ภายในพรรคการเมืองประเภทนี้ อำนาจและตำแหน่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับการประทานของเถ้าแก่ แม้บางพรรคเถ้าแก่จะกลายเป็นอาชญากรหนีคุกไปแล้ว ก็ยังมีอิทธิพลอยู่ในพรรคอย่างไม่เสื่อมคลาย

พรรคการเมืองอีกประเภทคือ “พรรคแบบสมาคมท้องถิ่น” อันมีคนกลุ่มหนึ่งทำตัวเป็นเจ้ากี้เจ้าการคอยจัดการคุมอำนาจในพรรค เสมือนเป็น “กลุ่มอำนาจวงใน” คอยกำหนดว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ส่วนสมาชิกที่เหลือเป็น “กลุ่มวงนอก” สมาชิกคนใดหากจะต้องการมีบทบาทดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเป็นตัวแทนของพรรคในการลงสมัครรับเลือกตั้งก็ต้องเข้าให้ถึงกลุ่มอำนาจวงใน หากเข้าไม่ถึงก็ต้องรออย่างยาวนานจนเบื่อไปเอง

ในระบอบประชาธิปไตยทั่วๆไป พรรคการเมืองนั้นเป็นองค์กรพันธกิจ ใช้อำนาจเพื่อสร้างความรุ่งเรืองและมั่งคั่งของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยาว เป็นพรรคที่ได้รับการจัดตั้งจากกลุ่มคนที่รากฐานทางความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมืองและการมีผลประโยชน์ร่วมกัน สมาชิกทุกคนมีโอกาสได้รับเสนอเป็นตัวแทนหากมีความสามารถเป็นที่ประจักษ์และได้รับการยอมรับจากสมาชิกคนอื่นๆ มีฐานสมาชิกที่กว้างขวาง แต่คุณลักษณะเหล่านี้ เราจะไม่มีวันได้พบ ได้เห็นในพรรคการเมืองของระบอบประชาธิปไตยสามานย์

ประการที่สาม รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยสามานย์จะใช้อำนาจและการตัดสินใจทางการเมืองโดยมี 3 วัตถุประสงค์หลักคือ 1) เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์จากลงทุนไปกลับคืนมา บวกกำไรอีกหลายเท่าตัว เพื่อสร้างความมั่งคั่งแก่ตนเองและกลุ่มเครือญาติยิ่งขึ้น 2) เพื่อรักษาคะแนนนิยมอันจะทำให้ตนเองได้มีอำนาจอย่างยาวนาน และทำให้ประชาชนบางกลุ่มที่ไม่รู้เท่าทันเล่ห์กลหลงสนับสนุนต่อไปโดยการโยนผลประโยชน์เล็กๆน้อยๆไปให้ 3) เพื่อรักษาและขยายอำนาจออกไปอย่างไม่สิ้นสุด โดยแก้รัฐธรรมนูญหรือแก้กฎหมายเพื่อกระชับอำนาจของกลุ่มตนเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและลิดรอนอำนาจประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด และโดยการปราบปรามประชาชนผู้คัดค้านตนเองอย่างรุนแรง

ในบางกรณี บางประเทศ ซึ่งระบอบประชาธิปไตยสามานย์พัฒนาไปสู่ระดับสูงสุด จะเกิดปรากฎการณ์ที่พิเศษบางอย่างขึ้นมา นั่นคือ รัฐบาลจะตกภายใต้การควบคุมบงการของบุคคลที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งการเมืองอย่างเป็นทางการ บางคนมีสถานภาพเป็นนักโทษหนีคุก บางคนถูกตัดสิทธิทางการเมือง และรัฐบาลมีกองกำลังมวลชนอันธพาลคอยไล่ล่าจัดการกับผู้ไม่เห็นด้วย ผู้ที่ไม่สนับสนุน และผู้วิจารณ์รัฐบาล ดังที่เกิดในประเทศไทย ณ ห้วงเวลาปัจจุบันนี้

ประการที่สี่ รัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยสามานย์ไม่นิยมการตรวจสอบจากองค์กรใดทั้งสิ้น ไม้ว่าจะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ศาล สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป รัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติภายใต้สังกัดรัฐบาลปฏิเสธกฎหมายอย่างเปิดเผย และไม่ยอมรับอำนาจศาล ใครไปบังอาจตรวจสอบรัฐบาลจะได้รับการตอบโต้อย่างรุนแรงทั้งจากอำนาจรัฐและอำนาจเถื่อนภายใต้การบงการของรัฐบาล

ลักษณะของระบอบประชาธิปไตยของไทยมีการพัฒนาจากความสามานย์อ่อนๆในอดีต มาสู่ความสามานย์อย่างเข้มข้นในช่วงระยะสิบปีที่ผ่านมา สิ่งที่เรียกว่า “ระบอบทักษิณ” เมื่อหลายปีก่อนนั้น ที่แท้ก็คือขั้นตอนหนึ่งของการพัฒนาการของระบอบประชาธิปไตยสามานย์ และในปัจจุบันยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ระบอบนี้ได้พัฒนาไปสู่ความเป็น “ประชาธิปไตยสามานย์ขั้นสูงสุด”

สิ่งใดเมื่อพัฒนาไปสู่สุดสูงสุด สิ่งที่ตามมาคือการเริ่มต้นของความเสื่อมถอยและตกต่ำ ด้วยเหตุนี้เราจึงมีโอกาสได้เห็นความล่มสลายของระบอบประชาธิปไตยสามานย์ในอีกไม่ช้าไม่นาน


กำลังโหลดความคิดเห็น