xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ม็อบยางมิคสัญญี “นายกฯ ปู” หนีลอยตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ลุกลามบานปลายไม่มีทีท่าว่าจะหาข้อยุติร่วมกันได้กรณีม็อบชาวสวนยางในพื้นที่ภาคใต้และตะวันออก ที่ชุมนุมปิดถนนและจ่อขยายผลไปปิดสนามบิน ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในมาตรฐานเดียวกับการช่วยเหลือชาวนา โดยรับประกันราคารับซื้อยางพารา 92 - 120 บาทต่อกก. และปาล์มน้ำมัน ในราคา 6 - 7 บาท

เป็นเรื่องที่รัฐบาลจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ราคายางพาราที่ตกต่ำลงโดยยางแผ่นดิบเหลือเพียงกก.ละ 70 กว่าบาท และยางก้อนถ้วยที่ซื้อขายกันในพื้นที่จริงไม่ถึงกก.ละ 30 บาทนั้น ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวสวนยางทั่วทุกภูมิภาคในภาวะที่ต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้น และค่าครองชีพของประชาชนพุ่งสูงขึ้นจากฝีมือการบริหารของรัฐบาลเอง อีกทั้งปริมาณผลผลิตยางพาราที่เพิ่มมากขึ้นก็เป็นผลมาจากโครงการส่งเสริมปลูกยางของรัฐบาลทักษิณ พี่ชายของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ เมื่อเกือบสิบปีที่ผ่านมานี่เอง

แต่สิบกว่าวันที่ม็อบยางปิดถนนขึ้น-ล่องภาคใต้ในหลายจังหวัดเพื่อส่งสัญญาณความเดือดร้อนขอให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ กลับถูกรัฐบาลพรรคเพื่อไทยตีความว่า เป็นม็อบการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ เพียงเพราะพื้นที่ภาคใต้เป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคดังกล่าว หนำซ้ำยังมีการแจ้งความจับ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ในข้อหาอยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังม็อบ เบี่ยงเบนประเด็นไปจากความจริงคือ พี่น้องประชาชนไม่ว่าจะอยู่ภาคไหน อยู่ในอาชีพใด มีปัญหาเดือดร้อน รัฐบาลต้องเข้าไปอุ้มชูช่วยเหลือ เหมือนดังเช่นที่รัฐบาลปฏิบัติต่อเกษตรกรกลุ่มชาวนาให้เทียบเท่าเสมอหน้ากัน

การหลอกล่อด้วยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 56 ที่ผ่านมา เห็นชัดว่าไม่ได้ผลเพราะไม่ได้ตอบสนองข้อเรียกร้องของเกษตรกรโดยตรง คือ ขอให้ประกันราคารับซื้อให้สูงขึ้น แต่กลับไปอนุมัติแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ปลูกยางพารา ตามมติของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) โดยจัดสรรวงเงิน 5,000 ล้านบาท และมอบหมายให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการร่วมกับสถาบันของเกษตรกรในการสนับสนุนเงินลงทุน จัดสรร และจัดหาโรงงาน หรือแหล่งแปรรูป ไปจนถึงวัตถุดิบ ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา

ส่วนอีกก้อนหนึ่ง คือ 1.5 หมื่นล้านนั้น ให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ดำเนินการในการปล่อยสินเชื่อ ในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางพารา ในการจัดซื้อและจัดหาเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกำลังการผลิต ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าน่าจะช่วยเพิ่มความต้องการใช้ยางพาราในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกยางพารารายย่อย จำนวน 9.9 แสนราย หรือคิดเป็น 3 ใน 4 ของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราทั้งหมด ที่มีพื้นที่เพาะปลูกไม่เกิน 10 ไร่ ครม.มีมติอนุมัติงบกลางกรณีฉุกเฉินวงเงิน 5,628 ล้านบาทเศษ จ่ายเงินชดเชยในอัตราไร่ละ 1,260 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือในการดำเนินการใช้จ่ายในปัจจัยต่างๆ ที่จำเป็น อาทิ ปุ๋ย ส่วนเกษตรกรที่มีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 10 ไร่ จะหารืออีกครั้งว่าจะเอาอย่างไร

นี่เป็นมาตรการที่รัฐบาลโดยนายกิติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่วายแดกดันว่า “…ม็อบจะเอาทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่ได้"

ขณะที่ผลประชุม ครม.ในวันเดียวกันนี้ ครม.เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เรื่องหลักเกณฑ์การรับจำนำข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 56/57 โดยใช้วงเงินงบประมาณที่ 2.7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้านาปี ฤดูกาลผลิตปี 56/57 จะรับจำนำที่ราคา 15,000 บาทต่อตัน จำกัดวงเงินรับจำนำไว้ที่ไม่เกิน 3.5 แสนบาทต่อครัวเรือน เริ่มต้นตั้งแต่ ต.ค. 56 ถึง ก.พ. 57 ส่วนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ฤดูกาลผลิตปี 57 จะรับจำนำที่ราคา 13,000 บาท/ตัน จำกัดวงเงินการรับจำนำไว้ที่ไม่เกิน 3 แสนบาท/ครัวเรือน

นับเป็นการบริหารประเทศแบบเลือกปฏิบัติที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ยุคผู้พี่ “นช.ทักษิณ” ที่ปราศรัยจังหวัดไหนเลือกพรรคไทยรักไทยจะได้รับการดูแลก่อน จนถึงรัฐบาลผู้น้องยิ่งลักษณ์ ที่สร้างบรรทัดฐานสองมาตรฐานให้เห็นจะจะระหว่างเงินช่วยเหลือชาวสวนยางพารารวมๆ แล้วแค่ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท กับเงินโครงการรับจำนำข้าว 2.7 แสนล้านบาท ทั้งที่ชาวนาและชาวสวนยางต่างก็เป็นเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกันแท้ๆ

การเยียวยาความเดือนร้อนของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม สาธุชนทั่วไปรู้ดีว่าต่างกันราวฟ้ากับเหว แต่สำหรับนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กลับบอกว่า นี่เป็นมาตรการที่ควรแก่เหตุน่าจะพอรับได้ และควรยุติการปิดถนน ปิดทางรถไฟ กันได้แล้ว พร้อมกับเย้ยว่า เครือข่ายชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย ภาคเหนือ กลาง อีสานและตะวันออก ประกาศไม่เข้าร่วมชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 ก.ย. แล้ว จึงอยากให้ชาวสวนยางภาคใต้บางส่วนที่รับงานมายุติการชุมนุม อย่าเอาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาเป็นต่อรองหรือตัวประกันทางการเมือง

นายอนุสรณ์ ยังแกว่งปากแขวะพรรคประชาธิปัตย์ด้วยว่า พยายามจุดไฟ เอาม็อบสวนยางมาอ้าง ใช้วาทกรรมปลุกเร้าเรียกร้องให้เกิดความรุนแรงหรือไม่ “ตนขอเรียกร้องนายสุเทพและพรรคประชาธิปัตย์ ให้คิดถึงผลประโยชน์ของประชาชนและบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง อย่ามองทุกเรื่องเป็นการเมืองไปหมด และเลิกคิดเอาชนะคะคาน เอาประโยชน์ทางการเมืองเป็นที่ตั้งไปเสียทุกเรื่อง พรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นว่า ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันถอดสลักปัญหา อย่างที่ พล.ต.อ.ประชา พยายามดำเนินการ ปัญหาม็อบยางพาราสามารถแก้ไขได้”

เช่นเดียวกันกับ นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่พยายามโยงม็อบชาวสวนยางให้เป็นม็อบการเมืองโดยไม่สนใจความเดือนร้อนที่แท้จริงของเกษตรกร “"ราคายางขณะนี้ไม่ได้เดือดร้อน ถ้าไม่ฟุ่มเฟือย ไม่เล่นการพนัน ดังนั้น อยากให้พี่น้องชาวสวนยางที่ออกมาเคลื่อนไหวในขณะนี้ อย่าเป็นเครื่องมือให้กับนักการเมือง…”

นายก่อแก้ว ยังเรียกร้องผู้ชุมนุมให้ยุติการชุมนุม หรือยุติการปิดถนน เพราะการกระทำเช่นนี้เหมือนทุบหม้อข้าวจังหวัดตัวเอง การเรียกร้องราคายางพารา 120 บาทต่อกิโลกรัมนั้น เป็นข้อเรียกร้องที่ชุมนุมรู้อยู่แล้ว่ารัฐบาลทำไม่ได้ เพราะเป็นราคาสูงกว่าปัจจุบันถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และราคานี้หากรัฐบาลทำตามชาวสวนยางก็รวยกันหมด จึงเชื่อว่าผู้ชุมนุมมีเป้าหมายทางการเมืองมากกว่า

“เมื่อปี 2552 ราคายางในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ที่ 57 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งแตกต่างกับราคาในปัจจุบันที่สูงกว่า 20 บาท ทำไมถึงไม่ตำหนิรัฐบาลสมัยนั้นบ้าง แต่กลับมาชุมนุมอย่างเอาเป็นเอาตาย และมาตำหนิรัฐบาลว่าช่วยแต่ชาวนาไม่ช่วยชาวสวนยาง อยากเรียกร้องให้ชาวสวนยางยุติการชุมนุมและอย่าตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง” นายก่อแก้ว สะท้อนทัศนะที่พรรคเพื่อไทยมองม็อบยาง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ได้มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่เคยส่งคนระดับรัฐมนตรี มีอำนาจตัดสินใจ ลงไปเจรจากับม็อบเพื่อหาข้อยุติเลย

การให้สัมภาษณ์ และทัศนะของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะนายก่อแก้วนั้น ไม่น่าเชื่อว่า แกนนำคนเสื้อแดงคนนี้ จะความจำสั้น เพราะการคุยโวรับประกันราคายางพารา 120 บาท คนที่โม้จนกลายเป็นความคาดหวังของชาวสวนยางต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น หาใช่คนอื่นไกลแต่เป็นแกนนำแดงเพื่อนเลิฟของนายก่อแก้ว คือ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรมช.กระทรวงเกษตรฯ ที่ล้มเหลวจากการภารกิจแก้ไขปัญหาราคายาง แล้วย้ายก้นมานั่งเป็น รมช.กระทรวงพาณิชย์ ปั้นโครงการโชว์ห่วย โชว์สวย อยู่ในขณะนี้นั่นเอง

ประเด็นม็อบชาวสวนยาง ที่ขึ้นกันหลายจุด ปิดถนนกันหลายสาย ปิดทางรถไฟ และชิมลางเคลื่อนพลปิดสนามบินสุราษฎร์ฯ ขยายวงบานปลายหาข้อยุติไม่ได้ ยังลามเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้ทรงเกียรติ เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 56 ซึ่งมีวาระการประชุมว่ากันด้วยเรื่องที่มาของ ส.ว. แต่นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้สภาหารือกันในเรื่องม็อบยาง ที่เป็นประเด็นร้อนของบ้านเมือง แต่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กลับพยายามตัดบท มีเรื่องชุลมุนวุ่นวายจนถึงขั้นนายสมศักดิ์ ให้ตำรวจสภาลากเอาตัวนายวัชระ ออกจากห้องประชุม

อย่างไรก็ตาม ต้องถือเป็นเรื่องปกติที่พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีฐานเสียงสำคัญในภาคใต้ จะแสดงบทบาทในการสนับสนุนการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำและออกมาปกป้องผู้ชุมนุมที่เดือดร้อน แต่การตอบสนองต่อปัญหาและการปฏิบัติของฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและฝ่ายตำรวจต่างหากที่เหมือนราดน้ำมันใส่กองไฟ ดังเช่น กรณีข่าวการขอออกหมายจับนายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง และนายถาวร เสนเนียม ในข้อหาอยู่เบื้องหลังม็อบ เดชะบุญที่ศาลไม่บ้าจี้ จึงไม่อนุญาต

การใช้กำลังเตรียมสลายม็อบ และใช้ความรุนแรงทุบตีผู้ร่วมชุมนุมของตำรวจ ทำให้นายนิพิฎฐ์ ออกตัวไว้ล่วงหน้าท้าทายรัฐบาลว่า “หากปราบม็อบเมื่อไร ตนและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส. สฺราษฏร์ธานี จะออกมานำม็อบเอง ไม่ต้องมาสืบแล้วว่าอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังม็อบหรือไม่ และจะนำพี่น้องมาปิดทำเนียบรัฐบาลทันที เพราะไม่ว่าปิดถนน รางรถไฟ หรือทำเนียบ ก็ผิดเท่ากัน”

ทางหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เอาคืนพรรคเพื่อไทยว่า “มีการการใส่ร้ายพรรคประชาธิปัตย์ว่ามี นาย ส.เสือ อยู่เบื้องหลังม็อบราคายางนั้นไม่จริง มีแต่ไอ้ พ.พาน ปลากพล่อยที่คอยพูดไปเรื่อย ตนไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล แต่หมายถึงพรรคทั้งพรรค”

เรื่องนี้ ไม่จบลงง่ายๆ เพราะนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 5 ก.ย. 56 วิปฝ่ายค้านก็ตั้งกระทู้ถามเรื่องม็อบสวนยางว่ารัฐบาลมีส่วนจ้างม็อบมาสกัดม็อบสวนยางไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ จริงหรือไม่ อยากรู้ว่ารัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาหรือเปล่า เพราะตอนนี้ปัญหาลุกลามใหญ่โตขึ้นมาแล้ว

ลุกลามบานปลายใหญ่โตถึงขนาดว่าตัวแทนม็อบชาวสวนยางที่นำโดย นายเอียด เส้งเอียด กับตัวแทนรัฐบาลเพื่อไทย นำโดยนายกิติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งวงเจรจายกแรกที่ ร.ร.เซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ในช่วงเย็นวันที่ 4 ก.ย. 56 ผลสรุปออกมาคือ คุยกันไม่รู้เรื่อง โดย “เดอะโต้ง ไวท์ไลน์” ใช้ลีลารับปากเตะลูกเข้าสู่ที่ประชุม กยน.ในวันที่ 5 ก.ย. 56 ก่อนว่าจะรับข้อเสนอของเกษตรกรชาวสวนยางได้หรือไม่ ขณะที่นายเอียด ก็ขู่ว่าหมดหน้าที่เจรจาแล้ว หากรัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ไม่ได้นับจากนี้ไปอะไรจะเกิดก็ปล่อยให้เกิดไป ชาวบ้านจะไปเผาที่ไหนก็แล้วแต่

หากจับความตามการชี้แจงของนายเอียดต่อนายกิตติรัตน์ ในวงเจรจาแล้ว ได้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เพราะแรกทีเดียวนั้น นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงไปพบชาวบ้านที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช แล้วยื่นข้อเสนอจะรับประกันราคายางที่ กก.ละ 80 บาท และอาจจะได้ถึง 100 บาท ทำให้ชาวบ้านมีความหวังแต่เมื่อรัฐบาลกลับลำทำไม่ได้ จึงทำให้ชาวชะอวดไม่พอใจและออกมาชุมนุมมากขึ้นแล้วขยายไปหลายจังหวัดทั่วภาคใต้

"วันนั้นถ้ารัฐบาลเร่งส่งคนเข้าไปแก้ปัญหา ปัญหาดาวกระจายวันนี้ก็จะไม่เกิด ถ้าแก้ตอนนี้ยังไม่สาย ประกันราคาช่วงนี้จะไม่เป็นปัญหาด้วย เพราะเป็นหน้าฝน ผลผลิตจากการกรีดยางได้น้อย ในทางกลับกันผมก็ไม่สามารถช่วยชาวบ้านที่ชุมนุมได้นาน ถ้าไม่แก้ตอนนี้ชาวบ้านก็พร้อมจะจับปืนเข้าป่าเหมือนกัน" นายเอียด กล่าว และเสนอว่า รัฐบาลแค่เติมราคาเพิ่มขึ้นให้ได้เท่าที่ขอ ถนนทุกสายเปิด แต่ถ้าไม่มีคำตอบก็จะปิดถนนเพิ่มอีก วันนี้เราขอข้าวรัฐบาลให้เกลือมันสวนทางกัน เราขอเป็นกิโลฯ แต่รัฐบาลให้เป็นไร่

"วันนี้ถ้าไม่มีคำตอบก็เท่ากับรัฐบาลไม่จริงใจ ชาวบ้านจะไปเผาที่ไหนก็แล้วแต่ เพราะวันนี้เรามาแล้ว ไม่มาก็หาว่าเป็นอันธพาล แต่เรามาก็ต้องการคำตอบไปยังชาวบ้าน เราขอ 120 บาทก็สามารถต่อรองกันได้ ซึ่งที่ทำก็เพื่อชาวบ้านที่เดือดร้อน มิเช่นนั้นคงไม่มาขอร้อง ผมก็จะเข้าป่าไปอนุรักษ์ป่าตามความตั้งใจ เราไม่อยากถูกกล่าวว่าถูกจ้างมาเจรจา" นายเอียด กล่าว

ขณะที่นายกิตติรัตน์ ยืนยันว่าเบื้องต้นต้องการให้เปิดถนน และถ้าคิดว่ารัฐบาลไม่จริงใจจะมาปิดถนนใหม่ก็ได้

ก่อนเลิกวงเจรจาในเวลา 21.00 น. ตัวแทนชาวสวนยางอีกคนคือ นายอำนวย ยุติธรรม ได้สรุปข้อเสนอต่อนายกิตติรัตน์ ด้วยน้ำเสียงเข้มสไตล์คนใต้ว่า หนึ่ง รัฐบาลควรจะไปทบทวนเรื่องการแทรกแซงส่วนต่างของราคายาง ถ้าราคา 80 บาท รัฐบาลควรแทรกแซง 20 บาท และเติมส่วนต่างยาง ห้ามให้ราคาตกจาก กก. 100 หากไม่ได้ตามนี้จะเรียกร้องให้พี่น้องออกมาชุมนุมหน้าที่ว่าการอำเภอทั่วจังหวัดภาคใต้ และสอง เติมส่วนต่างกลไกการตลาด ไม่ว่าวิธีไหนก็ได้ให้ครบ 100 ถ้าทำไม่ได้จะต้องเสียใจในการมาหารือวันนี้ เพราะเท่ากับไม่ใส่ใจการแก้ปัญหา

นายกิตติรัตน์ จึงสวนกลับนายอำนวยทันทีว่า "คุณเล่นละครมากเกินไป สิ่งที่คุณบอกมาไม่มีการเมืองหนุนหลัง ผมชักไม่แน่ใจแล้ว เพราะคุณอยู่หน้ากล้องจะพูดอะไรก็ได้ เพื่อเป็นการเอาใจมวลชนของคุณ ไม่มีรัฐมนตรีคนไหนที่จะพูดว่าเมื่อมีมติ ครม.ออกไปแล้วให้นำกลับมาทบทวนได้อีก...."

เป็นอันว่า ตัวแทนม็อบชาวสวนยางกลับบ้านมือเปล่า ท่ามกลางอารมณ์อันคุกรุ่นของผู้ชุมนุมที่รอฟังข่าวการเจรจาในหลายจังหวัดตลอดแนวด้ามขวาน แล้วในเช้าวันรุ่งขึ้นที่มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กยน.) ก็ไม่ได้มีการพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งที่นายกิตติรัตน์ รับปากว่า จะเอาข้อเสนอของพวกเขาเข้าไปพิจารณาในที่ประชุม กยน.

งานนี้ "โต้ง ไวท์ไลน์" โกหกหลอกลวงกันซึ่งๆ หน้า โดยหลังการประชุม กยน. เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 56 นายกิตติรัตน์ แถลงว่า ที่ประชุม กยน.ไม่ได้พิจารณาข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกรที่เรียกร้องให้ประกันราคาที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม แต่มีมติในการจ่ายเงินเพื่อให้นำไปซื้อปัจจัยการผลิต จำนวน 1,260 บาทต่อไร่ โดยขยายจากเดิมที่จ่ายให้รายละไม่เกิน 10 ไร่ เป็นจ่ายให้รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยครอบคลุมถึงกลุ่มที่ไม่มีเอกสารสิทธิในการถือครองที่ดิน แต่กลุ่มที่บุกรุกป่าสงวนจะไม่ได้รับการพิจารณา ทั้งนี้มติ กนย. จะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. เพื่ออนุมัติให้ดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของความไม่พอใจก็ได้สำแดงให้เห็นแล้วกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 กับการชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ อ.บางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังจากที่กลุ่มเกษตรกรไม่พอใจมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลที่ไม่ยอมเข้าแทรกแซงราคาที่กิโลกรัมละ 100 บาท โดยเพียงช่วยเหลือค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,260 บาท รายละไม่เกิน 25 ไร่ จึงได้เคลื่อนมวลชนมาปิดเส้นทางจราจรบริเวณถนนเพชรเกษม หลักกิโลเมตรที่ 412-413 อ.บางสะพาน ทั้งขาขึ้น และขาล่อง

ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้กระบองและโล่เข้าไปดันผู้ชุมนุมให้ออกไปจากผิวถนน จนเกิดการผลักดันกันทั้งสองฝ่าย และได้เกิดความวุ่นวายขึ้น เมื่อมีกลุ่มผู้ชุมนุมขวางปาสิ่งของเข้าไปยังเจ้าหน้าที่จนเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ได้รับบาดเจ็บ ต่อมามีเสียงระเบิดดังขึ้น 1 ครั้ง ซึ่งคาดว่าเป็นระเบิดแก๊สน้ำตาที่ตำรวจนำมาใช้สลายการชุมนุม ผิวจราจร

ทั้งนี้ การปะทะกันขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยุติลงเวลาประมาณ 18.30 น.โดยเจ้าหน้าที่ได้จับกุมแกนนำแล้วประมาณ 10 คน ขณะที่ ผบก.ภ.จว.ประจวบคีรีขันธ์ ได้มีการสั่งการให้เสริมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ และให้ผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมให้เปิดการจราจร

ศึกม็อบสวนยางชาวปักษ์ใต้กับรัฐบาลเพื่อไทย ดูท่าจะลากกันอีกยาว และน่าหวาดเสียวอย่างยิ่งว่าจะเกิดความรุนแรงจนควบคุมกันไม่ได้ ดังที่นายเอียด เส้งเอียด บอกล่วงหน้าว่า หากรัฐบาลไม่มีความจริงใจแก้ไขปัญหา ชาวบ้านจะไปเผาที่ไหนก็แล้วแต่ หรือว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องการให้เกิดมิคสัญญี ทั้งที่ปากบอกอยากปรองดองเพื่อความสงบสุขของคนไทยทั้งชาติ





กำลังโหลดความคิดเห็น