xs
xsm
sm
md
lg

"โต้ง" เผยมติกนย.ปรับช่วยปัจจัยการผลิตเป็น 25 ไร่ ยึด 1,260 บ. ชสยท.หนุนกลไกตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง (แฟ้มภาพ)
รมว.คลัง เผยผลประชุม กนย. ปรับช่วยเหลือปัจจัยการผลิตเป็น 25 ไร่ เชื่อช่วยชาวสวนร้อยละ 90 ครอบคุลมเอกสารสิทธิ 30 ประเภท ช่วยไร่ละ 1,260 บ. ยันเลิกไม่ได้ อ้างชาวสวนรอ คาด 2 สัปดาห์เสร็จ โดยนำงบฯเข้าธกส. ปัดช่วยแค่เจ้าของสวน ชี้ปิดทางรถไฟเรื่องใหญ่ มั่นใจระยะยาวผลดีเลิกค่าเซสส์ แจงประกันราคาเสี่ยง ปธ.สหกรณ์ยาง หนุนราคาตามกลไกตลาด เชื่อ ต.ค.ดีขึ้น

วันนี้ ( 5 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ(กนย.) แถลงผลการประชุม กนย. ว่า จากเดิมที่มีการเสนอการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่ ๆไม่เกิน 10 ไร่ นั้น จากที่ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้หารือกับตัวแทนเกษตรกร เมื่อวันที่ 28 ส.ค. มีความเห็นว่า เกษตรกรรายย่อยคลอบคลุมถึงเกษตรกรที่มีพื้นที่ 25 ไร่ ซึ่งจะครอบคลุมเกษตรกรถึงร้อยละ 90 ส่วนที่มีความเป็นห่วงเรื่องเอกสารสิทธินั้น ทางกรมป่าไม้และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกระทรวงเกษตรฯ มีนิยามที่ตรงกันว่า ไม่ใช่เพียงโฉนดที่ดิน และ นส.3 ก เท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงเอกสารสิทธิที่มีจำนวนถึง 30 ประเภท ที่ทางราชการให้การรับรอง และรับทราบตามที่เกษตรกรใช้เป็นพื้นที่เพราะปลูก ในลักษณะที่ไม่ขัดกับหลักกฎหมาย ที่ประชุม กนย. จึงเห็นชอบที่จะนำมติดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม คณะรัฐมนตรี เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้ได้รับเงินช่วยเหลือ ไร่ละ 1,260 บาท หรือมูลค่าเทียบเท่ากับ กิโลกรัมละ 6 บาท ครอบคลุมถึงผู้ที่มีพื้นที่เพราะปลูก 25 ไร่ โดยมีการคำนวณอัตราผลผลิตมาตรฐานต่อเดือน พื้นที่ 1 ไร่ จะผลิตยางพาราได้ 30 กิโลกรัม หากคำนวณเป็น 6 บาทต่อกิโล จะเท่ากับ 180 บาทต่อไร่ต่อเดือน เมื่อคำนวณระยะเวลาการกรีดยางที่เหลืออยู่อีก 7 เดือนก่อนปิดหน้ายางก็จะได้ไร่ละ 1,260 บาท ส่วนคำว่าเอกสารสิทธิที่ ครม. มีความเป็นห่วงว่าต้องไม่ใช่ผู้ที่บุกรุกพื้นที่ป่านั้น ก็เป็นไปตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น และคาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยใช้กรอบวงเงินเดิมที่ กนย.เคยเสนอไปที่ 1 หมื่นล้านบาท อาจบวกเพิ่มเล็กน้อย

นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีเกษตรกรส่วนหนึ่งที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าการช่วยเหลือของรัฐบาลเป็นการช่วยเหลือเรื่องปุ๋ยและปัจจัยการผลิต แต่ข้อเท็จจริงแล้ว เป็นการนำส่งเงินงบประมาณเข้าสู่บัญชี ธกส. ส่วนการเรียกร้องของชาวสวนยางในพื้นที่ต่างๆ นั้น เขามีความคาดหวังที่แตกต่างกัน แต่จากการช่วยเหลือของรัฐบาลในครั้งนี้ และหากราคายางดีขึ้นตามที่เราคาดหวัง น่าจะทำให้รายได้ของเกษตรกรดีขึ้นบ้าง แต่หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงในประการใด กนย. จะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ขอยืนยันว่ารัฐบาลมีความจริงใจและรับฟังตัวแทนกลุ่มเกษตรกรที่ขึ้นมาหารือ และไม่ได้มุ่งการช่วยเหลือไปที่เจ้าของสวนยางเพียงอย่างเดียว เมื่อได้รับเงินไปก็อยากให้แบ่งกันตามสัดส่วน

เมื่อถามว่าจะดำเนินการอย่างไรกับกลุ่มเกษตรกรที่ยังชุมนุมกันอยู่ และยืนยันตามข้อเรียกร้องเดิม นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ความคาดหวังของเกษตรกรแต่ละกลุ่มอาจจะแตกต่างกัน แต่เชื่อว่าเกษตรกรจะเข้าใจความตั้งใจของรัฐบาล ที่ดำเนินการเรื่องนี้ก่อนที่จะมีการชุมนุม ส่วนเรื่องที่ยังมีการปิดถนนอยู่นั้น ได้มีการพูดคุยกับ นายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ซึ่งมีความเป็นห่วง เพราะมีผลกระทบกับผู้ใช้เส้นทางและกระทบการขนส่งสินค้า ซึ่งเส้นทางถนนนั้น ยังสามารถใช้เส้นทางเบี่ยงได้บ้าง แต่เส้นทางรถไฟเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นเส้นทางสัญจรของผู้มีรายได้น้อย และเป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าสำคัญ จึงขอความกรุณาจากผู้ที่มาพูดคุยเมื่อวานนี้ เพราะไม่มีเหตุผลที่รัฐบาล จะไม่พยายามให้ความสำคัญในเรื่องการแก้ไขปัญหาราคายาง

ต่อข้อถามต่อว่า ประเมินว่าผลการประชุมในวันนี้ผู้ชุมนุมจะพอใจหรือไม่ เพราะเมื่อวันที่ 4 ก.ย. เกษตรกรบางส่วนบอกให้ยกเลิกการช่วยเหลือปัจจัยการผลิต 1,260 บาทไปเลย รองนายกฯ กล่าวว่า มีเกษตรกรจำนวนมาก จะได้รับการช่วยเหลือ และคนเหล่านี้ก็รออยู่ และตนก็ได้นำข้อเสนอมาพิจารณาตามที่ได้รับปากไป แต่ที่ประชุมก็เห็นว่า มีเกษตรกรจำนวนมากที่เข้าใจและรอคอยอยู่ก็จะดำเนินการไป และยาง 2 แสนตัน ที่รัฐบาลมีอยู่ก็ไม่มีนโยบายที่จะนำออกมาขายเพราะมีแผนการใช้ยางจำนวนนี้อยู่แล้ว ส่วนการจัดเก็บค่าทำเนียบเข้าสู่กองทุนสวนยาง (เซสส์)นั้น คณะกรรมการก็ได้พิจารณายกเลิกในส่วนนี้ไป ในช่วงต้นอาจจะยังไม่ส่งผลต่อราคาในต่างประเทศมากนัก แต่ระยะยาวก็ส่งผลให้การแข่งขันในต่างประเทศดีขึ้น

เมื่อถามว่าการประกันราคาไม่ใช่การช่วยเหลือที่ดีที่สุดตามที่เกษตรกรเรียกร้องมา นายกิตติรัฐ กล่าวว่า การประกันจะทำให้ราคาตลาดจริงอ่อนลง เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นข้อสังเกตส่วนตัว และมีหลักฐานมาแล้ว เพราะตลาดจะรับรู้ว่ามีคนมาดูแลส่วนต่าง การจะทำให้ราคาในตลาดสูงขึ้น ขอทำงานอีกหน่อย ถ้าเกิดใจร้อนไปประกันราคา เช่นราคาประมาณ 80 บาท ราคาในอนาคตก็อาจจะดิ่งลง เมื่อถามต่อว่า จำเป็นต้องชี้แจกกับเกษตรกรในเรื่องนี้ด้วยหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า คงไม่ต้องแจ้งเขาดูผ่านทางสื่อคงเข้าใจ เมื่อถามย้ำว่า มติในวันนี้กับข้อเรียกร้องของเกษตรกรเป็นคนละแนวทางจะมีทางออกอย่างไร นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เรามีความต้องการเหมือนกันคือต้องการให้ได้รายได้ที่ดี เมื่อถามว่าขณะนี้ คนยังเข้าใจว่าเป็นการช่วยเหลือค่าปุ๋ยนั้น “ก็นั้นไง ไม่มี ไม่เคยออกจากปากผม 1,260 บาทส่งตรงเป็นเงินสด แล้วถามว่าลูกจ้างอำนาจต่อรองต้องดี หากจ้างไม่ดีสวนก็อยู่ไม่ได้” รองนายกฯ กล่าว

ขณะที่ นายเพิก เลิศวังพง ประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิธีแก้ไขปัญหาราคายางที่ดีที่สุด จะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งวันนี้ไม่มีปัญหาเรื่องของสต็อคยางล้นตลาด มีแต่กลุ่มพ่อค้าที่เก็บยาง โดยคาดว่า ราคาจะขึ้น ซึ่งเกษตรกรก็ควรจะเก็บบ้าง และเชื่อว่า ราคายางในช่วงเดือน ต.ค. จะสูงขึ้น เนื่องจากครึ่งปีหลังประเทศไทยสามารถผลิตยางได้ 3-3.5 แสนตันต่อเดือน และก็มีคำสั่งซื้อหมดแล้ว พ่อค้าก็วิ่งไล่ซื้อยาง แต่ราคากลับยังต่ำอยู่ทั้งที่มีความต้องการ เราต้องใช้มาตรการของรัฐ อาทิ พ.ร.บ.ควบคุมยาง ไปกดดันให้คืนความเป็นธรรมให้เกษตรกร โดยไม่ต้องจ่ายเงินแทนพ่อค้าบริษัทเอกชน "การแก้ไขปัญหาให้ถูกวิธีคือการแก้ที่ระบบ คือ ดูปริมาณยางเป็นหลัก อย่าให้เกิน ซึ่งพ่อค้าได้ยอมรับแล้วว่า ปริมาณไม่ได้เกิน เพราะฉะนั้นราคาก็จะขยับขึ้น และเมื่อมีการดูตัวเลขจากกรมส่งออก เดือนก.ค. ที่ราคาต่ำสุด เนื่องจากคิดว่ามีการแก้ไขเรื่องเงินเซสส์ จึงทำให้ไม่มีการส่งออก ถ้ามีการปรับให้ค่าเซสส์ ลดลง จะส่งผลดีในระยะยาว แต่อาจจะมีคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียคือคนที่ถือยางอยู่ เนื่องจากหักจากเกษตรกรไปแล้ว จะไม่ได้รับการยกเว้น จึงต้องเสียเป็นปกติ" นายเพิก กล่าว

นายเพิก กล่าวต่อว่า เชื่อว่ากลุ่มผู้ชุมนุมชาวสวนยางไม่ยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลอย่างแน่นอน แต่หากชุมนุมแล้วไม่ได้ตามต้องการก็ต้องยุติการชุมนุม และหากทำตามข้อเรียกร้องก็จะทำให้ราคาตกลงมาอีกแน่นอน รัฐบาลจะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ขณะที่การนำยางมาใช้ภายในประเทศเป็นมาตรการหนึ่งในการทำให้ความต้องการยางสูงขึ้น และทำให้ราคาดีขึ้นได้ อีกทั้งมีหลายมาตรการที่จะลดกำลังผลิตชัดเจน คือการหยุดกรีดยางเมื่อรู้ว่าปริมาณเกิน และมาตรการกดดันให้ราคาในตลาดสูงขึ้นคือการตรวจสต็อคยาง โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า แล้วเรียกพ่อค้ามาหารือ เพื่อไม่ให้มีการกักตุนยางเกิดขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น