รัฐบาลส่งรองนายกฯ-รมว.คลัง ถกม็อบยาง 4 ก.ย.เผยเฝ้าระวังม็อบใกล้ชิด เชื่อมีแค่ภาคใต้ มั่นใจการเจรจาคุยกันได้ ยังเชื่อการเมืองหนุนหลัง ด้านเจ้าตัวเผยทราบข้อเรียกร้องแล้ว เตรียมประสานพูดคุยพุธนี้ ยันพร้อมช่วยแต่ข้อเรียกร้องเบื้องต้นรัฐบาลทำตามยาก วอนเปิดเส้นทางก่อน อ้างรัฐบาลก็ทุกข์เหมือนกัน ถ้าเป็นไปได้อย่าขึ้นมากรุงเทพฯ เลย
วันนี้ (2 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 16.30 น. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเวลา 14.00 น. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมเพื่อหารือปัญหายางพารา โดยบทสรุปรัฐบาลพร้อมที่จะเปิดเวทีพูดคุยกับตัวแทนเกษตรกร ซึ่งขณะนี้ได้รับความชัดเจนเรื่องตัวแทนเกษตรกรที่จะมาเจรจา ว่ามีการประสานผ่านทางกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในพื้นที่ ว่ากำหนดตัวแทนเรียบร้อยแล้ว
โดยรัฐบาลจะนัดพูดคุยกับแกนนำในวันพุธที่ 4 ก.ย.เนื่องจากต้องรอความชัดเจนจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 ก.ย.ที่ นายกิตติรัตน์ และ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะนำเรื่องเข้าที่ประชุม ว่าจะช่วยเหลือสนับสนุนอย่างไร โดยฝ่ายรัฐบาลจะมีนายกิตติรัตน์เป็นหัวหน้าทีมในการพูดคุยกับแกนนำ ส่วนการเจรจาที่ใดนั้นอยู่ในขั้นตอนการประสานงาน ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะไปเจรจาในพื้นที่หรือเชิญขึ้นมาเจรจาในส่วนกลาง
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่า ครม.จะหารือการปรับราคาตามข้อเรียกร้องของเกษตรกร พล.ท.ภราดร กล่าวว่า จะมีการหารือในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) อีกครั้ง ซึ่งจะมีนายกิตติรัตน์ เป็นประธานการประชุมจึงจะชัดเจนว่าจะไปแนวทางใด เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมรับปากหรือไม่ว่าวันที่ 3 ก.ย.จะมีการชุมนุมหรือไม่ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า ตรงนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ และเป็นเรื่องสิทธิของพี่น้องประชาชน แต่เราก็มีความเฝ้าระวังกันอยู่ เพราะกลัวเหตุการณ์ที่ไม่เรียบร้อยเกิดขึ้น แต่ ณ ตรงนี้หากมีการชุมนุมก็สามารถอยู่ในเกณฑ์ที่พูดจะควบคุมกันได้ เมื่อถามว่า หากมีเหตุการณ์เลยเถิดถึงขั้นปิดถนน หรือมีกลุ่มอื่นๆ จะทำอย่างไร เลขาฯ สมช.กล่าวว่า เท่าที่ได้รับการตรวจสอบสถานการณ์สุดท้ายในพื้นที่อื่นๆ ไม่น่าจะเป็นปัญหาแต่ประการใด ยังมีปัญหาเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งหลังจากที่นัดพูดคุยกันแล้วสถานการณ์จะดีขึ้น
เมื่อถามว่า การชุมนุมวันที่ 3 ก.ย.จะมีเฉพาะ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช หรือมีกลุ่มอื่นด้วย พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ส่วนมากเขาจะมารวมกัน แต่ในพื้นหลักจะเป็น อ.ชะอวด และ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งขณะนี้กำลังสื่อสารในพื้นที่ประสานกันอยู่ โดยกระทรวงมหาดไทยได้ส่งรองปลัดกระทรวง และผู้ตรวจราชการลงไปประสานงาน ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ ก็ส่งผู้ตรวจราชการไปประสานงานกันอยู่ เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ที่ส่ง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกฯ ลงไปเจรจา ทำไมถึงไม่ส่งผู้มีอำนาจในการตัดสินใจไปเจรจาเลย พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ก็มีการทำความเข้าใจในรายละเอียด แต่รายละเอียดยังไม่เพียงพอ และขณะนี้รัฐบาลได้ประมวลรายละเอียดแล้ว จึงถึงระดับรองนายกฯ มาเป็นประธาน
เมื่อถามว่า ที่จะมีการประสานเจรจาจะมีภาคอื่นด้วยหรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ทุกภาค ไม่ใช่เฉพาะภาคใต้ เมื่อถามว่า หากการพูดคุยไม่เห็นผล อีกทั้งมีการปิดถนน ภาครัฐจะใช้มาตรการดูแลความสงบอย่างไร พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ต้องดูสถานการณ์ตอนนั้นและฝ่ายรัฐบาลจะต้องกำหนดมาตรการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาต่อไป เมื่อถามว่า ข้อเรียกร้องที่มีการ์ดชาวสวนยางถูกยิงรวมถึงการทำร้ายร่างกายได้มีการพูดคุยหรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ขณะนี้มีการพูดคุย สตช.กำลังลึกในรายละเอียดด้านการสืบสวนสอบสวน จนมีความชัดเจน
เมื่อถามว่า รัฐบาลมีความมั่นใจว่าจะคุมได้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้มีการระบุว่ามีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับการชุมนุม พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ขณะนี้มีการกำหนดตัวแทนจากพื้นที่ชุมนุมประมาณ 15 คนแล้ว คิดว่าบรรยากาศการพูดคุยน่าจะเดินหน้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯควบคุมสถานการณ์ ใช้เพียงกฎหมายของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเท่านั้น โดยนายกฯ มีความห่วงใยอยากให้คุยกัน ทั้งนี้ตนยอมรับว่าการชุมนุมครั้งนี้มีการเมืองหนุนหลัง ซึ่งไม่สามารถแยกแยะได้ว่ามีการเมืองซ้อนอยู่ แต่หากรัฐบาลแก้ปัญหาแล้วก็เชื่อว่าทางการเมืองก็รับได้
ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ ซึ่งได้เข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการติดตามการชุมนุมของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราชว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ และทราบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่เข้าใจถึงความห่วงใยของรัฐบาลดี และรับทราบถึงแนวทางช่วยเหลือตามที่คณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กนย.) มีมติออกมา แต่อาจจะมีเกษตรกรอีกจำนวนหนึ่ง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยอ้อม ที่ยังมีการเรียกร้องที่แตกต่างกันออกไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบว่าผู้ชุมนุมได้มีการตั้งผู้แทนขึ้นมาเพื่อเจรจากับทางรัฐบาลประมาณ 12-15 คน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี โดยจะมีการประสานเพื่อนัดพูดคุยกันในช่วงบ่ายของวันพุธนี้ หลังจากมติ ครม.พรุ่งนี้จะชัดเจนว่าจะช่วยเหลือชาวสวนยางอย่างไร ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนอย่างทุกอย่าง แต่ยอมรับว่าข้อเรียกร้องเบื้องต้นของชาวสวนยางเป็นข้อเรียกร้องที่ยากมากที่รัฐบาลจะทำตามได้
“ยืนยันว่ารัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ และมีความทุกข์เหมือนกันว่าการปิดถนนมันทำให้เกิดความเดือดร้อนกับผู้สัญจรไปมา โดยอาจเกิดผลเสียทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย ซึ่งหากผู้ชุมนุมกรุณา และเห็นว่าเราจะได้มีโอกาสพูดคุยกันแล้ว ก็อยากให้เปิดเส้นทางก่อนก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ส่วนการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมนั้น ทางตำรวจก็กำลังเร่งรัดอย่างเต็มที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ และถ้าเป็นไปได้ก็ขออ้อนวอน ขอความกรุณายกขบวนมาใน กทม.เลย” นายกิตติรัตน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลได้เตรียม พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไว้หรือ หากไม่สามารถสกัดกั้นได้ รองนายกฯ กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปพูดอย่างนั้นเลย ตนยังคิดว่าการพูดคุยกันในวันพุธนี้ หากมีการเปิดถนน เปิดทางรถไฟแล้ว ก็น่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดี และมาดูใจรัฐบาลกันว่าการที่ไม่ต้องมีการชุมนุมที่สร้างความเดือดร้อน รัฐบาลก็มีความจริงใจกับเกษตรกรเหมือนกัน ซึ่งตัวแทนของฝ่ายรัฐบาลที่จะไปพูดคุยกับตัวแทนของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางก็จะมีตนเอง นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรฯ แต่ตอนนี้อยากขอความกรุณาให้มีการเปิดเส้นทางก่อนที่จะมาพูดคุยกันวันพุธ ยิ่งดี เพราะขณะนี้ทุกๆ นาทีที่ถนนถูกปิดอยู่ ก็เป็นความเดือดร้อนประชาชนทั้งนั้น แต่ถึงแม้ว่าไม่เปิดก่อน เราก็ต้องมีการพูดคุยกันอยู่ดี
เมื่อถามว่า ฝ่ายความมั่นคงฯ ประเมินแล้วใช่หรือไม่ว่ายังไม่ถึงขนาดต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ในวันพรุ่งนี้ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ขอพยายามให้ถึงที่สุดก่อน ขอให้ได้คุยให้เกิดความเข้าใจ เพราะอาจมีบางอย่างที่เข้าใจผิดกันก็ได้จนนำไปสู่การปิดเส้นทาง