“กิตติรัตน์” ยัน ครม.ไฟเขียวมาตรการเดิม ใช้เงินฟาดหัวชาวสวนยางไร่ละพันสอง สูงสุดไม่เกิน 10 ไร่ กดปุ่มโอนผ่าน ธ.ก.ส. ส่วนคนที่มีสวนยางมากกว่านี้รอ กนย.พิจารณา อีกด้าน “ยรรยง” เผยจำนำข้าวนาปีหมื่นห้า-นาปรังหมื่นสาม
วันนี้ (3 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรอง และนำเสนอต่อ ครม.เพื่อดำเนินการตามแนวทางที่ กนย.มีมติ โดยประการที่ 1 ที่ประชุมอนุมัติให้ดำเนินการร่วมกับสถาบันเกษตรกรและสหกรณ์เพื่อลงทุนในการดำเนินการจัดสร้างหรือจัดหาโรงงานเพื่อแปรรูปวัตถุดิบยางพาราให้มีมูลค่าสูงขึ้นในกรอบวงเงิน 5 พันล้านบาท โดยให้ ธกส.เป็นเจ้าภาพหลักโดยมีอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน และประการที่ 2 สำหรับภาคผู้ประกอบการโรงงานที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องจักรนั้น มีการกำหนดกรอบวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ที่ธนาคารออมสินจะพิจารณดำเนินการในอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ในการทำผลผลิตให้สูงขึ้น
นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ มาตรการที่ 3 ยังมีการพิจารณาดำเนินการสนับสนุนช่วยเกษตรกรรายย่อยที่มีการลงทะเบียนทั้งหมด มีเกษตรกรที่ปลูกยางพารากว่า 9 แสนราย และในจำนวนนี้ 3 ใน 4 ปลูกยางพาราในจำนวนไม่เกิน 10 ไร่ ซึ่ง กนย.ให้แนวทางว่าหากจะพิจารณาช่วยรายย่อยให้รัฐบาลจัดงบจำนวนหนึ่งเพื่อช่วยในการดำเนินการเรื่องของการสนับสนุนเป็นเงินทุนโดยไม่ใช่การจัดสิ่งของ เพื่อให้เขาเลือกไปดำเนินการตามความเหมาะสมจำเป็นของแต่ละรายต่อไป ซึ่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาและดำเนินการจ่ายให้ไร่ละ 1,260 บาท สำหรับคนที่มีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ และสำหรับรายที่มีพื้นที่มากกว่า 10 ไร่นั้น แนวทางของ ครม.คือ ขอให้กนย.ไปประชุมหารือในวันพฤหัสบดีที่ 5 ก.ย. ถึงความจำเป็นในกลุ่มนี้หรือไม่อย่างไร
“แนวทางที่อนุมัติ ครม.มีเงื่อนไขว่าขอให้ กนย.ได้รับทราบผลการอนุมัติ และให้ยืนยันถึงความเหมาะสมที่ ครม.อนุมัติก่อนดำนินการต่อไป หากรับทราบแล้วเห็นว่าถูกต้องก็จะดำเนินการได้ทันที สำหรับรายที่มีมากกว่า 10 ไร่นั้น กนย.ก็คงจะหารือกันว่ามีความจำเป็นหรือไม่อย่างไร แต่คงไม่ทับซ้อนอะไรกับกลุ่มแรกที่ได้รับการอนุมัติ” นายกิตติรัตน์ ระบุ
นายกิตติรัตน์ เปิดเผยด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (4 ก.ย.) เวลา 14.00 น. ตนและ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึง พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้นัดหมายเจรจากับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี โดยแนวทางการเจรจาจะเน้นการพูดคุยกับด้วยเหตุและผล ปรึกษาหารือกันอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะสาเหตุที่รัฐบาลเลือกใช้มาตรการช่วยเหลือตามที่ กนย.เสนอ ซึ่งเน้นไปที่การให้การสนับสนุนด้านการแปรรูปยางพาราและช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ว่า เกษตรกรบางพื้นที่อาจจะมีความเห็นที่แตกต่างออกไปบ้าง การที่จะได้มาปรึกษาหารือกันกับผู้แทนของเกษตรกรหรือกลุ่มผู้ที่ร่วมชุมนุมอยู่ จึงน่าจะเป็นเรื่องที่ดี
“ก็ได้เรียนเชิญว่าพรุ่งนี้บ่ายสองโมงที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ทั้งนี้ทั้งนั้นยังอยู่ในระหว่างการประสาน โดย พล.ต.ต.ธวัชเป็นผู้ประสานอยู่ คิดว่าน่าจะมีโอกาสพูดคุยกันด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง แต่เราก็อยากเชิญท่านผู้แทนมา โดยตั้งใจว่าจะปรึกษาหารือกันต่อหน้าสื่อมวลชน เพื่อให้รับทราบว่ารัฐบาลมีความจริงใจ และพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้แทนของเกษตรกรจริงๆ” นายกิตติรัตน์ กล่าว
รองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวต่อว่า รัฐบาลขอยืนยันว่าเรามีความจริงใจที่จะรับฟังข้อเสนอแนะจากตัวแทนเกษตรกรทั้ง 15 ราย และยินดีและตั้งใจจะแก้ปัญหาให้เกษตรกรจริงๆ ดังนั้น อยากขอร้องให้เปิดเส้นทางคมนาคมไม่ว่าจะเป็นทางถนน ทางรถไฟ เพราะการปิดเส้นทางส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ หากยังต้องการให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ขอความกรุณาเปิดเส้นทางคมนาคม
“ตัวผมเองในนามของประธาน กนย. และในฐานะรัฐมนตรีที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ขอกราบวิงวอนกล่มผู้ชุมนุมได้โปรดพิจารณาที่จะเปิดเส้นทางให้กับผู้ใช้ทั้งทางถนนและรถไฟ การดำเนินการในส่วนนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไหลลื่น โดยเฉพาะในภูมิภาคที่กำลังได้รับผลกระทบอยู่” นายกิตติรัตน์ กล่าว
นายกิตติรัตน์ กล่าวยืนยันว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่รัฐบาลดำเนินการไป ไม่ว่าจะเป็นมาตรการใดๆ ไม่ได้ดำเนินการภายใต้ความกดดันจากผู้ชุมนุม แต่ยึดหลักตามเหตุและผล และขณะนี้มีแนวโน้มว่าราคายางจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว หลังตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยประกาศออกมาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแนวโน้มราคาน้ำมันดิบจะสูงขึ้นจากสถานการณ์ซีเรีย ซึ่งจะทำให้ราคายางสังเคราะห์และยางธรรมชาติปรับตัวขึ้นมาตามไปด้วย โดยในอนาคตมีแผนจะกระตุ้นการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น จากปัจจุบันยางพาราของประเทศไทย ส่งออก 85 เปอร์เซ็นต์ ใช้ในประเทศ 15 เปอร์เซ็นต์ แต่อนาคตมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ในประเทศเป็น 30 เปอร์เซ็นต์
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผู้แทนเกษตรกรไม่เดินทางเข้ามาพบ จะเดินทางลงไปในพื้นที่เองด้วยตัวเองหรือไม่ นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ส่วนตัวมีภารกิจค่อนข้างมาก อยากเชิญให้มามากกว่า ซึ่งตนก็ขอความเห็นใจสักนิดว่า ตนต้องทำหน้าที่ในหลายเรื่อง ถ้าผู้แทนเกษตรกรขึ้นมา ก็เป็นโอกาสที่ดี ได้หารือกับตนและรัฐมนตรีคนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องให้ตนไปพบในที่ใดที่คิดว่าเหมาะสม ตนก็ยินดี
อีกด้านหนึ่ง นายยรรยง พวงราช รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.พิจารณาเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เรื่องหลักเกณฑ์การรับจำนำข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 56/57 โดยใช้วงเงินงบประมาณที่ 2.7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้านาปี ฤดูกาลผลิตปี 56/57 จะรับจำนำที่ราคา 15,000 บาทต่อตัน จำกัดวงเงินรับจำนำไว้ที่ไม่เกิน 3.5 แสนบาทต่อครัวเรือน เริ่มต้นตั้งแต่ ต.ค. 56 ถึง ก.พ. 57 ส่วนโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ฤดูกาลผลิตปี 57 จะรับจำนำที่ราคา 13,000 บาท/ตัน จำกัดวงเงินการรับจำนำไว้ที่ไม่เกิน 3 แสนบาท/ครัวเรือน