xs
xsm
sm
md
lg

ถกชาวสวนยาง 4 ภาค รัฐหยิบ “เงินค่าปุ๋ย” ฟาดหัวพันสองต่อไร่-สูงสุดสามหมื่นกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐบาลปิดปากแกนนำชาวสวนยาง จ่ายค่าปุ๋ย 1,260 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 25 ไร่ สูงสุด 31,500 บาทต่อราย ด้านประธานเครือข่ายฯ อ้าง ยอมรับข้อเสนอราคายางพารา 92 บาทต่อกิโลกรัมคิดดีแล้ว บอกไม่การันตีเจรจาม็อบนครศรีฯ ได้ อีกด้านประชาสัมพันธ์สวนยางฯ ลาออกหวั่นครอบครัวเดือดร้อน



วันนี้ (28 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 18.40 น.นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับกลุ่มเกษตรกร 4 ภาค ที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคายางพาราตกต่ำ โดยใช้เวลาในการหารือกว่า 5 ชั่วโมง จนที่ประชุมมีมติ คือ ชดเชยปัจจัยการผลิต (ค่าปุ๋ย) ตามที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เสนอมา โดยใช้งบกลางจากสำนักงบประมาณ จำนวน 8,000 ล้านบาท เบื้องต้นคณะกรรมการกลั่นกรองเห็นชอบงบประมาณเพื่อดำเนินการทันที 5,628 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินให้เกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) 1,260 บาทต่อไร่ จำกัดรายละ 25 ไร่ จำนวน 31,500 บาทต่อราย โดยเพิ่มจากเดิมจำกัดรายละ 10 ไร่ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการช่วยเหลือระยะสั้นเป็นเวลา 7 เดือน จนถึงช่วงเดือน มี.ค.2557 ซึ่งเป็นฤดูกาลปิดหน้ายาง ทั้งนี้จะนำมาตรการดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 3 ก.ย.นี้ นอกจากนี้มติที่ประชุมจะดูแลกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกยางโดยไม่มีเอกสิทธิ์ที่ดินทำกิน โดยจะเร่งหารือกับกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อเสนอแนวทางดำเนินการต่อไป และรัฐบาลจะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้ดำเนินการทางคดีกับแกนนำผู้ชุมนุม

นายยุคล กล่าวอีกว่าสำหรับมาตรการในภาพรวม รัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานแปรรูปรับซื้อยางพาราจากกลุ่มเกษตรกร พร้อมกับช่วยเหลือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำด้วย เช่น ปุ๋ย พร้อมกับสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชเสริมเพิ่มรายได้ ซึ่งคาดว่าจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 9.8 แสนราย นอกจากนี้ กนย.ยังเสนอให้โค่นต้นยางที่มีอายุเกิน 25 ปี ที่ผลิตน้ำยางได้ปริมาณต่ำแล้วสนับสนุนให้ปลูกปาล์มน้ำมันแทน

ด้าน นายเทอดศักดิ์ เสริมศรี ประธานเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่าแม้ข้อเสนอดังกล่าวของรัฐบาลไม่เป็นไปตามที่กลุ่มและเครือข่ายต้องการ คือ รับประกันราคายางพาราแผ่นดิบ 92 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง แต่ถือได้ว่าเป็นมาตรการช่วยเหลือความเดือดร้อนเกษตรกรระยะสั้น จนกว่าจะถึงฤดูปิดหน้ายางในเดือน มี.ค.ปีหน้า ซึ่งยังนับว่าเป็นมาตรการช่วยเหลือระยะสั้น ดังนั้นจึงอยากให้เกษตรกรรีบไปลงทะเบียน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ โดยเร่งด่วน สำหรับการชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย.นี้ หากจะมีการชุมนุมอยากขอร้องให้ผู้ชุมนุมถอดสีเสื้อ และกลุ่มการเมือง โดยขอเป็นการชุมนุมโดยสันติ

นายเทิดศักดิ์ กล่าวต่อว่า เราได้มีการหารือกันถึงข้อเสนอของรัฐบาลภายในเครือข่ายก็มีข้อตกลงว่าจะรับไปก่อน และเชื่อว่าเกษตรกรจะพอรับได้ แม้ว่าจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ แต่เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง และเป็นการชดเชยในระยะ 7 เดือน เพราะวันที่ 31 มี.ค.ก็จะหยุดกรีดยางจึงถือว่าเงื่อนไขนี้ครอบคลุม สิ่งที่รัฐบาลชดเชย 25 ไร่ ก็จะตก 3 หมื่นบาท ก็เป็นเม็ดเงินที่ใกล้เคียงกับที่เรายื่นข้อเสนออย่างไรก็ตามยืนยันเราไม่เคยนำการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องยาง ผู้ที่ไปชุมนุมเป็นเกษตรกรที่มีเดือดร้อนจริง

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าวันที่ 3 ก.ย.จะไม่มีการชุมนุมแล้วใช่หรือไม่ นายเทอดศักดิ์กล่าวว่า ตนต้องไปชี้แจงให้เกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศผ่านเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศเข้าใจ ส่วนบางคนที่วอล์กเอาต์ออกไประหว่างการประชุมนั้น คิดว่าคงมีการได้รับข้อมูลที่ไม่ตรงข้อเท็จจริงก็ได้ เพราะตนถือว่าส่วนใหญ่ยังอยู่ที่นี่ บางคนมีภารกิจที่รีบเดินทางกลับก็มี ส่วนคนที่ออกไปก็ไม่แน่ใจว่าออกไปเพราะอะไร เมื่อถามย้ำว่า แต่ตัวแทนที่ออกไปส่วนใหญ่เป็นชาวสวนยางภาคใต้จะชี้แจงอย่างไร เพราะมีการยืนยันว่าวันที่ 3 ก.ย.จะชุมนุมแน่ นายเทอดศักดิ์ กล่าวว่า ตัวแทนที่ชุมนุมที่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นเกษตรชาวสวนยางไม่ใช่สีใดสีหนึ่ง โดยมีข้อเรียกร้องที่ กก.ละ 120 บาท แต่กว่าเราจะลงมติที่ กก.ละ 92 บาท ได้มีการประชุมอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เพราะราคายางในสถานการณ์ราคา กก.ละ 92 บาทน่าจะอยู่ได้ เพราะเราต้องการให้ราคายางสูงขึ้น แต่ข้อเรียกร้องอาจไม่ตรงกันกับกลุ่มที่ จ.นครศรีธรรมราช เพราะแต่ละราคาเป็นเรื่องของแต่ละกลุ่ม

เมื่อถามว่า สรุปแล้วผลการประชุมวันนี้ไม่สามารถการันตีได้ว่าผู้ชุมนุมที่ จ.นครศรีธรรมราช จะยอมรับข้อเสนอนี้ นายเทอดศักดิ์ กล่าวว่า ไม่สามารถการันตีได้ เราต้องไปทำความเข้าใจ เพราะการชุมนุมที่ จ.นครศรีธรรมราช มีสมาชิกในองค์กรของเราเข้าร่วมแค่บางส่วนเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมทางตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางจากภาคใต้ยืนยันว่า หากการประชุมได้รับผลที่พึงพอใจจะสามารถชี้แจงกับผู้ชุมนุม และทำให้การชุมนุมที่ จ.นครศรีธรรมราชยุติทันที

อีกด้านหนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 17.00 น.ระหว่างการหารือร่วมกับชาวสวนยางทั่วประเทศ นายวีระศักดิ์ สินธุวงศ์ ประชาสัมพันธ์เครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้เดินออกจากห้องประชุม พร้อมกล่าวว่า “ผมได้ประกาศยุติการเป็นประชาสัมพันธ์ฯแล้ว” จากนั้นได้เดินกลับเข้าไปในห้องโดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที และเดินออกมาพร้อมมีเจ้าหน้าที่ประกบไปส่งขึ้นรถกลับบ้าน โดย นายวีระศักดิ์ ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “ผมกลัวว่าจะเป็นปัญหากับครอบครัวผม ผมจะกลับไปกรีดยาง ผมจะไปยุ่งทำไม ในเมื่อผมไม่ได้ลงมติอะไรแล้ว ผมจะกลับบ้านไปนอน เพราะคณะกรรมการใหญ่ทุกคนวันนี้ก็เดือดร้อนกันจะตายอยู่แล้ว ที่ต้องมายุ่งกับเรื่องการประชุมพวกนี้ ผมขอประกาศยุติบทบาทในฐานะประชาสัมพันธ์เครือข่าย และสิ่งที่กังวลจะเกิดผลกระทบกับครอบครัววันนี้ เพราะในเวทีการแสดงความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆ มันรุนแรง ถ้าผมแถลงข่าวเข้าข้างพรรคประชาธิปัตย์ก็หาว่าเป็นเรื่องการเมือง”











กำลังโหลดความคิดเห็น