xs
xsm
sm
md
lg

“ปู” ส่ง “โต้ง-ยุคล-สุภรณ์” แจงแก้ราคายาง อ้างเคลียร์เกษตรกรหมดแล้ว เว้นใต้ไม่ยอม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยุคล ลิ้มแหลมทอง (แฟ้มภาพ)
“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” งดจัดรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ส่ง “กิตติรัตน์-ยุคล-สุภรณ์” แจงแก้ปัญหายางพารา ระบุเหตุราคาตกเพราะเศรษฐกิจแย่ ผลผลิตมากกว่าความต้องการ เบื้องต้นช่วยปุ๋ย ไร่ละ 1,250 บาทรายละ 10 ไร่ ส่วนอีก 15 ไร่ที่เกษตรกรขอรอถกใน กนย.พร้อมให้ราคา กก.ละ 80 บาท “สุภรณ์” อ้างชาวสวนยาง “เหนือ-อีสาน-ตะวันออก” พอใจ ไม่ปิดถนน 3 ก.ย. ยกเว้นใต้ ด้าน “กิตติรัตน์” เตรียมเงินโค่นต้นยาง อายุ 25 ปี เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันแทน เพื่อจัดโซนนิ่ง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (31 ส.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม งดจัดรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” มอบหมายให้นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและ ราว.เกษตรและสหกรณ์ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง และนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดรายการแมยเพื่อชี้แจงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และการประท้วงของเกษตรกรสวนยาง

นายยุคลชี้แจงว่า เหตุที่ราคายางพาราตกต่ำมาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ และการผลิตมากกว่าความต้องการ เพราะถึงแม้ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 3 ประเทศ ผู้ผลิตรายใหญ่จะมีบริษัทร่วมกัน แต่ความร่วมมือยังไม่ดีพอ อีกทั้งไม่ใช่ผู้ที่สามารถกำหนดราคาเองได้ นอกจากนี้ ยังเริ่มมีผู้ผลิตรายใหม่ทั้งลาวและเวียดนามเพิ่มมาอีก ในระยะยาวจะต้องร่วมมือกันทั้งอาเซียน

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหา ได้หารือกับตัวแทนในสภาเกษตร ก่อนจะมีการชุมนุมมาตลอด แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ราคาชี้นำ โดยการตั้งราคาไว้แล้วไปให้ถึง เนื่องจากจะกระทบต่อราคาตลาด เพราะจะถูกกดราคา และยังมียางพาราในสต๊อก ซึ่งผู้ซื้อจ้องกดราคา สำหรับสต๊อกยางพาราทั้งของรัฐบาลและเอกชน มีกว่า 3 แสนตัน แต่ในส่วนของสต๊อกรัฐที่มีประมาณ 2 แสนตัน มีการประกาศชัดว่าจะเอามาใช้ในประเทศ จึงแก้ไขด้วยการลดปัจจัยการผลิตและสนับสนุนปัจจัยการผลิต

สำหรับทางออกของความเดือดร้อนของชาวสวนยางและการชุมนุมคือ ทั้งหมดจะดำเนินการผ่านคณะกรรมการนโยบายยางพาราแห่งชาติ (กนย.) จะช่วยลดต้นทุน โดยจากการหารือกับตัวแทนเกษตรกรยางพาราเมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปรัฐจะช่วยปัจจัยการผลิตคือ ค่าปุ๋ยไร่ละ 1,260 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ก่อนโดยมีวงเงินอยู่ที่ประมาณ 8,700 ล้านบาท เพราะกลุ่มปลูกยางพาราไม่เกิน 10 ไร่ เดือดร้อนมากที่สุด จ่ายเงินสดไปยังเกษตรกรโดยตรง ทั้งหมดนี้จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันอังคารหน้าและดำเนินการได้ทันที แต่พี่น้องเกษตรกรต่อรองกับเราว่า 10 ไร่ไม่พอ จะขอ 25 ไร่ ตนก็เรียนว่า 10 ไร่ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองแล้ว เข้า ครม.อังคารหน้า เอาไปก่อน ส่วนที่เกินไปเข้า กนย.เขาก็รับ

นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ กล่าวว่า การชุมนุมปิดถนนใน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ได้มีการเจรจากับเกษตรกรในพื้นที่ อ.ชะอวด และจุฬากรณ์ พอใจราคาที่กิโลกรัมละ 80 บาท โดยได้สลายการชุมนุมปิดถนนแล้ว แต่ก็มีพี่น้องเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งมาบอกว่าไม่ยอมจะเอากิโลกรัมละ 120 บาท ก็เลยไม่ยอมเปิดถนน และก็ไปปิดเส้นทางรถไฟ

นายสภรณ์กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรก็มีหลายกลุ่ม รัฐบาลก็พยายามเจรจาทุกรูปแบบ ไม่ใช่ทอดทิ้งและจากการหารือกับตัวแทนเกษตรกรในวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา เกษตรกรชาวยางพาราภาคเหนือ ภาคตะวันออก และอีสาน พอใจผลการหารือแล้วจะไม่มีการปิดถนนในวันที่ 3 ก.ย.นี้ ยกเว้นเกษตรกรภาคใต้ที่ยังคงชุมนุมปิดถนนในจุดเดิม อย่างไรก็ตาม อยากให้มาหาทางออกร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายชัดเจนให้หารือกันและพร้อมรับฟังรอบด้าน

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กล่าวว่า ขณะนี้มีปริมาณต้นยางพาราที่มีจำนวนมากและผลผลิตน้อย ซึ่งทางภาครัฐเตรียมจัดในส่วนของเงินกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง หรืออัตราค่าธรรมเนียมการส่งออกยางพารา ที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1 หมื่นล้านบาทนั้น มาใช้ในการสนับสนุนการโค่นต้นยางเก่าที่มีอายุเกิน 25 ปี ให้กับเกษตรกรเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันแทน ซึ่งจะเป็นแนวทางในการจัดวางแผนเกษตรโซนนิ่ง พร้อมกันนี้ กระทรวงพลังงานยังคงมีการสนับสนุนในการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตเป็นไบโอดีเซล เนื่องจากในอนาคตนั้นในประเทศไทยจะมีการปรับน้ำมันดีเซลที่ใช้จำหน่ายในประเทศจาก B5 เป็น B7 และในอนาคต ยังมีแผนเปิดโรงไฟฟ้า ที่มีการใช้น้ำมันไบโอดีเซล 100% ในอนาคตด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น