เวทีถกแก้ปัญหาม็อบยางยาวนานกว่า 2 ชั่วโมง ล้มเหลว แกนนำสวนยางอัดรัฐไม่จริงใจจี้ยกเลิกมติ ครม.ชดเชย 1,260 บาทต่อไร่ แก้ปัญหาไม่ถูกจุด แนะใช้แนวทางเติมส่วนต่างราคาโดยยอมลดจาก 120 มาเหลือ 100 บาท/กก. ด้าน “กิตติรัตน์” ฉุนถูกขุดบรรพบุรษด่าเป็นคนใต้เสียชาติเกิด แต่ยอมรับนำข้อหารือทบทวน ชง กนย.พรุ่งนี้ ระบุไม่มั่นใจการเมืองหนุนหลังหรือไม่
เมื่อเวลา 18.30 น. วันนี้ (4 ก.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำและมีการชุมนุมปิดถนนบริเวณสหกรณ์โค-ออป จ.สุราษฎร์ธานี กับกลุ่มแกนนำชาวสวนยางภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สตูล กระบี่ พัทลุง ระนอง และสุราษฎร์ธานี ที่ห้องประชุมวายุภักดิ์ 202 โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ
โดยนายอำนวย ยุติธรรม เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อความเป็นธรรม จ.นครศรีธรรมราชกล่าวว่า อยากเห็นรัฐบาลแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงใจ ยืนยันว่าการชุมนุมของพี่น้องไม่มีการเมืองหนุนหลัง โดยพื้นที่การปลูกยางในภาคใต้มีพื้นที่จำกัด แต่ละครัวเรือนมีพื้นที่การปลูกเพียง 10-15 ไร่ น้อยกว่าคนในพื้นที่ภาคอีกสาน ที่ 1 ครอบครัวน่าจะมี 100 ไร่ ขณะที่ต้นทุนการผลิตยางของคนภาคใต้ต้นทุนยางและ ราคายางอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 กว่าบาท ขณะที่ราคาขายอยู่ที่ 70 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดูแลครอบครัว เรามาเพื่อเจรจาหาข้อยุติ เพื่อแก้ปัญหาของพี่น้องชาวภาคใต้ หวังว่ารัฐบาลจะไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งประเทศไทยถือว่าเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกยางสูงที่สุด คือ 5 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซียที่เก็บเพียง 1.40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งหากรัฐนำเงินตรงนี้มาแทรกแซงราคายางในระยะสั้นๆ เชื่อว่าอีกไม่นานราคายางในตลาดจะสูงขึ้น 100 บาทต่อกิโลกรัมแน่นอน
“ยางพาราที่มีได้ทุกวันนี้ต้องขอบคุณท่านทวดของท่านกิตติรัตน์ คือท่านคอซิมบี้ ณ ระนอง ซึ่งเป็นผู้นำยางพาราต้นแรกไปปลูกที่ จ.ตรัง ผมฝันมานานแล้วว่าถ้าราคายางตก ผมน่าจะได้พบกับลูกหลานท่าน ซึ่งวันนี้ก็ดีใจที่ฝันเป็นจริง ที่ผมจะได้มีโอกาสปัญหานี้กับลูกหลานท่าน” นายอำนวยกล่าว
นายอำนวยยังกล่าวด้วยว่า อยากให้รัฐมองและแก้ไขปัญหาเรื่องราคายาง ปาล์มน้ำมัน ทั้งระบบ อย่างในกรณีที่คณะรัฐมนตรี ออกมาเป็นมติว่าจะอุดหนุนค่าปุ๋ยให้เกษตรกรที่ 1,260 บาทต่อไร่ คิดว่าเป็นการแก้ไขไม่ถูกจุด เพราะข้อเท็จจริงผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้มีเพียงเจ้าของสวนยางเท่านั้น แต่ยังมีคนที่รับจ้างกรีดยาง ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากมติ ครม.นี้ เพราะแค่ 1,260 บาท จ่ายหนี้วันเดียวก็หมดแล้ว เราบอกแล้วว่า 1,260 บาทต่อไร่ มันผิดจุด มันไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว เราต้องการราคาเป็นกิโลกรัม จะได้มีรายได้ทุกวัน มีเงินส่งลูกไปเรียนหนังสือ
ทั้งนี้ นายอำนวยกล่าวว่า เรายืนยันว่าเราเราอยากได้ 120 บาทต่อกิโลกรัม แต่รัฐบาลบอกว่าให้ได้แค่ 80 บาทต่อกิโลกรัม วันนี้รัฐบาลบอกว่าจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา มาวันนี้จึงอยากได้คำตอบว่ารัฐมีเงินเท่าไหร่ และจะช่วยแทรกแซงราคายางให้ได้กิโลกรัมละเท่าไหร่ เราเชื่อว่ารัฐบาลนี้มีความสามารถในการตลาด นายกรัฐมนตรีบินไปต่างประเทศหลายประเทศ เชื่อว่าน่าจะสามารถเจรจาเพื่อขายยางได้ ซึ่งเราไม่ได้หวังว่าจะรวยจากการขายยาง 120 บาทต่อกิโลกรัม เพราะว่าถ้าเราหวังรวย เราคงรวยไปแล้ว เมื่อราคายางขึ้นถึง 170 บาทต่อกิโลกรัม แต่เราเพียงต้องการราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ไม่ขาดทุนมีรายได้ พอที่จะเลี้ยงครอบครัวได้ ไม่ใช่ได้ราคาสูงแต่ประเทศล่มจมอยู่ไม่ได้ แต่ถ้าวันนี้รัฐบาลบอกว่าไม่มีนโยบายที่จะแทรกแซงราคายาง เราจะได้กลับ หรือตัวเลขที่รัฐเสนอแล้ว เราเห็นว่าเรารับไม่ได้ ก็พร้อมที่จะกลับไปเชิญชวนพี่น้องคนใต้ทุกคน มาชุมนุมหน้าที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอทั่วทั้งภาคใต้
ด้านนายเอียด เส้งเอียด แกนนำกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง กล่าวว่า ปัญหาการชุมนุมที่ลุกลามนั้น สาเหตุมาจากการที่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลลงไปเจรจาและไปยื่นข้อเสนอต่อเกษตรว่าจะซื้อยางที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม และอาจรับที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรรอฟังคำตอบ แต่เมื่อผลออกมาตรงกันข้ามทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ รวมถึงกรณีที่กำนันผู้ใหญ่บ้าน ออกมากก่อกวนการชุมนุม พยายามที่จะเปิดถนน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเกิดความไม่พอใจที่ฝ่ายข้าราชการจะสลายการชุมนุม ดังนั้น หากรัฐบาลมีความจริงใจ ตั้งใจจะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกำลังลุกลามเป็นไฟอย่างไรก็ตาม ตนขอยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง ที่อ้างว่ามีพรรคประชาธิปัตย์ “3 ส.” เข้ามาหนุนหลังนั้น ไม่มีแน่นอน เพราะขนาดที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ จะขึ้นเวที พวเรายังไม่ยอมเลย
“ทุกอย่างต้องแก้ด้วยความจริงใจ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่รัฐบาลไม่ตอบรับข้อเสนอ ผมเชื่อเหลือเกินว่าฤดูกาลนี้เป็นฤดูฝน หน้าฝนจะมียางที่ไหนมาขายให้ เพราะเกือบ 5 เดือนในฤดูฝน เกษตรกรกรีดยางไม่ได้ แล้วจะเอายางที่ไหนมาประกัน ผมไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ใหญ่ในรัฐบาลคิดไม่ได้ เรื่องนี้ยังไม่สาย ขอให้รีบแก้ไข เราขอยืนยันว่าพี่น้องเกษตรไม่มีการเมืองสนับสนุนแน่นอน ดังนั้น จึงขอรัฐบาลนำเรื่องนี้พิจารณาดับไฟ เพื่อไม่ให้ไฟใต้ลุกขึ้นอีกครั้ง หากเรื่องนี้ไม่จบพวกเขาพร้อมที่จะจับปืนเข้าป่าลุกขึ้นสู้อีกครั้ง” นายเอียด กล่าว
นายเอียดยังกล่าวด้วยว่า ถ้าวันนี้ไม่มีข้อตกลง ตนก็หมดภารกิจในการประสานงานระหว่างรัฐบาลและเกษตรกร ตนมาเพื่อที่จะมาขอข้าวจากรัฐบาล แต่รัฐบาลกับให้เกลือ เราขอราคาต่อกิโลกรัม แต่กลับให้ค่าชดเชย 1,260 ต่อไร่ ดังนั้น ด้วยความเคารพ ตนต้องคงละทิ้งการเป็นผู้ประสานงานกับรัฐบาล กลับไปทำหน้าที่พิทักษ์รักษาป่าเทือกเขาบรรทัดให้ในหลวง และคงต้องไปบอกพี่น้องว่ารัฐบาลไม่จริงใจ ส่วนพี่น้องจะปิดจะเผา ตนไม่รู้ด้วยแล้ว ก่อนมาพวกก็เตือนว่าอย่ามาเลย ไม่มีประโยชน์ และมีการกล่าวหาว่าไอ้พวกนี้ถูกซื้อหมดแล้ว แต่ก็คิดว่าถ้าไม่มาเขาก็จะมองว่าเราเป็นอันธพาล ตนขอเรียนด้วยความจริงใจว่า ของซื้อของขายต่อรองกันได้ ถ้ารัฐบาลบอกว่าให้ 100 บาทต่อกิโลกรัมรับได้หรือไม่ ถ้าพี่น้องบอกรับไม่ได้ ตนจะสลายการชุมนุมเอง และเปิดถนนให้เอง
ด้านนายกิตติรัตน์กล่าวว่า ไม่อยากให้ตัวแทนเกษตรนำเรื่องการช่วยเหลือราคาข้าวไปเทียบกับราคายาง เพราะถ้าว่าไปแล้วในอดีตราคาข้าวเปลือกไม่เคยมีการปรับสูงขึ้นเหมือนราคายางในอดีต ซึ่งตนไม่อยากให้นำมาเปรียบเทียบ และทำให้เกิดความแตกต่าง หรือจะมาพูดในทำนองว่ากิตติรัตน์ ลูกหลานคนใต้ แต่ทำไมเสียชาติเกิด ไม่รัก ไม่ปกป้องคนใต้ พูดอย่างนี้ตนเสียใจ อยากอธิบายว่า การที่มีมติ ครม.ชดเชย 1,260 บาทต่อไร่ ไม่เกินรายละ 10 ไร่ ตลอดระยะเวลา 7 เดือน มตินี้เป็นผลมาจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางพารา (กนย.) ก่อนที่จะมีการชุมนุม แต่ถ้าเกษตรกรอยากได้ราคาต่อกิโลกรัม ตนก็พร้อมที่จะนำไปเสนอที่ประชุม กนย. ในวันพรุ่งนี้ (5 ก.ย.) แต่ถ้าเกษตรกรพูดเรื่องรายได้ ก็อยากให้มีการทบทวนสักนิดว่า หากมีการดำเนินการตามมติ ครม.ดังกล่าวนั้น เงินจะส่งถึงมือประชาชนทันที และถ้านำเงินอุดหนุนต่อไร่มาเฉลี่ยเป็นการกรีดยางตลอด 7 เดือน ราคายางที่เกษตรกรจะได้รับจะสูงขึ้นกว่าราคายางปัจจุบันกิโลกรัมละ 6 บาท ดังนั้นถ้าคิดในเรื่องของรายได้ ก็ต้องถือว่าการอุดหนุนของรัฐบาลเป็นรายได้เหมือนกัน
“แนวทางที่ท่านเสนอต่อกิโลกรัมนั้น การแทรกแซงต้องใช้แรง คนที่จะได้อาจเป็นคนที่มียางอยู่เต็มโกดัง ไม่ใช่ชาวสวนยาง รัฐบาลก็มียางเต็มโกดัง วันนี้ที่รัฐบาลทำคือ อยากส่งมือให้เกษตรกรโดยตรง ผ่าน ธ.ก.ส. ซึ่งเกษตรกร 7 แสนรายจะได้รับเงินแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย สิ่งที่ท่านเรียกร้องรัฐบาลก็จะดูว่าจะช่วยอะไรได้อีก สิ่งที่เราพูดคุยวันนี้อยากให้นำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือการหาจุดร่วมเพื่อนำไปสู่ว่าจะทำอย่างไรว่าเราสามารถเปิดถนน เปิดทางรถไฟ ที่กำลังถูกปิดอยู่ได้” นายกิตติรัตน์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม ตัวแทนเกษตรกร อาทิ นายสายยัณห์ ยุติธรรม แกนนำเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง พยายามยืนยันว่าการชดเชยตามมติ ครม.ดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้รับจ้างกรีดยาง หากมีการชดเชย 1,260 บาทต่อไร่ คนกรีดยางจะไม่ได้รับส่วนแบ่ง เนื่องจากแต่เดิมจะเป็นการแบ่งเปอร์เซ็นต์จากราคาขายยางต่อกิโลกรัม ดังนั้น ในการประชุม กนย.วันพรุ่งนี้ ขอให้ไปเสนอยกเลิกมติดังกล่าว และให้ใช้วิธีการเติมส่วนต่างราคาตลาด ราคายางต่อกิโลกรัมให้ราคาอยู่ที่ 100 บาท ณ ที่ขาย เช่น หากปัจจุบันราคายางอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท ให้รัฐบาลเติมอีก 20 บาทต่อกิโลกรัมให้กับเกษตรกร ซึ่งเจ้าของสวนก็จะแบ่งกับผู้กรีดตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์เดิม ซึ่งนายกิตติรัตน์ ก็พยายามที่จะซักถาม เพื่อขอความชัดเจนว่าการที่จะให้เติมเงินส่วนต่าง จะเติมในขั้นตอนใด เติมให้กับใคร ก่อนที่นายอำนวย จะสรุปว่า ให้รัฐบาลไปทบทวนการแทรกแซงส่วนต่างว่าจะประกันราคาส่วนต่าง หรือจะแทรกแซงด้วยการเติมเงิน หรือจะเรียกว่าอะไรก็ได้ แต่ให้ราคายางอยู่ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนกรณ๊ที่มีข่าวว่ารัฐบาลตกลงราคาที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรต้องการ 120 บาทต่อกิโลกรัม วันนี้รัฐบาลไม่มีความจริงใจ ไม่มีการพูดถึงราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม แต่กลับพูดถึงแต่มติ ครม. ที่ชดเชยค่าปุ๋ยและปัจจัยการผลิตให้ 1,260 บาทต่อไร่ ทั้งที่เกษตรกรยอมที่จะลดราคามาครึ่งทาง ให้รัฐบาลกำหนดราคาอยู่ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าไม่ได้ก็ขอเรียกร้องให้พี่น้องชาวภาคใต้มาชุมนุมที่หน้าที่ว่าการอำเภอ แล้วหลังจากนั้นจะไปไหนกันต่อก็ให้มีการพิจารณาด้วยตนเอง และจะมีการแถลงข่าวนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำพูดของนายอำนวยที่ระบุว่ารัฐไม่จริงใจ เพราะไม่มีการพูดราคา 80 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้นายกิตติรัตน์ไม่พอใจ และตำหนินายอำนวยอย่างมีอารมณ์ว่านายอำนวยแสดงมากเกินไป เพราะก่อนหน้านี้ตนเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีการเมืองอยู่เบื้องหลัง แต่ตอนนี้ชักไม่เชื่อแล้ว ตนอยากให้การเจรจาในครั้งแรกเป็นบรรยากาศที่ดี เพราะขณะนี้ตนพร้อมที่จะทบทวนข้อเสนอในแนวทางที่เกษตรเสนอคือการเติมราคาส่วนต่างของราคายางให้อยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุม กนย.ในวันพรุ่งนี้ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอดูต่อไป แต่ตนคิดว่าการปิดถนนครั้งนี้เป็นความเดือดร้อน ถ้าท่านจะกรุณาก็อยากให้มีการแก้ไขปัญหานี้ก่อน ซึ่งตนก็จะพยายามทำงานอย่างเต็มที่ตั้งแต่ขึ้นนี้เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือในครั้งนี้เริ่มต้นตั้งแต่ 18.30 น. จนถึง 20.48 น. โดยใช้เวลาไปเกือบ 2 ชั่วโมงกว่าจึงยุติลง