xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบยางขู่ยึดอำเภอ ลุ้นกนย.แทรกแซงโลละ100

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-ตัวแทนม็อบยางบินเข้ากรุงถกตัวแทนรัฐบาล ยันไม่เอาช่วยค่าปุ๋ย 1,260 บาท/ไร่ ต้องได้กิโลละ 100 บาทเท่านั้น จะชดเชยหรือแทรกแซงก็แล้วแต่ ลั่นถ้าไม่ได้จะยึดที่ว่าการอำเภอชุมนุมทั้งภาคใต้ "โต้ง"พร้อมทบทวน ชงหารือใน กนย. วันนี้ ม็อบชาวไร่ข้าวโพดจี้ "ปู" แก้ปัญหาราคาตกต่ำ อัดขายข้าวโพด 1 โลยังซื้อไข่นายกฯ ฟองละ 5 บาทไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (4 ก.ย.) ที่ห้องรับรองนายกรัฐมนตรี ชั้น 2 รัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เรียกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรและสหกรณ์ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายวิบูลย์ สงวนพงษ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย หารือเป็นการด่วน เพื่อหาแนวทางแก้ไขการชุมนุมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารางที่เรียกร้องให้มีการปรับราคา 120 บาทต่อกิโลกรัม โดยนายกฯ ได้ร่วมหารือเป็นเวลาประมาณ 30 นาที

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เป็นการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งอยากให้เจ้าหน้าที่ใช้ความอดทนพูดคุยกับพี่น้องประชาชน เบื้องต้นที่พูดคุยไป พี่น้องชาวสวนยางหลายคนก็เข้าใจ รัฐบาลอยากขอความร่วมมือ ไม่อยากให้มีการปิดสถานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการปิดถนน หรือสนามบิน เพราะไม่อยากให้มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ

เมื่อถามว่าสถานการณ์จะคลี่คลายหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงต้องใช้เวลา เราก็พยายามอย่างเต็มที่ แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วย

***กล่อมแกนนำเจรจาที่กรุงเทพฯ

สำหรับการชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางพารา และปาล์มน้ำมันในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อเวลา 12.30 น. วานนี้ (4 ก.ย.) ตัวแทนผู้ชุมนุมชาวสวนยาง อ.ชะอวด จำนวน 15 คน นำโดยนายเอียด เส้งเอียด ได้เข้าหารือกับ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง และนายภาณุ อุทัยรัตน์ ที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช

โดยตัวแทนเกษตรกร ได้ยื่นข้อเรียกร้องเดิม คือ ขอรับประกันราคายางพาราแผ่นดิบชนิด 3 ราคา 120 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาปาล์มน้ำมัน 7 บาทต่อกิโลกรัม แต่ พล.ต.ต.ธวัช ได้เสนอให้ตัวแทนเกษตรกรขึ้นเครื่องบินไปคุยกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่ กรุงเทพฯ ทั้งนายกิติตรัตน์ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ นายยุคล เพื่อชี้แจงปัญหาที่เกษตรกรได้รับและแนวทางแก้ปัญหา หรือข้อเรียกร้องต่างๆ ต่อผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง โดย พล.ต.ต.ธวัช รับประกันความปลอดภัยและจะพากลับมาส่งที่ จ.นครศรีธรรมราช ทันที หลังเจรจาแล้วเสร็จ โดยใช้เฮลิคอปเตอร์

**"เอียด"พร้อมตัวแทนบินเข้ากรุง

ต่อมาแกนนำเกษตรกร ได้ขอหารือกันเป็นการภายใน 20 นาทีจนได้ข้อสรุปว่า ยินดีที่จะเดินทางไปพูดคุยที่กรุงเทพฯ แต่หากไม่ได้ตามข้อเสนอที่เรียกร้องไปจะกลับมายกระดับการชุมนุมทันที

จนเวลา 16.00 น.ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวน 20 คนจากทั้ง 4 จุดชุมนุมของ จ.นครศรีธรรมราช คือ กลุ่มแยกบ้านควนหนองหงษ์และกลุ่มแยกบ้านตูล อ.ชะอวด นำโดยนายเอียด เส้งเอียด กลุ่ม อ.นาบอน นำโดยนายจิราพงศ์ เชื้อบ้านเกาะ เลขานุการสมาคมชาวสวนยางพารา จ.นครศรีธรรมราช กับนายนิคม ศรีสุกใส กลุ่มเกษตรกรจาก อ.ท่าศาลา นำโดยนายอำนวย ยุติธรรม พร้อมด้วยทีมงาน ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเปิดเจรจากับรัฐบาล โดยทั้งหมดเดินทางโดยเครื่องบินจากท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ไปยังท่าอากาศยานดอมเมือง ภายใต้การอำนวยความสะดวกของ พล.ต.ต.ธวัช พร้อมด้วยนายภาณุ และคณะผู้แทนจากรัฐบาลที่ถูกส่งลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจ และนำกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวขึ้นไปเจรจากับตัวแทนผู้มีอำนาจในรัฐบาลในช่วงค่ำ และกำหนดจะเดินทางกลับมาแจ้งผลต่อผู้ชุมนุทันที

***ไม่เอาชดเชยค่าปุ๋ย1,260บาท/ไร่

เมื่อเวลา 18.30 น. ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ นายกิตติรัตน์ นายยุคล พล.ต.ต.ธวัช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำกับกลุ่มแกนนำชาวสวนยางภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สตูล กระบี่ พัทลุง ระนอง และสุราษฎร์ธานี ที่ห้องประชุมวายุภักดิ์ 202

นายอำนวยอำนวย ยุติธรรม เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อความเป็นธรรม จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า อยากให้รัฐมองและแก้ไขปัญหาเรื่องราคายาง ราคาปาล์มน้ำมัน ทั้งระบบ อย่างมติคณะรัฐมนตรี จะอุดหนุนค่าปุ๋ยให้เกษตรกรที่ 1,260 บาทต่อไร่ คิดว่าเป็นการแก้ไขไม่ถูกจุด เพราะข้อเท็จจริงผู้ได้รับผลกระทบไม่ได้มีเพียงเจ้าของสวนยางเท่านั้น แต่ยังมีคนที่รับจ้างกรีดยาง ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากมติ ครม.นี้ เพราะแค่ 1,260 บาท จ่ายหนี้วันเดียวก็หมดแล้ว เราบอกแล้วว่า 1,260 บาทต่อไร่ มันผิดจุด มันไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว เราต้องการราคาเป็นกิโลกรัม จะได้มีรายได้ทุกวัน มีเงินส่งลูกไปเรียนหนังสือ

ทั้งนี้ หากรัฐบาลบอกว่าไม่มีนโยบายที่จะแทรกแซงราคายาง เราจะได้กลับ หรือตัวเลขที่รัฐเสนอแล้ว เราเห็นว่าเรารับไม่ได้ ก็พร้อมที่จะกลับไปเชิญชวนพี่น้องคนใต้ทุกคนมาชุมนุมหน้าที่ว่าการอำเภอทุกอำเภอทั่วทั้งภาคใต้

"ยางพาราที่มีได้ทุกวันนี้ ต้องขอบคุณท่านทวดของท่านกิตติรัตน์ คือ ท่านคอซิมบี้ ณ ระนอง ซึ่งเป็นผู้นำยางพาราต้นแรกไปปลูกที่ จ.ตรัง ผมฝันมานานแล้วว่าถ้าราคายางตก ผมน่าจะได้พบกับลูกหลานท่าน ซึ่งวันนี้ก็ดีใจที่ฝันเป็นจริง ที่ผมจะได้มีโอกาสปัญหานี้กับลูกหลานท่าน”นายอำนวยกล่าว

***อัดรัฐสับปรับแหกตา

นายเอียด เส้งเอียด แกนนำกลุ่มเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง กล่าวว่า ปัญหาการชุมนุมที่ลุกลาม เพราะนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลลงไปเจรจาและไปยื่นข้อเสนอต่อเกษตรว่าจะซื้อยางที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม และอาจรับที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรรอฟังคำตอบ แต่เมื่อผลออกมาตรงกันข้าม ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ รวมถึงกรณีที่กำนันผู้ใหญ่บ้าน ออกมากก่อกวนการชุมนุม พยายามที่จะเปิดถนน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเกิดความไม่พอใจที่ฝ่ายข้าราชการจะสลายการชุมนุม

โดยยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง ที่อ้างว่ามีพรรคประชาธิปัตย์ 3 ส. เข้ามาหนุนหลังนั้น ไม่มีแน่นอน เพราะขนาดที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ จะขึ้นเวที พวกเรายังไม่ยอมเลย ตนไม่เข้าใจว่าทำไมผู้ใหญ่ในรัฐบาลคิดไม่ได้ เรื่องนี้ยังไม่สาย ขอให้รีบแก้ไข เราขอยืนยันว่าพี่น้องเกษตรไม่มีการเมืองสนับสนุนแน่นอน ขอรัฐบาลนำเรื่องนี้พิจารณาดับไฟ เพื่อไม่ให้ไฟใต้ลุกขึ้นอีกครั้ง หากเรื่องนี้ไม่จบพวกเขาพร้อมที่จะจับปืนเข้าป่าลุกขึ้นสู้อีกครั้ง

"ถ้าวันนี้ไม่มีข้อตกลง ตนก็หมดภาระกิจในการประสานงานระหว่างรัฐบาลและเกษตรกร ตนมาเพื่อที่จะมาขอข้าวจากรัฐบาล แต่รัฐบาลกับให้เกลือ เราขอราคาต่อกิโลกรัม แต่กลับให้ค่าชดเชย1,260 ต่อไร่ ดังนั้น ด้วยความเคารพ ผมต้องคงละทิ้งการเป็นผู้ประสานงานกับรัฐบาล กลับไปทำหน้าที่พิทักษ์รักษาป่าเทือกเขาบรรทัดให้ในหลวงและคงต้องไปบอกพี่น้องว่า รัฐบาลไม่จริงใจ ส่วนพี่น้องจะปิดจะเผา ผมไม่รู้ด้วยแล้ว ก่อนมาพวกก็เตือนว่าอย่ามาเลย ไม่มีประโยชน์ และมีการกล่าวหาว่าไอ้พวกนี้ถูกซื้อหมดแล้ว แต่ก็คิดว่าถ้าไม่มาเขาก็จะมองว่าเราเป็นอันธพาล ผมขอเรียนด้วยความจริงใจว่า ของซื้อของขายต่อรองกันได้ ถ้ารัฐบาลบอกว่าให้ 100 บาทต่อกิโลกรัมรับได้หรือไม่ ถ้าพี่น้องบอกรับไม่ได้ ตนจะสลายการชุมนุมเอง และเปิดถนนให้เอง"นายเอียดกล่าว

***"โต้ง"รับปากนำเสนอ กนย. พิจารณา

ด้านนายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ไม่อยากให้ตัวแทนเกษตรนำเรื่องการช่วยเหลือราคาข้าวไปเทียบกับราคายาง หรือจะมาพูดในทำนองว่ากิตติรัตน์ ลูกหลานคนใต้ แต่ทำไมเสียชาติเกิด ไม่รัก ไม่ปกป้องคนใต้ พูดอย่างนี้ตนเสียใจ ส่วนการชดเชย1,260 บาทต่อไร่ไม่เกิน 10 ไร่ ตลอดระยะเวลา 7 เดือน มตินี้เป็นผลมาจากการประชุม กนย. แต่ถ้าเกษตรกรอยากได้ราคาต่อกิโลกรัม ตนก็พร้อมที่จะนำไปเสนอที่ประชุม กนย. ในวันนี้ (5 ก.ย.)

“แนวทางที่ท่านเสนอต่อกิโลกรัมนั้น การแทรกแซงต้องใช้แรง คนที่จะได้อาจเป็นคนที่มียางอยู่เต็มโกดัง ไม่ใช่ชาวสวนยาง รัฐบาลก็มียางเต็มโกดัง วันนี้ที่รัฐบาลทำ คือ อยากส่งมือให้เกษตรกรโดยตรง ผ่าน ธกส. ซึ่งเกษตรกร 7แสนรายจะได้รับเงินแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย สิ่งที่ท่านเรียกร้องรัฐบาลก็จะดูว่าจะช่วยอะไรได้อีก สิ่งที่เราพูดคุยวันนี้อยากให้นำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การหาจุดร่วมเพื่อนำไปสู่ว่าจะทำอย่างไรว่า เราสามารถเปิดถนน เปิดทางรถไฟ ที่กำลังถูกปิดอยู่ได้”นายกิตติรัตน์กล่าว

***ต้องโลละ 100ไม่ได้บุกยึดอำเภอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนเกษตรกร พยายามยืนยันว่า การชดเชยตามมติ ครม. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นผู้รับจ้างกรีดยาง คนกรีดยางจะไม่ได้รับส่วนแบ่ง เนื่องจากแต่เดิมจะเป็นการแบ่งเปอร์เซ็นจากราคาขายยางต่อกิโลกรัม ดังนั้น ในการประชุมกนย. วันนี้ ขอให้ยกเลิกมติดังกล่าว และให้ใช้วิธีการเติมส่วนต่างราคาตลาด ราคายางต่อกิโลกรัมให้ราคาอยู่ที่ 100 บาท ณ ที่ขาย เช่น หากปัจจุบันราคายางอยู่ที่กโลกรัมละ 80 บาท ให้รัฐบาลเติมอีก 20 บาทต่อกิโลกรัมให้กับเกษตรกร ซึ่งเจ้าของสวนก็จะแบ่งกับผู้กรีดตามสัดส่วนเปอร์เซ็นต์เดิม หรือไม่ก็ให้รัฐบาลแทรกแซงราคายางที่กิโลกรัมละ 100 บาท

ทั้งนี้ ตัวแทนเกษตรกรได้ระบุอีกว่า ถ้าไม่ได้ จะเรียกร้องให้พี่น้องชาวภาคใต้มาชุมนุมที่หน้าที่ว่าการอำเภอ หลังจากนั้นจะไปไหนกันต่อก็ให้มีการพิจารณาด้วยตนเอง โดยจะมีการแถลงข่าวนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง

สำหรับการหารือในครั้งนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ 18.30 น. จนถึง 20.48 น. โดยใช้เวลาไป2 ชั่วโมงกว่า

**สุราษฎร์ฯฮือปิดถนนเข้า-ออกสนามบิน

อีกด้าน การชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางที่หน้าสหกรณ์สุราษฎร์ธานี หรือ โคออป ยังคงมีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางชุมนุมอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้พล.ต.ต.ธวัช พร้อมคณะ จะได้เข้าหารือกับตัวแทนเกษตรกร และรับที่จะนำข้อเสนอทั้งหมดเสนอต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหาทางแก้ปัญหา

นายมนูญ อุปลา แกนนำชาวสวนยาง จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ตัวแทนรัฐบาลที่มาเจรจา ไม่มีอำนาจตัดสินใจ แต่เกษตรกรไม่มีทางเลือก จึงต้องขอยุติการชุมนุมที่หน้าโคออปไปก่อน แต่จะเคลื่อนไหวในรูปแบบดาวกระจายทุกจังหวัด โดยจะรอคำตอบจาก กนย.ในวันนี้ (5 ก.ย.) หากไม่มีความคืบหน้าจะประสานกับแกนนำทุกจังหวัดจะนำผู้ชุมนุมยึดศาลากลางจังหวัดเป็นศูนย์อำนวยการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลจนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้

ภายหลังจากที่นายมนูญ และตัวแทนชาวสวนยางจังหวัดภาคใต้นำข้อสรุปจะยุติการชุมนุมและให้แกนนำพาผู้ชุมนุมเดินทางกลับเพื่อรอคำตอบจาก กนย. ปรากฏว่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่กว่า 1,000 คนแสดงท่าทีไม่พอใจอย่างมาก โดยนายเสงียบ เกิดสมบัติ อดีตแกนนำตำบลท่าฉาง อ.ท่าฉาง ได้ประกาศบนเวทีไม่พอใจกับการตัดสินใจของนายมนูญ และแกนนำทั้งหมด โดยพูดอย่างมีอารมณ์บนเวทีว่า หากใครไม่เห็นด้วยขอให้เคลื่อนย้ายเดินเท้าไปปิดถนนบริเวณทางเข้าสนามบินสุราษฎร์ธานี และทางหลวงหมายเลข 417 โดยปิดทุกเส้นทางเข้าออกสนามบิน ท่ามกลางการตรึงกำลังของตำรวจหลายร้อยนาย

**ตำรวจตรึงกำลังรับมือม็อบยางบุก

เวลา 16.00 น.พล.ต.ต.เกียรติพงษ์ ขาวสำอางค์ ผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี พร้อม พ.ต.อ.นพดล ถิระประวัติ ผกก.สส.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี ได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์สำรวจบริเวณแยก 417 ซึ่งเป็นจุดที่มีกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ปิดถนนประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพารา หลังเกิดความไม่พอใจแกนนำเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ประกาศยกเลิกการชุมนุมที่บริเวณสนามหน้าสหกรณ์สุราษฎร์ธานี จากการบินสำรวจและประเมินสถานการณ์พบว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 1,500 คนใช้เต็นท์ตั้งบนถนนสาย 41 บริเวณแยก 417 ห่างจากสนามบินนานาชาติสุราษฎร์ธานี ประมาณ 800 เมตร

ขณะที่ พล.ต.ต.เกียรติพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปหรือเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมได้ เนื่องจากไม่มีแกนนำชัดเจน อย่างไรก็ตาม ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ปราบปรามจลาจล 3 กองร้อย สนธิกำลังกับกำลังพลของกองบินเข้ารักษาความสงบและเป็นการป้องกันการปิดทางเข้าออกสนามบิน เนื่องจากสนามบินสุราษฎร์ธานี อยู่ติดกับกองบิน 7 กองทัพอากาศ ซึ่งเป็นพื้นที่ความมั่นคงสูง ส่วนการแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้า ได้สั่งการให้ตำรวจในพื้นที่ต่างๆ ออกประชาสัมพันธ์และตั้งจุดตรวจ เพื่อชี้แจงและนำเส้นทางให้กับประชาชนที่ต้องการสัญจรไปมา พร้อมยืนยันว่าจะไม่ใช้กำลังสลายการชุมนุมอย่างแน่นอน

เวลา 17.00 น.นายฉัตรป้อง ฉัตรภูติ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ออกประกาศจังหวัดตีพิมพ์บนไวนิลขนาดใหญ่นำไปติดตั้งบริเวณปากทางเข้าสนามบินสุราษฎร์ธานี แจ้งถึงสถานการณ์การชุมนุม รวมถึงมีแนวโน้มในการปิดสนามปิดของกลุ่มผู้ชุมนุม และมีผลกระทบต่อสาธารณะชนและเกิดอันตราย จึงต้องมีการบรรเทาสาธารณภัยโดยเร็ว โดยอาศัยมาตรา 21(5) 27 (3) แห่งพ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 2550 มีคำสั่งให้ห้ามบุคคล หรือ กลุ่มบุคคลปิดกั้นพื้นที่ดังต่อไปนี้ คือ เส้นทางเข้าสู่ท่าอากาศยานทุกเส้นทางประมาณ 1 กิโลเมตร โดยเฉพาะถนนสาย 41 และถนนตัดใหม่สาย 417 ต้องห้ามบุคคลเข้าในบริเวณอาคาร หรือ ตัวอาคารท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี และ บริเวณเส้นทางขึ้นลงของท่าอากาศยานฯ นับแต่ประกาศเป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

**สวนยางสงขลาขู่ปิด 3 เส้นทางหลัก

ส่วนที่ จ.สงขลา มีรายงานข่าวจากเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางว่า เกษตรกรชาวสวนยาง จ.สงขลา จะรอฟังการเจรจาระหว่างแกนนำชาวสวนยางพารากับตัวแทนรัฐบาลที่กรุงเทพฯ หากไม่ได้ผลจะระดมเกษตรกรทุกอำเภอในวันที่ 5 ก.ย.นี้ เพื่อปิดเส้นทางสายหลักทั้ง 3 สาย คือ ที่บริเวณสี่แยกคูหา อ.รัตภูมิ, สามแยกสนามบินหาดใหญ่ และสะพานติณสูลานนท์ อ.เมืองสงขลา

**ตรัง-ประจวบฯ ยังชุมนุมกันต่อ

ด้าน จ.ตรัง กลุ่มพลังมวลชน และเกษตรกรชาวสวนยางพารา รวมทั้งปาล์มน้ำมันกว่า 1,000 คน ยังคงปักหลักชุมนุมประท้วงที่บริเวณถนนกลางสี่แยกอันดามัน ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด ต่อไป หลังไม่พอใจการเจรจาของทางรัฐบาลล่าสุดที่ จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากส่งคนที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจลงมาหารือกับแกนนำและยังคงต้องรอการนำเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก แทนที่ทางรัฐบาลจะส่งคนที่สามารถตกลงกับแกนนำได้เลย เช่น รองนายกฯ หรือ รมว.เกษตรฯ เพื่อให้การแก้ปัญหาตรงจุดและเป็นไปรวดเร็ว

ส่วนที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน ได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้งที่ริมถนนเพชรเกษมหลัก กม.ที่ 412-413 บริเวณหน้าตลาดธรรมรัตน์ หมู่ 5 ต.ทองมงคล อ.บางสะพาน ก่อนที่จะเคลื่อนกำลังไปสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ชุมนุมอยู่บริเวณเขาพาง อ.เมือง จ.ชุมพร เพื่อรอฟังคำตอบจากรัฐบาล และทางจังหวัดในภาคใต้ที่ชุมนุมอยู่ในขณะนี้จนกว่าจะมีมติให้ยกระดับการชุมนุมหรือมีมติยุติการชุมนุมเพื่อให้ไปเป็นในทิศทางเดียวกัน

**ม็อบระยองยุติ-ผู้ว่าฯรับปากไม่เอาผิด

ขณะที่กลุ่มชาวสวนยางพาราจาก 8 อำเภอใน จ.ระยอง ที่ปิดถนนสุขุมวิทช่วงขาเข้าเมืองระยองทั้ง 4 ช่องจราจรตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านา ต่อมาเวลา 13.30 น.วานนี้ นายวิชิต ชาตไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้ลงพบปะกลุ่มเกษตรกรและยืนยันว่ารัฐบาลจะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ พร้อมรับปากว่าจะเสนอปัญหาให้รัฐบาลทราบโดยเร็ว ที่สำคัญทางจังหวัดจะไม่ดำเนินคดีต่อแกนนำและเกษตรกรที่มาชุมนุม ส่งผลให้ผู้ชุมนุมเกิดความพอใจ และแกนนำได้ประกาศยุติการชุมนุมทันที่ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาวสวนยาง จ.ระยอง จะรอดูผลการพิจารณาของรัฐบาลว่าเป็นไปตามข้อเรียกร้องหรือไม่ ซึ่งหากไม่เป็นที่น่าพอใจก็พร้อมที่จะออกมาชุมนุมอีกครั้ง

**ชาวยางเหนือ-อีสานเพิ่งรู้ถูกรัฐบาลตุ๋น

นายวีระศักดิ์ สินธุวงศ์ เกษตรกรกลุ่มชาวสวนยางคลองทราย จ.พิจิตร อดีตคณะกรรมการบริหารเครือข่ายชาวสวนยางระดับภาคเหนือเขต 3 (สกย.) กล่าวว่า รัฐบาลหลอกชาวสวนยางอีสานและภาคเหนือ เดิมบอกว่าจะนำเรื่องปัจจัยการผลิตแจกปุ๋ยรอบแรก 10 ไร่และแจกปุ๋ยรอบหลังอีก 15 ไร่ ไร่ละ 1,260 บาทเข้า ครม. เพื่อช่วยเหลือไม่ให้เกษตรกรประท้วงปิดถนนภาคเหนือที่ จ.อุตรดิตถ์ และอีสานที่โคราช ปรากฏว่าเมื่อวัน 3 ก.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติเพียง 10 ไร่เท่านั้น ไม่มีการพูดถึงพื้นที่ 15 ไร่ที่เหลือในที่ประชุม ครม. ซึ่งเท่ากับว่ารัฐบาลหลอกพวกเรา เพราะก่อนหน้านี้เราเตรียมเข้าร่วมปิดถนนอุตรดิตถ์ แต่ถูกรัฐขอร้องไว้ทำให้เครือข่ายยางพาราภาคเหนือทั้งหมด รวมถึงอีสานด้วย แหกกฎไปเลือกรับปุ๋ยฟรีจากรัฐบาล

**"ปู"เรียกถกผู้ประกอบการเพิ่มใช้ยาง

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลัง การประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจว่า ที่ประชุมเห็นว่าควรมีมาตรการแก้ปัญหาราคายางพาราในระยะยาว โดยนายกฯ สั่งการให้นัดผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบมาหารือในช่วงปลายสัปดาห์นี้หรือต้นสัปดาห์หน้า เพื่อสอบถามแนวทางที่รัฐบาลจะเข้าไปใช้ช่วยสนับสนุนหรือส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าวให้เพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างไรบ้าง เพื่อเพิ่มความต้องการใช้ยางในประเทศ

**"พฤณท์"ลั่นไม่ให้ปิดสนามบิน

พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและจังหวัด ดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้นและไม่ให้มีการเข้าไปปิดสนามบินได้ และให้ดูแลกรณีที่จะมีมือที่ 3 เข้าไปสร้างสถานการณ์ด้วย ส่วนสนามบินนครศรีธรรมราช และกระบี่ ขณะนี้ยังไม่ได้รับกระทบ โดยหากผู้ชุมนุมทำการปิดสนามบินจนไม่สามารถใช้บริการได้ มีแผนสำรองโดยโอนย้ายการให้บริการมาที่ สนามบินหาดใหญ่ ภูเก็ต และตรังแทนได้อื่นๆ

**ชาวไร่ข้าวโพดจี้"ปู"แก้ปัญหาราคาตก

วันเดียวกันนี้ นางดวงกมล จันทร์มูล แกนนำกลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวโพด อ.ชาติตระการ, นายใหม่ สิงห์ลอ แกนนำกลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวโพด อ.วังทอง พร้อมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดจาก อ.นครไทย อ.วัดโบสถ์ อ.วังทอง และ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอชาติตระการ เพื่อยื่นหนังสือผ่านนายพันพนา ศิริวงศ์ นายอำเภอชาติตระการ เรียกร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำ เพราะวันนี้ขาดทุนกันทั่วหน้าแล้ว

โดยเกษตรกรได้ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ คือ 1.ไม่เอาโครงการรับจำนำ เพราะไม่มีประโยชน์ ขอเป็นประกันราคา 2.ข้าวโพดความชื้น 30 เปอร์เซ็นต์ ขอประกันราคากิโลกรัมละ 7 บาท 3.ความชื้น 14.5 เปอร์เซ็นต์ ราคา 10 บาท 4.ข้าวโพดฝัก ขอราคากิโลกรัมละ 5.50 บาท และ 5.ให้รัฐบาลตรวจสอบราคากับพ่อค้าคนกลาง เนื่องจากให้ราคาต่ำมาก

"อยากให้รัฐบาล โดยนายกฯ ลงมาดูแลเกษตรกรปลูกข้าวโพดด้วย เพราะปัจจุบันราคาข้าวโพดตกต่ำเหลือกิโลกรัมละ 3 บาทเท่านั้น แต่ไข่นายกฯ ราคาฟองละ 5 บาท ขณะที่ปี 2555 ข้าวโพดฝักกิโลกรัมละ 5.90 บาท ข้าวเมล็ดราคากิโลกรัม 9 บาท ทำให้เกษตรกรอยู่ไม่ได้ ขายข้าวโพด 1 กิโลกรัม วันนี้ยังซื้อไข่นายกฯ ปู ไม่ได้เลย"นางดวงกมลกล่าว

** ท้า“ปู”รับซื้อหากมั่นใจออเดอร์จีน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า การที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่าประเทศจีนจะซื้อข้าวและยางเท่านั้นเท่านี้ แต่ที่ผ่านมา ตรวจสอบไปทีไร ก็เหมือนกับเป็นข้อตกลงกว้างๆ ไปก่อน จึงคิดว่า ถ้ามั่นใจว่าสามารถระบายสต็อก และขายยางได้ ก็น่าจะช่วยรับซื้อในราคาที่ชาวสวนยางต้องการได้
กำลังโหลดความคิดเห็น