นายกฯ และ รมว.กห.อ้างมุกบูรณาการตั้ง กก.แก้ปัญหายาง งัดวลีเด็ด “ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ” ฉายภาพทั้งระบบ ส่งนำมติ กนย.ไปคุย บอกอย่ามองระยะสั้น คาดไม่จบในปีนี้ อ้างม็อบกระทบ ศก.ใต้ ยันตั้งใจอยากช่วยแต่ขอเจรจา โบ้ยยางไม่เหมือนข้าวปลูกได้ปีละครั้ง หวังส่งรองนายกฯ ไป 3 คนจะได้ข้อสรุป
วันนี้ (5 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังที่คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ไม่รับข้อเสนอตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางว่า รัฐบาลห่วงใยความเดือดร้อนของพี่น้องชาวสวนยาง ซึ่งปัญหาวันนี้คือข้อเสนอของทางชาวสวนยางก็ส่วนหนึ่ง และ กนย.ก็มีความเห็นส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ในข้อเสนอนี้ก็มีหลายองค์ประกอบด้วยกัน อย่างเรื่องดูแลชาวสวนยางที่จะในเรื่องเจ้าของสวนยางและคนกรีดยาง รวมถึงพ่อค้า และการส่งออกด้วย ฉะนั้นเมื่อมีองค์ประกอบหลายอย่าง ก็อยากให้ได้รับการพูดคุยกันและแก้ปัญหาบูรณาอย่างเป็นระบบ เพราะว่ายังมีองค์ประกอบหลายส่วนที่เรายังไม่ได้เห็นภาพรวมจึงเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหายางพาราที่จะลงไปพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่เลย จะได้รับฟังและร่วมแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ผู้สื่อข่าวถามว่า จุดหนึ่งคือมีผู้ประกอบการบางคนกักตุนยาง จะทำให้มีปัญหาตามมาหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า การที่เราคุยกัน เราไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาแค่ต้นน้ำอย่างเดียว อย่างเรื่องยางพาราต้นน้ำคือ ผู้ที่ปลูกยางหรือเจ้าของสวนยาง ผู้กรีดยาง ส่วนกลางน้ำคือผู้ที่รับซื้อส่งออกทั้งขายในประเทศและต่างประเทศ และสต๊อกที่มีอยู่ รวมถึงต้องไปดูบริษัทเอกชนที่ทำเรื่องแปรรูป คนขาย นั่นคือการที่เราต้องไปพูดคุยกันทั้งระบบต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซึ่งหากต้นน้ำทำอย่างหนึ่ง แต่กลางน้ำและปลายน้ำไม่สามารถที่จะขายออกไปได้ ก็ต้องกลับมามีผลกระทบต่อราคาหรือเสถียรภาพ
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า เราจึงเห็นว่าการที่ข้อเรียกร้องต่างๆ ที่พูดคุยกันและความเห็นไม่ตรงกันนั้น เราก็จะให้คณะกรรมการชุดนี้นำมติของ กนย.ลงไปหารือในพื้นที่ และลองดูว่าการแก้ปัญหานั้นจะทำอย่างไร ซึ่งเราก็เสนอว่าน่าจะมีการพูดคุยกันทั้งในส่วนของรัฐบาล ในส่วนของเจ้าของสวนยางและผู้กรีดยาง รวมถึงผู้ประกอบการด้วยควบคู่กันไปทั้งสามส่วน ซึ่งถ้าได้พูดคุยกันทั้งสามส่วนตนเชื่อว่าเราจะเห็นปัญหาพร้อมๆ กันและช่วยกันแก้ เพราะปัญหานี้เราไม่อยากมองแค่ระยะสั้น ๆ และปัญหาจบในปีนี้ แต่เราอยากเห็นการแก้ไขปัญหาในปีหน้า หรือในระยะยาวจะทำอย่างไร ฉะนั้นขอความกรุณาการไปหารือครั้งนี้ หวังว่าจะได้มีโอกาสพูดคุยกัน ประชาชนจะได้สบายใจและเราไม่อยากเห็นการชุมนุมเพราะเกิดปัญหาการสัญจร ซึ่งเราไม่อยากให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภาคใต้
“รัฐบาลมีความตั้งใจจริงๆ และอยากช่วยแก้ปัญหา และต้องขอน้อมรับว่าปัญหาต่างๆ นี้มีความสลับซับซ้อนเราจึงต้องขอให้มีคณะกลไกในการพูดคุยกันอย่างเป็นระบบ” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมองว่ารัฐบาลไม่จริงใจ ที่จะลงไปแก้ปัญหาโดยเปรียบเทียบกับเรื่องข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า คณะกรรมการจะลงไปชี้แจง ยืนยันว่ารัฐบาลดูแลพี่น้องเกษตรกรไม่ว่าจะปลูกพืชชนิดไหน ประเภทไหน ก็ดูแลอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งการดูแลชาวนาที่ปลูกข้าวจะไม่เหมือนกับการดูแลชาวสวนยาง เพราะการปลูกข้าวแต่ละปี 1 ปีปลูกครั้งนึง มีการลงทุนและขายปีหน้าก็ต้องลงทุนใหม่ แต่การดูผู้ปลูกยางเป็นการลงทุนปลูกยางและเป็นค่าแรงในการกรีดยางต่อครั้ง ซึ่งรัฐก็ดูแลแต่ต้นมาตลอด แต่รูปแบบการดูแลไม่เหมือนกัน ฉะนั้นไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบได้ทางตรงแต่ประชาชนไม่ว่าจะอยู่ภาคไหน จังหวัดไหน ปลูกพืชอะไรรัฐบาลก็ตั้งใจดูแลอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
เมื่อถามว่า สิ่งที่นายกฯ พูดถือเป็นการตอบโจทย์ข้อเรียกร้องข้อที่ 1 ของผู้ชุมนุม ที่ต้องการให้นายกฯ ประกาศต่อสาธารณชนเรื่องการแก้ไขปัญหาราคายางหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ขอเรียนด้วยความจริงใจ วันนี้เราทำอย่างเต็มที่ ต้องขอความเห็นใจจากประชาชนเราทำทุกอย่างและขบวนการเข้าไปพูดคุยก็ทำหลายครั้งแล้ว แต่เนื่องจากมีองค์ประกอบหลายอย่าง หลายกลุ่มเราไม่สามารถพูดทีละกลุ่มแล้วปรับไปตลอด จึงเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการลงไปพูดในทุกกลุ่มของประชาชนให้ได้รับความเห็นที่สอดคล้องกัน เพื่อได้หลักในการแก้ปัญหาอย่างครบถ้วน ส่งรองนายกฯ ลงไป 3 คนรวมถึงคณะกรรมการด้วยและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดลงพื้นที่ หวังว่าการพูดคุยจะมีข้อสรุปต่างๆ ให้กับประชาชน
เมื่อถามว่า มีตัวเลขความเสียหายจากผลกระทบการปิดถนน ทางรถไฟหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ตัวเลขความเสียหายยังรวบรวมอยู่ แต่ความเสียหายที่เห็นคือ การดูแลความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ที่ต้องเดินทางไปรักษาพยาบาลต่าง ๆ และการท่องเที่ยวที่ทำให้ไม่สะดวกกับนักท่องเที่ยว และถ้าปัญหานี้ยาวต่อไปอาจทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนเส้นทาง เพราะเราถือว่าภาคใต้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญ
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในการประชุมผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในวันที่ 6 ก.ย.นั้น เรื่องนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ได้คุยกับชาวสวนยาง โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมเชิญผู้ที่อยู่ปลายน้ำ ที่เน้นการแปรรูปยาง เช่น ถุงมือยางซึ่งเมื่อก่อนเรานำเข้าแต่ตอนนี้ได้ให้กระทรวงสาธารณสุขออกมาตรฐานที่จะสามารถผลิตในไทยได้ รวมถึงโรงงานเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่ใช้ยางพารา โดยสรุปคือเป็นการเชิญหน่วยงานที่เป็นผู้ซื้อยางพาราไปแปรรูปมาพูดคุย ถึงแผนการส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปยางให้มากที่สุด อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องเร่งทำควบคู่กันไป