ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-น้ำมนต์ “อาจารย์โต้ง” นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ที่เสกเรียกความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยยังเข้มแข็ง อยู่ดีมีสุข ไม่มีความขลังแม้แต่น้อย หนำซ้ำยังถูกตบหน้าฉาดใหญ่จากค่าครองชีพที่พุ่งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าแท็กซี่ ทางด่วน ก๊าซแอลพีจี น้ำมัน ไฟฟ้า จ่อคิวปรับขึ้นราคา ขณะที่การหาเงินเข้าประเทศอย่างส่งออกก็ดำดิ่งติดต่อกันโงหัวไม่ขึ้น ได้แต่ลุ้นระทึกกันว่าบรรดาผู้ประกอบการรายย่อยไปจนถึงรายใหญ่จะยืนหยัดอยู่กันไหวหรือไม่
จุดอ่อนที่จะกลายเป็นจุดตายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อาจไม่ใช่แค่เงื่อนไขทางการเมืองเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรม แก้ไขรัฐธรรมนูญ พา “นช.ทักษิณ” หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กลับบ้านแบบเท่ๆ แต่ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจที่กำลังส่อเค้าหนักหนาสาหัสรออยู่เบื้องหน้า น่าจะเป็นปัจจัยรุมเร้าสำคัญที่ทำให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ สะดุดล้ม
เพราะเวลานี้แม้แต่ผลสำรวจความคิดเห็นของชาวอีสานที่ก่อนหน้านี้เป็นปลื้มนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แบบสุดๆ ก็ยังออกมายอมรับว่า ขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงแล้ว พร้อมลบล้างความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าอยู่กับรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีแต่จะอิ่มหมีพลีมันและพาชาติเจริญรุ่งเรือง
ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า ผลสำรวจเรื่อง “ความเห็นชาวอีสาน ต่อภาวะเศรษฐกิจไทย” เพื่อสำรวจความคิดเห็นของชาวอีสาน ต่อภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว โดยสอบถามช่วงระหว่างวันที่ 24-26 ส.ค. 2556 จากกลุ่มตัวอย่างคนอีสานอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,055 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ ปรากฏว่า ร้อยละ 44.5 รู้สึกว่าเศรษฐกิจเป็นช่วงขาลง รองลงมาร้อยละ 26.9 รู้สึกว่าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงทรงตัว อีกร้อยละ 19.8 รู้สึกไม่แน่ใจ โดยมีเพียงร้อยละ 8.8 ที่รู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น
อีสานโพล ยังได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า มีความกังวลหรือไม่ประเทศไทยอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น ข้าวของแพง ผู้คนตกงาน มีหนี้สินมาก และธุรกิจย่ำแย่ ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 42.1 รู้สึกกังวลเล็กน้อย รองลงมาร้อยละ 38.9 รู้สึกกังวลมาก อีกร้อยละ 11.4 ไม่กังวลเลย และร้อยละ 7.6 รู้สึกไม่แน่ใจ
ดร.สุทิน กล่าวสรุปว่า จากผลสำรวจจะเห็นว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานรู้สึกว่าเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาลง และกังวลว่าวิกฤตทางเศรษฐกิจหรือความยากลำบากทางเศรษฐกิจอาจะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลา 1-2 ปี โดยในปัจจุบัน มีดัชนีชี้นำหลายตัว เริ่มบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในภาวะขาลง เช่น การหดตัวของการส่งออกจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การร่วงของตลาดหุ้น โดยเฉพาะหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 77.5 ของจีดีพี ซึ่งในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวดีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงจะไม่ออกอาการ แต่ในช่วงเศรษฐกิจขาลงปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงจะออกลายเป็นตัวฉุดการบริโภคภายในประเทศให้ลดลงและกระทบเป็นลูกโซ่ ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมีแนวโน้มลากยาวไปถึงไตรมาส 4 หรือสิ้นปีนี้
ตอกย้ำตรงกันทุกสำนัก ทุกหัวระแหง ทุกหย่อมหญ้า ล่าสุด ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ก็เตรียมหั่นเป้าเศรษฐกิจไทยลงอีก โดยปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้เหลือร้อยละ 4.0-4.3 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.9 เนื่องจากการส่งออกของไทยชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ รวมถึงการใช้จ่ายในประเทศที่ชะลอลงจากภาระหนี้ครัวเรือน แม้จะโปรยยาหอมว่าไทยยังมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เงินทุนระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง สถานการณ์จะไม่รุนแรงเท่ากับอินโดนีเซียและอินเดีย ก็ตาม
ยิ่งถ้าเห็นยอดส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ แถลงแล้วจะหนาว เพราะติดลบ
เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน เป็นหลักฐานแสดงถึงความล้มเหลวในการเดินทางทัวร์รอบโลกของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่อ้างว่าไปเยี่ยมเยือนประเทศต่างๆ เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี และหาตลาด เพื่อ “ขายของ” หรือขายสินค้าอย่างที่กล่าวอ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า
โชว์ตัวเลขส่งออกหักหน้านายกฯ แบบไม่ตั้งใจ โดยนางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือน ก.ค.56 ที่ผ่านมา มีมูลค่า 19,064.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.48% เป็นเงินบาท 584,273.8 ล้านบาท ลดลง 3.41% การนำเข้ามีมูลค่า 21,345.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.08% คิดเป็นเงินบาท 662,433.5 ล้านบาท ลดลง 0.85% ขาดดุลการค้า 2,281.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในรูปเงินบาท ขาดดุล 78,159.7 ล้านบาท
นับว่าเป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเดือน พ.ค. ติดลบ 5.25% และเดือน มิ.ย. ลบ 3.38% ซึ่งสาเหตุหลักเป็นเพราะเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัว ทั้งยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน รวมถึงตะวันออกกลางที่มีปัญหาความไม่สงบทำให้นำเข้าสินค้าไทยลดลง ดังนั้น ค่าเงินบาทที่อ่อนลงจึงดูเหมือนจะไม่ช่วยให้การส่งออกดีขึ้นแต่อย่างใด
สถานการณ์การส่งออกที่ทรุดตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้การส่งออกรวม 7 เดือน มีมูลค่า 132,368.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเพียง 0.60% ในรูปเงินบาท มีมูลค่า 3,920,281.5 ล้านบาท ลดลง 3.68% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 150,420.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.85% ในรูปเงินบาท มีมูลค่า 4,513,353.9 ล้านบาท ลดลง 0.40% โดยขาดดุลการค้า 18,052.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ในรูปเงินบาทขาดดุล 593,072.3 ล้านบาท
“เรามีเป้าส่งออก 7-7.5% จะทำได้หรือไม่ อยู่ที่ว่าเราได้ทำเต็มที่แล้ว ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น …” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในท่วงทำนองถอดใจ
การส่งออกที่ติดลบ สะท้อนว่า หาเงินเข้าประเทศไม่ได้ ขายของไม่ได้ นั่นหมายความว่า ธุรกิจน้อยใหญ่เตรียมตัวใกล้เจ๊ง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีนั้นได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ศึกษาเรื่อง “SMEs หนีตายเศรษฐกิจถดถอย (ทางเทคนิค)” มองว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเอสเอ็มอี เนื่องจากมีทรัพยากรและความสามารถในการปรับตัวน้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ การที่ SMEs กว่าครึ่งระบุว่าการปรับลดราคาได้ผลน้อยกว่าที่คาดไว้ จากปัญหาค่าครองชีพ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจทำให้กำลังซื้อลดลง ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ในไตรมาส 4 จะมีเอสเอ็มอีที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงที่อาจจะต้องปิดกิจการมากถึง 2 แสนรายจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น
ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเชิงมหภาค เช่น การเร่งเบิกจ่ายเงินของภาครัฐให้ประโยชน์แก่ SMEs ไม่มากนัก และใช้ระยะเวลานานกว่าประโยชน์จะตกถึง SMEs และนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อด้วยการเพิ่มเงินให้ประชาชนในระยะสั้นได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นนโยบายที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งดูได้จากการที่ GDP ณ ราคาปีฐานในไตรมาสที่ 1 ของปี 2555 มีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท และมีการเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.3 ล้านล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 แต่เมื่อมาถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 GDP กลับลดลงมาเป็น 1.2 ล้านล้านบาทเหมือนเดิม จริงอยู่การเพิ่มขึ้นและลดลงนี้ส่วนหนึ่งเป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจของแต่ละไตรมาส แต่การที่ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้กลับลงมาอยู่ใกล้เคียงกับเมื่อ 18 เดือนก่อนแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตที่ไม่สดใสนัก
ภาวะเศรษฐกิจทรุด กำลังซื้อหดหาย รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังซ้ำเติมประชาชนเดินดินกินข้าวแกงด้วยการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนอีก กก.ละ 50 ส.ต. โดยจะเริ่มทยอยขึ้นในต้นเดือน ก.ย.นี้ จนกว่าจะครบหนึ่งปี คือ ขึ้นไปถึง 24.82 บาทต่อกก. จากปัจจุบันอยู่ที่ 18.13 บาทต่อ กก. หลังจากนั้น จะปรับราคาในส่วนภาคขนส่ง โดยจะปรับขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า เริ่มจากเดือน มี.ค. 57 จนกว่าจะครบหนึ่งปี ซึ่งจะทำให้ราคาก๊าซแอลพีจีภาคขนส่งปรับเพิ่มจากราคา 18.13 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 21.38 บาทต่อ กก.
ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนเจ้าของพลังงานไทยที่นำโดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี, นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ได้แถลงประกาศจุดยืนต่อต้านการขึ้นราคาแอลพีจีของรัฐบาล โดยกำหนดกิจกรรมเคลื่อนไหวระหว่าง 1-8 กันยายนนี้ที่จะเปิดโต๊ะให้ประชาชนลงชื่อ 5 หมื่นชื่อเพื่อปลดนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นแอลพีจีออกจากตำแหน่ง โดยจะเปิดให้ลงชื่อตั้งแต่เวลา 09.00 น. หลังจากนั้นวันที่ 9 กันยายน 2556 เวลา 09.09 น.จะเปิดเวทีชุมนุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่หน้าตึกสำนักงานใหญ่ปตท.
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กล่าวว่า การปรับขึ้นแอลพีจีครัวเรือน 1 ก.ย.นี้ถือเป็นก้าวที่พลาดที่รัฐบาลกลับโยนภาระให้ประชาชนภาคครัวเรือนและขนส่ง ทั้งที่ปัญหาหลักการใช้แอลพีจีที่สูงขึ้นจนนำเข้ามาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ส่วนใหญ่เป็นเครือ บมจ.ปตท. โดยรอบ 6 ปีที่ผ่านมามีการนำเข้าแอลพีจี 1.78 ล้านตัน และในจำนวนนี้มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพียง กก.ละ 1 บาทเท่านั้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันถึง 12.55 บาทต่อ กก. ดังนั้นเหตุใดรัฐจึงไม่เก็บเงินจากภาคปิโตรฯ ให้เท่ากับภาคอุตสาหกรรม
“ถามว่าคนใช้เบนซินจ่าย 6-7 บาทต่อลิตร ดีเซล 3-4 บาทต่อลิตร ก็ยังสูงกว่าปิโตรเคมี แถมราคาที่ขายให้ก็เฉลี่ยเพียง 16-17 บาทต่อ กก.เท่านั้น แล้วพอบอกการนำเข้าเพิ่มต้องใช้เงินอุดหนุนสูงจึงต้องขึ้นราคานี่จึงเป็นนโยบายอุ้มคนรวยนั่นคือ ปตท.” ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าว
ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ทางเครือข่ายจะชุมนุมใหญ่วันที่ 9 ก.ย.นี้โดยยึดปฏิบัติการ 5 ป.เพื่อการปฏิรูปพลังงานไทยได้แก่ 1. ปลด : ให้ปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพลังงาน และอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทันที 2. เปิด : ให้รัฐเปิดเผยสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมทั้งหมดและเปิดเผยผลประโยชน์ตอบแทนจากธุรกิจพลังงาน 3. ปัน : ประชาชนและชุมชนต้องได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมจากทรัพยากรปิโตรเลียมที่ขุดได้จากผืนแผ่นดินไทย 4. ไป : ให้ข้าราชการกระทรวงพลังงานที่เป็นกรรมการในธุรกิจพลังงานต้องลาออก 5. เปลี่ยนแปลง : รัฐต้องเปลี่ยนระบบสัมปทานขุดเจาะก๊าซและน้ำมันไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตที่กรรมสิทธิ์ที่ขุดได้เป็นของรัฐ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลยืนกรานจะปรับขึ้นก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือน บรรดาสินค้าโดยเฉพาะหมวดอาหารได้ปรับขึ้นราคาไปรอล่วงหน้าเหมือนดังเช่นทุกครั้ง กระทั่งปัจจุบันราคาอาหารตามสั่งได้พุ่งจากจานละ 25 - 30 บาท ขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นจานละ 40 - 45 บาทแล้ว แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์ จะเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ตรวจร้านอาหารตามสั่ง ร้านข้าวแกงทั่วประเทศ ไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคาหลังก๊าซแอลพีจีขึ้นราคา เพราะจากการศึกษาพบว่า การปรับราคาแอลพีจีไม่ได้กระทบต่อต้นทุนอาหารมากนักก็ตาม
การป้องปรามและขู่เอาผิดของกระทรวงพาณิชย์ไม่เคยได้ผลอย่างไรถึงวันนี้ก็ยังคงยังเป็นเช่นนั้น เพราะจากการสำรวจตลาดของ“ศูนย์ข่าวภูมิภาค เอเอสทีวีผู้จัดการ” ต่างพบว่า ราคาอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ ได้พาเหรดขึ้นราคากันยกแผงไปเรียบร้อยแล้ว ดังเช่น ที่ตลาดสดศรีนคร อ.เมืองนครสวรรค์ พบว่า เนื้อสัตว์ต่างๆ มีราคาแพงขึ้นจากเดิมมาก โดยเฉพาะเนื้อหมูจาก กก.ละ 130 บาท ขึ้นเป็น 140-150 บาท ซึ่งนางสุพรรณี เทียนวรรณ เจ้าของร้านหมูยิ้มตลาดสดศรีนคร เปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องปรับราคาเนื้อหมูขึ้นเนื่องจากหมูที่รับมามีราคาแพงมากกว่าเดิม
ขณะที่ปลาก็มีการปรับราคาสูงขึ้นจากเดิม กก.ละ 30-50 บาท เช่น ปลาช่อนจากเดิม กก.ละ 100 บาท ปรับขึ้นเป็น 150-160 บาท คาดว่าราคาจะปรับสูงขึ้นอีก โดยนางสายทอง คำสอน เจ้าของร้านปลาร้านแม่จำปีตลาดสดศรีนคร บอกว่า เนื่องจากอาหารที่ใช้เลี้ยงปลาปรับราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน พ่อค้าคนกลางจึงขอขึ้นราคาขายปลาจนต้องปรับราคาขายขึ้นไม่ต่างจากเนื้อหมู
ส่วนราคาอาหารสดในตลาดทั้ง 4 มุมเมืองในจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า ราคาได้ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยนายปรเมศวร์ พันวัน เจ้าของแผงขายอาหารทะเล ระบุว่า ขณะนี้ราคาสินค้าที่เป็นอาหารทะเลสดๆ ขยับตัวขึ้นราคาต่อเนื่อง ทั้งปลาหมึก ปู กุ้ง และหอย ซึ่งหากปรับราคาแอลพีจีขึ้นในวันที่ 1 ก.ย.นี้ ก็จะส่งผลให้ราคาอาหารทะเลอาจจะต้องขยับเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 โดยผู้ค้าส่งอาจจะอ้างต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น โดยขณะนี้ราคาปลาหมึกสดเริ่มที่ กก.ละ 100-180 บาท ส่วนกุ้งมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีกเรื่อยๆ ตอนนี้จำหน่ายปลีกราคา กก.ละ 230-240 ต่อกิโลกรัม คาดว่าภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้อาจจะพุ่งสูงเป็น กก.ละ 300 บาท
เช่นเดียวกันกับนางสมควร สงวนชาติ เจ้าของเขียงหมูรายใหญ่ กล่าวว่า ขณะนี้ทางผู้ค้าปลีกหมูสดหรือเจ้าของเขียงหมูได้รับสัญญาณจากซีพี ซึ่งเป็นผู้ค้าหมูรายใหญ่แล้วว่าภายในสิ้นเดือนนี้ราคาหมูอาจจะปรับเพิ่มขึ้นอีกเนื่องจากมีค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้คาดว่าผู้ค้าปลีกรายใหญ่น่าจะปรับเพิ่มที่ 5-10 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากนั้น จากการสำรวจราคาไข่ไก่ในตลาดสดเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ยังพบว่า ไข่ไก่ทุกขนาดได้ปรับราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะไข่ไก่เบอร์ 0 มีราคาแพงถึงฟองละ 4.50 บาท ส่วนเบอร์ 1 ฟองละ 4.20 บาท เบอร์ 2 ฟองละ 4 บาท และเบอร์ 3 ฟองละ 3.80 บาท ทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากไข่ไก่ถือเป็นอาหารหลักที่หลายครัวเรือนนำไปประกอบอาหาร
นางประภา แก้วเอก อายุ 42 ปี แม่ค้าขายปลีกไข่ไก่ในตลาดสดเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ กล่าวว่า ปกติจะรับไข่ไก่มาขายวันละ 160 แผง แต่หลังจากไข่ไก่แพงขึ้น ต้องลดลงเหลือวันละประมาณ 80 แผงเนื่องจากไม่มีทุนเพียงพอ “ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาทางแก้ไขปัญหาไข่แพง รวมถึงสินค้าข้าวของอื่นๆ ที่ได้ปรับราคาสูงขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย”
เห็นได้ชัดว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ได้ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนอย่างมาก เฉพาะหน้าก็ได้แต่สวดภาวนา เข้าร่วมเคลื่อนไหว และลุ้นไปกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่อุทิศตัวเพื่อสาธารณชนในการออกมายื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอให้มีคำสั่งให้หยุดการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีและขอให้ศาลพิจารณาคุ้มครองชั่วคราวไว้ก่อน
ไม่เพียงแต่สินค้าหมวดอาหารเท่านั้นที่ขึ้นราคา ในภาคการขนส่งที่จะมีการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี เวลานี้กลุ่มแท็กซี่ ได้รวมตัวกันร้องเรียนให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยกลุ่มเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.กระทรวงพลังงาน และกลุ่มสมัชชาแท็กซี่แห่งชาติ ได้ยื่นฟ้องรมว.กระทรวงคมนาคมต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้รมว.คมนาคม ดำเนินการปรับอัตราการเรียกเก็บค่าโดยสารให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้น
สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มสมัชชาแท็กซี่แห่งชาติ ขอให้ปรับราคาเริ่มแรกจาก 35 บาท เป็นเพดานขั้นต่ำไม่เกิน 50 บาทระยะทางในไม่เกิน 2 กม.แรก และกม.ต่อไปไม่เกินกม.ละ 12 บาท ส่วนกรณีที่ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติวิสัยให้เพิ่มขึ้นในอัตรานาทีละไม่เกิน 3 บาท สำหรับการเรียกจ้างผ่ายศูนย์บริการสื่อสารของผู้รับจ้างจากเดิม 20 บาท ให้กำหนดได้ไม่เกิน 50 บาท และกรณีการจ้างจากท่าอากาศยาน หรือ สถานที่ที่กระทรวงคมนาคม ประกาศกำหนดให้กำหนดเรียกเพิ่มจากผู้โดยสารได้อีกไม่เกิน 100 บาท เนื่องจากเห็นว่าสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันมีค่าครองชีพและต้นทุนสูงขึ้นจากอดีต โดยรัฐไม่สามารถควบคุมได้ แต่อัตราค่าโดยสารกลับถูกควบคุมถือว่าไม่มีความยุติธรรมกับผู้ประกอบอาชีพแท็กซี่
เรื่องนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ซื้อเวลาสยบม็อบแท็กซี่ โดยให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) พิจารณาโครงสร้างอัตราค่ามิเตอร์ที่เหมาะสมกับต้นทุนที่แท้จริงในปัจจุบัน ให้ได้ข้อสรุปใน 1 เดือนข้างหน้า ซึ่งก็ต้องลุ้นกันว่าถึงเวลานั้น ค่าโดยสารแท็กซี่จะปรับขึ้นไปอีกเท่าไหร่
แต่ที่ไม่ต้องลุ้นเพราะขึ้นราคาแน่ๆ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ คือ ค่าทางด่วน ที่จะดีเดย์ 1 ก.ย. 56 นี้ สำหรับทางพิเศษเฉลิมมหานคร ระบบทางด่วนขั้นที่ 1 ทางพิเศษศรีรัช ระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และทางพิเศษบูรพาวิถี ทางด่วนสายบางนา-ชลบุรี ซึ่งจะเริ่มเก็บอัตราค่าผ่านทางใหม่ โดยในส่วนของทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัช เป็นไปตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีซีแอล โดยโครงข่ายในเขตเมือง รถยนต์ 4 ล้อ ปรับเป็น 50 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ 75 บาท และรถยนต์เกินกว่า 10 ล้อ ปรับเป็น 110 บาท
ขณะที่โครงข่ายนอกเมือง ช่วงพระราม 9 - รามคำแหง - ศรีนครินทร์ ปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเฉพาะรถยนต์ 6-10 ล้อ เป็น 55 บาท และรถยนต์มากกว่า 10 ล้อ ปรับเป็น 75 บาท ส่วนของทางพิเศษบูรพาวิถี กรณีเดินทางไม่เกิน 20 กม. ปรับเฉพาะรถยนต์ 6-10 ล้อ เป็น 50 บาท และรถยนต์มากกว่า 10 ล้อ ปรับเป็น 75 บาท กรณีเดินทางเกิน 20 กม. รถยนต์ 4 ล้อ ปรับเป็นกม.ละ 1 บาท 30 สตางค์ รถยนต์ 6-10 ล้อ กม.ละ 2 บาท 60 สตางค์ และรถยนต์มากกว่า 10 ล้อ ปรับเป็น 3 บาท 90 สตางค์
เช่นเดียวกับค่าไฟฟ้าที่ชัดเจนแล้วว่าจะปรับขึ้นในงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.) อีกประมาณ 6 - 7 สตางค์ต่อหน่วย โดยนายดิเรก ลาวัลย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ เปิดเผยว่า เดิมค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ Ft รอบ ก.ย.-ธ.ค. 56 นี้คาดว่าจะสามารถตรึงราคาได้ แต่เนื่องจากล่าสุดค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง จากเดิมการคำนวณงวดที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 29 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าลงเฉลี่ยอยู่ที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นจึงทำให้ค่า Ft งวดนี้ต้องปรับขึ้นกว่า 10 สตางค์ต่อหน่วยแต่เพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนคาดว่าจะประกาศขึ้นประมาณ 6-7 สตางค์ต่อหน่วย
“เราก็กำลังพิจารณานำเงินจากการไฟฟ้าที่ไม่ได้ลงทุนตามแผนหรือคอลแบ็กที่ยังเหลืออยู่ราว 2,000 ล้านบาท มาช่วยเหลือจึงทำให้ค่า Ft งวดใหม่นี้จะเรียกเก็บประมาณ 6-7 สตางค์ต่อหน่วย หากค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าแนวโน้มก็ยอมรับว่าจะมีผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าค่อนข้างมาก” นายดิเรก กล่าว
กระนั้นก็ดี ท่ามกลางความเป็นอยู่ของประชาชนคนไทยในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ กำลังเผชิญกับความทุกข์ร้อนแสนสาหัส ยืนอยู่ในจุดที่เรียกว่านรกจะมาเยือนในเร็ววันนี้ ผิดกันลิบลับกับชีวิตที่ร่ำรวยอู้ฟู่หรูหราของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเอาเฉพาะเครื่องประดับ เธอได้สะสมไว้มากมากก่ายกองถึง 73 รายการ มูลค่ารวม 45.69 ล้านบาท แยกเป็นอัญมณี 57 รายการ
เช่น จี้เพชร 2 อัน บุษราคัม 1 อัน มูลค่า 9,890,000 บาท เข็มกลัดเพชร 3 อัน มูลค่า 1,770,000 บาท, แหวนเพชร 7 วง มูลค่า 12,940,000 บาท แหวนทอง 11 วง มูลค่า 5,350,000 บาท แหวนพลอย 1 วง มูลค่า 100,000 บาท แหวนมุกประดับเพชร 1 วง มูลค่า 170,000 บาท, ต่างหูเพชร ทอง ไพลิน บุษราคัม 19 คู่ มูลค่า 6,210,000 บาท สร้อยคอเพชร 5 เส้น มูลค่า 3,330,000 บาท สร้อยมุก 2 เส้น มูลค่า 123,000 บาท สร้อยทองฝังเพชร 1 เส้น มูลค่า 170,000 บาท กำไร 1 วง มูลค่า 150,000 บาท
นอกจากนั้น ยังมีนาฬิกา 9 เรือน มูลค่ารวม 1,810,000 บาท กระเป๋าถือยี่ห้อแอร์เมส 7 ใบ มูลค่ารวม 2,100,000 บาท ส่วน นายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามีนอกสมรส พบว่า มีทรัพย์สินนาฬิกาข้อมือ 7 เรือน มูลค่ารวม 1,950,000 บาท และเครื่องประดับมูลค่ารวม 1,904,000 บาท มูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,854,000 บาท
ส่วนทรัพย์สินอื่นที่นายกรัฐมนตรี แจ้งไว้กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น มีมูลค่ากว่า 627.40 ล้านบาท คู่สมรสมีทรัพย์สินกว่า 76.61 ล้านบาท บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมีทรัพย์สินกว่า 1.25 ล้านบาท ทั้งนี้ มีทรัพย์สินรวมเฉพาะในส่วนของนายกรัฐมนตรีและบุตร ไม่รวมคู่สมรสที่ไม่ได้จดทะเบียนกว่า 628.66 ล้านบาท และมีหนี้สินที่ไม่รวมคู่สมรส 27 ล้านบาท ทำให้มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินกว่า 601.66 ล้านบาท
ความร่ำรวยหรูหรา ตาดูดาว เท้าไม่ติดดิน เมื่อบังเอิญได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ก็บริหารประเทศเหมือนหุ่นยนต์ที่ถูกใส่โปรแกรมให้ท่องจำจะทำให้ชีวิตประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้น ทั้งที่ความจริงแล้วแต่ละนโยบายแต่ละโครงการที่ออกมาล้วนส่งผลกระทบต่อประชาชนในบั้นปลายดังฝีที่กำลังใกล้จะแตกอยู่ในเร็วๆ นี้ และนี่ก็เท่ากับเป็นการนับถอยหลังสู่การล่มสลายของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์