xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” วอนศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินระงับขึ้น LPG - “ม.ล.กรกสิวัฒน์” ขอ 5 หมื่นรายชื่อปลด “เพ้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“รสนา” หวัง “ศาลปกครอง” ไต่สวนฉุกเฉินระงับขึ้นราคา LPG 1 ก.ย.นี้ออกไปก่อน ชี้หากปล่อยผ่านประชาชนเดือดร้อนไปแล้วจะมาแก้ภายหลังไม่ทัน ย้ำแค่ปิโตรเคมีจ่ายเงินเท่าอุตสาหกรรมอื่น จะมีรายได้เข้ากองทุนน้ำมันปีละ 3 หมื่นล้าน ไม่ขาดทุนอีกต่อไป แล้วประชาชนจะได้ใช้ราคาน้ำมันถูกลงทันที ด้าน “ม.ล.กรกสิวัฒน์” ตั้งโต๊ะหน้า ปตท. 1-8 ก.ย. ล่า 5 หมื่นรายชื่อปลด รมว.พลังงาน และชุมนุมใหญ่ 9 ก.ย. พร้อมชูแผน “5 ป. ปฏิรูปพลังงาน” ลั่นอย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ หลายประเทศด้อยพัฒนากว่าไทยยังทำสำเร็จมาแล้ว



วันนี้ (29 ส.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา โฟนอินเข้ารายการ “คนเคาะข่าว” ทางเอเอสทีวี กล่าวถึงกรณียื่นศาลปกครองให้ระงับการขึ้นราคา LPG ว่า วันนี้ศาลยังไม่ได้สั่งให้ไต่สวนฉุกเฉิน เพราะศาลบอกว่าเรายื่นเรื่องค่อนข้างกระชั้นชิด ที่ต้องกระชั้นชิดนั่นก็เพราะว่ามติ ครม.ไม่เปิดเผย เพิ่งเปิดเผยเมื่อ 13 ส.ค.นี้เอง ซึ่งกว่าเราจะค้นได้ก็ผ่านมาหลายอาทิตย์แล้ว

ตนจึงอยากฝากไปถึงศาลปกครองว่า การที่ท่านไต่สวนฉุกเฉินแล้วพิจารณา จะเป็นการช่วยประชาชน เพราะถ้าไม่ไต่สวนเพียงเพราะมากระชั้นชิด ต่อไป ครม.ก็จะออกมติแล้วปฏิบัติเลย ไม่ให้คนรู้ จะได้ไม่มีใครมาต้านมาขัดขวาง เรื่องนี้กระทบประชาชนมาก อยากเห็นศาลปกครองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าประชาชนไม่เดือดร้อนจริงไม่มาขอไต่สวนฉุกเฉินหรอก แล้วถ้าปล่อยให้รัฐขึ้นราคาไปแล้ว ประชาชนเดือดร้อนไปแล้ว จะมาแก้ภายหลังไม่ทัน

น.ส.รสนากล่าวต่อว่า การขึ้นราคาจาก 18.13 บาท มาเป็น 24.82 บาท โดยที่ธุรกิจก๊าซผูกขาดโดย ปตท.ตั้งแต่ต้นน้ำยันกลางน้ำ ปลายน้ำยังมีเจ้าอื่นแข่งขันบ้าง คือ ก๊าซต้องผ่านระบบท่อซึ่ง ปตท.ครอบครองท่อไว้หมด จึงไม่มีใครสร้างโรงแยกก๊าซแข่งกับ ปตท. เมื่อไม่มีการแข่งขันกันในขั้นต้นน้ำและกลางน้ำ รัฐก็ไม่ได้ควบคุมราคา เมื่อปี 52 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้อนุมัติเงินกองทุนน้ำมัน 35 ล้านบาท ให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานไปทำวิจัย ปรากฏว่าคนที่ทำวิจัย 6 เดือนได้ไป 35 ล้านบาท แล้วตัวเลขที่ออกมาเป็นตัวเลขที่ได้จาก ปตท.ทั้งสิ้น โดยเขาอ้างว่ามีต้นทุนจากโรงแยกก๊าซ 16 บาท

ขณะที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เก็บตัวเลขว่าโรงแยกก๊าซที่แหล่งสิริกิติ์ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซบนบก ปตท.สผ.เป็นเจ้าของสัมปทาน ปรากฏว่าต้นทุนก๊าซหุงต้มเขาอยู่ที่ประมาณ 8-9 บาท เท่านั้นเอง เมื่อมาเป็นต้นทุนเนื้อก๊าซที่ขายให้ประชาชนอยู่ที่ 10-11 บาท บวกภาษีแล้วเป็น 18.13 บาท เป็นส่วนที่เขาได้กำไรอยู่แล้ว ขนาดโรงแยกก๊าซขนาดเล็กต้นทุนอยู่ที่ 8-9 บาทเท่านั้น ดังนั้นโรงแยกกก๊าซขนาดใหญ่ 6 โรงของ ปตท.ต้องมีประสิทธิภาพทำต้นทุนได้ต่ำกว่านี้แน่นอน แต่มาอ้างว่า 16.96 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเราไม่เชื่อ พอบวกภาษีแล้วออกมาเป็น 24.82 บาท ซึ่งจะมาขึ้นราคากับประชาชน ทั้งที่บริษัทลูกของ ปตท.ซึ่งทำปิโตรเคมี ได้ใช้ในราคาโรงแยกก๊าซ โดยอ้างว่าซื้อในราคา 16-17 บาท ตัวเลขนี้ไม่มีหลักฐานยืนยัน ตนก็อยากให้ศาลขอหลักฐานเลย เพราะทางกรรมาธิการวุฒิสภาขอใบซื้อขายไปเขายังไม่ให้ แล้วตัวเลขของปิโตรเคมีก็เอาภาษีแวต (VAT) คือสินค้าขั้นตอนสุดท้ายมาบวก ซึ่งแวตผลักไปที่ผู้บริโภคทั้งหมด บริษัทไม่เคยจ่ายแวต ฉะนั้นการเอาตัวเลขมาใส่เป็นตัวเลขที่ไม่จริง

ที่สำคัญ ปิโตรเคมีใช้แอลพีจีทำวัตถุดิบปี 54 ใช้ไป 2.4 ล้านตัน แต่จ่ายเข้ากองทุนแค่ 1 บาทต่อกิโลกรัม แต่อุตสาหกรรมอื่นจ่าย 12.55 บาทต่อกิโลกรัม เราก็เสนอว่าถ้ารัฐบาลกลัวกองทุนน้ำมันขาดทุน ให้เก็บเงินปิโตรเคมีเท่ากับอุตสาหกรรมอื่น หากเก็บปุ๊บจะได้รายได้ปีละ 3 หมื่นล้าน ไม่ขาดทุนอีกต่อไ ป แล้วไม่ต้องมาขึ้นราคากับคนหาเช้ากินค่ำ และควรตัดกองทุนน้ำมันที่เก็บจากคนใช้น้ำมันด้วย ถ้าลดตรงนี้ได้ เบนซิน 95 ลดไปเลย 9.70 บาท แก๊สโซออล์ 91-95 ลด 4-6 บาท ทำไมไม่ทำ

ส.ว.กทม.กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราฟ้องรัฐบาล เพราะนโยบายรัฐบาลเอื้อปฎิบัติให้ปตท.เจ้าเดียว เป็นสิ่งที่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายๆฉบับ เราจึงฟ้องให้ศาลเพิกถอนมติครม.

จากนั้น ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา ได้กล่าวในรายการถึงปฏิบัติการ 5 ป.เพื่อการปฏิรูปพลังงานไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ปลด : ให้ปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพลังงาน และอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทันที เนื่องจากไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดิน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

2. เปิด : ให้รัฐเปิดเผยสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมทั้งหมด และเปิดเผยผลประโยชน์ตอบแทนจากธุรกิจพลังงานและข้อมูลรายการบัญชีทรัพย์สินของข้าราชการ ที่มีหน้าที่กำกับดูแล และขณะเดียวกันก็นั่งเป็นกรรมการในธุรกิจพลังงาน

3. ปัน : ประชาชนและชุมชนต้องได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมจากทรัพยากรปิโตรเลียมที่ขุดได้จากผืนแผ่นดินไทย

4. ไป : ให้ข้าราชการกระทรวงพลังงานที่ต้องการเป็นกรรมการในธุรกิจพลังงาน ต้องลาออกไปจากการเป็นข้าราชการ เนื่องจากเป็นการกระทำที่ขัดกันซึ่งผลประโยชน์ของประชาชนและผลประโยชน์ส่วนตัว

5. เปลี่ยนแปลง : รัฐต้องเปลี่ยนระบบสัมปทานขุดเจาะก๊าซและน้ำมัน ไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตที่กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมที่ขุดได้เป็นของรัฐ เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน โดยให้ประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรที่แท้จริง ต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ จัดสรร แบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรพลังงานของคนไทย

โดยจะเริ่มกระบวนการล่า 5 หมื่นรายชื่อ ตั้งแต่วันที่ 1-8 ก.ย.นี้ ที่บริเวณป้ายรถเมล์หน้า ปตท.สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต ส่วนวันที่ 9 ก.ย.จะเป็นวันชุมนุมใหญ่

ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การปฏิรูปพลังงานเกิดขึ้นในหลายประเทศแล้ว ทั้งที่ประเทศพวกนั้นด้อยพัฒนากว่าไทยเสียอีก ฉะนั้นอย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ต้องไม่สิ้นหวัง เราไม่เคยบอกว่าต้องใช้พลังงานถูก แต่ขอให้เกิดความเป็นธรรม แล้วเราไว้วางใจ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) ไม่ได้อีกแล้วเพราะท่านใช้วาทกรรมมากเกินไป บอกขึ้นราคา LPG แค่ 50 สตางค์ให้ดูเหมือนน้อย แต่ความเป็นจริงคือขึ้นปีละ 100 บาท และขึ้น 200 บาทใน 2 ปี แทนที่จะพูดความจริงว่าอะไรคืออะไร

กำลังโหลดความคิดเห็น