เครือข่ายประชาชนเจ้าของพลังงานไทยแถลงจุดยืนการชุมนุม 1-9 ก.ย.นี้ เตรียมเปิดโต๊ะประชาชนลงชื่อ 5 หมื่นคนไล่ “เสี่ยเพ้ง” รมว.พลังงาน และราชการที่เกี่ยวข้องช่วง 1-8 ก.ย. ก่อนยกระดับชุมนุมกดดันใหญ่ 9 ก.ย.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.00 น. วันนี้ ที่บริเวณป้ายรถเมล์หน้าสำนักงานใหญ่ ปตท.เครือข่ายประชาชนเจ้าของพลังานไทยที่นำโดย ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี, นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ได้แถลงประกาศจุดยืนต่อต้านการขึ้นราคาแอลพีจีของรัฐบาล โดยกำหนดกิจกรรมเคลื่อนไหวระหว่าง 1-8 กันยายนนี้ที่จะเปิดโต๊ะให้ประชาชนลงชื่อ 5 หมื่นชื่อเพื่อปลดนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นแอลพีจีออกจากตำแหน่ง โดยจะเปิดให้ลงชื่อตั้งแต่เวลา 09.00 น. หลังจากนั้นวันที่ 9 กันยายน 2556 เวลา 09.09 น.จะเปิดเวทีชุมนุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งที่หน้าตึกสำนักงานใหญ่ปตท.
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กล่าวว่า การปรับขึ้นแอลพีจีครัวเรือน 1 ก.ย.นี้ถือเป็นก้าวที่พลาดที่รัฐบาลกลับโยนภาระให้ประชาชนภาคครัวเรือนและขนส่ง ทั้งที่ปัญหาหลักการใช้แอลพีจีที่สูงขึ้นจนนำเข้ามาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ส่วนใหญ่เป็นเครือ บมจ.ปตท. โดยรอบ 6 ปีที่ผ่านมามีการนำเข้าแอลพีจี 1.78 ล้านตัน และในจำนวนนี้มีการจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพียง กก.ละ 1 บาทเท่านั้น ขณะนั้นที่ภาคอุตสาหกรรมเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันถึง 12.55 บาทต่อ กก. ดังนั้นเหตุใดรัฐจึงไม่เก็บเงินจากภาคปิโตรฯ ให้เท่ากับภาคอุตสาหกรรม
“ถามว่าคนใช้เบนซินจ่าย 6-7 บาทต่อลิตร ดีเซล 3-4 บาทต่อลิตร ก็ยังสูงกว่าปิโตรเคมี แถมราคาที่ขายให้ก็เฉลี่ยเพียง 16-17 บาทต่อ กก.เท่านั้น แล้วพอบอกการนำเข้าเพิ่มต้องใช้เงินอุดหนุนสูงจึงต้องขึ้นราคานี่จึงเป็นนโยบายอุ้มคนรวยนั่นคือ ปตท.” ม.ล.กรกสิวัฒน์กล่าว
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ทางเครือข่ายจะชุมนุมใหญ่วันที่ 9 ก.ย.นี้โดยยึดปฏิบัติการ 5 ป.เพื่อการปฏิรูปพลังงานไทยได้แก่ 1. ปลด : ให้ปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพลังงาน และอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติทันที 2. เปิด : ให้รัฐเปิดเผยสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมทั้งหมดและเปิดเผยผลประโยชน์ตอบแทนจากธุรกิจพลังงาน
3. ปัน : ประชาชนและชุมชนต้องได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมจากทรัพยากรปิโตรเลียมที่ขุดได้จากผืนแผ่นดินไทย 4. ไป : ให้ข้าราชการกระทรวงพลังงานที่เป็นกรรมการในธุรกิจพลังงานต้องลาออก 5. เปลี่ยนแปลง : รัฐต้องเปลี่ยนระบบสัมปทานขุดเจาะก๊าซและน้ำมันไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตที่กรรมสิทธิ์ที่ขุดได้เป็นของรัฐ เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน