ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยืนกระต่ายสามขาที่จะขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน(แอลพีจี)ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 นี้เป็นต้นไป ท่ามกลางกระแสต่อต้านอย่างหนัก จากประชาชนและพ่อค้าแม่ขายที่ต้องใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงหุงหาอาหาร
แรงต่อต้านที่ดูมีพลังไม่น้อยมาจากเครือข่ายประชาชนเจ้าของพลังงานที่รวมตัวกันจัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ “หยุดราคาแก๊สและน้ำมันที่ไม่เป็นธรรม” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่หน้าสำนักงานใหญ่บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) โดยมีประชาชนจากทุกฝ่ายเข้าร่วมชุมนุมหลายพันคน
พร้อมกับได้ยื่นหนังสือถึงนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ให้ทบทวนการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนหรือแอลพีจีในวันที่ 1 ก.ย.นี้
นายอิฐบูณณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้ของเครือข่ายเป็นการเปิดกว้างให้ประชาชนทุกคน ทุกกลุ่มไม่จำกัดสีไหน และยืนยันว่าไม่ได้เพื่อที่จะมาล้มรัฐบาลหรือมาเพื่อการเมือง แต่ทั้งหมดเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อประชาชนทุกคนให้ได้รับความเป็นธรรมจากการกำหนดนโยบายพลังงาน และไม่ได้ว่าจะคัดค้านเพื่อใช้ราคาพลังงานต่ำๆ แต่ขอเพียงให้การขึ้นนั้นมีเหตุผลและเป็นธรรมอย่างแท้จริง
ส่วน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี เลขานุการอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา และนักวิชาการอิสระ หนึ่งในแกนนำเครือข่ายประชาชนเจ้าของพลังงาน บอกว่า ต้องการให้รัฐทบทวนการขึ้นราคาแอลพีจีครัวเรือนที่จะปรับจาก 18.13 บาทต่อกิโลกรัมไปสู่ระดับ 24.82 บาทต่อ กก.โดยขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2557 เพราะเห็นว่ารัฐอ้างต้นทุนโรงแยกก๊าซที่เป็นเท็จ โดยต้นทุนที่แท้จริงยังไม่รวมภาษีต่างๆ อยู่ที่ 8.80 บาทต่อ กก.เท่านั้น แต่ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้รับอภิสิทธิ์ให้ซื้อในราคาต่ำเพียง 16.20 บาทต่อ กก. ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์อย่างมหาศาลให้แก่ ปตท.
ม.ล.กรกสิวัฒน์ ระบุอีกว่าเมื่อการใช้ภาคปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นรัฐต้องการตรึงราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมไม่เกิน 30 บาทต่อ กก. และมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากการใช้ก๊าซแอลพีจีถึง 12.55 บาทต่อ กก. แต่การใช้ในภาคปิโตรเคมีเก็บเพียง 1 บาทต่อ กก. ดังนั้น ส่วนที่เหลือรัฐใช้วิธีเก็บจากผู้ใช้น้ำมันดีเซล เบนซินเฉลี่ย 4-9 บาทต่อลิตรแล้วนำมาจ่ายชดเชยราคาแอลพีจีนำเข้า ซึ่งเป็นการอุ้ม ปตท.ทางอ้อม จึงเห็นว่าไม่เป็นธรรม ดังนั้น หากรัฐเพิ่มอัตราเก็บเงินจากการใช้ก๊าซแอลพีจีของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เท่ากับจะมีเงินไหลเข้ากองทุนฯ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี เท่านี้ก็ทำให้ไม่ต้องมาเก็บจากประชาชนเลย ราคาน้ำมันก็จะลดลงทันที
กิจกรรมรณรงค์ของเครือข่ายประชาชนเจ้าของพลังงานที่หน้าสำนักงานใหญ่ ปตท.ในวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา เริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 15.00 น. โดยมีกำหนดเลิกในเวลา 21.00 น.วันเดียวกัน แต่ปรากฏว่า บมจ.ปตท.แสดงอาการหวาดผวาอย่างหนัก ด้วยการแจ้งพนักงานในเครือ ปตท.ที่ไม่มีภารกิจหรือความจำเป็นต้องปฏิบัติงานสามารถกลับบ้านได้ตั้งแต่ 12.00 น.เป็นต้นไป พร้อมกับได้ตั้งศูนย์รับมือสถานการณ์เพื่อเช็คข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ปตท.ยังขึ้นป้ายหน้าตึกแจ้งระดับสัญญาณเตือนภัยเป็นสีส้ม จากที่มีทั้งหมด 4 ระดับ เขียว เหลือง ส้ม แดง ส่วนของการรักษาความปลอดภัยได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 400 นายในการเฝ้าระวังสถานการณ์
ขณะที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.ได้แถลงข่าวด่วนในช่วงก่อนเที่ยงวันนั้น ปฏิเสธว่าภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่ได้เอาเปรียบภาคครัวเรือนตามที่ถูกกล่าวหา โดยอ้างว่า ปตท.ขายก๊าซแอลพีจีสำหรับผู้บริโภคหน้าโรงแยกก๊าซฯ แค่ 10.20 บาทต่อ กก.หลังจากนั้นรัฐบาลได้รวมภาษี เงินกองทุนน้ำมัน และค่าต่างๆ ก่อนถึงผู้บริโภค จึงขอถามว่าเราเอาเปรียบตรงไหน ขณะที่ราคานำเข้าไปไกลแล้ว 800 กว่าเหรียญฯ (24,000 บาท) ต่อตัน
อย่างไรก็ตาม คำถามที่นายไพรินทร์ไม่ได้ตอบคือ เหตุใดรัฐบาลไม่เก็บภาษีการใช้ก๊าซฯ จากภาคปิโตรเคมีน้อยกว่าภาคครัวเรือน กลับตอบเฉพาะราคาที่ขายหน้าโรงกลั่น แล้วอ้างว่าขายให้ผู้บริโภคในราคาที่ต่ำกว่าขายให้ภาคปิโตรเคมี
ส่วนนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังคงยืนยันว่าการปรับขึ้นราคาแอลพีจีเป็นไปตามนโยบายเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาฝ่ายราชการเองได้มีการชี้แจงต่อทุกฝ่ายไปแล้วหลายครั้ง บางครั้งแทบจะไม่ยอมรับฟังการชี้แจงใดๆ
นายพงษ์ศักดิ์อ้างเหตุผลการปรับขึ้นราคาเพราะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันเป็นผู้จ่ายเงินอุดหนุนราคาแอลพีจีให้ต่ำกว่าต้นทุนมาตลอด ช่วงเวลา 5 ปีจ่ายไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท การขยับราคาแอลพีจีเป็นการลดภาระให้แก่ผู้ที่ใช้น้ำมันที่ไม่ใช่คนรวยทั้งหมดเพราะผู้ที่ขับขี่จักรยานยนต์ รถรับจ้างต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นคนจน และรัฐเองก็ยังมีมาตรการดูแลครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำร้านค้าหาบเร่แผงลอย 7.7 ล้านรายให้ใช้สิทธิ์ราคาเดิม
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่นายพงษ์ศักดิ์พูดไม่หมดก็คือ เงินกองทุนน้ำมันที่นำมาอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีนั้น ส่วนใหญ่ก็มาจากประชาชนผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีรวมทั้งผู้ใช้น้ำมันเบนซีน-ดีเซลทั่วไปนั่นเอง เพราะภาคอุตสาหกรรมจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันน้อยกว่า
เมื่อรัฐบาลยังดึงดันที่จะขึ้นราคาแอลพีจีตามกำหนดเดิม เครือข่ายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและตัวแทนภาคประชาชนจึงได้ยื่นศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้รัฐบาลขึ้นราคาแอลพีจีในวันที่ 1 ก.ย. พร้อมกับได้ตั้งโต๊ะล่าชื่อประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นถอดถอนนายพงษ์ศักดิ์ และข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพลังงานที่เกี่ยวข้องออกจากตำแหน่ง ในช่วงระหว่างวันที่ 1-8 ก.ย. และในวันที่ 9 ก.ย.จะเป็นการยกระดับการชุมนุมใหญ่หน้าตึกสำนักงานใหญ่ ปตท.ถนนวิภาวดีรังสิต เริ่มเวลา 09.00 น. โดยจะเชิญชวนประชาชนทุกกลุ่มทุกสีเข้าร่วมเช่นเคย
การที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับค่าครองชีพทำให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสียคะแนนนิยมไปไม่น้อย นั่นเพราะในช่วงก่อนวันเลือกตั้ง 3 ก.ค.2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ปราศรัยหาเสียงว่าจะกระชากค่าครองชีพลงมา การเดินหน้าขึ้นราคาแอลพีจี จึงทำให้คำปราศรัยดังกล่าวเป็นแค่คำลวง หวังให้ชาวบ้านไปลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทยเท่านั้น
แต่ด้วยความดันทุรังอยากสร้างภาพว่ายังมีประชาชนสนับสนุนรัฐบาลอยู่ จึงจัดคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งจากจังหวัดนนทบุรีและปทุมธานี พร้อมด้วยกลุ่มวิทยุชุมชน แล้วตั้งชื่อกลุ่มใหม่ว่า“รวมพลคนรักษ์พลังงาน” ไปชุมนุมที่หน้าตึก ปตท.เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการขึ้นราคาแอลพีจี และมีข้อเสนอแก้เกี้ยวเพิ่มเข้ามา คือให้รัฐบาลยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อลดราคาน้ำมันเบนซิน งดการนำเงินกองทุนน้ำมันไปอุดหนุนแอลพีจี และให้ปราบปรามการลักลอบขายแอลพีจีเถื่อน
ม็อบเชียร์รัฐบาลชุมนุมหน้า ปตท.ในวันที่ 28 และ 29 ส.ค.ก็เลิก หลังจากได้เล่นละครยื่นข้อเสนอให้รัฐบาล โดยนายพงษ์ศักดิ์ได้ส่งผู้แทนคือนายวิชิต ปลั่งศรีสกุล ตัวแทนกระทรวงพลังงานมารับหนังสือ พร้อมกับบอกว่าหากฝ่ายต่อต้านยังไม่จบจะประเมินสถานการณ์แล้วพร้อมกลับมาอีกครั้งแน่