xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เศรษฐกิจดิ่งเหว “ปู”เหลวไหลหนีเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-นรกมาเยือนเดือดร้อนกันทั้งแผ่นดินชัดๆ แล้ว คราวนี้จะอมพระทั้งวัดมาพูดหลอกล่อให้ประชาชนเชื่อว่าเศรษฐกิจยังดี มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเห็นท่าจะยาก คนที่เคยหลงในภาพลวงตาว่าอยู่กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นอมินีนช.ทักษิณ ชินวัตร มีแต่จะร่ำรวยอู้ฟู่ก็จะได้รู้สึกตัวกันเสียที เพราะงานนี้สภาพัฒน์ ซึ่งปกติก็พยากรณ์ตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตเอาใจรัฐบาลสุดๆ ก็ยังฝืนความจริงไม่พ้น ฟันโช๊ะให้ช็อกกันทั้งประเทศด้วยการหั่นเป้าจีดีพีปีนี้เหลือแค่ 3% กว่า และที่น่าห่วงอย่างยิ่งคือ การส่งออกที่ติดลบหนัก แบบว่าขายของให้คนข้างนอกก็ไม่ได้ คนข้างในก็บ่จี๊ น่าวังเวง มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง

เตรียมตัวรับเผาจริงไม่ใช่เผาหลอก คำแถลงจากปากนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 56 ระบุชัดว่า สศช.ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลือโตร้อยละ 3.8-4.3 จากเดิมคาดว่าโตร้อยละ 4.2-5.2 เพราะปัจจัยลบหลายเรื่องรุมเร้า

หนึ่ง การใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ชะลอตัว โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 2.4 ซึ่งเป็นผลมาจากการสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาล สอง การลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัว โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 4.5 เพราะยอดการผลิตรถยนต์ลดลงหลังจากมาตรการลดภาษีรถยนต์คันแรกหมดลง สาม การส่งออกติดลบร้อยละ 1.9 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 ต่ำกว่าไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวได้ร้อยละ 5.4 และทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2556 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 4.1 โดยการส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 1 การบริโภคภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 3.4 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.1 ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวได้ดี ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เหลือเพียงตัวเดียว

ถึงแม้ว่าจะปรับลดตัวเลขจีดีพีลงแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องหมูๆ ที่จะทำให้ได้ตามเป้าที่ว่าต่ำลงกว่าเดิมแล้ว เฉพาะการส่งออกแต่เดิมนั้นตั้งเป้าไว้สูงถึงร้อยละ 7.6 พอปรับลดลงเอาให้ได้แค่ร้อยละ 5 ก็ยังมองไม่เห็นทางว่าจะทำได้ เพราะถ้าจะให้ส่งออกทั้งปีขยายตัวให้ได้ร้อยละ 5 หมายความว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ต้องทำให้ขยายตัวถึงร้อยละ 8.7 หรือเฉลี่ยเดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจุบันอยู่ที่ 18,900 ล้านเหรียญสหรัฐ คำถามคือ แล้วจะขายของให้ใครในภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวหรือฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญอย่างจีนและสหรัฐฯ ที่ยังโงหัวไม่ขึ้น บางสำนักถึงกับฟันธงว่า ทำให้เติบโตได้แค่ประมาณร้อยละ 3 เท่ากับปีก่อนก็เก่งแล้ว

ตัวเลขส่งออกที่วูบหนัก โชว์ให้เห็นกันตั้งแต่เดือนพ.ค. 56 เป็นต้นมาแล้ว และเดือนมิ.ย. 56 ก็ดำดิ่งติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยลดลงร้อยละ 3.38 หรือมีมูลค่า 19,098 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากประเทศคู่ค้าหลักทั้งจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรป รวมทั้งอาเซียนชะลอตัว ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกโดยรวมก็ปรับตัวลดลง กดตัวเลขส่งออกในช่วงครึ่งปี 56 มีมูลค่า 113,304 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 0.95 เท่านั้น

เอาเฉพาะการส่งออกข้าว นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย บอกว่า การส่งออกข้าวครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 56) มีปริมาณส่งออกข้าวรวม 2.9 ล้านตัน ลดลง 8.4% ส่วนมูลค่าอยู่ที่ 61,988 ล้านบาท ลดลง 7.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และแนวโน้มการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลังก็จะยังไม่สดใส โดยเอกชนยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกข้าวไว้เช่นเดิมที่ 6.5 ล้านตัน ซึ่งต่างจากกระทรวงพาณิชย์ ที่คาดไว้ว่าจะส่งออกข้าวได้ 8.5 ล้านตัน

ความผิดพลาดในนโยบายเรื่องข้าว ไม่เพียงแต่ทำให้ขายไม่ออก หาคนซื้อได้ยากเท่านั้น แต่นโยบายจำนำข้าวที่ขาดทุนย่อยยับ ยังสร้างภาระด้านงบประมาณ มหาศาล ดีไม่ดีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ที่เป็นแม่งานโครงการนี้ ก็อาจมีปัญหาไปด้วย เพราะจากการเปิดเผยตัวเลขล่าสุดของนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธกส. ยอมรับว่า เวลานี้ธนาคารกำลังเริ่มขาดเงินหมุนเวียนในโครงการจำนำข้าว เพราะที่ผ่านมาได้สำรองจ่ายไปแล้วกว่า 2.5 แสนล้านบาท ขณะที่ทางกระทรวงพาณิชย์ยังไม่อาจนำเงินที่ได้จากการระบายข้าวเข้ามาจ่ายชดเชยได้ทัน และยังมีตัวเลขของผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธกส.คนนี้ ทำให้รู้ว่าราคารับจำนำข้าวในฤดูกาลปี 56/57 จะเหลือแค่ตันละ 12,000 บาท ไม่ใช่ตันละ 13,500 บาท และจำกัดโควตาครอบครัวละไม่เกิน 3.5 แสนบาทต่อครัวเรือน ไม่ใช่ 5 แสนบาทต่อครัวเรือน ตามที่เคยแถลงกันก่อนหน้านี้

สัญญาณเศรษฐกิจที่เลวร้าย ทำให้สภาพัฒน์ มองว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญและต้องจับตาดูเป็นพิเศษยังอยู่ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ซึ่งยังล่าช้า รวมไปถึงการชะลอเศรษฐกิจของจีน แรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐลดน้อยลง แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาล เช่น การลงทุนตามแผนบริหารจัดการน้ำ 350,000 ล้านบาท และแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2 ล้านล้านบาท ไม่สามารถดำเนินงานได้ตามแผน และความขัดแย้งเสถียรภาพทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อบรรยากาศการท่องเที่ยว

การเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจของสภาพัฒน์ ที่ชะลอตัวต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาสติดต่อกันนั้น บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า ตามนิยามทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเศรษฐกิจไทยได้เผชิญกับภาวะถดถอยทางเทคนิค(Technical Recession) แล้ว โดยสะท้อนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทั้งการลงทุน และการบริโภค รวมถึงการกลับมาหดตัวอีกครั้งของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทย แต่มองว่ายังไม่ขั้นประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปีนี้จะอยู่ที่ 4%

การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าเป้าหมายนั้น นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ว่า หากจีดีพีต่ำหรือขยายตัวเพียงร้อยละ 4 จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานแน่นอน โดยเฉพาะแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานจะหางานได้ยากขึ้น

สอดคล้องกับความเห็นของนายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.กระทรวงการคลัง ที่ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างเป็นทางการครั้งแรกตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเมืองในปี 2551- 2552 และสถานการณ์ดังกล่าวจะเกิดผลกระทบมาก อันดับแรก ธุรกิจซบเซาทำให้เงินฝืดขาดความคล่องตัว รายได้ทุกคนลดลง มนุษย์เงินเดือนขาดโอที ขาดโบนัส และเลวร้ายกว่านั้นก็คืออาจถูกลดเงินเดือน หรือถูกปลดออกจากตำแหน่ง นักศึกษาจบมาใหม่ก็จะหางานยากขึ้น ประชาชนจำนวนมากวันนี้รับภาระหนี้อยู่หนักอึ้งอยู่แล้วก็จะลำบากมากขึ้น เพราะภาระหนี้ยังคงอยู่แต่รายได้ลดลง

ส่วนในแง่ของภาครัฐ รายได้ภาษีก็จะลดลง นอกจากจะรีดภาษีหนักมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ไปลดภาษีกำไรให้ผู้ประกอบการไปแล้วปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท นอกจากนั้น จะขาดดุลมากขึ้น คือ ต้องกู้มากขึ้น และเมื่อ GDP โตช้า ฐานคำนวณหนี้สาธารณะก็จะเล็กลง ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเพิ่มขึ้น มีผลต่อเครดิตของประเทศ และระดับความเชื่อมั่น ต้นทุนการกู้ยืมของประเทศจะสูงขึ้น และขีดความสามารถในการแข่งขันก็จะลดลง

อดีตรมว.คลัง แสดงความประหลาดใจว่า ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะนี้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีวิกฤตอะไรมาเป็นตัวฉุด ประกอบกับยังไม่ได้เห็นผลจากการถอนเงินทุนโดยต่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นถ้าสหรัฐฯ ส่งสัญญาณยกเลิกการกระตุ้นด้วยนโยบายการเงิน (QE) “ที่ปฏิเสธไม่ได้อีกก็คือ นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ประชานิยมที่เงินไม่ถึงมือชาวบ้าน ซ้ำร้ายกลายเป็นการเพิ่มภาระหนี้ และเป็นภาระมหาศาลต่องบประมาณแผ่นดิน”

ส่วนแนวทางแก้ปัญหานั้น เขาเสนอว่า ต้องหาวิธีเพิ่มรายได้ และต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ลดการกินหัวคิว เพิ่มราคาพืชผลการเกษตร พัฒนาทักษะแรงงานไทยทุกระดับ ลดภาระหนี้ของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณโดยภาครัฐ และลดเงื่อนไขขัดแย้งทางการเมืองที่มีผลต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ทีขี่แพะไล่ทันที โดยชี้ว่า ที่ผ่านมาได้วิเคราะห์ตลอดว่าแนวทางการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งปัญหาไม่ได้มาจากการส่งออกอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจภายในจากยุทธศาสตร์นโยบายประชานิยม และรัฐบาลยังเดินหน้า ตั้งกองทุนต่าง ๆ ให้ประชาชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัญหาในแง่ความเหลื่อมล้ำ เพราะเงินที่ใช้กันเร็วๆ นั้น สุดท้ายก็ย้อนกลับมาหา บรรดาธุรกิจใหญ่ๆ ไม่ได้กระจายรายได้ลงไปอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังพยายามโฆษณาว่าโครงการเมกกะโปรเจ็กต์จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยพยายามบอกว่า คนที่คัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นผู้ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีปัญหา แต่ความจริงโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่จะมาใช้ในปีหน้านี้ เป็นการเอาเงินหลายหมื่นล้านบาทไปจ้างที่ปรึกษาเท่านั้น ทั้งนี้ตนมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอาการหนึ่งของโรคฝีแตก แต่ฝีจะแตกรุนแรงก็คือเมื่อเกิดปัญหาความไม่ยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งตอนนี้โครงการจำนำข้าวกำลังไล่เดินไปสู่จุดนั้นอยู่แล้ว

“ปัญหาตอนนี้น่าเป็นห่วง ขณะนี้เราใช้เงินของประชาชนอย่างไม่คุ้มค่า และบริหารเศรษฐกิจไม่ได้ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่กำลังเพิ่มทั้งหนี้ของรัฐ หนี้ของประชาชน แล้วก็ปัญหาพื้นฐานไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งในแง่ของความสามารถการแข่งขัน แล้วก็ความเป็นธรรมของระบบเศรษฐกิจ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน บีบีซี สื่อชื่อดังระดับโลกของอังกฤษ รายงานการวิเคราะห์ของ ซันเจย์ มาเธอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจของอาร์บีเอส ที่ให้ทัศนะกับบีบีซีว่า ภาวะถดถอยของไทย มีต้นตอจากปัญหาพื้นฐานต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการส่งออกและอุปสงค์ภายในที่อ่อนแอ รวมถึงความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ลดน้อยถอยลง

พูดให้เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ ส่งออกก็ไม่ได้ ขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศก็ถดถอย หนี้ครัวเรือนก็พุ่งสูงจนน่าเป็นห่วง ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 56 นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เป็นห่วงการเร่งตัวของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีผ่านมา จากร้อยละ 50 ของจีดีพี เป็นร้อยละ 80 หรือคิดเป็นเงินกว่า 8 ล้านล้านบาท โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อบ้าน รถยนต์ และสินเชื่ออุปโภคบริโภค ขณะที่ภาพรวมการอุปโภคบริโภคของประชาชนชะลอตัวลงมากเนื่องจากประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

“ได้มอบหมายให้ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน รณรงค์ผ่านสื่อให้ประชาชนระวังการใช้จ่าย อย่าก่อหนี้สูงเกิดตัว และรู้จักเก็บออม ผ่านโครงการรู้แบ่งก็ไม่ต้องแบกหนี้ เพื่อป้องกันปัญหาก่อนจะเกิดวิกฤต เพราะหากปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงถึงร้อยละ 85 ของจีดีพี อาจจะเกิดปัญหาเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาขึ้นมาได้” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ แสดงความกังวล

ทันทีที่แบงก์ชาติส่งเสียงเตือนภัย ทางกระทรวงการคลัง ก็พ่นน้ำลายสวนกลับทันควัน โดยนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง โต้ว่า จากข้อมูลหนี้ครัวเรือนของ ธปท. ที่ระดับ 77.51% ที่จริงแล้วระดับหนี้ครัวเรือนที่แท้จริงในปัจจุบันของประเทศไทยอยู่ที่ระดับ 64% ส่วนอีก 13% เป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้เงินเพื่อประกอบธุรกิจ ซึ่งระดับหนี้ครัวเรือนของไทยขณะนี้ถือว่าอยู่ในระดับที่ห่างไกลต่อความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับกรณีของสหรัฐอเมริกาและยุโรป จะเห็นได้ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนที่จะก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบที่ผ่านมาจะสูงกว่า 100% ต่อจีดีพี และกว่าที่จะถึงระดับดังกล่าวก็ใช้เวลานานนับ 10 ปี

สงครามน้ำลายระหว่างแบงก์ชาติกับกระทรวงคลัง คงจะยังมีอีกหลายยก แต่ที่แน่ๆ เวลานี้ประชาชนหน้าแห้งเหี่ยวในยุคข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจตกสะเก็ด หนำซ้ำกระทรวงพลังงาน ยังยืนยันจะปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในภาคครัวเรือนอีกกก.ละ 50 ส.ต. โดยจะเริ่มทยอยขึ้นในต้นเดือนก.ย.นี้ จนกว่าจะครบหนึ่งปี คือ ขึ้นไปถึง 24.82 บาทต่อกก. จาก 18.13 บาทต่อกก. เป็นการดันทุรังของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชนิดไม่สนใจฟังเหตุฟังผลว่าไม่มีความจำเป็นต้องมาขูดรีดเอาเลือดกับปู เพราะจากมาตรการนี้จะทำให้ลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันแค่เดือนละ 50 ล้านบาท ทั้งที่กลุ่มที่ควรเลิกอุดหนุนคือ กลุ่มปิโตรเคมีที่เกือบทั้งหมดอยู่ในเครือ ปตท. นั่นต่างหาก เพราะไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ประชาชนจะมาอุ้มยักษ์ใหญ่พลังงานผ่านทางกองทุนน้ำมันอยู่อีก

ดันทุรังอุ้มเครือปตท.กันต่อไป และขณะนี้ก็มีเพลมมาแล้วจากนายชายน้อย เผื่อนโกสุม ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน ที่กล่าวถึงการแก้ไขปัญหากรณีโรงแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 5 ของปตท.ถูกฟ้าผ่าซึ่งทำให้ก๊าซฯ หายไปจากระบบ 7 - 7.5 หมื่นตันต่อเดือน ว่า จะขอให้กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันลดการจำหน่ายก๊าซแอลพีจีให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และให้กลุ่มโรงกลั่นเปลี่ยนไปใช้น้ำมันดิบที่สามารถผลิตแอลพีจีได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการลดส่งก๊าซแอลพีจีให้กลุ่มปิโตรเคมีจำนวน 3 หมื่นตันต่อเดือน ปริมาณก๊าซฯ ที่ขาดหายไปนี้ หากปตท.แก้ปัญหาโดยการนำเข้าแอลพีจีเพิ่มขั้นต่ำ 4 หมื่นตันต่อเดือน ก็จะมีผลทำให้มีการจ่ายเงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่ออุดหนุนส่วนต่างราคานำเข้าที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันราคาแอลพีจีบวกค่าขนส่งอยู่ที่ประมาณ 900 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในขณะที่ราคาในประเทศอยู่ที่ 333 เหรียญสหรัฐต่อตัน ดังนั้นกองทุนฯ จะจ่ายส่วนต่างประมาณ 567 เหรียญสหรัฐต่อตัน

เทียบกันไม่ติดเลยระหว่างการอุ้มคนจนที่ใช้เงินแค่จิ๊บจ๊อย กับการอุ้มยักษ์ใหญ่ปิโตรเคมีที่ต้องชดเชยมหาศาล

อย่างไรก็ตาม ความเดือดร้อนแสนสาหัสที่ประชาชนกำลังเผชิญหน้ากับนรกที่จะมาเยือน ไม่ได้ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใส่ใจเลยแม้แต่น้อย เพราะเธอยังเที่ยวบินรอบโลกอย่างเบิกบานอารมณ์ ราวกับว่าประเทศนี้ไม่มีนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศ หรือมีก็เป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้น้อยเต็มที




กำลังโหลดความคิดเห็น