xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อ พ.ร.บ.เงินกู้ผ่านฉลุย โบรกฯ คาดฟื้นวอลุ่มเทรด-ความเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โบรกเกอร์เชื่อ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทผ่านสภาฉลุย กระตุ้นความเชื่อมั่นนักลงทุนไทย และต่างประเทศฟื้นคืน หลังวอลุ่มเทรดเบาบางลงไป โดยคาดหุ้นกลุ่มรับเหมากลับมาเคลื่อนไหวมากสุด แต่เตือนอย่าชะล่าใจ ให้จับตาการยื่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วาระ 2 ช่วงปลายเดือนนี้ และสัญญาณการปรับลด หรือยุติ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ยังคอยกดดันด้วย หลังมูดี้ส์ประเมินยากระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐหมดน้ำยา จากในประเทศชะลอตัวทดแทนภายนอกที่แย่อยู่ไม่ได้

ตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 9 ส.ค. ดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบตลอดทั้งวัน โดยปิดที่ระดับ 1,432.25 จุด ลดลง 14.91 จุด หรือ -1.03% มูลค่าการซื้อขาย 31,244.35 ล้านบาท นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า เป็นการขายทำกำไรของนักลงทุนนหลังงจากวันก่อนหน้า (8 ส.ค.) ดัชนีปรับตัวขึ้นมามากรับข่าวการเมืองในประเทศที่ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง อย่างไรก็ตาม มีนักลงทุนบางส่วนชะลอการลงทุนเนื่องจากวันหยุดยาวติดต่อกัน 3 วัน ทำให้มูลค่าการซื้อขายไม่สูงมาก และการที่หุ้น MAKRO ปรับตัวลดลงมามาก ก็มีผลฉุดให้ดัชนีกลุ่มค้าปลีกปรับตัวลดลงตามมาด้วย

ทั้งนี้ ในสัปดาห์นี้ (14-17 ส.ค.) คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยยังคงผันผวนอยู่ โดยอาจเคลื่อนตัวขึ้นลงทั้งแดนบวกและแดนลบสลับกัน โดยนักลงทุนอาจจะเข้ามาเก็งกำไรจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศออกมาในไตรมาสที่ 2 และอาจจะมีการเก็งกำไรในส่วนร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท ที่จะถูกพิจารณา โดยคาดว่า พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าวไม่มีปัญหาอะไร ทำให้เชื่อว่าหุ้นกลุ่มรับเหมายังคงเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ

“ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่ยื่นเข้าสภาน่าจะผ่านออกมมาได้ไม่น่ามีปัญหา ส่วน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่คาดว่าจะรีบเสนอต่อเนื่องภายใน 7 วัน หลังจากผ่านวาระแรกมาแล้วนั้น อาจจะต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากสภาจะพิจารณางบประมาณประจำปี 2557 ทั้งนี้ คาดว่าจะเป็นสัปดาห์ที่ 3-4 ของเดือนสิงหาคม ที่จะเสนอยื่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสภาในวาระที่ 2 จุดนี้ ทำให้นักลงทุนต้องจับตาการยื่นเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวาระที่ 2 อย่างใกล้ชิด อีกทั้งช่วงนี้จะอยู่ในช่วงการเก็งกำไรจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 และการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะยกเลิก หรือชะลอมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE ในเดือนกันยายนออกไปก่อน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้คาดว่าอาจจะทำให้นักลงทุนมีความกังวลมากขึ้น”

ทั้งนี้ ประเมินแนวแนวรับช่วงนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,410-1,430 จุด ส่วนดัชนีแนวต้านอยู่ที่ 1,455-1,465 จุด อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ ออกบทวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยล่าสุด โดยใช้ชื่อว่า “A Bump in the Road” โดยมีประเด็นที่เกิดขึ้นสำคัญคือ ความต้องการ หรืออุปสงค์ภายในชะลอลงไม่สามารถชดเชยเศรษฐกิจโลกชะลดลง ทำให้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำกว่าแนวโน้มในปี 2556 แต่ยังอยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ในปี 2557 อีกทั้งจากการประเมินเศรษฐกิจจีนชะลออย่างรุนแรงนั้น จะกระทบต่อภาคส่งออกของไทยอย่างมาก จนมีผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอลงอย่างรวดเร็ว

มูดี้ส์ มองว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาล และการฟื้นฟูน้ำท่วมที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ได้หมดไปแล้ว และการบริโภคภาคครัวเรือน การส่งออก และการผลิตชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.1% ในไตรมาส 2 ลดลงจาก 5.3% ในไตรมาสแรก เนื่องจากการลงทุนและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ การกู้ยืมเพื่อการบริโภคที่อ่อนลง แม้ค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยหนุนการบริโภค ซึ่งสัญญาณเหล่านี้บ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.3 ในปี 2556 ต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริงที่ระดับ 4.5%

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ระหว่างวันที่ 13-16 มองว่า ดัชนียังคงแกว่งตัว โดยมีโอกาสฟื้นตัวขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องจับตารายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ เช่น เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ยอดค้าปลีก ดัชนีราคาผู้บริโภค และความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Mich. Confidence Index) ซึ่งคาดว่าดัชนีจะมีแนวรับที่ 1,430 จุด และ 1,414 จุด ขณะที่แนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 1,464 จุด และ 1,519 จุด ส่วนทิศทางค่าเงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00-31.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยคงต้องจับตาถ้อยแถลงของประธานเฟด สาขาแอตแลนตา และสาขาเซนต์หลุยส์ ซึ่งอาจสะท้อนสัญญาณเกี่ยวกับมาตรการ QE

ก่อนหน้านี้ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด กล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลังอาจจะซบเซาลงบ้าง แต่เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง หากเทียบกับเศรษฐกิจของทางฝั่งยุโรป และอเมริกา จะเริ่มฟื้นตัวกลับมาบ้างแล้ว ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดจะชะลอมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE ในเดือนหน้าออกไปก่อนโดยอาจจะทยอยต่อไปเรื่อยๆ และไปปรับดอกเบี้ยขึ้นในปี 2015

ขณะเดียวกัน ปัจจัยทางการเมืองถือว่าเป็นนัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งทำให้นักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จึงจะยังไม่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยในระยะนี้ เพราะรัฐบาลยังไม่มีมาตรการรองรับอะไรที่ชัดเจน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนได้ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศยังมองเสถียรภาพทางการเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันนโยบายโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านบาท ว่า อาจจะชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนดหรือไม่ ซึ่งนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนอย่างมาก เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว และต่อยอดเศรษฐกิจไทยที่จะเชื่อมโยงต่อไปยังภูมิภาคอาเซียน หรือ AEC ได้อีก

ทั้งนี้ ถ้าหากการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น คาดว่าตัวเลขการส่งออกในครึ่งปีหลังจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่วนที่ยังเป็นกังวลคือ ตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างเช่น ประเทศจีน ว่าจะฟื้นตัวช้านั้น คาดว่าจะใช้ระยะเวลาไม่นานจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่สิ่งที่นักลงทุนไม่ควรมองข้ามคือ อัตราแลกเปลี่ยน เพราะมีความผันผวนสูง ซึ่งถ้าหากแกว่งตัวรุนแรงก็จะกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยซึ่งทาง ธปท.จึงจำเป็นที่จะต้องวางนโยบาย หรือกำหนดมาตรการควบคุมไม่ให้กระทบต่อผู้ส่งออก
กำลังโหลดความคิดเห็น