xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ขรก.ไทย”ยุคยิ่งลักษณ์ 5”ต่ออายุถึง 70 ปี เพื่อใคร!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ฉบับนี้ขอว่าด้วย “ข้าราชการไทย”ยุครัฐบาล “ปู 5” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ควบรมวกลาโหม และมี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

เรื่องแรก มีข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ระบุว่า ขณะนี้ ทางสำนักงานกพ. กำลังศึกษาเรื่องของการขยายการเกษียณอายุราชการ ร่วมกับ กระทรวงการคลัง ซึ่งปัจจุบัน พบว่า งบกลาง ที่ใช้จ่ายมากที่สุด คืองบประมาณที่รัฐบาลต้องจ่ายให้กับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ของข้าราชการที่เกษียณอายุ ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงบประมาณพบว่า ในงบประมาณปี57 มีวงเงินที่นำไปใช้จ่ายเป็นเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ของข้าราชการมี จำนวน 132,277 ล้านบาท จากงบกลางทั้งหมด จำนวน 345,459 ล้านบาท

"เรื่องการขยายการเกษียณอายุราชการ จะต่างจาก การต่ออายุราชการ ที่มีอยู่ในระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ในมาตรา 108 คือ การต่ออายุราชการ จะต่อให้กับข้าราชการ ในตำแหน่งบางสายงาน หรือให้แก่บางข้าราชการบางคนที่ราชการต้องการ ซึ่งในมาตราดังกล่าวมุ่งไปในเรื่องของการขาดแคลนคนที่คุณภาพในบางสายงาน หรือสายงานเหล่านั้นสร้างคนไม่ทัน โดยที่ผ่านมามีการต่ออายุแล้ว อย่างเช่นสายงานแพทย์ สายงานนักกฎหมาย เช่น กฤษฏีกา สายงานด้านศิลปิน เป็นต้น"

การขยายการเกษียณอายุราชการ คือการขยายทั้งระบบ จากเกษียณที่อายุ 60 ปี ก็จะเกษียณที่อายุ 65 หรือ 70 ปี ทั้งนี้แนวคิดดังกล่าว เกิดจาก ปัจจุบันคนอายุยืนขึ้น กว่าสมัยที่ออกที่พบว่า คนมีอายุเฉลี่ยเพียง 52 ปี เท่านั้น แต่ปัจจุบัน อายุเฉลี่ยของคนเกือบ 80 ปี ในขณะที่อายุเกษียณยัง อยู่ที่ 60 ปีเหมือนเดิม ซึ่งจากแนวคิดที่ว่า ถ้าคนที่อายุเลยอายุ 60 ปี แล้วยังมีกำลังในการทำงาน สร้างผลผลิต แต่ให้หยุดการทำงาน หรือเกษียณอายุราชการไป ก็เป็นการสูญเสียทรัพยากร ขณะเดียวกัน ถ้าเราไม่ให้คนกลุ่มนี้ทำงาน แต่รับเงินบำนาญจากภาครัฐ นั่นก็เท่ากับว่า รัฐบาลต้องจ่ายเงิน 2 ทาง คือ ต้องจ่ายทั้งบำเหน็จบำนาญ และจ่ายในการจ้างคนใหม่ มาทดแทน แต่ปัญหาที่ตามมา หากนำแนวคิดการขยายการเกษียณอายุราชการ มาใช้ก็คือ จะทำให้ไม่มีตำแหน่งงานว่างให้กับเด็กจบใหม่

มีหน่วยงานแรกที่รับลูก คือ “สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน” หรือ สพฐ.

ที่ เล็งต่ออายุครูเกษียณอีก 5 ปี แก้ปัญหาขาดแคลนครู คาดปี 56-60 เกษียณอายุถึง 1 แสนคน ส่วนใหญ่สังกัด สพฐ.กว่า 9 หมื่น กลุ่มใหญ่กระจุก 5 วิชาหลัก ครูสอนภาษาต่างประเทศขาดหนักสุดกว่า 7 พันคน

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ระบุถึงกรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะเกษียณอายุราชการในอีก 5 ปีข้างหน้า ระหว่างปี 2556-2560 จำนวน 104,108 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูในสังกัดสำนักงาน สพฐ. จำนวนถึง 99,890 คน ว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนครูจากการเกษียณอายุราชการควรเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพราะหากแก้ด้วยการขออัตราเกษียณคืน 100% เพียงอย่างเดียวอาจแก้ปัญหาไม่ทัน เพราะกว่าจะได้อัตราคืนต้องใช้เวลา ส่วนการแก้ปัญหาวิธีอื่นๆ นั้น เช่น เสนอให้ขยายระยะเวลาปฏิบัติราชการของข้าราชการครูในสาขาที่ขาดแคลนออกไปจนถึง 65 ปี ซึ่งตนเห็นด้วย แต่การต่ออายุดังกล่าวต้องไม่ใช่การต่อโดยอัตโนมัติ เพราะควรต้องดูจากผลการประเมินการทำงานและสุขภาพแข็งแรง

“การแก้ปัญหาขาดแคลนครูจากการเกษียณโดยขยายเวลาปฏิบัติราชการครูในสาขาที่ขาดแคลนออกไปจนถึง 65 ปี ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่นำมาใช้ในการแก้ปัญหาขาดแคลนครูได้ โดยในระดับอุดมศึกษาก็เคยใช้วิธีการดังกล่าวมาแล้ว ขณะเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องบุคลากรทางการศึกษา ก็จะต้องไปศึกษาวิเคราะห์หลายๆ แนวทางมาใช้แก้ปัญหาประกอบกัน โดยในส่วนของ สพฐ.ก็จะเป็นหน่วยงานที่ให้ข้อมูลประกอบแนวทางการแก้ไขปัญหา”

สำหรับข้อมูลความต้องการครูตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ (เฉพาะสถานศึกษาที่มีความขาดแคลนครู) ข้อมูลล่าสุดปีการศึกษา 2555 สพฐ.มีความขาดแคลนครูในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ เรียงลำดับ ดังนี้ ภาษาต่างประเทศ จำนวน 7,444 อัตรา, คณิตศาสตร์ จำนวน 7,248 อัตรา, ภาษาไทย จำนวน 6,324 อัตรา, วิทยาศาสตร์ จำนวน 6,039 อัตรา, สังคมศึกษา จำนวน 4,563 อัตรา, คอมพิวเตอร์ (การงานอาชีพ) จำนวน 4,273 อัตรา, ศิลปศึกษา จำนวน 4,192 อัตรา, ปฐมวัย/ประถมศึกษา จำนวน 3,496 อัตรา, สุขศึกษา/พลศึกษา จำนวน 3,267 อัตรา, กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จำนวน 1,996 อัตรา, การศึกษาพิเศษ ฯลฯ จำนวน 1,715 อัตรา และขาดแคลนผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 905 อัตรา รวมอัตราขาดแคลนทั้งหมด 51,462 อัตรา ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สพฐ.แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการให้โรงเรียนใช้ครูอัตราจ้างมาสอนทดแทนส่วนที่ขาดแคลน

ย้อนกลับมาดู “รายงานการศึกษา การปรับปรุงระบบการเกษียณอายุราชการ”Improving Retirement System ที่ทางสำนักงาน กพ. เผยแพร่ เป็นรายงานที่ทำวิจัยใน พ.ศ. 2550 โดยสำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคล สำนักงาน ก.พ.

ตอนหนึ่งระบุถึง กรณีการออกจากงานก่อนอายุเกษียณ ปรากฏข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของข้าราชการผู้สมัครเข้าร่วม โครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิต : เกษียณก่อนกำหนด ว่าเหตุผลหลักในการเข้าร่วมโครงการคือ ต้องการพักผ่อน เหตุผลรองลงมาที่พบคือ มีความตั้งใจที่จะลาออกก่อนอายุ 60ปี เนื่องจากต้องการดูแลครอบครัว หรือมีปัญหาสุขภาพ ฯลฯ

ส่วนกรณีที่มีการปฏิบัติงานภายหลังจากอายุ 60 ปี พบข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่ กองการเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลศิริราช ว่าการจ้างผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญให้ปฏิบัติงานต่อ ภายหลังอายุ 60 ปี ส่วนใหญ่มีผลการปฏิบัติงานไม่แตกต่างจากผลการปฏิบัติงานก่อนอายุ 60ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่า การปฏิบัติงานหรือเลิกปฏิบัติงานมีความแตกต่างหลากหลายแล้วแต่สภาพของบุคคล ลักษณะงานที่ปฏิบัติเช่น งานที่มีลักษณะเสียงภัย ตรากตรำ หรือจำเจ ควรเกษียณอายุก่อนงาน

ลักษณะอื่น ซึ่งจากข้อมูลที่รวบรวมได้จากข้าราชการผู้เข้าร่วมโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิต : เกษียณก่อนกำหนด พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี จำนวน 11,687 คน (ร้อยละ 6.87) ซึ่งเป็นจำนวนมากในลำดับที่สองของผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นทหารชั้นประทวนที่ทำงานเสี่ยง อันตรายและตรากตรำ ในทางตรงข้ามงานที่ต้องมีการถ่ายทอดองค์ความรู้จากข้าราชการรุ่นหนึ่งไปสู่ข้าราชการอีกรุ่นหนึ่ง งานที่ต้องอาศัยความชำนาญการเป็นพิเศษ งานที่ต้องการประสบการณ์ทางวิชาการ งานที่มีความขาดแคลนกำลังคน ปรากฏว่า ผู้ปฏิบัติงานยังสามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ เช่นผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการและอัยการ ซึ่งหากผ่านการประเมินสมรรถภาพ ก็สามารถปฏิบัติงานต่อไปได้ตราบใดที่อายุไม่เกิน 70 ปี หรือในภาคราชการพลเรือนในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับเกี่ยวกับการต่ออายุราชการก็ปรากฎข้อเท็จจริงว่ามีการจ้างผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ปฏิบัติงานต่อในตำแหน่งที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ 3

อีกเรื่องที่รายงานฉบับนี้ อ้างถึงคือประเภทลักษณะงาน มี 4 ลักษณะ ที่ระบุถึงงานที่ควรเกษียณอายุราชการ ได้แก่ งานลักษณะบริหาร : ข้าราชการที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งประเภทบริหาร ควรเกษียณอายุที่ 60 ปี

งานลักษณะวิชาการ/วิชาชีพเฉพาะ : ข้าราชการที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งประเภทวิชาการ/วิชาชีพเฉพาะ ควรเกษียณอายุที่ 55-70 ปี งานลักษณะทั่วไป : ข้าราชการที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งประเภททั่วไปนั้น ควรเกษียณอายุที่ 50-55 ปี อย่างไรก็ตาม ข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งประเภทนี้ซึ่งอยู่ในระดับทักษะพิเศษควรเกษียณอายุที่ 55-65 ปี

รายงานฉบับดังกล่าวถึงระบุถึง กรอบสิทธิประโยชน์ของการเกษียณอายุ การสนับสนุนการหาแหล่งเงินทุนสำหรับระบบเกษียณอายุที่เหมาะสมสำหรับข้าราชการพลเรือนสามัญในประเทศไทย เป็นต้น หาดูได้ที่http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/files/BRD_Reserch/thesis%20knowledge/May_2013/50006.pdf

แต่รัฐบาลที่ผ่าน ๆ ก็มาก็มีการต่ออายุข้าราชการเช่นช่วงรัฐบาล อนุมัติร่างกฎสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์รับราชการต่อไป เมื่อสิ้นปีงบประมาณที่ผู้นั้นอายุครบ 60 ปีตามกฎก.พ.นี้ ต่อไปได้อีกไม่เกิน 10 ปี

ในตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ หรือระดับผู้ทรงคุณวุฒิ และประเภททั่วไประดับอาวุโสหรือระดับทักษะพิเศษ ซึ่งตำแหน่งดังกล่าว ส่วนใหญ่ครอบคลุมระดับปลัดกระทรวง รองปลัดกระทรวง เลขาธิการ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ระดับเชี่ยวชาญ หรือระดับผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อประโยชน์ทางราชการและเป็นตำแหน่งที่ขาดแคลนบุคลากรคุณภาพ

นอกจากนี้ การรับราชการตามกฎก.พ.นี้ ให้กระทำได้ตามความจำเป็น โดยครั้งแรกรับได้ไม่เกิน 4 ปี ถ้ายังมีเหตุผลและมีความจำเป็นจะให้รับราชการต่อไป แต่จะต่อได้ไม่เกินครั้งละ 3 ปี เมื่อรวมกันแล้วระยะเวลาทั้งหมดต้องไม่เกิน 10 ปี โดยข้าราชการที่มีสิทธิได้รับการต่อราชการ จะต้องไม่อยู่ในระหว่างการถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าผิดวินัยร้ายแรง โดยอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนกระทรวง (อ.ก.พ.กระทรวง) เป็นผู้พิจารณา ซึ่งจะเริ่มใช้กับข้าราชการอายุครบ 60 ปีในปี 2553 เป็นต้นไป

กฎกพ.ฉบับนี้ ถูกมองว่า ข้าราชการที่จะได้ประโยชน์ จะต้องเป็นข้าราชการระดับปลัดกระทรวงที่มีสุขภาพแข็งแรง มีความรู้ความสามารถในงานที่รับผิดชอบมากเป็นพิเศษจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

ตอนนี้คนที่เหมาะสมที่สุดของ“ข้าราชการไทย”ยุครัฐบาล “ปู 5” น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คงไม่พ้น “นายอำพน กิตติอำพน”ที่เพิ่งควบ 5 ตำแหน่ง ตั้งแต่ “เลขาธิการคณะรัฐมนตรี” “ประธานบอร์ดการบินไทย” “กรรมการกฤษฎีกา” “กรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย”และล่าสุด “กรรมการอื่นในคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดใหม่ สาขาเศรษฐศาสตร์”

และถ้าไม่ผิดพลาดสัปดาห์หน้าจะมีตำแหน่งที่ 6 เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย คนใหม่


อำพน กิตติอำพน
กำลังโหลดความคิดเห็น