xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.ชี้คืนอัตราเกษียณไม่แก้ปัญหาขาดแคลนครูทั้งระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จาตุรนต์” ชี้ขอคืนอัตราเกษียณแก้ปัญหาขาดแคลนครูได้ แต่ไม่ทั้งหมด จี้ ก.ค.ศ.เร่งรวมปัญหาขาดแคลนครูโดยเร็ว เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาทั้งระบบ เน้นดูการเกลี่ยครูให้ไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม พร้อมเพิ่มการผลิตในสายที่ขาดแคลน

วันนี้ (15 ส.ค.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนครูโดยขอคืนอัตราเกษียนข้าราชการ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 100% ในปีงบประมาณ 2556 นั้น ยังไม่ได้มีการพิจารณา แต่ขณะนี้กำลังพิจารณาขอคืนในส่วนของปีงบประมาณ 2554 และ 2555 จำนวน 8,300 อัตรา ทั้งนี้ การขอคืนอัตราเกษียณเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนครูได้เท่านั้น แต่ปัญหานี้มีความซับซ้อน ที่จะต้องดูภาพรวมทั้งระบบโดยตัวเลขในอีก 5 ปี จะขาดแคลนครู ประมาณ 103,743 อัตรา แต่ถ้าพิจารณาในทุกกลุ่มสาระวิชา จะพบว่าขณะนี้ขาดแคลนครูประมาณ 51,462 อัตรา ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องดูการเกลี่ยครู จากโรงเรียนที่ครูเกิน ไปโรงเรียนที่ครูขาดเพื่อให้ครูในวิชาที่ขาดแคลนไปอยู่ในที่ที่เหมาะสม ขณะเดียวกันต้องมาดูการผลิตครูในสายที่ขาดแคลนเพิ่มด้วย

นอกจากนี้ มีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครูประกอบด้วย ทั้งแนวโน้มการเกิดของประชากรในอีก 10 ปีข้างหน้าจะลดลง ส่งผลจะทำให้จำนวนนักเรียนลดลงไปด้วย ขณะเดียวกันจำนวนผู้สูงอายุก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตนได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไปดูว่าหากเป็นเช่นนี้ อนาคตอัตราส่วนระหว่างครูและนักเรียนที่เหมาะสมควรจะต้องอยู่ที่เท่าไหร่ โดยการขยายอายุราชการครูที่เกษียณอายุจาก 60 ปี เป็น 65 ปี ก็เป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ เพราะเป็นวิธีการที่เป็นประโยชน์ แต่จะต้องมาดูกติกาว่าจะขยายอย่างไรไม่ให้กระทบส่วนอื่น

การขอคืนอัตราเกษียณ 100% อาจจะยังไม่ใช่คำตอบของการแก้ปัญหานี้ทั้งหมด เพราะนอกจากคิดเรื่องเพิ่มคนแล้วยังต้องคิดเรื่องการใช้เทคโนโลยีการสอนมาทดแทนครูเพื่อลดการใช้ครูสอน การจะใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มาช่วยในการเกลี่ยกำลังคน การแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดอัตรากำลังที่เหมาะสม เช่น การโอนย้ายข้ามเขตพื้นที่การศึกษา ที่ยังมีปัญหาที่กติกา ทำให้การจัดการไม่เป็นระบบ ซึ่งต้องมาดูระเบียบ ก.ค.ศ.ใหม่ว่า อะไรเป็นอุปสรรคทำให้ครูไม่สามารถโอนย้ายไป อยู่ในโรงเรียนที่ขาดแคลนจริงๆ ได้ ขณะเดียวกันที่ผ่านมาเคยมีการพูดคุยว่า เพื่อให้ครูสามารถทำงานในบ้านเกิด มีการเสนอให้เปิดสอบเขตไหน ก็ให้คนในเขตพื้นที่นั่นไปสมัคร เพื่อจะได้ครูที่เป็นคนในพื้นที่จริงๆ จะได้ไม่มีปัญหาย้ายข้ามไปข้ามมา แต่พอทำจริงๆ ก็เป็นการเปิดสอบทั่วไปเหมือนเดิม” นายจาตุรนต์ กล่าวและว่า เพราะฉะนั้น อนาคตอาจจต้องมาคิดว่าจำเป็นต้องมีระบบโควตาของเขตพื้นที่นั้นหรือไม่ โดยคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) ต้องให้ความร่วมมือด้วย แต่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องขาดครูในสาขาที่ขาดแคลนอยู่ดี ดังนั้นต้องนำหลายๆ เรื่องมาพิจารณาประกอบกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวในภาพรวม


กำลังโหลดความคิดเห็น