xs
xsm
sm
md
lg

“ชินภัทร” ยัน ท้องถิ่น-พื้นฐาน ไม่ได้แย่งเด็กไร้สัญชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ชินภัทร” วอนอย่ามอง ท้องถิ่น-พื้นฐาน จัดการศึกษาดึงเด็กไร้สัญชาติมาเป็นการแย่งชิงเด็ก ชี้เป็นการจัดการศึกษาตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน และเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง

วันนี้ (19 มิ.ย.) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่นายประแสง มงคลศิริ เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ ระบุว่าการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งล้มเหลวพบท้องถิ่นตั้งโรงเรียนแข่งเกิดการแย่งชิงเด็กมีการดึงเด็กไร้สัญชาติเข้าเรียนแทน ว่า เรื่องการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานมีหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบคงไม่ใช่เรื่องการแย่งเด็ก เนื่องจากแต่ละหน่วยงานที่จัดการศึกษามีภารกิจในการจัดการศึกษาแทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นตนอยากให้มองเรื่องนี้เป็นการส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันมากกว่า เพราะในหลักการและนโยบายแล้วเด็กไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่บนพื้นแผ่นดินไทยจะต้องได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยไม่มีการปิดกั้นโอกาสทางการศึกษาแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อเด็กเหล่านี้ไม่ได้เข้าสู่ระบบการจัดการศึกษาที่ดีก็อาจเป็นภาระทางสังคมและประเทศชาติได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงจำเป็นต้องดูแลเด็กเหล่านี้ให้เกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อไม่มีตัวป้อนให้กับโรงเรียน สพฐ.จะต้องไปดึงเด็กไร้สัญชาติเหล่านี้มาเข้าเรียนแทน แต่การให้การศึกษากับเด็กไร้สัญญาตินั้นเป็นไปตามหน้าที่และนโยบายการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง

“ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กองค์กรปกครองส่วนปกครองท้องถิ่น (อปท.) ก็เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอยู่แล้ว เช่น ก็เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการภาคีเครือข่ายการศึกษาทางเลือกโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนของชุมชนด้วย อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์โมเดลที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของพื้นที่ต่างๆ ที่ผ่านมาก็พบว่า ประสบความสำเร็จด้วยดี และเห็นผลที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนครู เพราะเมื่อนำเด็กจากโรงเรียนต่างๆ มารวมกันแล้วทำให้ปัญหาขาดแคลนครูลดน้อยลงและหมดไป นอกจากนี้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กก็เพิ่มสูงขึ้น สร้างความภูมิใจให้กับนักเรียนและผู้ปกครอง จุดนี้ถือเป็นความสำเร็จอย่างชัดเจน” นายชินภัทร กล่าวและว่า การที่มองว่าการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กล้มเหลวนั้นคงต้องขอข้อมูลที่เป็นรูปธรรมว่าการแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กยังไม่ประสบควาสำเร็จในจุดใด เพื่อที่ สพฐ.จะได้นำกลับไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น