xs
xsm
sm
md
lg

"พงศ์เทพ"ถอยยุบโรงเรียน ตั้งบอร์ดสางปัญหาหลังถูกด่ายับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"พงศ์เทพ"ผ่าทางตันยุบโรงเรียน เสนอตั้งกรรมการร่วมรัฐและภาคประชาสังคม หาทางออกแก้ปัญหาโรงเรียนเล็ก โรงเรียนทางเลือก และโฮมสคูล ส่วนอนาคตยุบไม่ยุบ จะฟังเสียงคนในพื้นที่เป็นหลัก "ชินวรณ์"ค้านสุดตัว เหตุไม่ตอบโจทย์ด้านการศึกษาและขัดรัฐธรรมนูญ ล่าสุดโคราชปิดแล้ว 1 โรงเรียน หลังไม่มีเด็กมาเรียน

เมื่อเวลา07.30 น. วานนี้ (15 พ.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ชมรมเครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) แห่งประเทศไทย สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย โรงเรียนทางเลือก พร้อมด้วยตัวแทนโรงเรียนบ้านเรียน (โฮมสคูล) นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้อำนวยการโรงเรียนมีชัยพัฒนา และผู้ปกครองจากชุมชนที่มีโรงเรียนขนาดเล็ก ประมาณ 20 คน เดินทางเข้าพบ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อหารือเกี่ยวกับนโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กของ ศธ.พร้อมมอบรายชื่อผู้คัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 18,081 รายชื่อให้ รมว.ศึกษาธิการ โดยใช้เวลาหารือกว่า 1 ชั่วโมง

นายพงศ์เทพกล่าวว่า ทางเครือข่ายโรงเรียนชุมชนฯ โรงเรียนทางเลือก และโฮมสคูลได้มาเข้าพบเพื่อนำเสนอตัวอย่างโรงเรียนขนาดเล็กที่จัดการศึกษาได้มีคุณภาพ โดยอาศัยความร่วมมือจากชุมชน และยังได้สะท้อนปัญหาสำคัญของโรงเรียนขนาดเล็ก คือ ปัญหาขาดแคลนผู้บริหารโรงเรียน ขาดแคลนครู ซึ่งเป็นตัวสำคัญที่ฉุดให้โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งไม่สามารถจัดการศึกษาได้ดี รวมทั้งยังได้นำเสนอตัวอย่างการจัดการศึกษาทางเลือกที่ทำได้มีคุณภาพ เช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้จัดการเรียนการสอนแบบคละชั้น แต่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนกลับออกมาดี ขณะเดียวกันเมื่อนำรูปแบบเดียวกันนี้ไปทดลองใช้กับโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่ง ก็พบว่าช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในโรงเรียนแห่งนั้น เพราะฉะนั้น สามารถนำมารูปแบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนรุ่งอรุณมาเป็นต้นแบบสำหรับขนาดเล็กแห่งอื่นๆ ได้

ทั้งนี้ นายมีชัย ได้เสนอการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการดึงภาคธุรกิจมาทำโครงการ CSR เพื่อพัฒนาโรงเรียน ขณะที่โรงเรียนบ้านเรียนก็เสนอให้ ศธ. ให้การสนับสนุนการศึกษาบ้านเรียนมากขึ้น

“จากการหารือ ได้เห็นพ้องต้องกันว่า ให้มีการตั้งกรรมการร่วมขึ้นมาเพื่อดูแลปัญหาและแนวทางการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนบ้านเรียน โดยจะให้ทางเครือข่ายฯ ไปคัดเลือกตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่จะมาเป็นกรรมการ ขณะที่ทางด้านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก็จะไปคัดเลือกตัวแทนจากภาครัฐและนักวิชาการต่างๆ เมื่อได้เรียบร้อยก็จะมีการนัดประชุมเพื่อกำหนดขอบเขตหน้าที่ของกรรมการชุดนี้ที่ชัดเจนอีกครั้ง แต่โดยหลักๆ ให้มาหารือเพื่อวางแผนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน 3 ประเภทดังกล่าว”นายพงศ์เทพกล่าว

นายพงศ์เทพกล่าวว่า ประเด็นการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เป้าหมายของกระทรวงและเครือข่ายฯ ตรงกันว่า ต้องการจัดการศึกษาที่เป็นประโยชน์แก่เยาวชน แต่วิธีจัดการศึกษาและวิธีทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ สภาพชุมชนแต่ละแห่ง แต่โดยหลักการแล้ว การดึงบวร คือ บ้าน วัด ชุมชน เข้ามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษานั้น จะช่วยให้โรงเรียนเข้มแข็งได้ ซึ่งปัจจุบัน ชุมชนหลายแห่งเข้ามาช่วยโรงเรียนขนาดเล็กจัดการศึกษาได้ดี โรงเรียนกลุ่มนี้จะไม่ถูกยุบรวมหรือควบรวมอย่างแน่นอน แต่ในบางพื้นที่ การควบรวมโรงเรียนอาจทำให้การจัดการกศึกษามีคุณภาพดีขึ้น ส่วนในบางพื้นที่ โรงเรียนอยู่ไกล ไม่สามารถควบรวมกับโรงเรียนแห่งใดได้ ก็จะต้องหาทางพัฒนาคุณภาพโรงเรียนแห่งนั้นให้ดีขึ้นให้ได้

ส่วนแผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 182 เขต จะรายงานมาในวันที่ 24 พ.ค.นั้น เป็นเพียงแค่ข้อมูลที่เขตพื้นที่การศึกษาสำรวจเบื้องต้นว่า โรงเรียนใดอยู่ในข่ายที่ไม่ควรจะยุบและควรจะยุบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยุบทันที ต้องนำมาถามความเห็นชุมชนก่อนว่าพร้อมสำหรับการยุบหรือควบรวมโรงเรียนหรือไม่ ถ้าชุมชนอยากให้นักเรียนไปเรียนโรงเรียนอื่นที่ดีกว่า ไม่อยากให้เปิดโรงเรียนต่อไป ก็สามารถเดินหน้าควบรวมโรงเรียนได้

“สรุปว่า ศธ. จะไม่ได้เดินหน้ายุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่งโดยทันที เพราะต้องฟังความเห็นจากในพื้นที่ก่อน ถ้าชุมชนเขาอยากให้โรงเรียนอยู่ต่อและชุมชนก็เข้ามาร่วมจัดการศึกษา ก็ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา เฉพาะโรงเรียนที่ประชาคมเห็นด้วยจึงจะเดินหน้ายุบโรงเรียนหรือควบรวมโรงเรียนได้“ นายพงศ์เทพกล่าว

ขณะที่ นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือกไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา พูดกันผ่านสื่อตลอด แต่วันนี้ได้มาทำความเข้าใจร่วมกันแล้วว่าการจัดการศึกษาไม่ได้เป็นบทบาทของกระทรวงฝ่ายเดียว จะต้องให้ทุกฝ่ายมามีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นองค์กรส่วนท้องถิ่นหรือชุมชน รวมถึงการแก้ไขปัญหาโรงเรียน

นายสมบูรณ์ รินท้าว ประธานเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก กล่าวว่า ได้เคยขอให้พัฒนาโรงเรียนชุมชนจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อดูแลชาวบ้านที่ต้องการ และเสนอให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาโรงเรียนชุมชนให้แก่ทุกแห่งปีละ 200,000บาท ขณะเดียวกันขอจัดสรรอัตราครู และครูธุรการด้วย พร้อมกันนี้ ขอให้ออกกฎหมายเพื่อให้ท้องถิ่นได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการศึกษามากขึ้น เพราะที่ผ่านมา ไม่มีกฎหมายบังคับ ทำให้ท้องถิ่นเกี่ยงงอนที่จะมาช่วยเหลือ ขณะเดียวกันขอให้จัดทำ ร่างพ.ร.บ.บริหารสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการโรงเรียนชุมชนและโรงเรียนการศึกษาทางเลือกไทย รวมทั้งประสานสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อออกสลากนำรายได้มาพัฒนาโรงเรียนชุมชน และให้มีการตั้งคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

ด้านนางสอาด โตนวุธ ตัวแทนผู้ปกครองจากโรงเรียนฮ่องแฮพยอมหนองม่วง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ที่โรงเรียนฮ่องแฮฯ นั้นมีเด็กน้อยแค่ 39 คน แม้ที่ผ่านมา คุณภาพการศึกษาจะไม่ดีนัก เพราะมีครูแค่ 3 คน ขณะที่ผู้บริหารโรงเรียน ก็เพิ่งจะได้รับบรรจุมาไม่นาน แต่ชุมชนก็ไม่ได้นิ่งเฉย พยายามที่จะช่วยเหลือลูกหลานให้ได้เรียน พยายามหาทุนการศึกษาด้วยวิธีการจัดผ้าป่าการศึกษาซึ่งได้เงินมาสนับสนุนมาก ดังนั้น จึงไม่อยากให้กระทรวงฯ ยุบโรงเรียน แต่อยากให้เข้ามาช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพเด็ก ซึ่งพวกตนทุกคนในชุมชนยินดีร่วมมือ

“อยากให้เลิกพูดเสียที เพราะชุมชนรู้สึกไม่ดี ที่มาวันนี้ เพราะได้ข่าวว่าจะยุบโรงเรียน ไม่อยากได้ยินคำว่ายุบโรงเรียน และก็ได้ข่าวว่าว่ากระทรวงฯ มีการเพิ่มเงินเดือนให้ครูมากขึ้น ซึ่งครูโรงเรียนเล็ก ก็ได้เงินมากเท่ากับครูที่อื่นๆ แต่ก็คุณภาพการศึกษาของเด็กก็ไม่ได้ดีขึ้นตามเงินเดือนครูเลย”นางสอาดกล่าว

วันเดียวกันนี้ ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่นายพงศ์เทพให้นโยบายผู้อำนวยการเขตการศึกษาทั่วประเทศ ในการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน ว่า กรณีดังกล่าวมีกระแสคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนก็เป็นคนหนึ่งที่คัดค้านไม่เห็นด้วยที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็กโรงเรียน เพราะไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจนและไม่ตอบโจทย์ด้านการศึกษาอย่างแท้จริง เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการศึกษา อีกทั้งการยุบโรงเรียน ยังไม่ตรงกับหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ที่บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากที่มีข่าวจะมีการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนไม่ถึง 60 คน ทั่วประเทศ และได้เกิดกระต่อต้านเป็นอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศการเปิดเทอมวันแรกของโรงเรียนต่างๆ ที่มีนักเรียนไม่ถึง 60 คน เป็นไปอย่างเงียบเหงา โดยที่โรงเรียนบ้านตาชู ต.บ้านตาจั่น อ.คง จ.นครราชสีมา ที่เป็นโรงเรียนที่ได้มีการก่อตั้งมานานกว่า 70 ปี และในอดีต เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว เคยมีนักเรียนมากถึง 150 คน แต่ช่วงหลังๆ ผู้ปกครองได้ส่งบุตรหลานไปเรียนที่อื่น ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ใหญ่กว่า เช่น โรงเรียนบ้านท่าตะโกทุ่ง และโรงเรียนบ้านหนองบัวทุ่ง ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากนี้ ประมาณ 3-4 กิโลเมตร เนื่องจากระบบคมนาคมสะดวกสบายขึ้นกว่าในอดีต ทำให้โรงเรียนบ้านตาชู มีจำนวนนักเรียนลดลงอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันโรงเรียนบ้านตาชู จำเป็นที่จะต้องปิดการเรียนการสอนลงหลังจากที่เหลือนักเรียนอยู่เพียง 3 คน และครูที่สอน เพียง 1 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น