“นายกฯ ยิ่งลักษณ์” งดจัดรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ส่ง “พงศ์เทพ” ชี้แจงนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็ก อ้างเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ต่ำ ด้าน “นพ.ประดิษฐ” แจง นโยบายยกระดับคุณภาพในการให้บริการด้านสาธารณสุขแบบครบวงจร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน เช้าวันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี งดจัดรายการ โดยได้มอบหมายให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงถึงเหตุผลในการยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คนทั่วประเทศว่า ความหมายของการยุบโรงเรียนคือ ยุบรวมกับควบรวม ไม่ใช่ยุบโรงเรียนไปเลย เพราะสุดท้ายเด็กยังมีที่เรียน ครูมีงานทำ ไม่ได้รับผลกระทบ
นายพงศ์เทพระบุว่า เหตุที่ต้องยุบหรือควบรวมโรงเรียนได้พิจารณาจากคุณภาพการศึกษาเทียบค่าเฉลี่ยทั้งประเทศที่ต่ำกว่าควรจะเป็น ครูต้องแบ่งเวลาสอนแต่ละชั้นเรียน ไม่เหมือนครูในโรงเรียนขนาดใหญ่ และเมื่อรัฐบาลให้เงินรายหัวแต่ละโรงเรียน นักเรียนน้อยเงินก็น้อยตาม ซึ่งไม่สามารถนำไปพัฒนาโรงเรียนได้
ส่วนกรณีโรงเรียนที่มีการร่วมกัน มีคุณภาพดีอยู่แล้ว ก็จะเข้าส่งเสริม และที่ผ่านมามีการยุบควบรวมไปแล้ว หรือ 20 ปีที่ผ่านมา ควบรวมไปแล้ว 3 พันกว่าแห่ง ทั้งนี้การยุบโรงเรียนต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึง มีการหารือกับ ผู้ปกครองและผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ต้องเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว โดยในการพิจารณายุบ ทางผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการเขตการศึกษาต้องไปสำรวจข้อมูลใหมี่
อย่างไรก็ตาม จะมีการจัดระบบขนส่ง รวมทั้งจัดหาซื้อรถจักรยานให้กับผู้ปกครองที่ร้องขอ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางไปศึกษายังโรงเรียนใหม่ที่ทำการย้ายไปด้วย
นายพงศ์เทพยืนยันว่าโรงเรียนขนาดเล็กไม่ว่าเล็กขนาดไหน ถ้าจัดการการศึกษาได้ดี ก็ให้อยู่และให้การสนับสนุน แต่ที่จะยุบหรือควบรวมคือ โรงเรียนขนาดเล็กและไม่มีคุณภาพ ส่วนงบประมาณ เช่น เรื่องแท็บเลต ก็เพื่อให้เด็กมีความคุ้นเคย เป็นเครื่่องมือปกติในชีวิต คนรุ่นใหม่ในอนาคตต้องคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือเหล่านี้ เด็กในชนบทห่างไกลไม่ถูกจำกัดในหนังสือเท่าที่มีเท่านั้น แต่เป็นการยกระดับความเท่าเทียมทางการศึกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่ 2 ของรายการ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงถึงการยกระดับคุณภาพในการให้บริการด้านสาธารณสุข โดยระบุว่ารัฐบาลมีแนวคิดยกระดับคุณภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขอย่างครบวงจร มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะแพทยศาสตร์ โดยจะต้องบูรณาการร่วมกัน ระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้แพทย์ไทยได้รับการยอมรับจากสากล พร้อมทั้งต่อยอดสาขาแพทย์ที่มีอยู่ทำให้มีคุณภาพ สามารถรองรับให้บริการกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยด้วย โดยยืนยันว่าจะไม่เป็นการเอื้องบประมาณไปที่ภาคเอกชน แต่เป็นการยกระดับโรงพยาบาลภาครัฐให้มีคุณภาพ
นพ.ประดิษฐกล่าวว่า จะมีการจัดประชุมเชิงวิชาการทางการแพทย์กับนานาชาติ โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพ เพื่อเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์และเสนอผลงานให้ต่างชาติได้เห็นถึงศักยภาพและยอมรับสาธารณสุขไทยในลำดับต่อไป