xs
xsm
sm
md
lg

ขวางยุบโรงเรียนเล็ก-ขอคืนพื้นที่การศึกษาให้ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ขวางยุบ! ร.ร.ขนาดเล็กเล็ก"-ลุกฮือต้านทั่วประเทศ. ออก แคมเปญ “ขอคืนพื้นที่การศึกษาให้ชุมชน : คัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก”ด้านสภาการศึกษาทางเลือก ประกาศชัดเป็นหัวหอก-ฉะรัฐบาลล้มเหลว เสนอยกให้ชุมชน-อปท.ด้าน “ยะใส” เตือน ศธ. อย่าขโมยเงินเด็ก ด้าน “ปชป.”ลั่น ร.ร.คุณภาพดี ต้องไม่ยุบ ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ “พงศ์เทพ” ยังอ้างยุบเพื่อความปลอดภัย

จากกรณีที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ออกมาระบุว่า ศธ.มีนโยบายจัดระบบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเข้าด้วยกัน

วานนี้ (9 พ.ค.56) กลุ่มคัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ประกอบด้วย สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย สมาคมบ้านเรียน เครือข่ายโรงเรียนไทยไท เครือข่ายการศึกษาทางภาคเหนือ เครือข่ายการศึกษาทางภาคกลาง เครือข่ายการศึกษาทางภาคอีสาน เครือข่ายการศึกษาทางภาคใต้ เครือข่ายโรงเรียนชุมชน เครือข่ายการศึกษาทางเลือกชนเผ่าพื้นเมือง ได้ทำหนังสือถึงนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีแคมเปญรณรงค์โดย “ขอคืนพื้นที่การศึกษาให้ชุมชน : คัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก”

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก ได้โพสต์เฟชบุคแสดงความเห็นคัดค้านว่า แสดงถึงความล้มเหลวในการบริหารการศึกษาของ ศธ. ทั้งๆ ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินปีละ 4 แสนล้าน ซึ่งควรจะยุบกระทรวงศึกษาธิการมากกว่า ไม่ควรทำร้ายเด็กที่ลำบากยากจนอยู่แล้วให้ลำบากมากขึ้น
“เด็กโรงเรียนเล็กมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่พ่อแม่อยากให้อยู่ใกล้บ้านอยากให้อยู่ในชุมชน กับกลุ่มที่พ่อแม่ยากจนไม่สามารถส่งลูกไปที่อื่นได้ และสามารถดูแลลูกได้สะดวก การยุบโรงเรียนจึงสร้างความทุกข์ยากให้กับพ่อแม่ และสิ่งที่สำคัญโรงเรียนเหล่านี้ชุมชนมีส่วนร่วมในการก่อตั้ง ทั้งบริจาคที่ดิน ช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียน ช่วยทำนุบำรุงโรงเรียนทั้งแรงกายและแรงทรัพย์ วันดีคืนดีกระทรวงศึกษาธิการก็ประกาศยุบโรงเรียน โดยไม่นึกถึงหัวอกพ่อแม่ หัวอกของชุมชน” นายชัชวาลย์ กล่าวและว่า หากกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถบริหารจัดการอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ก็ควรยกให้ชุมชน องค์กรปกครองถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน บริหารจัดการโรงเรียนจะดีกว่า

ทางสภาการศึกษาทางเลือกได้ปรึกษาหารือกันว่าหากกระทรวงฯ ยังเดินหน้ายุบโรงเรียน17,000โรง องค์กรด้านการศึกษาทั่วประเทศจัดรณรงค์ใหญ่เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการรวมศูนย์อำนาจการจัดการศึกษาที่ทำให้เกิดวิกฤติทางการศึกษาในครั้งนี้ต่อไป จากนั้น ได้ออกสภาการศึกษาทางเลือก ออกแถลงการณ์คัดค้านยุบโรงเรียน

** ร.ร.คุณภาพดี ต้องไม่ยุบ-ขัดรธน.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ รมว.ศึกษาธิการส่งสัญญาณ คงจะไม่เหมาะสม แต่ควรทำเป็นขั้นตอน กำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน โดยควรพิจารณาในประเด็นเหล่านี้คือ 1. ไม่ยุบโรงเรียนที่ห่างไกล 2. ไม่ยุบโรงเรียนที่มีคุณภาพดี 3. ไม่ควรส่งสัญญาณว่าจะยุบกี่โรงเรียน แต่ควรส่งเสริมให้ชุมชนนั้นอยากจะเอาลูกไปอยู่โรงเรียนอื่น แล้วค่อยดำเนินการยุบโรงเรียน ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหายุบโรงเรียนโดยไม่สนใจถึงปัญหาความห่างไกล คุณภาพของโรงเรียนที่ถูกยุบ การเดินทางของนักเรียน และต้องดูการจัดระบบการเดินทางให้ดี และทำให้โปร่งใส เช่นปัญหาการจัดรถตู้รับส่งนักเรียน ที่มักจะมีข้อครหา.

นายชิณวรณ์ บุณยะเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวไม่เห็นด้วยว่า เพราะจะกระทบต่อความรู้สึกของผู้ปกครอง นักเรียน และสิทธิชุมชน ค่อนข้างสูง และยังขัดกับหลักการของรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ที่บัญญัติว่า รัฐต้องจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง มีคุณภาพและไม่คิดค่าใช้จ่าย ที่จะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างทั่วถึงได้อย่างไร และในวรรคสองของมาตราดังกล่าวยังระบุด้วยว่า นักเรียนที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก รัฐจะต้องจัดให้มีความทัดเทียมกัน ดังนั้นการที่กระทรวงศึกษาธิการจะใช้เกณฑ์เพียงแค่เรื่องคุณภาพและงบประมาณมาเป็นข้ออ้างในการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยยึดเอาจำนวนนักเรียนที่น้อยกว่า 60 คนเป็นตัวตั้งนั้นเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการตามรัฐธรรมนูญ

“หากโรงเรียนที่มีความพร้อม และชุมชนที่เห็นว่าโรงเรียนควรมีความพร้อมให้เป็นมากกว่าโรงสอนแต่เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน โดยเห็นว่าควรรักษาสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญนี้ก็ควรออกมาเรียกร้อง ซึ่งตนพร้อมที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม”

** “ยะใส” เตือนศธ. อย่าขโมยเงินเด็ก

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีนการเมือง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ว่า“ยุบกระทรวงศึกษาฯ ทิ้ง ดีกว่ายุบโรงเรียนกว่า 16,000 แห่งมั้ย!!! เพราะข้ออ้างของ นายพงษ์เทพ ที่ออกมาบอกว่าเตรียมยุบโรงเรียนขนาดเล็กกว่า 1.6 หมื่นโรง เพราะงบประมาณและกำลังไม่เพียงพอนั้น คิดว่าสะท้อนปัญหา 3 ส่วน ส่วนแรกสะท้อนวิธีคิดของรัฐบาลชุดนี้ที่สนใจและให้ความสำคัญกับการลงทุนในระบบโลจิสติกส์ รถไฟความเร็วสูงมากกว่าการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ การกู้ 2 ล้านล้านบาท ก็คือการระดมเม็ดเงินในอนาคต ขโมยเอาทุนของลูกหลานมาเพื่อสนองความอยากของรัฐบาล รวมทั้งนโยบายประชานิยมที่กำลังทำให้รัฐบาลถังแตก วันๆ คิดแต่จะกู้หนี้ยืมสิน

ส่วนที่ 2 สะท้อนความล้มเหลวในการจัดการงบประมาณการศึกษาของชาติ กระทรวงศึกษาฯ เป็นกระทรวงเกรด A ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดปีละกว่า 4 แสนล้านบาท ทำไมงบมากมายขนาดนี้ไม่เพียงพอ หรือมีการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือการตัดสรรงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ จึงอ้างว่างบฯไม่พอ

ส่วนที่ 3 ต้องเข้าใจว่ารากฐานและที่มาของโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งเชื่อมโยงกับชุมชนในหลายมิติ ไม่ใช่แค่เพราะปัญหาความยากจนที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่มีเงินส่งลูกเรียนเท่านั้น แต่ รร.ขนาดเล็กจำนวนมากตอบโจทย์การศึกษาทางเลือก และการศึกษาที่บริหารจัดการโดยชุมชน รับใช้ชุมชนและเพื่อชุมชน หากโรงเรียรเหล่านี้ถูกยุบไปด้วย ก็เท่ากับทำลายความหลากหลายทางการศึกษา และปิดโอกาสการศึกษาทางเลือกไปในตัว

**จวก ศธ. ร.ร.แก้ปัญหาปลายเหตุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตามมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้บริหารโรงเรียน ครู ผู้ปกครองทั่วประเทศ อาทิ นายสมบูรณ์ รินท้าว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ จ.น่าน ในฐานะประธานชมรมเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก กล่าวว่า การยุบโรงเรียนขนาดเล็กโดยยกประเด็นเรื่องคุณภาพ ทั้งที่ผ่านมาไม่เคยสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษาและทางการบริหารให้เลย ทั้งครู อุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะการนำผลคะแนนทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาเป็นตัวตัดสินยิ่งใช้ไม่ได้ในเวลานี้ เพราะหากติดตามผลการทำงานของโรงเรียนขนาดเล็กเป็นรายโรงไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ หรือตะวันออกเฉียงเหนือ จะพบว่าในปีการศึกษา 2555 นี้คะแนนโอเน็ตของเด็กป.6 ดีขึ้นติดอันดับต้น ๆ ของจังหวัดด้วยซ้ำ เฉพาะวิชาคณิตศาสตร์บางโรงเรียนทำได้สูงขึ้นถึง 40% และหลายวิชาก็ได้ค่าเฉลี่ยสูงกว่า 5% ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดด้วย หรือแม้การรับรองคุณภาพภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รอบที่ 3 ปัจจุบันก็มีโรงเรียนขนาดเล็กได้รับการรับรองด้วย นั้นเพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าแต่ขณะนี้โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งได้ทำให้เห็นแล้วว่าคุณภาพของเด็กดีขึ้น แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรก็ตาม

“เมื่อยกเหตุผลเรื่องไร้คุณภาพเพื่อยุบโรงเรียนขนาดเล็ก และยังปัญหางบประมาณที่มีจำกัดอีก แต่เสนอการแก้ปัญหาด้วยการซื้อรถตู้เพื่อรับส่งนักเรียน ถามว่าการซื้อรถตู้กรณีนี้ปัญหาที่จะตามมา คือ ค่าน้ำมัน ค่าคนขับ ค่าซ่อมแซม ค่าเสื่อมราคา เหล่านี้ใครจะมาเป็นคนรับผิดชอบ แล้วจะช่วยลดงบประมาณได้จริงไหมก็ไม่จริง แล้วถามต่อว่าเงินค่าน้ำมันจะเอามาจากที่ไหน ถึงบอกว่า จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาจ่าย แต่เอาเข้าจริงอปท.ก็ไม่ได้มีรายได้นอกเหนือจากงบประมาณอุดหนุนเพียงอย่างเดียว แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายมาสนับสนุนค่าน้ำมันรถรับส่งนักเรียนได้ เพราะฉะนั้น เหตุผลและวิธีการแก้ไขปัญหาไม่ได้ช่วยให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพดีขึ้น” นายสมบูรณ์ กล่าว

นายสมบูรณ์ กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญการยุบโรงเรียนทิ้ง หรือการควบรวมยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่าส่วนกลางใช้ทรัพยากรบุคคลได้ไม่เต็มศักยภาพ เพราะหากยุบโรงเรียนแล้วกลุ่มผู้บริหารโรงเรียน ครูที่ไม่มีตำแหน่งที่ลงจะถูกนำไปกองรวมกันไว้ไม่มีที่ลง ทั้งที่ หากยังอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ยังสามารถทำประโยชน์และพัฒนาโรงเรียนได้เต็มศักยภาพมากกว่า

** “สัมพันธ์” แนะปรับโครงสร้าง

ด้านนายสัมพันธ์ ทองสมัคร อดีตรมว.ศึกษาธิการ ได้โพสต์เฟชบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่น่ายุบโรงเรียนเหล่านั้นเลย และปรับโครงสร้างใหม่เสีย ซึ่งสมัยที่ผมรับผิดชอบกระทรวงศึกษาธิการ เคยปรับยุทธศาสตร์วิทยาลัยเกษตรกรรม และวิทยาลัยพลศึกษา ซึ่งวิทยาลัยทั้ง 2 แห่งเปิดสอนเฉพาะทาง มีนักเรียนแต่ละแห่งน้อยมาก บางแห่งครูมากกว่าเด็ก ผมได้ขอปรับเป็นวิทยาลัยชุมชนขึ้นมาอยู่ได้มาจนทุกวันนี้แต่ละแห่งนักศึกษาหลายพันคน

** “พงศ์เทพ” อ้างยุบเพื่อความปลอดภัย

วันเดียวกัน ตัวแทนสมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย (ส.ค.ท) ครูกว่า 500 คน เข้าพบเพื่อมอบดอกไม้ให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ ทำเนียบรัฐบาล และมอบหนังสือจากกลุ่ม โดยข้อหนึ่งกลับระบุว่า เสนอให้หยุดยุบโรงเรียนขนาดเล็ก

นายพงศ์เทพ กล่าวว่า สิ่งที่ศธ.ปฏิบัติคือการควบรวมโรงเรียนโดยให้โรงเรียนขนาดเล็กต่างๆที่เคยจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นป.1ถึง ป. 6 โดยแบ่งให้บางโรงเรียนจัดชั้นเรียนเพียงแค่ ป.1ถึง ป.2 และในบางโรงเรียน แค่ ป.3 ถึง ป.4 หรือ ป.5 ถึง ป.6 ส่วนบางโรงเรียนนี่ค่อนข้างทรุดโทรมก็สามารถยุบเลยได้ โดยเปลี่ยนให้เป็นการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.)หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น อย่างไรก็ตามจะมีการใช้ระบบรับส่งนักเรียนไปยังโรงเรียน โดยผู้ปกครองจะไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่คุณภาพการศึกษาจะดีขึ้น และเป็นการประหยัดงบประมาณ

ส่วนพื้นที่ใดที่เห็นว่าการรับส่งนักเรียนเป็นไปด้วยความยากลำบาก ก็อาจพิจารณาเป็นกรณี ว่าอาจไม่ต้องยุบ นอกจากนี้ ยังเป็นผลดีต่อบุคลากรทางการศึกษา เพราะจากเดิมครูหนึ่งคนที่เคยสอนนักเรียน 6ชั้นเรียน เมื่อมีการยุบรวมก็จะได้สอนเพียง 1-2 ชั้นเรียน ถือเป็นประโยชน์ แก่บุคลากรเหล่านี้ ส่วนโรงเรียนในพื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องดูเป็นกรณีพิเศษไป

“สิ่งที่เราเป็นห่วงก็คือคุณภาพการศึกษาของเด็กในโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะโดยเฉลี่ยคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานมาก การที่จะยกระดับได้นั้นต้องปรับให้โรงเรียนต่างๆมีความพร้อมมากกว่านี้ การควบรวมจะทำให้ความพร้อมของโรงเรียนมีมากขึ้น ส่วนความปลอดภัยเรื่องการเดินทางเราจะดูแลให้ดีที่สุด”นายพงศ์เทพ กล่าว

**กมธ. วุฒิหนุน ศธ.ยุบรร.ขนาดเล็ก

ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา นำโดย นายสุธรรม พันธุศักดิ์ นางนรีวรรณ จินตกานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการ และม.ร.ว.วุฒิเลิศ เทวกุล ส.ว.สรรหา กรรมาธิการฯ ร่วมกันแถลงว่า คณะกรรมาธิการการศึกษามีมติเห็นด้วยกับนโยบายที่สั่งให้ยุบรวมโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก กว่า 17,000 ทั่วประเทศ เพื่อประหยัดงบประมาณ แต่มีข้อเสนอแนะ คือ 1. การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ต่างๆ ต้องมีการเตรียมการประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ปกครองรับทราบรายละเอียดและแนวทางการดำเนินการต่างๆชัดเจน 2.ควรเตรียมการรับส่งนักเรียนให้มีความพร้อมโดยเน้นเรื่องการปลอดภัยเป็นประเด็นสำคัญ 3.อาคารบ้านพักและอาคารที่ทำการของโรงเรียนต่างๆที่ยุบรวมควรมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะใช้ดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ในเรื่องใด 4. กระทรวงศึกษาควรบริหารจัดการเรื่องการโยกย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนที่ถูกยุบรวมให้เหมาะสมและเป็นธรรม และ5.กระทรวงศึกษาควรพิจารณาจัดการศึกษาทางไกลและใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น