xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียนของหนู อยู่ไกลไกล๊ไกล..ยุบหรือไม่ คิดให้ดีนะผู้ใหญ่!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"...โรงเรียนของหนู อยู่ไกลไกล๊ไกล อยากให้คุณคุณหันมอง โรงเรียนของหนู"

คือท่อนหนึ่งของเพลงโรงเรียนของหนู ขับร้องโดย พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ที่กำลังดังขึ้นในโลกออนไลน์ขณะนี้ หลังจากที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ เปิดไฟเขียวเตรียมจ่อให้ยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศที่มีจำนวนนักเรียนน้อยมาก ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ด้อยคุณภาพ โดยจะเป็นการยุบรวมกับโรงเรียนใกล้เคียง

สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นปัญหาสังคมที่รัฐบาลเน้นย้ำที่จะประหยัดงบประมาณ แต่ภาคประชาชนเน้นย้ำที่คุณภาพ กลายเป็นกระแสความขัดแย้งที่เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเตรียมจ่อยุบโรงเรียนขนาดเล็กครั้งนี้ เนื่องจากมองว่าเป็นการทำลายโอกาสทางการศึกษาของเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร

คิดให้ดีก่อนยุบร.ร.ของเด็กๆ

เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือด หลังการนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ประกาศให้มีการจ่อยุบโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยมาก โดยให้เหตุผลว่า การยุบโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวนักเรียนและเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาในภาพรวม รวมถึงรัฐบาลไม่มีกำลังงบประมาณจะพัฒนาโรงเรียนทุกแห่งและไม่สามารถนำงบฯจากเงินภาษีมาดูแลทุกโรงเรียนได้เท่าเทียมกัน

เรื่องนี้มีหลาย ๆ ฝ่ายไม่เห็นด้วย ถึงแม้ปากจะบอกว่าการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไม่ส่งผลกระทบต่อนักเรียน เพราะได้จัดระบบรับส่งนักเรียนไว้รองรับแล้ว โดยได้เตรียมงบประมาณไว้จัดซื้อรถตู้ 1,000 คัน สำหรับรับ-ส่งนักเรียน แต่ก็ยังไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด และอยากให้พิจารณาอย่างรอบด้าน

"ผมอยากเรียกร้องไปยังโรงเรียนที่มีความพร้อมและชุมชนว่า ถ้าเห็นว่า เราควรรักษาสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็ควรออกมาเรียกร้อง โดยผมพร้อมขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้รัฐบาลมีมาตรการรองรับที่ชัดเจนก่อนยุบโรงเรียน"

คำพูดแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ "ชินวรณ์ บุณยเกียรติ" ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ต่อกรณีเตรียมสั่งยุบโรงเรียนขนาดเล็ก คุณภาพต่ำ มีนักเรียนไม่ถึง 60 คน ทั่วประเทศ เพราะมองว่าขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ที่ระบุให้รัฐจัดการศึกษาให้ทั่วถึง โดยนักเรียนที่อยู่ในสภาพลำบาก รัฐบาลต้องจัดให้มีความทัดเทียมกัน

เพราะฉะนั้นถ้ามีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างทั่วถึงได้อย่างไร และในวรรคสองของมาตราดังกล่าวยังระบุด้วยว่า นักเรียนที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก รัฐจะต้องจัดให้มีความทัดเทียมกัน ดังนั้นการที่กระทรวงศึกษาธิการจะใช้เกณฑ์เพียงแค่เรื่องคุณภาพและงบประมาณมาเป็นข้ออ้างในการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยยึดเอาจำนวนนักเรียนที่น้อยกว่า 60 คนเป็นตัวตั้งนั้นเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการตามรัฐธรรมนูญ

ด้าน พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฎิรูปการศึกษา ได้ตั้งคำถามถึงนโยบายดังกล่าวว่า การจ่อยุบโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ เป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วหรือไม่ ได้ลงไปสำรวจโรงเรียนตามพื้นที่ต่าง ๆ แล้วหรือยัง เนื่องจากส่วนตัวมองว่า การเตรียมยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ควรสอบถามผู้ปกครอง และชุมชน ตลอดจนมองดูผลกระทบ และปัญหาที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่เสียก่อน โดยเฉพาะการคำนึงถึงความพร้อมในการเดินทางไปโรงเรียนของเด็ก ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร เช่น บนเขา บนดอย เป็นต้น

"ส่วนตัวอยากให้ท่าน และคณะได้ลองลงไปดูพื้นที่หน่อยก็จะดี เพื่อว่าจะได้ทราบปัญหาจริง ๆ อีกอย่าง มันมีวิธีอื่นที่น่าจะดีกว่าการยุบ และปล่อยให้เด็กเดินทางไกลไปเรียน ถึงแม้จะมีรถตู้บริการรับส่ง ถามว่าพอไหม แล้วความปลอดภัยในการเดินทางล่ะ เราจะควบคุมได้ไหม"

ปธ.เครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฎิรูปการศึกษา ให้แนวทางต่อไปด้วยว่า รัฐบาลควรใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น ใช้ไอซีที หรือซอฟแวร์การศึกษาเข้ามาช่วย หรืออาจสร้างศูนย์เพื่อการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครู และมีการนำเทปการสอนของครูชื่อดัง หรือสื่อการเรียนรู้จากโรงเรียนที่พร้อมมาแบ่งปันให้โรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งเป็นอีกทางออกหนึ่งที่น่าจะดีกว่าการยุบโรงเรียน

หรือทางฟากนักวิชาการอย่าง รศ.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ออกมาระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่ควรใช้คำว่า ยุบโรงเรียน แต่ให้ใช้คำว่า ควบรวม จาก 3 -4 โรงเรียน เข้าเป็นโรงเรียนเดียวกันในหลักการที่โรงเรียนจะถูกปิด ไม่ควรอิงเกณฑ์ตัวเลขนักเรียนต่ำกว่า 60 คนเพียงอย่างเดียว แต่ว่าควรคำนึงถึงความพร้อมของเด็กในการเดินทาง บางพื้นที่ห่างไกล และกันดาร เช่น โรงเรียนในหุบเขา โรงเรียนบนดอย โรงเรียนในชนบท

ดังนั้น จึงต้องมีความเห็นร่วมกันระหว่างผู้ปกครอง ผู้นำชุมชนในท้องถิ่นด้วยว่า สมควรที่จะยุบหรือไม่ เนื่องจากว่าใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ให้สิทธิแก่บุคคล พ่อแม่ องค์กร ชุมชน และสถาบันทางสังคมจัดการศึกษาได้ อีกทั้งนโยบายปฏิรูปการศึกษารอบ 2 มีแนวทางสำคัญคือ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดการศึกษาอีกด้วย

อย่าเหมารวมแบบมักง่าย

อย่างไรก็ดี นโยบายนี้ ฟังดูเหมือนจะยอมรับได้ในกรณียุบเพื่อให้เด็กไปเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพดีกว่า แต่นักข่าวหญิงเหล็กอย่าง สมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวช่อง 7 ก็ให้ทัศนะอย่างตรงไปตรงมาว่า ต้องแยกแยะตามความจำเป็น ไม่ใช่เหมารวมแบบมักง่าย ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำกับโครงการประชาล่มจมได้ แต่ขี้เหนียวกับการให้ปัญญาเพื่อพัฒนาเยาวชน อยากรู้จริง ๆ ใช้ส่วนไหนของร่างกายคิด

"อยากให้นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ ได้ฟังเพลงโรงเรียนของหนู จะได้เลิกคิดง่าย ๆ ยุบโรงเรียนเล็ก โดยไม่มีการพูดถึงผลกระทบ และปัญหาที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่" นักข่าวหญิงเหล็กท่านนี้ฝากไปถึงรมว.ศึกษาธิการคนปัจจุบัน

ทั้งนี้ โรงเรียนขนาดเล็กที่ สพฐ. ตั้งเป้ายุบรวมนั้นจะเป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน สำหรับข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็กที่เข้าข่ายว่าอาจถูกยุบ มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน มีทั้งหมด 14,816 โรง โดยมีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน มีทั้งหมด 5,962 โรง แยกเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 20 คน จำนวน 709 โรง มีนักเรียนตั้งแต่ 21-40 คน จำนวน 2,090 โรง นักเรียน 41-60 คน จำนวน 3,163 โรง ซึ่งการจ่อยุบโรงเรียนเล็กทั่วประเทศ คาดว่าจะมีเด็กได้รับผลกระทบราว 772,750 คนเลยทีเดียว

วิจารณ์เดือด สนั่น "เฟซบุ๊ก"

เมื่อมาดูในเครือข่ายสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่าง "เฟซบุ๊ก" หรือเว็บบอร์ดต่าง ๆ ก็ยิ่งมีกระแสคัดค้านต่อกรณีดังกล่าวอย่างดุเดือด เห็นได้จากเพจของ "ครูต๊ะ" หลังจากเจ้าของเพจได้โพสต์วิจารณ์นโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศจำนวน 14,816 โรงเรียน ว่าเป็นนโยบายทำลายชาติแบบถาวร ซึ่งมีคนเข้ามากดไลน์มากกว่า 2 หมื่นแล้ว และเข้ามาแสดงความเห็นอีกจำนวนมาก โดยขออนุญาตหยิบยกความเห็นบางส่วนบางตอนมานำเสนอดังนี้

"...ครูสงสัยจริง ๆ ว่าเอาอะไรคิด หรือว่าโรคสมองกลวงนั้นติดต่อลุกลามไปทั่วทั้งคณะรัฐบาลแล้ว การตัดสินคุณภาพของโรงเรียนด้วยขนาด ก็เหมือนกับการดูถูกครูผู้สอนเหล่านั้นนั่นเอง อยากให้ท่านรัฐมนตรีได้มีโอกาสเห็นว่า ครูในโรงเรียนเล็กๆ เหล่านั้นเขายอมเสียสละและทุ่มเทกับการศึกษาเพียงใด..."

"...อ่านแล้วสงสาร เด็ก และ ครู ที่ด้อยโอกาสทั้งหลายจริงๆ เลย ส่วนในฐานะที่เป็น ครูคนหนึ่ง อยากร้องไห้ครับ"

นอกจากนั้นยังมีความเห็นในสังคมออนไลน์ที่น่าสนใจอีกจำนวนไม่น้อยเกี่ยวกับกับนโยบายดังกล่าวนี้

"เอาเงินค่าแท็บเล็ตไปอุดหนุนแทนดีกว่า กี่พันล้าน ไม่กี่ปีก็จะเป็นเศษเหล็กแล้ว เป็นขยะอีก เลิกซื้อแท็บเล็ตเอาเงินไปช่วยเหลือโรงเรียนเล็ก ๆ ให้เด็กได้เรียนสบาย ๆ ไม่ต้องตื่นแต่เช้าไปเรียนไกล ๆ"

"โรงเรียนขนาดเล็ก ถ้าหากมีบุคลากร มีครูครบทุกระดับชั้น เชื่อว่าโรงเรียนจะสามารถพัฒนาคุณภาพได้ แต่สาเหตุที่เด็กต้องย้ายออกไปเรื่อยๆ เพราะทั้งโรงเรียนมีครูแค่ 2 คน ทำงานทุกอย่าง ส่วนงบประมาณในการพัฒนาก็ควรกระจาย ไม่ใช่กระจุกอยู่กับโรงเรียนดีศรีตำบล โรงเรียนในฝัน สารพัดโรงเรียนผักชี โดยสรุปก็คือ ครูครบ งบประมาณมี โรงเรียนก็จะเป็นโรงเรียน คงสภาพได้เหมือนแรกเริ่มเดิมทีที่ชุมชนเขาได้ร่วมก่อตั้งกันมา"

"เริ่มมาตรการไล่ที่คนจนแล้ว คนจนต้องเดินไกลเพื่อไปเรียน แต่ลูกรัฐมนตรี มีรถและคนขับ พร้อมมือปืน นี่หรือความเท่าเทียมทางสังคม เมื่อเสียภาษีเท่ากัน เมื่อไหร่บ้านเมืองจะกลับมาดีเหมือนเดิม ถ้าโจรถูกกำจัด"

"เห็นด้วยนะที่จะยุบ ร.ร.ขนาดเล็กๆ ที่มีจำนวนครูตามสัดส่วนของนักเรียน แล้วไม่ครบชั้นเรียนในโรงเรียน แต่ให้คิดวิธีช่วยนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับที่ต้องเดินทางจากบ้านเขาไปยังที่เรียนไกลๆ ด้วย ขอฝากอีกเรื่องได้ไหม? ควรยกเลิกการลอกเลียนตั้งชื่อโรงเรียนให้เหมือนกันกับโรงเรียนที่เขาได้สะสมสร้างชื่อเสียงมานานนมแล้ว อย่าปลอมปนหลอกประชาชน ถ้าจะตั้งชื่อร.ร.ในวาระสำคัญของชาติเป็นชื่อเดียวกัน ก็เป็นเรื่องปกติที่จะตั้งได้ แต่อย่ามักง่าย คิดแบบพวกปัญญานิ่ม ไปเอาชื่อโรงเรียนที่เขาชื่อเสียงดีดังอยู่ แล้วให้คนสับสน"

แม้ล่าสุด นายพงศ์เทพ จะออกมาชี้แจงว่า การยุบโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่ถึง 60 คน เป็นการเพิ่มศักยภาพมาตรฐานการศึกษาไทยให้ดีขึ้น โดยจะควบรวมโรงเรียน 2-3 แห่ง ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันเข้าด้วยกัน นักเรียนที่ต้องเปลี่ยนที่เรียน กระทรวงฯ จะจัดรถรับ-ส่ง เพื่อไม่เป็นภาระของผู้ปกครองในเรื่องค่าใช้จ่าย สำหรับพื้นที่ห่างไกลอาจต้องยกเว้น รวมถึงโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเกรงจะกระทบการดูแลความปลอดภัยครูและนักเรียน

ซึ่งคงต้องดูต่อไปว่า รัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญ และสร้างโอกาสทางการศึกษามากน้อยแค่ไหน อย่างกรณีที่เกิดขึ้นนี้ก็พอจะคาดเดากันได้ว่า การศึกษาคงไม่สำคัญเท่ากับการสร้างฐานการเมือง เพราะทีนโยบายประชานิยมกลับทุ่มเงินเป็นล้านล้านบาท แต่ทีงานด้านการศึกษา กลับบอกว่าไม่มีเงินพัฒนาโรงเรียนทุกแห่ง

หรือว่าไม่จริง..



ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE


นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ศึกษาธิการ


กำลังโหลดความคิดเห็น