xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“พงศ์เทพ-ศธ.” แพ้พลังชุมชน ถอยกรูดเลิกยุบ “โรงเรียนเล็ก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชมรมเครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) แห่งประเทศไทย สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย โรงเรียนทางเลือก ตัวแทนโรงเรียนบ้านเรียน (โฮมสคูล) และผู้ปกครองจากชุมชนที่มีโรงเรียนขนาดเล็ก ขณะเข้าพบนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อเสนอความคิดเห็นกรณียุบโรงเรียนขนาดเล็ก
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ตอบโต้กันไปมาผ่านตัวอักษรจนยืดเยื้อมาเกือบ 2 สัปดาห์สำหรับประเด็นยุบ “โรงเรียนขนาดเล็ก” ที่เข้าใจกันว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะเดินหน้าเต็มสูบสั่งยุบกว่า 1.7 หมื่นโรง ล่าสุด กระทรวงศึกษาฯ พร้อมด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ชมรมเครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) แห่งประเทศไทย สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ก็สามารถหาทางลงร่วมกันได้ มิหนำซ้ำยังเป็นหนทางที่เห็นพ้องต้องกันเสียด้วย..

ทางออกที่ว่า..เป็นผลจากการที่ทุกฝ่ายประกอบด้วย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ชมรมเครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) แห่งประเทศไทย สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย โรงเรียนทางเลือก ตัวแทนโรงเรียนบ้านเรียน (โฮมสคูล) นายมีชัย วีระไวทยะ ผู้อำนวยการโรงเรียนมีชัยพัฒนา และผู้ปกครองจากชุมชนที่มีโรงเรียนขนาดเล็ก ได้ร่วมพูดคุยกันแบบเห็นหน้าเห็นตาซึ่งใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2556 ที่ผ่านมา โดยทางกลุ่มผู้มาเยือนหอบซองเอกสารสีน้ำตาลภายในบรรจุรายชื่อผู้คัดค้านการยุบรวมโรงเรียน 18,081 รายชื่อและจดหมายเปิดผนึกขอคืนพื้นที่การศึกษาให้ชุมชนมามอบให้

นายพงศ์เทพได้แถลงถึงผลการหารือว่า “จากการหารือร่วมกันเห็นพ้องต้องกันว่าให้มีการตั้งกรรมการร่วมกัน 1 ชุด เพื่อดูแลปัญหาและแนวทางการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก โฮมสคูล โดยจะให้ทางเครือข่ายฯไปคัดเลือกตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่จะมาเป็นกรรมการ ขณะที่ทางด้าน สพฐ.ก็จะไปคัดเลือกตัวแทนจากภาครัฐและนักวิชาการต่าง ๆ เมื่อได้เรียบร้อยก็จะมีการนัดประชุมเพื่อกำหนดขอบเขตหน้าที่ของกรรมการชุดนี้ที่ชัดเจนอีกครั้ง แต่โดยหลัก ๆ ให้มาหารือเพื่อวางแผนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียน 3 ประเภทดังกล่าว รวมทั้ง นายมีชัย ยังได้เสนอว่าควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีการจัดกิจกรรม CSR เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาจัดการศึกษาด้วย”

เห็นได้ชัดว่า ไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นของการจัดการศึกษาทางเลือก การศึกษาโฮมสคูล ที่ผู้จัดการศึกษาเหล่านี้ใช้โอกาสดังกล่าวมาสะท้อนปัญหาที่สั่งสมมายาวนาน และรอการสังคายนาครั้งใหญ่ โดยหวังให้ฝ่ายราชการยอมรับและให้ชุมชน-เอกชนมามีส่วนร่วมแก้ไขพัฒนา ไม่ใช่ใช้แต่วิธีการของราชการมาแก้ปัญหาอย่างเดียวโดยไม่รับรู้ทุกข์ร้อนของผู้ได้รับผลกระทบ

สำหรับกรณีนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ที่เกิดเสียงก่นด่าไปทั่วบ้านทั่วเมือง ในการหารือร่วมกันนั้น นายพงศ์เทพ ระบุว่า การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เป้าหมายของกระทรวงและเครือข่ายฯ ตรงกันว่า ต้องการจัดการศึกษาที่เป็นประโยชน์แก่เยาวชน แต่วิธีจัดการศึกษาและวิธีทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ สภาพชุมชนแต่ละแห่ง ซึ่งปัจจุบันชุมชนหลายแห่งเข้ามาช่วยโรงเรียนขนาดเล็กจัดการศึกษาได้ดี โรงเรียนกลุ่มนี้จะไม่ถูกยุบรวมหรือควบรวมอย่างแน่นอน แต่ในบางพื้นที่ การควบรวมโรงเรียนอาจทำให้การจัดการศึกษามีคุณภาพดีขึ้น ส่วนในบางพื้นที่ โรงเรียนอยู่ไกล ไม่สามารถควบรวมกับโรงเรียนแห่งใดได้ ก็จะต้องหาทางพัฒนาคุณภาพโรงเรียนแห่งนั้นให้ดีขึ้นให้ได้

เช่นเดียวกับที่ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ชี้แจงว่า ความหมายของ “ยุบโรงเรียน” ไม่ได้หมายความว่าจะเดินหน้ายุบโรงเรียนทันทีถ้ามีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน โรงเรียนกลุ่มนี้แค่เป็นกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น ซึ่ง สพฐ.ได้ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 182 เขตไปทำแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่และให้ส่งมาภายในวันที่ 24 พ.ค.นี้ ถึงตอนนั้นจึงจะรู้ว่าโรงเรียนใดจะอยู่ในข่ายยุบหรือไม่ยุบ ซึ่งในปี 2556 นี้จะไม่มีการยุบโรงเรียนขนาดเล็กแน่นอน แต่อาจจะมีการ “ยุบรวม” หรือ “ควบรวม”

ทว่า การจะดำเนินการได้สำคัญที่สุด คือ ชุมชนต้องยอมรับและมั่นใจได้ว่านักเรียนจะได้ย้ายไปเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพดีกว่า ทั้งนี้ ยืนยันว่าการยุบโรงเรียนของ สพฐ.ไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิ เสรีภาพและโอกาสทางการศึกษาเพราะ สพฐ.มีเงื่อนไขชัดเจนว่า ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และการยุบโรงเรียนต้องไม่ส่งผลกระทบต่อเด็กไม่ทำให้เด็กไร้ที่เรียน

นั่นหมายความว่า การพิจารณายุบโรงเรียนจะไม่เกิดขึ้นแน่นอนโดยที่ชุมชนไม่สมัครใจ เว้นแต่สมัครใจและพร้อมใจกับการที่ “ยุบรวม” คือ ให้เด็กไปเรียนรวมที่โรงเรียนแห่งหนึ่งแล้วยุบที่เหลือทิ้ง หรือ “ควบรวม” คือใช้อาคารสถานที่ของโรงเรียนทุกแห่งเพื่อการเรียนการสอน โดยจะพิจารณาเป็นกรณีไปซึ่งน่าจะสร้างสบายใจได้เปลาะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้เคยนำเสนอข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีตั้งแต่ปี 2551-2555 พบว่า จำนวนนักเรียนลดลงจากประมาณ 8 ล้านคนในปี 2551 เหลือ 7.39 ล้านคน ในปี 2555 ขณะที่จำนวนโรงเรียนของ สพฐ.ก็ปรับลดลงทุกปีเช่นกัน โดยในปี 2551 สพฐ.มีโรงเรียนทั้งหมด 31,821 โรง ในปี 2552 มีจำนวนโรงเรียนปิดไป 313 โรง เหลือ 31,508 โรง ปี 2553ปิด 84 โรงเหลือ 31,424 โรง ปี 2554 ปิดไป 169 โรงเหลือ 31,255โรง และปี 2555 ปิดไป 139 โรงเหลือ 31,116 โรง เท่ากับว่าในช่วง 5 ปี จำนวนโรงเรียน สพฐ.ลดไป 705 โรงซึ่งเป็นไปตามจำนวนประชากรวัยเด็กที่ลดลง แต่หากคำนวณแล้วจะพบว่าแต่ละปีมีโรงเรียนลดจำนวนลงน้อยมาก

นางสอาด โตนวุธ ตัวแทนผู้ปกครองจากโรงเรียนฮ่องแฮพยอมหนองม่วง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวยอมรับว่า ที่โรงเรียนฮ่องแฮฯ นั้นมีเด็กน้อยแค่ 39 คนแม้ที่ผ่านมาคุณภาพการศึกษาจะไม่ดีนัก เพราะเรามีครูแค่ 3 คน ขณะที่ผู้บริหารโรงเรียนก็เพิ่งจะได้รับบรรจุมาไม่นาน แต่ชุมชนก็ไม่ได้นิ่งเฉยพยายามที่จะช่วยเหลือลูกหลานให้ได้เรียน พยายามหาทุนการศึกษาด้วยวิธีการจัดผ้าป่าการศึกษาซึ่งก็ได้เงินมาสนับสนุนมาก ดังนั้น จึงไม่อยากให้กระทรวงฯ ยุบโรงเรียนแต่อยากให้เข้ามาช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพเด็ก ซึ่งพวกตนทุกคนในชุมชนยินดีร่วมมือ

“อยากให้เลิกพูดเสียทีเพราะชุมชนรู้สึกไม่ดีที่มาวันนี้เพราะได้ข่าวว่าจะยุบโรงเรียน ไม่อยากได้ยินคำว่ายุบโรงเรียน และก็ได้ข่าวว่าว่ากระทรวงฯ มีการเพิ่มเงินเดือนให้ครูมากขึ้นซึ่งครูโรงเรียนเล็กก็ได้เงินมากเท่ากับครูที่อื่น ๆ แต่ก็คุณภาพการศึกษาของเด็กก็ไม่ได้ดีขึ้นตามเงินเดือนครูเลย”นางสอาด กล่าวตามประสาคนซื่อ คิดอย่างไรพูดแบบนั้นแม้จะเรียกร้อยยิ้มจากคณะที่มาด้วยกัน แต่ก็ทำเอาผู้บริหารของ ศธ.สะอึกอยู่ในทีหน้าม้านไปตาม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะได้สรุปร่วมเพื่อตั้งคณะกรรมการมาร่วมกันแก้ไขปัญหาก็ตาม แต่ยังมีข้อเสนอในเชิงนโยบายอื่น ๆ ที่รอให้ผู้บริหารนำกลับไปพิจารณาเพื่อดำเนินการ ซึ่ง นายสมบูรณ์ รินท้าว ประธานเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก เปิดเผยว่า ได้ขอให้พัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนชุมชนจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อดูแลชาวบ้านที่ต้องการได้รับการศึกษา และเสนอให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาโรงเรียนชุมชนให้แก่ทุกแห่งปีละ 200,000บาท ขณะเดียวกันขอจัดสรรอัตราครู และครูธุรการด้วย พร้อมกันนี้ขอให้ออกกฎหมายเพื่อให้ท้องถิ่นได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการศึกษามากขึ้น เพราะที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายบังคับทำให้ท้องถิ่นเกี่ยงงอนที่จะมาช่วยเหลือ

ขณะเดียวกันขอให้จัดทำ ร่างพ.ร.บ.บริหารสำนักงานคณะกรรมการบริหารจัดการโรงเรียนชุมชนและโรงเรียนการศึกษาทางเลือกไทย รวมทั้งประสานสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อออกสลากกินนำรายได้มาพัฒนาโรงเรียนชุมชน และให้มีการตั้งคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือกไทย เปิดเผยว่า ศธ.ต้องกระจายอำนาจลงไป เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ และที่ผ่านมาพูดกันผ่านสื่อตลอดแต่วันนี้ได้มาทำความเข้าใจร่วมกันแล้วว่าการจัดการศึกษาไม่ได้เป็นบทบาทของกระทรวงฝ่ายเดียว จะต้องให้ทุกฝ่ายมามีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นองค์กรส่วนท้องถิ่นหรือชุมชน รวมถึงการแก้ไขปัญหาโรงเรียน ส่วนข้อเสนอให้มีการตั้ง “คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กและกลุ่มการศึกษาทางเลือก” ทางสมาคมฯ กลุ่มเครือข่ายฯ ได้หารือและเสนอว่า คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวควรประกอบด้วยตัวแทนจากทุกฝ่าย ดังนี้ ผู้แทนจากกลุ่มโรงเรียนเล็ก 4 ภาค จำนวน 8 คน , ผู้แทนจากชุมชนและองค์กรปกค รอง ทั้งถิ่นจำนวน 2 คน , กลุ่มการศึกษาทางเลือก จำนวน 5 คน , ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน , นักกฎหมาย และตัวแทนคณะกรรมการภาครัฐ (สพฐ.) และจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะบทบาทในด้านการกำหนดนโยบาย โดยหลังจากนี้จะมีการเสนอชื่อแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ โดย รมว.ศึกษาธิการ เป็นผู้รับรอง

พบหน้ากันคราวนี้ ว่าด้วยการบอกเล่าปัญหาและความในใจล้วน ๆ บรรยากาศดูจะชื่นมื่นเป็นที่พอใจกันทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไร คงต้องรอดูต่อไปว่า คณะกรรมการฯ ที่กำลังรอฟักตัวจากไข่เร็ว ๆ วันนี้จะมีแผนพัฒนาและทิศทางดำเนินการเช่นไร


กำลังโหลดความคิดเห็น