xs
xsm
sm
md
lg

ถอดปริศนา การชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์ (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

กรอบความคิดที่ชี้นำการปฏิบัติการณ์งานทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์กว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาคือการยึดติดกับเกมการเมืองในสภาและสนามการเลือกตั้งเป็นหลัก แต่เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้ขยายแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองไปสู่การชุมนุมซึ่งเป็นการเมืองนอกสภาและเป็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธมาโดยตลอด จึงเกิดคำถามว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์เลือกแนวทางนี้ และมีขอบเขตของการใช้แนวทางนี้กว้างขวางเพียงใด เพื่อบรรลุเป้าประสงค์อะไร

เพื่อทำความเข้าใจกับการตัดสินใจเลือกเดินแนวทางการชุมนุมของพรรคประชาธิปัตย์อย่างละเอียด เราต้องพิจารณาเงื่อนไขหลักสองด้านประกอบกันคือ ด้านโครงสร้างหรือบริบททางการเมือง กับด้านเจตจำนงของผู้กระทำซึ่งในที่นี้ก็คือผู้นำทางความคิดของพรรค

บริบททางการเมืองไทยในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้านแต่ที่สำคัญซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบสามประการคือ พรรคการเมืองคู่แข่ง ภาคประชาสังคม และพฤติกรรมการเลือกตั้ง

ก่อนปี พ.ศ. 2544 นั้น สภาพพรรคการเมืองคู่แข่งของพรรคประชาธิปัตย์มีลักษณะกระจัดกระจาย ไม่เป็นเอกภาพ พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีศักยภาพในสนามการเลือกตั้งค่อนข้างสูงกว่าพรรคอื่นๆ แม้จะได้รับเลือกมาเป็นพรรคที่มีเสียงมากเป็นลำดับสองเรื่อยมาหลายครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2531 แต่จำนวน ส.ส.ที่ได้รับเลือกก็ห่างจากพรรคที่ได้รับเลือกเป็นพรรคลำดับหนึ่งไม่มากนัก อีกทั้งพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งมาเป็นพรรคลำดับหนึ่งมักจะเกิดจากการผสมรวมกันของพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กหลายพรรคในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคที่รอจังหวะสองทางการเมือง และมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลหลายครั้งเมื่อเกิดวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ทำให้พรรคลำดับหนึ่งที่จัดตั้งรัฐบาลต้องล้มไป

สถานการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ซึ่งมีบทบัญญัติที่กระทบกับพรรคการเมืองทุกพรรค เช่น การกำหนดเงื่อนไขเวลาในการเป็นสมาชิกพรรคเป็นคุณสมบัติประการหนึ่งในการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้การระดมหรือจัดซื้อนักการเมืองที่มีศักยภาพในการเลือกตั้งก่อนจะถึงวันเลือกตั้งลดลง หรือข้อกำหนดอื่นๆที่ทำให้ผู้บริหารพรรคมีอำนาจสูงในการจัดการกับสมาชิกพรรคที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากแนวทางที่ผู้บริหารพรรคกำหนด

แต่เงื่อนไขที่กระทบกับพรรคประชาธิปัตย์โดยตรงคือ การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมาพรรคหนึ่งชื่อ พรรคไทยรักไทย องค์ประกอบของพรรคนี้แตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองอื่นๆก่อนหน้านี้ไม่น้อย ในช่วงเริ่มต้น พรรคนี้ประกอบด้วย กลุ่มทุนนักธุรกิจสื่อสารซึ่งมีกำลังเงินมหาศาลสำหรับใช้จ่ายในการเลือกตั้ง กลุ่มนักวิชาการและอดีตแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการเมือง และกลุ่มอดีตส.ส.ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในสนามการเลือกตั้ง

ภายใต้องค์ประกอบดังกล่าว พรรคไทยรักไทยจึงสร้างตัวแบบกรอบคิดเชิงยุทธศาสตร์อันแข็งแกร่งเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งสามประการคือ นโยบายประชานิยม การสร้างภาพลักษณ์ผู้นำพรรค และการจัดตั้งหัวคะแนนเชิงอุปถัมภ์ในพื้นที่ ผลที่ตามมาทำให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคประชาธิปัตย์อย่างท่วมท้น

ระหว่างการเป็นรัฐบาลพรรคไทยรักไทยก็ดำเนินการขยายการกุมสภาพทางการเมือง กระชับอำนาจทั้งในระบบราชการและระบบพรรค พร้อมกันนั้นก็ได้ขยายฐานทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนในพรรคโดยการสร้างโครงการขนาดใหญ่เอาไว้เป็นขุมทรัพย์ที่คอยตักตวงอย่างไม่เหือดแห้ง จึงทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2548 อย่างท่วมท้นอีกครั้งซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งของประเทศไทย ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังมีกรอบคิดแบบเดิม มีการปรับตัวน้อยมาก ที่ทำได้ก็มีเพียงแต่ลอกเลียนแบบนโยบายประชานิยมบางอย่างของพรรคไทยรักไทยเท่านั้น

การได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงที่มากมายมหาศาลทำให้ผู้นำพรรคไทยรักไทยตกลงไปสู่หล่มโคลนแห่งอำนาจอย่างโงหัวไม่ขึ้น มีการตัดสินใจและการดำเนินงานทางการเมืองแบบก้าวร้าว หยิ่งผยอง และไม่แยแสทั้งกฎหมายบ้านเมืองและจารีตประเพณีของสังคมไทย อีกทั้งการทุจริตและความบ้าคลั่งของการใช้อำนาจก็ขยายออกไปอย่างกว้างขวางในทุกระดับ

แต่ทว่ากฎของระบบมักจะทำงานของมันไปเรื่อยๆไม่ว่าใครจะรู้ตัวหรือไม่รู้ก็ตาม เมื่อมีใครหรือกลไกใดทำให้ระบบเกิดเสียสมดุลจนเกินกว่าที่ระบบจะรับได้ ระบบก็จะตอบโต้ในรูปใดรูปหนึ่งเสมอ กรณีนี้ก็เช่นเดียวกันเมื่อผู้บริหารของพรรคไทยรักไทยกระทำจนระบบการเมืองไทยเสียดุลยภาพอย่างไม่เคยมีมาก่อน ระบบการเมืองก็โต้กลับอย่างรุนแรง

พรรคไทยรักไทยอันทรงอำนาจต้องเผชิญหน้ากับภาคประชาชนที่รวมพลังกันต่อต้านในนามกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) อันเป็นการต่อต้านที่ทรงพลังเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นการรวมตัวของกลุ่มในสังคมแทบทุกกลุ่มซึ่งมีเป้าประสงค์ร่วมกันคือการขจัดรัฐบาลพรรคไทยรักไทยหรือระบอบทักษิณที่ลุแก่อำนาจ ทุจริตคอรัปชั่น ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำลายนิติรัฐและจารีตประเพณีของสังคมไทย

แม้พรรคไทยรักไทยจะมีความแข็งแกร่งด้วยจำนวน ส.ส.ในสภาและมีอำนาจรัฐมากเพียงใดก็ต้องสั่นคลอนเมื่อเผชิญกับพลังของประชาชน ผู้นำพรรคไทยรักไทยพยายามรักษาอำนาจของตนเองทุกวิถีทาง แต่ทว่าไม่สามารถทนทานกับพลังของภาคประชาชนที่โหมกระหน่ำลงไปได้ เสถียรภาพของรัฐบาลง่อนแง่น การใช้ยุทธวิธีเพื่อรักษาอำนาจไม่เกิดประสิทธิผลใดๆ โมเมนตัมที่เริ่มจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนได้ส่งผลกระทบไปสู่สถาบันและองค์กรหลักทุกองค์กรในสังคม และในที่สุดพรรคไทยรักไทยก็พบกับจุดจบทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กองทัพเป็นสถาบันสุดท้ายที่ผสมกับพลังภาคประชาชนเพื่อจัดการกับรัฐบาลเผด็จการระบอบทักษิณ จากนั้นก็ได้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ขึ้นมา แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 หลายอย่าง แต่ทว่ากรอบคิดอันพลังในการเอาชนะการเลือกตั้งของระบอบทักษิณยังคงดำรงอยู่ และถูกถ่ายทอดไปสู่พรรคพลังประชาชน อันเป็นพรรคที่ถูกตั้งขึ้นมารองรับองค์ประกอบ กรอบคิด และยุทธศาสตร์เดิมของระบอบทักษิณ ดังนั้นเมื่อมีการเลือกตั้งในพ.ศ. 2550 พรรคพลังประชาชนจึงประสบชัยชนะอย่างง่ายดาย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็พ่ายแพ้เช่นเดิมและแพ้อย่างยับเยินอีกด้วย

รัฐบาลของพรรคพลังประชาชนอันเป็นตัวแทนของระบอบทักษิณ สืบทอดแนวคิดและยุทธศาสตร์แบบเดิม เหิมเกริม ลุแก่อำนาจไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งยังพยายามช่วยเหลืออดีตผู้นำพรรคไทยรักไทยที่ถูกดำเนินคดีจนต้องติดคุก ในท้ายที่สุด พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ได้ออกมาแสดงพลังเพื่อขจัดสิ่งที่หลงเหลือจากระบอบทักษิณอีกครั้งหนึ่ง แม้จะใช้เวลายาวนาน แต่ในท้ายที่สุดก็สามารถสั่นคลอนรัฐบาลตัวแทนของระบอบทักษิณได้

ศาลได้พิพากษาให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีอันเป็นตัวแทนของระบอบทักษิณหลุดพ้นจากตำแหน่ง และเมื่อมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ซึ่งเป็นตัวแทนของระบอบทักษิณอีกคนเข้ามารับตำแหน่งแทน ก็ใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อนในการปราบปรามประชาชน แต่บุคคลนี้ก็ดำรงตำแหน่งอยู่ไม่นาน ต้องหลุดจากตำแหน่งด้วยเหตุว่าพรรคพลังประชาชนถูกยุบโดยคำสั่งศาลจากการทุจริตเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค

พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งรอโอกาสมาอย่างยาวนานจึงเข้าไปฉวยโอกาสนั้นทันที ชักชวนและช่วงชิง ส.ส.จากพรรคพลังประชาชน เอามาผสมเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้การสนับสนุนของกองทัพ จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด แต่ทว่าเมื่อครองอำนาจพรรคประชาธิปัตย์ยังคงดำรงกรอบคิดแบบเดิม แม้ว่าจะพยายามใช้นโยบายประชานิยมซึ่งลอกเลียนมาจากพรรคไทยรักไทย ก็ทำได้ไม่มีประสิทธิผลเท่า ขณะเดียวกันก็ไม่คิดจะดำเนินการกวาดล้างและขจัดการทุจริตคอรัปชั่นให้เป็นรูปธรรม ตรงกันข้ามกลับทำเฉยและดูเหมือนจะรู้เห็นเป็นใจหรืออาจจะมีส่วนร่วมในขบวนการทุจริตของพรรคการเมืองที่ตนเองดึงเข้ามาร่วมรัฐบาลอีกด้วย อีกทั้งยังไม่ส่งเสริมการเมืองภาคประชาชนให้เข้มแข็ง กลับทอดทิ้งอย่างไม่แยแส

ฝ่ายระบอบทักษิณเมื่อสูญสิ้นอำนาจ พวกเขาก็สรุปบทเรียนและเห็นถึงความทรงพลังของการเคลื่อนไหวมวลชน ด้วยความที่มีบุคลากรเป็นอดีตพรรคคอมมิวนิสต์เก่า มีนักปราศรัย มีเงินทุนจำนวนมหาศาล มีเครือข่ายนักการเมืองระดับท้องถิ่น มีตำรวจ และมีหัวคะแนนนักเลงอันธพาล พวกเขาจึงดำเนินงานทางการเมืองจัดตั้งมวลชนอย่างเป็นระบบในขอบเขตที่กว้างขวาง ใช้สีแดงเป็นสัญลักษณ์ เตรียมการเปิดศึกเขย่าเสถียรภาพรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

เริ่มจากเคลื่อนไหวแบบการโหมโรงใน พ.ศ. 2552 และขยับไปสู่การรบเต็มรูปแบบโดยอาศัยการเคลื่อนไหวมวลชนผสมกับกองโจรนอกรูปแบบที่รู้จักกันในนาม “ชายชุดดำ” ใช้ทั้งการชุมนุมแบบปกติและความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อสร้างสถานการณ์เผาบ้านเผาเมือง วางแผนให้มีคนเสียชีวิต ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้เป็นเงื่อนไขทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และสถาบันหลักของสังคม ทั้งยังนำไปสร้างเป็นกระแสทางการเมืองในเวทีเลือกตั้งอีกด้วย จนทำให้พรรคการเมืองชื่อใหม่ของระบอบทักษิณได้รับชัยชนะกลับมาอีกครั้งใน พ.ศ. 2554 และครองอำนาจมาจวบจนถึงปัจจุบัน

ความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งหลายครั้งหลายคราว ผนวกกับการเห็นความทรงพลังของมวลชนทั้งในแง่การสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล และสามารถนำไปสร้างกระแสในสนามการเลือกตั้ง ทำให้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์เริ่มตื่นจากการหลับใหล ตระหนักถึงพลังของมวลชนในบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป และทำท่าจะขยับตัวจากกรอบคิดเดิมของตนเอง แต่พรรคประชาธิปัตย์จะทำได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด และทำเพื่ออะไรนั่นเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณากันต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น