xs
xsm
sm
md
lg

เสวนาอำนาจนอก รธน.“อลงกรณ์” พูดนอกพรรคต้องปฏิรูป ปชป.ใหม่ “ส.ศิวรักษ์” โวยทุนต่างชาติบีบรัฐไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภานักศึกษา มธ.จัดเสวนา หัวข้อร้อน การเมืองไทยกับอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ “นัก กม.อิสระ” ด่ากลุ่มอำนาจนอก รธน.ชอบอ้าง รธน.เป็นหน้ากาก “หมอตุลย์” ชี้ รัฐประหารไม่แทรกหาก รธน.เข้มแข็ง “บก.ลายจุด” ฉะอำนาจนอกระบบแฝงตัวใน ม.309 กัดกิน ปชต. “อลงกรณ์” ชี้ 81 ปี ปชต. รธน.ไทยล้มเหลว ขอคนไทยร่วมสนับสนุนสถาบันการเมืองปฏิรูปประเทศ “ส.ศิวรักษ์” เชื่อกลุ่มทุนต่างชาติ เป็นอำนาจใหญ่บีบรัฐไทย แขวะนักการเมืองหาประโยชน์จากประชาชนไร้ความจริงใจ

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 30 มิ.ย.ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดงานเสวนาเชิงวิชาการภายใต้หัวข้อ “การเมืองไทยกับอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ : ทิศทางอนาคตและการปฏิรูปการเมือง” โดยมีนักการเมืองและนักวิชาการเข้าร่วมอย่างคับคั่ง อาทิ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ (ส.ศิวรักษ์) นายสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มเสื้อหลากสี และนายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น และมีประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังแน่นห้องประชุม ขณะเดียวกัน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยดูแลปลอดภัยอย่างเข้มงวดกว่า 20 นาย

นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า คำว่าอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ คือ อำนาจที่สามารถยึด บิดเบือน หรือยกเว้นและยกเลิก โดยนำตัวรัฐธรรมนูญมาเป็นเกราะกำบังป้องกันตนเอง อำนาจที่บิดเบือนแบบนี้ เช่น สถาบันการรัฐประหาร หรือลัทธิการรัฐประหารที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับนำบุคคลที่อยู่นอกอำนาจเข้ามา โดยกลุ่มที่จะทำการรัฐประหารมักจะมีการกล่าวอ้างว่า เข้ามาเพื่อแก้ไขในสภาวะสังคมที่กำลังจะแตกแยก กฎหมายไม่สมบูรณ์ หรือมีการทุจริตเกิดขึ้นบ้าง จึงมีความจำเป็นต้องเข้ามาแก้ไข ด้วยการทำรัฐประหาร โดยมีเกราะป้องกัน คือ มาตรา 309 ที่รับรองว่าการรัฐประหารชอบด้วยกฎหมาย

“การรัฐประหารเป็นอำนาจนอกระบบ และเป็นเหมือนการไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจ หรือให้ประชาชนได้ลองดูว่า รัฐบาลที่เลือกมานั้น ทำหน้าที่ได้มากน้อยเพียงใด เพราะหากรัฐบาลที่เลือกมาเกิดการทุจริตขึ้น ก็ให้ดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย แต่ขณะนี้เรากำลังประสบอยู่กับปัญหา 4 ปีซ่อม 4 ปีสั้นของรัฐบาล เนื่องจากไม่มีการเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้แสดงความเป็นตัวตน แล้วตรงนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนดีหรือเลว หากลองให้ พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่จนครบวาระ 4 ปี หรือ 8 ปี จนพบว่าช่วงเวลาดังกล่าว เกิดการคอร์รัปชันขึ้นมา ก็ปล่อยให้ศาล หรือองค์กรอิสระเข้าไปตรวจสอบ ไม่ใช่ทำการรัฐประหาร ประชาชนก็จะได้รู้และลงโทษเอง ยิ่งหากลองมองไปยังการชนะเลือกตั้งครั้งที่ 2 แม้พรรคของทักษิณ จะชนะการเลือกตั้งด้วยเสียงท้วมท้นแต่ท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับไม่มั่นใจ พร้อมยอมรับว่า หากเป็นนายกฯ อีกสมัย ต่อไปคงต้องเลิกเล่นการเมืองแล้ว พร้อมกับเสื้อเหลืองที่ชุมนุมที่สวนลุมพินี และกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายก็กิดการรัฐประหารตัดตอนเสียก่อน ฉะนั้นเราควรให้ประชาชนได้ลิ้มลองรสชาติดูบ้าง ไม่ใช่จะทำแต่รัฐประหาร” นายวีรพัฒน์ กล่าว

นายวีรพัฒน์ กล่าวด้วยว่า พวกกลุ่มอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ มักจะชอบอ้างรัฐธรรมนูญมาเป็นหน้ากาก โดยมักจะอ้างว่าที่ทำการเมืองไทยกับอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ เพราะมีนักการเมืองโกงกินบ้านเมือง ฉะนั้น ขอย้ำว่า อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถแก้ไขอำนาจนอกรัฐธรรมนูญได้ แต่ควรปล่อยให้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ซึ่งก็อยากถามว่าวันนี้รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีจุดยืนในการรัฐประหารอย่างไร หรือการแก้ไขมาตรา 309 อีกหรือไม่ ไม่ใช่จะอยู่เงียบๆ ให้อยู่ครบวาระอย่างเดียว ขณะนี้ต้องมีการแก้ไขมาตรา 309 ได้แล้ว เพราะนอกจากมาตรา 309 จะเป็นเกราะให้กลุ่มรัฐประหารแล้ว ก็ยังเป็นเกราะกำบังให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เช่นเดียวกัน เพราะทำให้ภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ กลายเป็นเหมือนเหยื่อทางการเมือง จนปิดในส่วนอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้ทาง นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำกลุ่มนิติราษฎร์ เกิดเคยเคลื่อนไหวตรวจสอบ พ.ต.ท.ทักษิณ มาก่อน แต่ท้ายที่สุดวันนี้ก็ต้องวิจารณ์เรื่องผลพ่วงจากการทำรัฐประหาร

นายตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเสื้อหลากสี กล่าวว่า เมื่อพูดถึงอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ จะต้องนึกถึงการทำรัฐประหาร และทุกรัฐบาลก็กลัวคำว่ารัฐประหาร ทั้งรัฐบาลเพื่อไทย หรือประชาธิปัตย์ โดยการทำรัฐประหารมันอยู่ได้ไม่นานหรอก แต่กลับเป็นพวกผีปิศาจในหัวนักการเมือง ที่กลัวจะเสียอำนาจนั่นเอง ที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร นอกจากอำนาจในการทำรัฐประหารแล้ว ก็ยังมีอำนาจเงิน ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ เช่น กลุ่มบริษัททั้งในและนอกประเทศ ที่เข้ามาเป็นนายทุนให้พรรคการเมืองต่างๆ เมื่อพรรคการเมืองนั้นได้ขึ้นเป็นรัฐบาล บริษัทกลุ่มทุนพรรคเหล่านี้ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องร้ายอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีอำนาจของสื่อ ที่ถือว่าทรงพลังอำนาจมาก เนื่องจากสามารถบิดเบือนความเป็นประเทศได้เลย ยกตัวอย่างกรณีการบิดเบือนสื่อในยุคฮิตเลอร์ ในประเทศเยอรมนี จนทำให้เกิดสงครมโลกครั้งที่ 2 หรือกับข่าวบิดเบือนที่ว่า ตนจะขอนายกฯ พระราชทาน ซึ่งไม่เป็นความจริง

นายตุลย์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องม็อบจะเป็นอำนาจนอกรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรื่องนี้หากถามเสื้อแดง ก็จะบอกว่าตนเองเป็นประชาธิปไตย แต่เมื่อเป็นกลุ่มหน้ากากขาว เรื่องนี้ทางพรรคเพื่อไทยก็บอกแล้ว เป็นการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนี้ตนขอยืนยันว่า ม็อบเป็นอำนาจหนึ่งในรัฐธรรมนูญ ในข้อยกเว้นว่าการชุมนุมนั้น ต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของคนอื่น ประเทศไทยจะอยู่ได้ โดยไม่เกิดการรัฐประหารนั้น 3 อำนาจ ทั้งบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ จะต้องแข็งแกร่งและถ่วงดุลกันเองได้เสียก่อน นอกจากความกลัวรัฐประหารแล้ว สิ่งหนึ่งในขณะนี้ที่น่ากลัว คือ ระบบเลือกตั้งนิยม ที่กลุ่มสนับสนุนเสียงข้างมาก จะออกมาขัดขวางกลุ่มที่ต้องการตรวจสอบรัฐบาลนั่นเอง

นายตุลย์ กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะมีการแก้ไขมาตรา 309 ซึ่งถือว่าเป็นมาตราที่แอบอิงประชาธิปไตย ที่ยังเป็นเสี้ยวของเผด็จการ และเห็นว่าอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ อย่างการเลือกตั้ง ส.ว.ส่วนฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะคณะตุลาการศาลนั้น หากมาจากการเลือกตั้ง ตรงนี้อาจจะกลายเป็นปัญหา เพราะอาจจะเกิดการเลือกข้าง และจะทำให้กระบวนการวุ่นวายอีกมาก

“การที่เสื้อแดงบางกลุ่มเรียกร้องให้เอารัฐธรรมนูญ 40 ที่เป็นประชาธิปไตยในสายตาของเขากลับมา แต่พอกรณีศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง ตัดสินไม่ถูกใจฝั่งเสื้อแดง เสื้อแดงก็บอกให้แก้รัฐธรรมนูญ ตัดศาลยุบศาลเหล่านั้นทิ้ง ตรงนี้ถือว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วหรือ ผมอยากการปฏิรูปประเทศไทย ที่เริ่มต้นจากตัวประชาชนเอง เพราะประชาชนส่วนใหญ่เกินกว่า 80% ของประเทศ ยังปากกัดตีนถีบ และยังหวังพึ่งนโยบายประชานิยมของพรรคการเมือง ไม่ใช่กลุ่มคนที่ทำมาหากินไปสบายวันๆ เมื่อเห็นอย่างนี้พรรคการเมืองก็มองหาช่องทาง เพื่อที่จะหานโยบายจากประชนเหล่านั้นว่า จะเอาชนะการเลือกตั้งอย่างไร ตรงนี้เป็นปัญหารากเหง้าของเรา ที่ทำให้เราไม่เห็นประชาธิปไตยที่แท้จริง” นายตุลย์ กล่าว

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวว่า ก่อนที่จะมีอำนาจรัฐธรรมนูญนั้น อำนาจทั้งหลายจะรวมศูนย์อยู่ในระบบกษัตริย์ จนมาถึงปี 2475 จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการปกครอง เรามีรัฐธรรมนูญ และคาดหวังว่าเราจะปกครองด้วยรัฐธรรมนูญนั่นเอง แต่ส่วนตัวเห็นว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้หมายความว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริงด้วย ฉะนั้น เราจึงได้เห็นอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจนอกประชาธิปไตย จากบางองค์กรที่มักอ้างคำว่าใช้อำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ หรืออำนาจมาจากประชาชน เพื่อทำการบางอย่างแบบน่ารังเกียจ ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ควรจะมีการตีกรอบเสียก่อนว่า แต่ละองค์กรมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญแค่ไหนกันบ้าง

“อำนาจนอกระบบที่เข้าไปทำลายหลักประชาธิปไตยเมื่อปี 2549 พบว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ยังคงมีชีวิตอยู่ และยังมีอำนาจในรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 309 ที่เป็นบ้านและกองทัพที่ยังมีชีวิตอยู่ในรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นเราต้องเอาสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ออกไป โดยการนำหลักประชาธิปไตย เข้าไปจับคู่และโชว์ให้เห็นว่ามาตรา 309 นั้น เป็นประชาธิปไตยของปลอม และองค์กรต่างๆ ควรจะยืดโยงกับประชาชน อย่าง ส.ว.ควรจะมาจากการเลือกตั้ง หากเรื่องมากนัก ก็ขอให้ยกเลิกไปเลยไอ้พวก ส.ว.เพื่อที่จะได้เริ่มการปฏิรูปประเทศไทย แต่ขอย้ำว่า แนวความคิดเพื่อทำให้เกิดรัฐประหาร เพื่อที่จะหวังให้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือให้อีกฝ่ายต้องตกเหวนั้น จะไม่มีทางเกิดขึ้น และยิ่งหากหวังให้มีการถอนรากถอนโค่นกลุ่มคู่ขัดแย้ง ก็ยิ่งไม่มีทางเกิดขึ้นจริงได้” นายสมบัติ กล่าว

นายสมบัติ กล่าวต่อว่า แต่ตนขอเตือนเสื้อแดงว่า บางครั้งเราเห็นอำนาจนอกระบบ และเราจะใช้อำนาจไปขับไล่เขา ตรงนี้จะกลายเป็นหลุมพรางได้ อย่างกรณีของขวัญชัย ไพรพนา แกนนำเสื้อแดงอุดรฯ ขู่ว่าจะเอาเสื้อแดงเป็นพันชีวิตไปรุมกระทืบกลุ่มหน้ากากขาวนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิด และนายขวัญชัย ก็เป็นเหมือนคนกลุ่มเดียวที่ทำลายประชาธิปไตย แต่แค่สวมใส่เสื้อสีแดงเท่านั้น ส่วนปัญหาของพรรคเพื่อไทย ที่ยังไปไม่ถึงความเป็นพรรคมวลชน และไม่ยอมที่จะปฏิรูปพรรคตัวเองนั้น อาจจะเกิดจากคนในพรรคตกอยู่ในสถานการณ์สู้รบ ติดอยู่ในสงครามกับพรรคประชาธิปัตย์ อีกอย่างเมื่อพรรคเพื่อไทยมีอำนาจแล้ว ก็ไม่กล้าที่จะคายอำนาจเหล่านั้น ฉะนั้นคงถึงเวลาแล้วที่มวลชนต้องมีการกดดันจากภายนอก ให้เกิดการปฏิรูปพรรคเพื่อไทยเสียที

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า อำนาจนอกรัฐธรรมนูญนั้น เป็นอำนาจที่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ ทั้งที่มาจากทหาร หรือกลุ่มทุนสามาย์ ที่เข้ามาทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง ซึ่งต้องยอมรับว่าตั้งแต่ปี 2475 ผ่านไปกว่า 81 ปีแล้ว เรายังไม่สามารถตอบได้ว่า ประเทศไทยจะเดินไปทิศทางไหน แต่เรายังพูดเรื่องรัฐประหาร เรื่องคอรัปชั่น เรื่องคนที่ต่างความคิดที่ตบตีกันอยู่เลย เหมือนเราไม่เคยหลุดพ้นไปจากการทำรัฐประหาร แต่วันนี้เริ่มจะเข้าสู่จุดเปลี่ยนของประชาธิปไตย ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแล้ว ฉะนั้นเราควรจะมีการปฏิรูประบบโครงสร้างต่างๆ โดยเวลา 22 ปีที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะตนไม่เห็นด้วยที่จะยอมรับอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ และที่ตนต้องการให้มีการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ เพราะตนมองประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่มองแค่พรรคการเมืองอย่างเดียว

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อว่า โดยขณะนี้เรากำลังประสบกับวิกฤต 5 ข้อ คือ 1.ปัญหาการแข่งขันของประเทศ 2.ปัญหาการศึกษาที่สอบตกยกประเทศ เห็นได้จากที่ครูยังมีการโกงข้อสอบเลย 3.ปัญหาคอรัปชั่นที่รุนแรงและกำลังเกาะกินประเทศ ซึ่งนักการเมืองเป็นกลุ่มที่คอรัปชั่นมากที่สุด 4.ปัญหาความเหลื่อมล้ำ 5.ปัญหาสังคมที่เสื่อมโทรม โดย 5 วิกฤตนี้ต้องมีคำว่าจุดเริ่มต้นก่อน ไม่ว่าใครจะชอบนักการเมืองพรรคไหนก็ตาม ตนมองว่านักการเมืองเป็นตัวขับเคลื่อนอำนาจ และเป็นตัวแทนของประชาชนที่มีบทบาทสำคัญให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งอยากให้ประชนช่วยสนับสนุนสถาบันการเมือง ไม่ใช่สถาบันนักการเมือง

“ประชาธิปัตย์แม้เป็นพรรคเก่าแก่ ที่เป็นทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล และบางช่วงบางเวลามีการเปลี่ยนแปลงบ้าง แต่วันนี้พรรคมีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งขณะนี้กำลังจะมีการปฏิรูปพรรคครั้งใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมาถูกมองว่าอิงแอบฝ่ายเผด็จการ ไม่ได้เดินตามหลักประชาธิปไตย ฉะนั้นเราจะต้องปฏิรูปตั้งแต่จุดยืน และอดุมการณ์ของพรรคกันใหม่หมด” นายอลงกรณ์ กล่าว

นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียน และปัญญาชาวสยาม กล่าวว่า อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ตรงนี้อยากจะชี้ให้เห็นว่า การเมืองเป็นการแบ่งสรรปันอำนาจ โดยประเทศไทยเป็นรัฐเล็กๆ ที่อยู่ภายใต้อภิมหาอำนาจ ทั้งประเทศสหรัฐฯและจีน กลุ่มประเทศเหล่านี้ได้มีอำนาจเหนือกว่าเรา ซึ่งประเทศไทยก็ยอมโงหัวให้ประเทศอภิมหาอำนาจเหล่านี้ รวมถึงยังมีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญอย่างกลุ่มทุนต่างชาติที่เข้ามาบีบรัฐไทย อย่างกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ รู้ดีว่า มีอำนาจเหนือรัฐไทย เราต้องตีโจทย์เหล่านี้ให้แตกเสียก่อน นอกจากนี้นับตั้งแต่ก่อนปี 2475 ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และในปัจจุบันนี้ก็ยังเป็นในแง่มุมเดิม ที่ขาดการตรวจสอบต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถาบัน แต่ตนมองว่าในการเมืองไทย ไม่มีพรรคไหนที่มองประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้งเลย พรรคเพื่อไทยมองแต่ผลประโยชน์ที่จะได้จากประชาชนเท่านั้น รวมถึงเสื้อเหลืองและแดงก็ไม่เคยลงไปเห็นความเดือดร้อนของมวลชนตัวเองอย่างแท้จริงเลย








กำลังโหลดความคิดเห็น