หน.ปชป.นำแกนนำพรรคแถลงข่าว ยันรัฐบาลลดราคาจำนำข้าวเหลือ “หมื่นสอง” ไม่ตรงจุด ชี้ความเสียหายเกิดจากคอรัปชั่นและส่งออก ซัดบิดเบือนหาว่าลดราคาจำนำเพราะมีคนค้านโครงการ แนะถ้าใช้หลักประกันรายได้จะไม่กระทบกลไกตลาด “หมอวรงค์” โต้ม็อบเชลียร์รัฐกล่าวหา ยันไม่มีอำนาจ แค่เรียกร้องรัฐบาลหยุดโกง ด้าน “เกียรติ” ชี้ชาวนาไม่ได้กำไรตันละ 4 พันตามที่รัฐบาลอ้าง
วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำทีมแกนนำพรรค ประกอบด้วย นายกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก แถลงจุดยืนพรรคเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ที่มีการปรับลดราคาจำนำข้าวจาก 15,000 บาทเหลือ 12,000 บาท ว่าจุดยืนของพรรคเกี่ยวกับปัญหาข้าว การช่วยเหลือเกษตรกรและโครงการจำนำข้าวที่พรรคได้พูดและปฏิบัติมาโดยตลอด คือ ในวันที่พรรคเป็นรัฐบาลได้ตัดสินใจยกเลิกโครงการจำนำข้าวที่มีการเปิดรับจำนำสูงกว่าราคาตลาด เพราะเป็นโครงการที่สร้างปัญหามากในเรื่องการบริหารจัดการ ขาดทุน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรส่วนใหญ่ได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านการเงิน การคลัง มีระบบโควต้า จึงได้ยกเลิกการรับจำนำเปลี่ยนการช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการประกันรายได้เกษตรกรแทน ซึ่งช่วยเหลือเกษตรกรได้ครอบคลุมทั่วถึงมากกว่า แม้แต่รัฐบาลชุดนี้ก็ยอมรับว่าเกษตรกรได้ประโยชน์สูงกว่าโครงการรับจำนำประมาณ 2-3 เท่า เกษตรกรที่ปลูกข้าวกินเอง หรือเหลือขายเล็กน้อย ได้ประโยชน์จากโครงการประกันรายได้แต่ไม่ได้ประโยชน์จากการรับจำนำของรัฐบาลชุดนี้
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ประกาศรับจำนำข้าวราคา 15,000 บาทต่อตัน จำนำทุกเม็ดไม่มีโควต้า เสนอเป็นนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งในการอภิปรายตั้งแต่วันแรกพรรคประชาธิปัตย์ ได้คาดการณ์และท้วงติงว่าโครงการนี้จะนำไปสู่ความเสียหายหลายมิติ คือ การที่รัฐบาลประกาศรับจำนำข้าวสูงกว่าราตคาตลาดทุกเมล็ด รัฐบาลกลายเป็นผู้ซื้อข้าวทั้งหมดและกลายเป็นพ่อค้ารายเดียวไปโดยปริยาย โดยซื้อข้าวสูงกว่าราคาตลาด 40-50% ซึ่งพรรคติงว่าจะเกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การรับซื้อข้าว โกงความชื้น น้ำหนัก การออกเอกสารราชการ มีการทุจริตในการบริหารสต๊อก การรักษาคุณภาพข้าว และการระบายข้าวที่จะขาดความโปร่งใส เพราะต้นทุนสูงกว่าตลาด ปลายทางก็จะเกิดความเสียหายต่อการส่งออกข้าวไทยแข่งขันไม่ได้ เกิดปัญหาต่อสถานะการคลังอย่างรุนแรง โดยมีการคำนวณมาตลอดว่าการขาดทุนในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้าน แต่รัฐบาลได้ชี้แจงว่าสิ่งที่พรรควิจารณ์หรือท้วงติงนั้นจะไม่เกิดขึ้น โดยรัฐบาลบอกว่าโครงการจำนำข้าวนอกจาก การซือข้าวเกษตรกรในราคาสูงแล้วจะทำให้ราคาตลาดโลกขยับสูงขึ้น ซึ่งนายกิตติรัตน์ ชี้แจงในสภาสอดคล้องกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะขายข้าวได้โดยไม่ขาดทุน ประเทศไทยจะครองตลาดและกำหนดราคาได้ตามใจชอบ ซึ่งตนบอกว่าเป็นสมมติฐานที่ผิด เพราะโครงสร้างของการค้าข้าวในตลาดโลกไม่มีเงื่อนไขที่รัฐบาลจะทำแบบนั้นได้ และในที่สุดเวลาผ่านไปสองปี สิ่งที่พรรคพูดเอาไว้เมื่อสองปีที่แล้วเกิดความเสียหายขึ้นครบถ้วน
สำหรับความเสียหายที่ปรากฏเป็นรูปธรรม คือ ความเสียหายทั้งจากการทุจริตคอร์รัปชันที่พรรคได้เปิดเผยต่อสาธารณชน รวมไปถึงความเสียหายจากการส่งออก รายได้ประเทศลดลง รัฐบาลขาดทุนหนักจนต้องนำเรื่องวินัยการคลังมาอ้างในการปรับลดราคาจำนำ ในขณะที่คุณภาพข้าวไทยได้รับผลกระทบ มีปัญหาข้าวเน่า คุณภาพต่ำลง กระทบอนาคตข้าวไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นความเสียหายในหลายมิติ การขาดทุนหรือผลกระทบด้านการคลังเป็นเพียงมิติเดียวเท่านั้น จึงขอให้รัฐบาลทบทวนโครงการในทุกแง่มุมที่สร้างความเสียหาย ทั้งนี้ การคัดค้านของพรรคไม่เคยต้องการให้ยกเลิกการช่วยเหลือเกษตรกรหรือช่วยน้อยลง แต่ยืนยันว่าเมื่อรัฐบาลสัญญากับประชาชนว่าจะช่วยเกษตรกรด้วยการจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาท มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 8.6 หมื่นล้านบาทก็ต้องช่วยเกษตรกรไม่น้อยกว่าเดิม
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลประสบความสำเร็จในการสร้างความสับสนเกี่ยวกับการสร้างตัวเลขขาดทุน โดยพยายามที่จะใช้ตัวเลขขาดทุนที่ 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่รัฐบาลลดตัวเลขขาดทุนจากกว่าสองแสนล้านลงมาอยู่ที่ 1.36 แสนล้านบาทเพราะไม่นับรวมฤดูกาลปี 55/56 และรัฐบาลสรุปว่าตราบใดที่ไม่ขายข้าวไม่นับว่า “ขาดทุน” ซึ่งผิดหลักการปิดบัญชีตามมาตรฐานสากลที่จะต้องประเมินสินค้าคงคลังตามราคาในขณะนั้น ตามแนวทางที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ หากยึดตามแนวทางดังกล่าวจะพบว่าตัวเลขการขาดทุนสามฤดูกาลในปี 54/55 นาปรัง 55 และนาปี 55/56 จะได้ตัวเลขขาดทุนเหมือนเดิม คือ 2.23 แสนล้านบาท และเมื่อตรวจสอบข้อมูลที่เข้า ครม.ของกระทรวงพาณิชย์ก็พบว่าไม่แตกต่างกันมากนักคืออยู่ที่ประมาณ โดยการขาดทุนดังกล่าวยังไม่รวมดอกเบี้ยที่มีการจัดงบประมาณตั้งแต่ปี 55-57 ที่มีการจัดสรรไว้ 35,000 ล้านบาท ดังนั้นภาระการขาดทุนในโครงการนี้จะอยู่ที่ 2.4 แสนล้านหรือ 2.6 แสนล้าน จึงไม่ต้องเถียงว่าขาดทุนมากหรือน้อย แต่เถียงได้ว่าขาดทุนมากหรือขาดทุนมาก ๆ นี่คือความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการของรัฐบาล ในขณะที่เงินไปถึงมือเกษตรกรเพียงแค่ 8.6 หมื่นล้าน ถึง 1.2 แสนล้าน ตามตัวเลขของรัฐบาล จากความสูญเสีย 2.4-2.6 แสนล้านบาท เท่ากับเงินครึ่งหนึ่งของเงินแผ่นดินที่สูญเสียไป ซึ่งตรงกับที่พรรคบอกมาตลอดว่าเงินหนึ่งบาทที่บอกช่วยชาวนาถึงมือชาวนาแค่ 50 สตางค์
ดังนั้น การลดราคาจำนำข้าวมาที่ 12,000 บาทนั้น จึงเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด พรรคยืนยันว่าให้ใช้เงิน 1.2 แสนล้านเพื่อช่วยชาวนา แต่ไปลดการทุจริตอีกกว่าแสนล้านที่ไปไม่ถึงมือชาวนา ไม่ใช่ลดเงินให้ชาวนา ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการบริหารจัดการโครงการเดิม หรือเปลี่ยนรูปแบบการช่วยเหลือชาวนาใหม่ ตนจึงยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ถูกจุดและไม่ถูกเรื่อง เพราะต้องไปลบในส่วนที่ไม่กระทบชาวนา ไม่ถูกจุดเพราะความเสียหายในเรื่องการซื้อข้าวเข้าสต๊อก การสวมสิทธิ เวียนเทียนข้าว ไม่สามารถแข่งขันได้ ยังอยู่ครบ จึงขอย้ำว่าพรรคไม่เห็นด้วยกับการปรับลดราคาจำนำข้าวเหลือ 1.2 หมื่นบาท เพราะรัฐบาลมีพันธสัญญาต้องช่วยเกษตรกรให้ได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่าเดิม แต่ต้องไปลดความสูญเสียด้านการบริหารและทุจริตลง
“มีความพยายามบิดเบือนว่ารัฐบาลลดราคาจำนำเพราะมีคนคัดค้านโครงการ จึงขอเรียกร้องว่าไม่ควรมีการบิดเบือนความจริง แต่ต้องให้เกษตรกรทราบว่าการลดประโยชน์เกษตรกรเป็นการตัดสินใจของรรัฐบาล ผมทราบว่าเกษตรกรเดือดร้อนมาก แม้ว่ารัฐบาลบอกจะใช้ราคาใหม่ในวันที่ 1 ก.ค. 56 แต่ในขณะนี้มีการชะลอการรับข้าวเข้าโครงการแล้ว ในขณะที่ชาวนาปลูกข้าวโดยคิดว่าจะได้เงินเท่าเดิม แต่รัฐบาลกลับทำให้เกษตรกรเสียประโยชน์ทันทีตันละ 3 พันบาท” นายอภิสิทธิ์กล่าว
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวด้วยว่า ถ้ารัฐบาลใช้หลักประกันรายได้จะไม่กระทบกลไกตลาด แต่ถ้ายอมรับไม่ได้ที่จะใช้วิธีนี้ก็ต้องไปคิดวิธีอื่น เช่น เอาเงินที่ใช้ไปให้เกษตรกรโดยตรง โดยไม่ไปบิดเบือนกลไกตลาด ไม่ต้องบริหารสต๊อค กลไกการค้าข้าวของเอกชนเดินได้ตามปกติ ให้ข้าวไทยกลับมาแข่งขันได้ ต้องสะสางความเสียหายจากโครงการนี้โดยเร็วที่สุด เพราะแม้ว่ารัฐบาลลดราคาจำนำความเสียหายไม่จบ มีข้าวอีก 17 ล้านตันที่ต้องระบาย เมื่อชาวโลกรู้ว่าลดราคาจำนำก็จะกระทบราคาในการระบายข้าวต่อจากนี้ด้วย ทั้งนี้รัฐบาลชอบท้าว่าให้พรรคยกเลิกโครงการนี้ ตนขอรับคำท้าแต่ขอให้รัฐบาลไปขึ้นป้ายด้วยว่า พรรคประชาธิปัตย์จะยกเลิกโครงการนี้แต่เกษตรกรจะได้เงินเท่าเดิมและประหยัดเงินประเทศแสนกว่าล้าน ซึ่งตนเชื่อว่าสุดท้ายเกษตรกรจะซึมซับปัญหาที่เกิดขึ้น เพียงแต่รัฐบาลประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนตัวเลขขาดทุนแต่ก็ปกปิดความจริงไม่ได้
“ต้องติดตามต่อไปเพราะต้นทุนที่ลดลงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น แต่ถ้าการทุจริตและการระบายข้าวยังเหมือนเดิมก็ไม่ได้แก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวม อยากเตือนว่าอย่าปกปิดความจริงหรือตกแต่งตัวเลขไม่เชื่อหลอกชาวโลกได้ ถ้าทำก็จะกระทบต่อความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับข้อมูลของภาครัฐ ซึ่งจะกระทบกับความน่าเชื่อถือของประเทศในที่สุด และนายกฯ ควรจะต้องรับผิดชอบในการชี้แจงข้อเท็จจริงและจุดยืนของรัฐบาลทั้งหมด เพราะโครงการนี้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับพืชหลักของคนไทย และกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ผมไม่สบายใจที่นายกฯ พยายามหลบเลี่ยงความรับผิดชอบ และเบี่ยงเบนคำพูดแสดงความไม่พร้อมที่จะพูดความจริงกับประชาชน” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ด้านนายแพทย์วรงค์กล่าวว่า มีเครือข่ายของรัฐบาลเดินทางมาที่พรรคประชาธิปัตย์ประท้วงพรรคและตนว่าทำให้รัฐบาลต้องลดราคาจำนำข้าวลง ทั้งที่ความจริงพวกตนเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดโกงเพื่อให้ชาวนาได้รับเงินเต็มที่จากโครงการจำนำข้าว จึงขอทำความเข้าใจว่าพวกตนไม่มีอำนาจสั่งให้รัฐบาลลดราคาจำนำได้ ถ้ามีอำนาจจริงจะบอกให้ยกเลิกจำนำหันมาทำโครงการประกันรายได้ ซึ่งจะกระจายเม็ดเงินให้ชาวนาได้อย่างครอบคลุมมากกว่านี้ และเชื่อว่าชีวิตความเป็นอยู่ชาวนาจะดีกว่านี้
ขณะที่นายเกียรติกล่าวว่า รัฐบาลอ้างทุกครั้งในการแถลงข่าวว่าเกษตรกรมีกำไรตันละ 4 พันบาท ทั้งที่ตัวเลขทางการคือกระทรวงเกษตรฯที่ขายได้ที่ไร่นาระบุว่า ชาวนาไม่ได้กำไรตันละ 4 พันตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง จึงควรเอาตัวเลขจริงมาชี้แจงกับประชาชน เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลโดยพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งต้องชี้แจงกับประชาชนไม่ใช่โยนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปชี้แจง ทั้งนี้หลังจากมีการประกาศราคาจำนำหมื่นห้าต้นทุนของชาวนาเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นทุกรายการ และตนเป็นห่วงความน่าเชื่อถือของกระทรวงพาณิชย์จากความพยายามปรับแต่งตัวเลขขาดทุน ทำให้มีการบิดเบือนหลักการปิดบัญชีทั้งที่กระทรวงพาณิชย์เป็นคนควบคุมเรื่องการปิดบัญชีของภาคเอกชน โดยทำในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของตัวเอง ทำให้ขาดความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรง ไม่เปิดเผยตัวเลขที่ควรเปิดเผย สิ่งที่เปิดเผยกลับไม่น่าเชื่อถือ เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เพราะนายบุญทรงไม่มีปัญญาบอกให้กระทรวงพาณิชย์ทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยลำพัง ถ้าไม่ใช่ทิศทางที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ ผลที่เกิดขึ้นคือวิกฤตศรัทธาต่อกระทรวงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ
“ทุกหน่วยงานเข้ามาเก็บตัวเลขทางเศรษฐกิจ ล่าสุดไอเอ็มเอฟก็แสดงความห่วงใยเรื่องการกู้เงินไม่ว่จะอยู่ในบัญชี นอกบัญชี หรืออยู่ที่สถาบันการเงินของรัฐ เขาให้ความสำคัญภาระที่เกิดขึ้น ดังนั้นความน่าเชื่อถือของประเทศจะขึ้นอยู่กับการดำเนินการของรัฐบาลนับจากนี้เป็นต้นไป จำนำข้าวเป็นเพียงเรื่องเดียว แต่ยังมีเงินกู้ 3.5 แสนล้าน เงินกู้สองล้านล้าน ที่จะส่งผลกระทบด้วยเช่นเดียวกัน นายกิตติรัตน์เคยพูดว่า ถ้าโครงการจำนำข้าวเกิดความเสียหายเกิน 6 หมื่นล้านซึ่งเป็นเงินที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้ในโครงการประกันรายได้พรรคเพื่อไทยคงอยู่ไม่ได้ ไม่ต้องถามว่าในฐานะรองนายกฯจะรับผิดชอบยังไง ผมไม่ถามว่านายกิตติรัตน์จะรับผิดชอบอย่างไร แต่อยากให้นายกิตติรัตน์กลับไปถามตัวเองว่าจะรับผิดชอบอย่างไรกับความเสียหายกว่า 2 แสนล้านบาท” นายเกียรติกล่าว