xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาขู่ชุมนุมใหญ่ ต้านลดราคาจำนำเหลือ1.2หมื่น สื่อนอกแฉรัฐยอมรับเจ๊ง1.36แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-ครม.นัดพิเศษไฟเขียวหั่นราคารับจำนำข้าวเหลือตันละ 1.2 หมื่นบาท มีผล 1 ก.ค.56 "ปู"กลัวถูกด่า สั่งผู้ว่าฯ ทำความเข้าใจชาวนา "สุภา"ขอร่วมทีมตรวจสต๊อกข้าว กังขายอดตกค้างมากเกินไป นักวิชาการแนะเลิกจำนำทันที สมาคมชาวนารับไม่ได้ ขู่นัดชุมนุมใหญ่ เตรียมแถลงท่าทีวันนี้ "มาร์ค"ยุส่งไม่ควรพอใจรัฐบาล สื่อนอกแฉรัฐบาลยอมรับเจ๊งจำนำข้าวปีแรก 1.36 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (19 มิ.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เพื่อรับทราบมติของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีมติปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2556 ลงเหลือ 12,000 บาท/ตัน จาก 15,000 บาท/ตัน และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2556 พร้อมจำกัดวงเงินการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรไว้ที่ไม่เกินรายละ 5 แสนบาท เนื่องจากเรื่องดังกล่าวถือเป็นนโยบายที่ทางรัฐบาลได้แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจึงต้องให้ ครม. รับทราบหรือมีมติ

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมครม. นัดพิเศษว่า ที่ประชุมได้รับทราบมติของ กขช. ใน 2 ส่วน คือ 1.ให้ลดราคารับจำนำในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลจาก 15,000 บาทต่อตันเหลือ 12,000 บาทต่อตัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2556 และ 2.การจำกัดปริมาณรับจำนำข้าวไม่เกิน 5 แสนบาทต่อราย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.นี้ เนื่องจากที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงโครงการว่าใช้งบประมาณ และมีผลดำเนินงานค่าใช้จ่ายสูง จึงต้องมีการปรับลดราคารัฐจำนำและปริมาณการรับจำนำลงมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประชุมแสดงความกังวลว่าเกษตรกรที่อาจจะออกมาชุมนุมหากมีการปรับลดราคาจำนำลงหรือไม่ นายวราเทพ กล่าวว่า เข้าใจว่าทาง กขช. ได้ประเมิน และคำนวณตัวเลขราคารับจำนำที่เกษตรกรน่าจะรับได้ออกมาแล้ว ส่วนการปรับลดราคารับจำนำลง ทำให้ไม่ตรงกับนโยบายที่หาเสียงเอาไว้ ต้องถือว่ารัฐบาลได้ดำเนินโยบายอย่างครบถ้วนแล้ว การทบทวนปรับเปลี่ยนจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพราะรัฐบาลต้องดูแลในภาพรวม ทั้งตัวเลขการคลัง และราคารับจำนำ ไม่ถือว่าขัดต่อการแถลงนโยบายไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลได้แจ้งว่า นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายวราเทพ จะแถลงข่าวผลการประชุม ครม. นัดพิเศษร่วมกัน แต่เมื่อถึงเวลากลับมอบหมายให้ทีมโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แถลงแทน ซึ่งผู้สื่อข่าวได้ดักสัมภาษณ์นายวราเทพในระหว่างที่เดินขึ้นห้องทำงานที่ตึกบัญชาการ 1 โดยนายวราเทพระบุว่าสาเหตุที่ไม่แถลงร่วมกัน เนื่องจากนายบุญทรงติดภารกิจ แต่เมื่อผู้สื่อข่าวตรวจสอบไปยังกระทรวงพาณิชย์กลับไม่มีแจ้งภารกิจใดๆของนายบุญทรงในช่วงบ่าย

**มอบ“พาณิชย์-เกษตร-มท.”คุมเข้มจำนำ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในการประชุม ครม.นัดพิเศษ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมว่า จากนี้ไป ต้องให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็น คือ 1.การทำเกษตรโซนนิ่ง โดยเน้นให้มีการปลูกพืชเกษตรในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร 2.เร่งรัดให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องนำงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการเพิ่มมูลค่าและคุณภาพสินค้าเกษตรมาปรับใช้ เช่น การผลิตข้าวอินทรีย์ ที่เมื่อผลิตและส่งออกแล้วได้ราคาดี และ 3.ได้มอบหมายให้กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ยกระดับราคาสินค้าเกษตรที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตเป็นพลังงานทดแทน

นอกจากนี้ เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ที่ประชุมครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย เข้มงวดในการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจดทะเบียน การตรวจสภาพข้าว การเก็บรักษา และการระบายข้าว

***"ปู"กลัวถูกด่า ฝากผู้ว่าฯ ชี้แจงชาวนา

วันเดียวกันนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อทบทวน และจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัดเข้าร่วม

น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ขอให้แต่ละจังหวัดทำงานควบคู่กับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) หลังจากครม. ได้อนุมัติวงเงินให้กับ 4 บริษัท เพื่อลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำ และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และขอให้ช่วยชี้แจงกรณีที่รัฐบาลได้ปรับลดราคารับจำนำข้าว เพราะได้ดำเนินการตามนโยบายที่หาเสียงไว้เรียบร้อยแล้วในปีแรก และเห็นว่าเป็นประโยชน์จึงได้ดำเนินการต่อในปีที่ 2 แต่เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่ง รัฐบาลต้องรักษาวินัยการเงินการคลัง จึงต้องมีการปรับลดราคาลง พร้อมขอให้ช่วยดูแลขั้นตอนการรับจำนำข้าว เพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตด้วย

**"บุญทรง"โพสต์เฟซชี้แจงเหตุผล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบุญทรงได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กชี้แจงประเด็นการปรับลดราคารับจำนำข้าว โดยสรุปใจความได้ว่า ขอความเห็นใจจากชาวนา เพราะการปรับลดราคาลงในช่วงนี้ ไม่ส่งผลกระทบกับชาวนามาก โดยผลผลิตส่วนใหญ่ได้นำเข้าสู่โครงการรับจำนำหมดแล้ว ส่วนการปรับลดราคา ก็มีการประเมินแล้วว่า ราคาที่ 12,000 บาทต่อตัน ชาวนายังมีส่วนต่างกำไรประมาณ 37% จากต้นทุนที่คำนวณได้ 8,731 บาทต่อตันข้าวเปลือก ที่สำคัญ รัฐบาลต้องทำงบประมาณสมดุลในปี 2560 ก็จำเป็นต้องรักษากรอบวินัยการคลัง ซึ่งตัวเลขค่าใช้จ่ายในการดูแลและยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในโครงการจากนี้ไปจะไม่เกินปีละ 1 แสนล้านบาท

***"เต้น"อาสานำทีมตรวจสต๊อกข้าว

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คณะทำงานตรวจสอบสต็อกข้าวในโครงการรับจำนำข้าวรัฐบาล ซึ่งมีตนเป็นที่ปรึกษา จะเริ่มออกตรวจสอบสต๊อกข้าวทั้งหมดทั่วประเทศตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป โดยจะตรวจสอบทั้งปริมาณ และคุณภาพข้าวในสต๊อกทั้งหมด ไม่ใช่ตรวจสอบเฉพาะข้าว 2.5 ล้านตันที่คาดว่าคาดเคลื่อนเท่านั้น เพื่อรายงานผลให้ กขช. ตามกำหนด 30 วัน ทั้งนี้ ยังได้เตรียมจัดโครงการจำนำข้าวสัญจร จับเข่าคุยเกษตรกรชาวนา ที่จ.อุบลราชธานี ในเร็วๆ นี้ เพื่อทำความเข้าใจกับชาวนา

**“ธวัช”ฟิตเรียกถกทีมสอบกำหนดกรอบ

เมื่อเวลา 11.40 น. ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลปริมาณข้าวคงเหลือในโครงการรับจำนำข้าว กล่าวว่า ตนได้เรียกทีมงานประกอบด้วย ตัวแทนจาก องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) กรมการค้าภายใน และเซอร์เวอร์เยอร์ (บริษัทตรวจสอบคุณภาพข้าว) เข้าหารือเตรียมความพร้อมในการลงพื้นที่ตรวจสอบ โกดัง โรงสี เมื่อได้ข้อมูลตนจะลงพื้นที่ทันทีทุกจุด ทั้งภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตอนล่าง ซึ่งหลักการตรวจสอบ คือ เช็กว่าข้าวที่อยู่ในสต๊อกตรงกับจำนวนที่แจ้งหรือไม่ เพราะปัญหาอยู่ที่สต๊อก ถ้าตัวเลขตรงก็สามารถมีคำตอบให้กับสังคมได้

***“สุภา”ขอร่วมลงพื้นที่ตรวจสต็อก

น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำสินค้าเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้รอให้กระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมกรรมการที่ลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังหรือสต็อกข้าวของรัฐบาลประสานงานมาเพื่อตนจะได้ร่วมลงสังเกตการณ์ด้วย โดยเฉพาะการตรวจสอบข้าวตามที่กระทรวงพาณิชย์แจ้งมาเพิ่มกว่า 2.9 ล้านตันก่อนหน้านี้เนื่องจากเป็นจำนวนที่มากและมีนัยสำคัญในการลงบันทึกบัญชี

ทั้งนี้ จะขอให้คณะกรรมการตรวจสอบโกดังข้าวลงพื้นที่ปูพรมตรวจวันเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งมีโรงสีประมาณ 1,500 แห่งที่เข้าโครงการจำนำข้าว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขนถ่ายข้าวออกจากโรงสีระหว่างกัน เนื่องจากทางกระทรวงพาณิชย์แจ้งมาว่าข้าวจำนวนดังกล่าวกระจายอยู่ตามโรงสีทั่วประเทศและตกสำรวจ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

“ในการปิดบัญชีข้าวนาปีฤดูการผลิต 55/56 ที่คณะอนุกรรมการฯได้สอบถามตัวเลขข้าวในสต็อกก่อนหน้านี้ก็ได้รับแจ้งว่ามีข้าวเปลือกเข้าโครงการ 7 ล้านตันหากแปรสภาพเป็นข้าวสารตามเกณฑ์จะได้ประมาณ 61% จะเป็นข้าวประมาณ 4 ล้านกว่าตันแต่กลับได้รับแจ้งว่ามีข้าวในสต็อกเพียง 1.7 ล้านตันหรือ 24% เท่านั้นหรือหายไปเกือบ 3 ล้านตัน จึงให้พาณิชย์ชี้แจงมาและสรุปตัวเลขขาดทุนไว้เบื้องต้นประมาณ 8 หมื่นล้านบาท แต่ทางกระทรวงพาณิชย์ไม่รับตัวเลขดังกล่าวและแจ้งเพิ่มประมาณข้าวเปลือกที่อยู่ระหว่างสีแปรอีก 2.9 ล้านตันดังกล่าวทางคณะอนุกรรมการฯ ก็ไม่รับตัวเลขดังกล่าวเช่นกัน เพราะตามมาตรฐานบัญชีถือเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่แค่ไม่กี่ตัน” นางสาวสุภากล่าวและว่า ที่น่าจับตาคือตัวเลขของทางอคส..ที่ระบุว่ายังตกค้างอีกกว่า 2.5 ล้านตันและของ อตก.อีกประมาณ 2 แสนตัน

***"อัมมาร"แนะยุติโครงการจำนำทันที

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า รัฐบาลมีการปกปิดตัวเลขผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว เพราะกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ต่างก็มีตัวเลขผลการดำเนินงานที่ไม่ตรงกัน โดยเชื่อว่ามีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่ประหลาดมากที่สุด ก็คือ นายกรัฐมนตรีไม่รู้ว่าโครงการนี้กำไรหรือขาดทุนเท่าไร ทั้งที่โครงการนี้ดำเนินการมาร่วม 2 ปี จึงต้องให้นายวราเทพ เข้ามาเป็นคนกลางรวบรวมข้อมูล

"การที่รัฐบาลปรับลดราคารับจำนำข้าว สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ดื้อเหมือนก่อน รู้ว่าผิดพลาดจากการดำเนินนโยบาย ก็เลยยอมลด แต่ถึงแม้ว่าจะลดราคารับจำนำ ก็ถือว่ายังสร้างความเสียหายอยู่ดี สิ่งที่รัฐบาลจะระงับการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวได้ คือ ต้องยุติโครงการ แล้วหันมาดำเนินนโยบายรับประกันราคา ซึ่งมีข้อดี คือ ให้กลไกตลาดทำงานอย่างเต็มที่"นายอัมมารกล่าว

***"ธีระชัย"แนะควรรับจำนำต่ำกว่าหมื่น

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวเกี่ยวกับมติ ครม.ที่รับทราบมติของ กขช. ที่ให้ลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ตันละ 15,000 บาท เหลือตันละ 12,000 บาทว่า ถ้าจะมีการลดราคาจำนำ ควรจะลดลงไปให้ต่ำกว่าราคาตลาด คือ ต่ำกว่า 10,000 บาท จึงจะเป็นการจำนำอย่างแท้จริง เพราะขณะนี้ ในขบวนการจำนำ มีการทำสัญญาให้ชาวนาเป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ก็เป็นสัญญาที่รู้กันอยู่แก่ใจว่าสุดท้าย ก็จะไม่มีชาวนาคนใดมาชำระหนี้ ทุกคนจะใช้ทางเลือกยกข้าวให้แก่รัฐบาลทั้งนั้น

***ชาวนารับไม่ได้นัดชุมนุมใหญ่

นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า สมาคมฯ จะมีการประชุมร่วมกับชาวนาใน 20 จังหวัดภาคกลาง และจะแถลงข่าววันนี้ (20 มิ.ย.) หากรัฐบาลยังยึดราคาจำนำข้าวที่ 12,000 บาทต่อตัน จะชุมนุมใหญ่แน่นอน เพราะเห็นว่าการปรับราคาจำนำข้าวนาปรังปี 2556 เหลือ 12,000 บาท/ตัน เป็นสิ่งที่ชาวนารับไม่ได้ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามนโยบายเดิม หรือหากจะปรับเปลี่ยนควรเริ่มในฤดูกาลหน้า เพื่อจะได้มีเวลาหารือและทำความเข้าใจกันกับทุกฝ่าย

นายบุญเปลี่ยน ปัญญาวงศ์ อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 90 หมู่ 8 บ้านน้ำโท้ง ต.ท่าขุนราม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ชาวนารายหนึ่ง กล่าวว่า ราคารับจำนำที่ 12,000 บาท ต่ำเกินไป เพราะต้นทุนการผลิตสูง ขนาดรับจำนำ 15,000 บาท เมื่อหักค่าความชื้นและสิ่งเจือปนแล้วยังได้เงินแค่ 9,000 บาทเศษ สูงสุดก็ได้ไม่เกิน 11,000 บาท และหลังการจำนำแล้วยังได้เงินล่าช้า นานถึง 2-3 เดือน และหากลดเพดานรับจำนำลงมาเหลือ 12,000 บาท ราคาที่ได้จะลดลงมาอีก 3,000 บาท เมื่อไปจำนำจริงอาจเหลือแค่ 6,000 บาทเศษ สูงสุดอาจประมาณแค่ 8,000 บาท ซึ่งราคานี้ชาวนาขาดทุน อยู่ไม่ได้แน่นอน จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนราคารับจำนำใหม่ และกำชับให้ ธ.ก.ส. จ่ายเงินให้เร็วขึ้น อย่างช้าไม่ควรเกิน 2 สัปดาห์

นายจำรัส ลุมมา ประธานสมาพันธ์เกษตรกรเชียงใหม่-ลำพูน และประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวไร่ชาวนาต.แม่แฝก อ.สันทราย จ.เชียงใหม่กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการลดราคารับจำนำข้าวจากตันละ 15,000 บาท เหลือ 12,000 บาท เพราะทำให้ชาวนาเสียประโยชน์ ได้รับเงินน้อยลงจนไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต

นายพรม บุญมาช่วย ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ตัวแทนชาวนาทั่วประเทศจะประชุมร่วมกันที่จ.นครนายก วันที่ 20-21 มิ.ย. เพื่อหาทางออกร่วมกัน รวมทั้งแสดงพลังคัดค้านไม่เห็นด้วย เพราะไม่คุ้มกับการลงทุน ซึ่งหากรัฐบาลปรับลดเหลือ 13,000 บาท หรือ 13,500 บาท ก็พอจะรับได้ เพราะราคาข้าวที่ปรับใหม่นั้นลดลงมากกว่าที่เกษตรกรคาดไว้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ทั้งที่ทางรัฐาลรู้อยู่แก่ใจว่าต้นเหตุ คือ การทุจริต การดำเนินการที่ไม่โปร่งใสซึ่งต้องตรวจสอบให้เข้มข้นขึ้นอีก

นางสุนีย์ มรรคผล อายุ 40 ปี ชาวนาหมู่ 4 ต.ย่านซื่อ อ.เมือง จ.อ่างทอง กล่าวว่า ราคาจำนำ 15,000 บาทนั้น ความจริงได้เพียงแค่ 11,000 บาท ต้นทุนอยู่ที่ 7,000 บาท หากลดเหลือ 12,000 บาท จะได้จริงแค่ 7,000-8,000 บาท ชาวนาจะเอาอะไรกิน เพราะต้นทุนก็สูงอยู่แล้ว ราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำมัน ก็ขึ้นราคาไม่หยุด แบบนี้ชาวนาต้องทำนาฟรี

นายวิรัตน์ งามขำ ผู้จัดการโรงสีสหกรณ์การเกษตรโพธิ์ทอง จำกัด เลขที่ 149 หมู่ 1 ต.ป่างิ้ว อ.เมือง จ.อ่างทอง กล่าวว่า ราคารับจำนำ 12,000 บาท ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังออกมาสู่ตลาดจำนวนมาก ส่วนการจำกัดวงเงินเกษตรกรรายละไม่เกิน 5 แสนบาท มีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.นั้น ทางโรงสีนั้นไม่มีผลกระทบมากนัก แต่จะมีผลกับเกษตรกรโดยตรง ชาวนาอาจทำใจได้ยาก เพราะขณะนี้ต้นทุนสูงขึ้น 6,000-7,000 บาทต่อไร่แล้ว

***แฉโรงสีเริ่มซื้อ12,000 บาทวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มีข่าวว่าโรงสีในต่างจังหวัดได้แจ้งไปยังชาวนาว่าตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.เป็นต้นไป จะรับซื้อข้าวในราคาตันละ 12,000 บาท หากใครต้องการขายข้าวในราคาตันละ 15,000 บาท ต้องขายก่อนวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยโรงสีอ้างว่ามีคำสั่งมาให้ดำเนินการดังกล่าวได้ทันที โดยไม่ต้องรอวันที่ 1 ก.ค.2556

***"มาร์ค"ยุชาวนาไม่ควรพอใจรัฐบาล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร กล่าวในเรื่องการปรับลดราคารับจำนำข้าวว่า ตนไม่เห็นด้วย และชาวนาไม่ควรพอใจ เพราะรัฐบาลสัญญากับชาวนาไว้ แต่รัฐบาลเลือกที่จะลดผลประโยชน์ให้กับชาวนา และการที่อ้างว่าต้นทุนของเกษตรกรอยู่ที่ตันละ 8 พันบาท ซึ่งขัดแย้งกับชาวนาที่ระบุว่าต้นทุนในขณะนี้อยู่ที่ตันละ 9 พันบาท ก็ต้องถามว่ารัฐบาลคำนวณต้นทุนอย่างไร และทำไมก่อนหน้านี้ จึงสามารถให้ชาวนาหมื่นห้าได้โดยอ้างว่าคำนวณจากต้นทุน ตนไม่เชื่อว่าสองปีที่ผ่านมาต้นทุนของชาวนาจะลดลง เพราะทุกอย่างมีแต่แพงขึ้น

***ปชป.นัดแฉตัวเลขจำนำเจ๊ง2.6แสนล้าน

นายอรรถวิช สุวรรณภักดี โฆษกคณะรัฐมนตรีเงา ปชป. กล่าวว่า การลดราคารับจำนำ เป็นการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา เป็นการตระบัดสัตย์ต่อคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และวันนี้ (20 มิ.ย.) จะมีการสรุปตัวเลขอย่างละเอียด เพราะตัวเลขที่รัฐบาลหารือใน ครม. มีความสับสนมาก โดยพรรคยืนยันว่าการขาดทุนจากโครงการนี้ยังอยู่ที่ 2.6 แสนล้านบาท เพราะยังมีตัวเลขซุกในงบประมาณปี 2557 ผ่านการชดเชยดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส. โดยนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก และนายเกียรติ สิทธิอมร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นผู้แถลงว่ารัฐบาลมั่วตัวเลขใดบ้าง

***"หมอวรงค์"แฉภาพข้าวเน่าคาโกดัง

น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์รูปพร้อมข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับการรับจำนำข้าวของรัฐบาล โดยอ้างว่า ได้รับภาพที่โพสต์ลงเฟซบุ๊กนี้จากผู้หวังดีส่งมาให้ โดยเป็นภาพข้าวที่นำออกมาจากโกดังข้าวที่จังหวัดราชบุรี โดยระบุว่านี่คือ ข้าวขาว 5% จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

"ผมได้รับภาพนี้จากผู้หวังดี เป็นโกดังข้าวที่ราชบุรี ลองคิดดูครับนี่คือข้าวขาว5% ถ้าไม่ล่มจม ไม่รู้จะว่าอย่างไร สำหรับโครงการรับจำนำ!!!"

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว "@alongkornpb" ถึงโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลว่า ต้องชมเชยรัฐบาลที่กล้าตัดสินใจลดราคาจำนำข้าว เพราะหากดื้อดึงต่อไปจะทำให้ข้าวไทยเสียหายทั้งระบบซึ่งสะท้อนถึงความผิดพลาดของการกำหนดนโยบายของเพื่อไทย

***เร่งสอบข้าวทำข้าวถุงส่งร้านถูกใจหาย

พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบสต๊อกข้าวในการทำข้าวถุงช่วยเหลือประชาชนจำนวน 2.5 ล้านตัน เอาไปจำหน่ายให้กับร้านทั่วไปจำนวน 1.2 ล้านตัน และร้านถูกใจจำนวน 1.3 ล้านตัน โดยเฉพาะร้านถูกใจมีความไม่ชอบมาพากล เพราะเหมือนกับจะตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการขออนุมัติโครงการนี้ 2 ล้านกว่าตัน แต่จำหน่ายจริงเพียง 7-8 หมื่นตัน ไม่ถึง 1 แสนตันด้วย

"ได้ไปสอบถาม ทาง อคส. ก็ยืนยันว่า ได้เอาไปดำเนินการประมาณ 1.1 ล้านตัน แต่มีหลักฐานตรวจสอบได้เพียง 4.1 แสนตัน และส่งไปยังร้านถูกใจ 8 หมื่นตัน ทำให้ข้าวหายไป 3.3 แสนตัน แต่อีก 6.9 แสนตัน ไม่รู้ว่ายังอยู่ในคลังหรือไม่ เพราะมีการจ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว และจากการตรวจสอบร้านทั่วไป ก็ไม่พบข้าวส่งไป จึงเป็นเรื่องที่ไม่ชอบมาพากล หลังจากนี้ จะต้องเรียกหน่วยงานต่างๆ มาสอบถามว่าข้าวหายไปไหน เพราะยังไม่ถึงมือประชาชน และต้องมีการตรวจสอบกันต่อไป"

ส่วนการตรวจสอบข้าวเน่า ที่โกดังเก็บข้าว ที่ ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา พบว่า มีมอดถ่ายมูลขึ้นมากองอยู่บนกระสอบเป็นจำนวนมาก และยังพบเศษซากของข้าวสารตกลงมากองอยู่กับพื้นให้เห็นเป็นจำนวนมากด้วย โดยกองของข้าวสาร 25% ปี 54/55 นั้น มีมอดชอนไชอยู่เป็นจำนวนมากจริง และมีความเสียหายมากกว่าที่คิดไว้ โดยไม่เคยพบเห็นข้าวในโกดังที่ไหนเสียหายมากเท่านี้มาก่อน จากการที่เคยไปตรวจมาหลายแห่งแล้วทั่วประเทศ และยังพบว่า ข้าวสาร 5% ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ก็มีความเสียหายในลักษณะเดียวกัน

***สื่อนอกแฉรัฐบาลไทยรับเจ๊งจำนำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อต่างประเทศได้รายงานข่าวว่า รัฐบาลไทยได้ยอมรับว่าขาดทุนมากกว่า4.46 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.36 แสนล้านบาท ภายใน 1 ปี ในนโยบายจำนำข้าวอันอื้อฉาวที่มีจุดประสงค์เพื่อทำให้ข้าวที่ชาวนาขายมีราคาสูงขึ้น ทำให้ประเทศไทยหล่นจากการเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับต้นๆ ในตลาดโลก เพราะนโยบายจำนำข้าวนี้เปรียบเมือนการอุดหนุนจากภาครัฐเพื่อลดการขาดทุนของชาวนา

ทั้งนี้ สื่อต่างประเทศอ้างอีกว่า รัฐบาลได้ซื้อข้าวจากชาวนาในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด และรัฐบาลไม่สามารถขายได้ในราคาที่สูงมากนักในตลาดโลก ทำให้ทั้งอินเดียและเวียดนามที่ขายข้าวราคาต่ำกว่าแซงหน้าไทยไป

อย่างไรก็ตาม นายบุญทรงได้ชี้แจงในเรื่องนี้ว่า การปรับเปลี่ยนจะแสดงให้เห็นว่าถึงแม้รัฐบาลไทยจะพยายามที่จะออกนโยบายหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่ก็ต้องอยู่ในวินัยการคลัง ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ เผยว่า รัฐบาลของเธอพยายามที่จะลดการขาดทุนโดยการตัดรายจ่าย แต่ก็ต้องพยายามให้ชาวนาได้ประโยชน์สูงสุด

สำหรับโครงการรับจำนำข้าว เริ่มขึ้นในสมัยที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ผู้ซึ่งเป็นผู้นำการเมืองแบบประชานิยม โดยนโยบายจำนำข้าวนี้ถูกตำหนิอย่างกว้างขวาง เพราะปัญหาการสวมสิทธิ์และต้นทุนค่าดำเนินการที่สูง และพ.ต.ท.ทักษิณถูกบังคับให้ออกนอกประเทศไปโดยการปฎิวัติในปี 2549 หลังจากการประท้วงในเมืองหลวง ต่อต้านการคอรัปชันและการใช้อำนาจในทางมิชอบของเขา จากนั้นรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้เริ่มนำนโยบายจำนำข้าวนี้กลับมาใช้อีกครั้งในเดือนต.ค.2554 โดยไม่จำกัดจำนวนของการรับซื้อจากชาวนา
กำลังโหลดความคิดเห็น