xs
xsm
sm
md
lg

ประจานถังแตก สั่งถอยจำนำข้าวจ่าย1.2หมื่น อ้างวินัยการคลังกลบเกลื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - รัฐบาลถังแตก ใส่เกียร์ถอยจำนำข้าวเหลือตัน 1.2หมื่นบาท เริ่ม 30 มิ.ย.ทันที แถมจำกัดวงเงินห้ามเกินรายละ 5 แสนบาท "บุญทรง"ดิ้นผล่าน แถรัฐบาลไม่ได้ถังแตก อ้างต้องรับผิดชอบต่อวินัยการคลัง "ยิ่งลักษณ์” ลนเรียก ครม.ประชุมอีกรอบวันนี้ คาดถก “จำนำข้าว” ด้าน“วราเทพ”ฟุ้งจำนำข้าวสุดคุ้ม ขาดทุน 1.36 แสนล้าน ถึงกระเป๋าชาวนา 1.1 แสนล้าน ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการ นายกฯสั่ง“เหลิม”รับหน้าเสื่อตามหาข้าวหาย ด้านปชป. ชี้ลดราคาจำนำ ชาวนาซวยเพิ่ม รายได้ลด แต่โกงเท่าเดิม "โอ๊ค"บอกจำนำข้าวขาดทุนไม่เป็นไร คนไทยจะได้ทำบุญ

เมื่อเวลา 13.40 น.วานนี้ (18มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รายงานข้อมูลของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) รวมถึงความเห็นของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งครม.ได้รับทราบ และให้นำรายละเอียดทั้งหมดให้ กขช. พิจารณารายละเอียดต่อ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตกลงจะมีการลดราคาการรับจำนำข้าวจาก 1.5 หมื่นบาทหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า วันนี้ยังไม่มีมติจาก กขช.เข้ามาอย่างชัดเจน แต่คงจะรับข้อเสนอและความคิดเห็นต่างๆไปหารือถึงทิศทางที่ชัดเจนจาก กขช. มายังครม.อีกครั้ง ซึ่งคงต้องรอผลก่อน

เมื่อถามว่า รัฐบาลจะเรียกความเชื่อมั่นจากโครงการรับจำนำข้าวอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า วันนี้ได้สั่งงานเพิ่มเติมในครม. ด้วยความห่วงใย โดยฝาก นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ให้ตั้งคณะเซอร์เวย์เยอร์ ที่เป็นตัวกลางเพิ่มขึ้นมาอีกทีม ในการตรวจสอบทุกโกดัง และในทีมเซอร์เวเยอร์ จะมีทีมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) เข้าไปตรวจสอบด้วย ให้ดำเนินการอย่างรวดเร็ว และกลับมารายงาน ครม. หากตรวจสอบพบว่ามีปัญหาในสต๊อกเซอร์เวเยอร์ ก็คงต้องชดใช้ตามราคาต้นทุน

เมื่อถามว่า กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานครม.หรือไม่ ว่าขายข้าวไปกี่ตัน ราคาตันละเท่าไร และขายให้ใคร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า มีการรายงานแล้วจากนายวราเทพ คือตัวเลขที่ผ่านมา ณ วันที่ 31 ม.ค.ตรงกัน แต่สิ่งที่ไม่ตรงกันคือตัวเลขสต็อกคงค้าง ซึ่งนายบุญทรงได้รายงานว่าทางกขช.ได้ให้คณะทำงานบวกกับทีมคณะอนุกรรมการปิดบัญชีลงไปตรวจสอบในรายละเอียดถึงสต๊อกจริงๆว่ามีจำนวนเท่าไหร่ รวมถึงการคำนวณมูลค่าสต็อกคงค้าง ตัวเลขที่ผ่านมาที่มีการขายและรับรู้จริงอันนี้ตรงกันหมด เมื่อย้ำถามว่า ขายให้บริษัทอะไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า อันนี้คงไม่ไปทราบอะไรตรงนั้น เพราะเป็นหน้าที่ของทางเจ้าหน้าที่

เมื่อถามว่า โครงการรับจำนำข้าวรัฐบาลยอมรับว่าปีแรกขาดทุน 1.3 แสนล้านบาท แนวโน้มจะลดราคาประกันจาก1.5 หมื่นบาทลงมาใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ในทางบัญชีอาจจะเรียกว่าคำว่าขาดทุน แต่ในความเป็นจริงราคาส่วนต่างที่รับมาคือการดูแลเกษตรกร ซึ่งตรงตามนโยบายที่เราต้องการดูแลเกษตรกรและดูแลราคาพืชผล ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาวินัยการเงินการคลังด้วย

เมื่อถามว่า แสดงว่าโครงการนี้คุ้มค่ากับเงินที่ขาดทุนไป 1.3 แสนล้านบาทกับเงินที่ลงไป 6.7 แสนล้านบาท ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องเรียนว่าตลอดที่ผ่านมาจำนวนปริมาณชาวนาปลูกข้าวสูงขึ้นใน 2-3 ปีหลังทำให้ปริมาณต่างๆมากขึ้น ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายต่างๆที่เราใช้ในการดูแลโครงการนี้ไปหมุน ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งจากรายงานสภาพัฒน์ฯจะเห็นว่าตัวเลขจีดีพีเพิ่มขึ้นจากการหมุนเวียนเศรษฐกิจต่างๆ เมื่อถามว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเพดานการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า โถ ไปถามกระทรวงพาณิชย์บ้าง และนายวราเทพก็จะแถลงข่าวชี้แจงตัวเลขทั้งหมดให้กับสื่อมวลชนรับทราบ เมื่อถามว่า ทำไมไม่ให้นายบุญทรงเป็นผู้ชี้แจง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า นายบุญทรงก็ชี้แจงได้ แต่เพื่อให้ทุกท่านสบายใจคือให้คนกลางมาเป็นผู้ชี้แจง ซึ่งมีตัวเลขระเอียดทั้งหมด

** แจงขาดทุน1.36แสนล.แต่ชาวนาได้1.15แสนล.

ต่อมา นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ในฐานะผู้ได้รับมอบหมาย ให้ประสานงานและรวบรวมข้อมูลโครงการรับจำนำข้าว แถลงว่า ได้รายงานตัวเลขการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ตามที่ได้หารือร่วมกับคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยยึดตัวเลขการปิดบัญชี ณ วันที่ 31 ธ.ค.55 ตามรายงานคณะอนุกรรมการปิดบัญชี กระทรวงการคลัง (อนุฯปิดบัญชี)

สำหรับการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 และนาปรัง 2555 มีผลขาดทุนประมาณ 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวจะนำไปประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของ กขช. ต่อไป

ทั้งนี้ ตัวเลขขาดทุน 1.36 แสนล้านบาทนั้น เมื่อคำนวณผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับพบว่า ราคารับจำนำ 15,000 บาทต่อตันนั้น สูงกว่าราคาตลาด ซึ่งอยู่ที่ 11,000 บาทต่อตัน ส่งผลให้เกษตรกรได้ประโยชน์ 4,000 บาทต่อตัน เมื่อคูณกับจำนวนข้าวทัั้งหมดที่่เข้าโครงการ 21.78 ล้านตัน จะได้ประโยชน์ราว 8.71 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ เกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ จะได้ประโยชน์จากราคาข้าวในตลาดที่ปรับสูงขึ้น ราว 2,500 บาทต่อตัน เมื่อคูณกับข้าว 11.37 ล้านตัน ที่ไม่นำมาจำนำ แต่ได้นำไปขายเอง ก็ได้ประโยชน์ประมาณ 2.84 หมื่นล้านบาท รวมทั้งหมดที่้ประชาชนได้ประโยชน์ 1.15 แสนล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขขาดทุน 1.36 แสนล้านบาท จึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวในปีต่อๆไป ส่วนจะปรับปรุงทบทวน หรือไม่อย่างไร ต้องไปวิเคราะห์กันอีกครั้ง

“การที่โครงการยังขาดทุนอยู่นั้น ถือว่าคุ้มค่าที่จะยอมขาดทุน เพราะทำให้ชาวนาได้รับผลประโยชน์โดยตรง และลืมตาอ้าปากได้ และต้องเข้าใจว่ารัฐบาลรับจำนำในราคาสูง ดังนั้นจึงมีส่วนต่างส่วนหนึ่งไปอยู่ที่เกษตรกร และขาดทุนจากการที่ระบายข้าวได้ราคาต่ำ แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่สูงมาก ไม่ได้เสียหายทั้งหมด รวมทั้งยังมีในส่วนของค่าใช้จ่ายการดำเนินโครงการด้วย”นายวราเทพ ระบุ

นายวราเทพ กล่าวด้วยว่า จากปัญหาจำนวนข้าวในสต็อกไม่ตรงกันนั้น โดยเฉพาะในส่วนของข้าวเปลือกนาปรัง 2555 ที่รายงานมาว่า ยังไม่ได้รับการบันทึกราว 3 ล้านตันนั้น ที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบให้ กระทรวงพาณิชย์ โดย กขช. ดำเนินการตรวจสต็อกข้าว ที่ยังเป็นประเด็นปัญหาเรื่องจำนวนภายใน 1 เดือน เพื่อนำมาปิดบัญชี และจะทำให้ทราบผลการดำเนินงานของโครงการทั้ง 3 ระยะ โดยต่อจากนี้ไป จะให้มีการปิดบัญชีทุกไตรมาส หรือทุก 3 เดือน ตามที่ กขช. เสนอด้วย

“ยืนยันว่าไม่สามารถตกแต่งตัวเลขได้ เอกสารบัญชีเป็นเอกสารราชการ หากมีการตกแต่งตัวเลข วันหนึ่งถูกพิสูจน์พบก็จะต้องถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีโทษหนัก การที่ฝ่ายค้านพยายามกล่าวหาว่าเป็นการตกแต่งตัวเลขนั้น เกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน ตอนนี้อาจมีความยุ่งยากบ้าง เนื่องจากต้องมีการปรับปรุงระบบการายงาน และบันทึก” นายวราเทพ ระบุ

***กบช.สั่งลดราคาจำนำข้าวเหลือ1.2หมื่น

ล่าสุด นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) นัดพิเศษ วานนี้ (18 มิ.ย.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ปรับปรุงรายละเอียดโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลฤดูการผลิตนาปรังปี 2556 ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% จากราคา 1.5 หมื่นบาท/ตัน เหลือ 1.2 หมื่นบาท/ตัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.56 เป็นต้นไป และยังจำกัดวงเงินในการนำข้าวเข้าสู่โครงการรับจำนำไม่เกินรายละ 5 แสนบาท มีผลตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.2556 ซ

“การปรับลดรายละเอียดโครงการรับจำนำที่ให้เริ่มตั้งแต่นาปรัง 2556 นี้ ไม่ใช่เป็นเพราะเงินไม่พอ แต่เรามีภาระที่ต้องรับผิดชอบต่องบประมาณในภาพรวม และต้องรักษาวินัยทางการเงินการคลัง เพื่อให้เป้าหมายการจัดทำงบประมาณสมดุลเกิดขึ้นในปี 2560 ซึ่งแต่ละปีได้ตั้งเป้าหมายว่า รัฐบาลจะจำกัดวงเงินภาระค่าใช้จ่ายและผลขาดทุนในโครงการไม่เกินปีละ 1 แสนล้านบาท”

ส่วนการปรับลดราคารับจำนำข้าว ยอมรับว่า จะกระทบกับราคาข้าวในสต๊อก และราคาจำหน่ายข้าวในสต๊อกบ้าง แต่จะพยายามดำเนินการขายให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

**“ปู"ลนเรียก ครม.ประชุมอีกรอบวันนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 19 มิ.ย. เวลา 10.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่าด้วยเรื่องปัญหาในโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะภายหลังจากที่กขช. มีมติให้ปรับลดลราคารับจำนำข้าวเปลือกปี 2556 / 57 เหลือ12,000 บาทต่อตัน และจำกัดเกษตรกรรายละไม่เกิน 5 แสนบาท โดยให้มีผลวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ทั้งนี้ตามภารกิจนายกฯเดิมได้มีการนัดประชุม ครม.เศรษฐกิจประจำสัปดาห์ ในเวลา 10.30 น.อยู่แล้วด้วย

**“โต้ง” หัวทิ่ม ครม.ไม่เอาด้วยคำ “ขาดทุน” เป็น “ภาระทางบัญชี”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ในช่วงระหว่างที่มีการพิจารณาตัวเลขขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมถึงกรณีที่ฝ่ายค้านโจมตีประเด็นการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าว โดยเฉพาะการสร้างวาทกรรม “ขาดทุน” ขึ้นมาโจมตีรัฐบาล จึงเสนอ ครม.ว่า ต่อไปหากจะชี้แจงตัวเลขขาดทุนให้เปลี่ยนมาใช้คำว่า เป็นภาระทางบัญชี หรือภาระทางงบประมาณจะดีกว่า แต่ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ถูกมอบหมายให้เป็นผู้รวบรวมข้อมูลโครงการรับจำนำข้าว กลับแย้งว่า ไม่ควรจะเปลี่ยนคำว่าขาดทุน เนื่องจากหากรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลงการใช้คำ อาจทำให้คนสงสัยว่ารัฐบาลพยายามไปปรับแก้อะไรบางอย่างให้ตัวเอง ซึ่งที่ประชุมครม.ก็เห็นว่าควรจะใช้คำว่า “ขาดทุน” เหมือนเดิมตามที่นายวราเทพแสดงความคิดเห็น

** ปชป.โอ่ตัวเลขขาดทุนตรงกับวราเทพ

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง ผลขาดทุนของโครงการจำนำข้าวที่นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่า การจำนำข้าวนาปี 54/55 และนาปรังปี 55 มีตัวเลขขาดทุน 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้แถลงไปก่อนหน้านี้ คือโครงการข้าวนาปี ปี54/55 ขาดทุน 42,963 ล้านบาท โครงการข้าวนาปรัง ปี 55 ขาดทุน 93,933 ล้านบาท โดยหากนำตัวเลขการขาดทุนสองฤดูกาลนี้มาบวกกัน จะได้ตัวเลขเดียวกับที่นายวราเทพ แถลงผลการขาดทุนสองฤดูกาล 1.36 แสนล้านบาท แต่นายวราเทพ ยังไม่ยอมรับตัวเลขการขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวนาปี ปี 55/56 จำนวน 84,071 ล้านบาท ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ได้แถลงไปก่อนหน้านี้ โดยนายวราเทพอ้างว่า ตัวเลขดังกล่าวยังสรุปไม่ได้ เนื่องจากมีการคำนวณสต็อกข้าวไม่ตรงกัน เพราะยังมีข้าวในสต็อกอีก 2.5 ล้านตันมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท ที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้คำนวณรวมไว้ จึงให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ไปคำนวณใหม่

"การยอมรับของนายวราเทพ เป็นเครื่องยืนยันว่าตัวเลขที่นายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์นำมาเปิดเผยเป็นของจริง ที่นำมาจากส่วนราชการและเป็นตัวเลขที่ตรงกับนายวราเทพทุกประการ แต่ที่ไม่ตรงคือนายวราเทพ ยอมรับตัวเลขสองฤดูกาลแต่ยังไม่ยอมรับตัวเลขการรับจำนำนาปี ปี 55/56 ที่ขาดทุน 84,071 ล้านบาท โดยพยายามที่จะลดตัวเลขการขาดทุนในส่วนนี้ลง "

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวเป็นสิ่งที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีรับจำนำข้าวได้สรุปไปแล้ว แต่นายวราเทพ อ้างว่ายังมีตัวเลขข้าวในสต็อกอีก 2.5 ล้านตัน มูลค่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ยังไม่ได้คำนวณไว้ และให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯไปพิจารณาใหม่นั้น ไม่เป็นความจริง แต่รัฐบาลพยายามจะลดตัวเลขการขาดทุนในส่วนนี้ และขอตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขข้าวที่อ้างว่ามีอยู่ในสต็อก 2.5 ล้านตันนั้น ใกล้เคียงกับข้าวถุงที่รัฐบาลมอบให้องค์การคลังสินค้า นำข้าวจากโครงการรับจำนำไปบรรจุถุงขายประชาชนในราคาถูก ปริมาณ 1.8 ล้านตัน

แต่จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการวุฒิสภาฯ พบว่า มีการผลิตออกสู่ตลาดจริงเพียงแค่ 1.4 แสนตัน เท่ากับว่ามีข้าวล่องหนไปจาก อคส.ประมาณ 1.66 ล้านตัน มีมูลค่าความเสียหายต่อรัฐถึง 2.57 หมื่นล้านบาท จึงมีคำถามว่า ข้าวที่หายไปถูกคำนวณในสต็อกข้าวนาปี 55/56 ด้วยหรือไม่ และสงสัยว่านับสต็อกซ้ำ หรือทำสต็อกลมหรือไม่ เนื่องจากยิ่งพูด ยิ่งมั่ว มีแผลเปิดใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ จึงอยากให้รัฐบาลตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง

** อัดรัฐบาลรอแต่งตัวเลขลดขาดทุน

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลพยายามลดตัวเลขการขาดทุน แต่ตนขอชื่นชมความเป็นมืออาชีพของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯที่ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีการยืนยันตัวเลขการสรุปปิดบัญชี ที่ระบุว่าสินค้าคงคลังต้องลงบัญชีราคาตลาดต่ำสุด และกรณีที่อ้างว่ามีการลงบัญชีสต็อกข้าวหายไป 2.5 ล้านตัน โดยทางคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ยืนยันว่าต้องมีการตรวจสอบอย่างจริงจังเกี่ยวกับสต็อกข้าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลยังไม่ยอมรับตัวเลขขาดทุนในปี 55/56 จึงขอแจกแจงตัวเลขเพื่อให้เห็นชัดเจนว่า ในการปิดบัญชีของคณะอนุกรรมการฯพบว่ามีข้าวสาร 1.7 ล้านตัน ข้าวเปลือก 2.9 ล้านตัน จึงสรุปการขาดทุนที่ 84,071 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากนำข้าว 2.5 ล้านตัน มาคำนวณเพิ่มก็จะเท่ากับปริมาณการรับจำนำข้าวเปลือก 9.9 ล้านตัน เท่ากับว่า รัฐบาลยังไม่มีการระบายข้าวออกเลยแม้แต่เมล็ดเดียว จึงขอตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลเสกตัวเลขหรือไม่ แต่แม้จะรวมข้าว 2.5 ล้านตันเข้ามาแล้ว ก็จะมีการขาดทุนไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท เพราะราคาต้นทุนข้าวสารอยู่ที่ 2.4 หมื่นบาทต่อตัน แต่รัฐขายได้ไม่เกิน 1.4 หมื่นบาทต่อตัน ทำให้รัฐขาดทุน 1 หมื่นบาทต่อตัน

**เปิดเอกสารสภาพัฒน์มัดพณ.แหกมติ ครม.

วานนี้ (18 มิ.ย.) มีการเปิดเผยเอกสาร สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่องโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 ที่ส่งถึงสำนักเลขาธิการครม. เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.56 เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของครม. โดยมีเนื้อหาระบุว่า

1. เห็นควรให้ความเห็นชอบเพิ่มเติมมติครม.เมื่อวันที 31 มี.ค.56 เรื่องวงเงินรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 2 ให้ครอบคลุมข้อเสนอของเดิมกระทรวงพาณิชย์ ในข้อ 5.9 เพื่อให้การบริหารเงินในการดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพ โดยการปิดบัญชีในกรณีใดๆ ก็ตาม ซึ่งรวมถึงกรณีที่ต้องใช้เงินเพิ่มเติม จะต้องปิดบัญชีให้อยู่ในกรอบวงเงิน 500,000 ล้านบาท ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เมื่อวันที่ 17 พ.ค.56

2. กระทรวงพาณิชย์ ควรจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน การระบายสต็อกข้าว และกระแสเงินสดของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ที่มีอยู่ให้ครม.ทราบเป็นระยะๆ ตามมติครม. เมื่อวันที่ 29 มี.ค.55, 1 พ.ค.55 และ 31 มี.ค.56 เพื่อให้ครม.มีข้อมูลในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ควรจัดทำระบบการกำกับตรวจสอบการดำเนินงานของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ทั้งกระบวนการให้มีการรัดกุม

3. เพื่อให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในระยะต่อไปมีประสิทธิภาพ และลดภาระงบประมาณรายจ่ายของโครงการฯ กระทรวงพาณิชย์ควรพิจารณาจำกัดปริมาณการรับจำนำ และพื้นที่การผลิตต่อครัวเรือนเกษตรกร โดยเน้นเกษตรกรรายย่อย รวมทั้งเกษตกรที่เพาะปลูกข้าวในพื้นที่ที่เหมาะสมตามประกาศเขตพื้นที่เหมาะสมในการปลูกพืชเศรษฐกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนกำหนดราคาให้สอดคล้องกับราคาของตลาดโลก เพื่อให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งอื่นๆ และรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้

โดยมีข้อสังเกตในข้อ 2 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุชัดเจน ว่า ก.พาณิชย์ ควรรายงานผลการดำเนินงานการระบายข้าวให้ ครม.ทราบเป็นระยะ รวมไปถึงร่วมมือกับ ก.เกษตรฯ ทำระบบตรวจสอบโครงการเพื่อความรัดกุม ขณะที่ในข้อ 3 ยังมีข้อแนะนำว่า ให้ ก.พาณิชย์ จำกัดปริมาณในการรับจำนำ พร้อมทั้งให้ตั้งราคาให้สอดคล้องตลาดโลก เพื่อให้แข่งกับคู่แข่งตางชาติได้ ซึ่งจากข้อเท็จจริงสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ละเมิดมติครม. ไม่ยอมชี้แจงตัวเลขระบายข้าว และเงินหมุนเวียนในโครงการ พร้อมทั้งยังรับจำนำข้าวต่อโดยที่ไม่มีข้อมูล รวมถึงตั้งราคาไม่สอดคล้องตลาดโลก ส่งผลให้เสียประโยชน์ในการส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ

**“โอ๊ค”ยอมจำนำข้าวเจ๊งให้คนไทยได้ทำบุญ

วานนี้ (18 มิ.ย.) นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Oak Panthongtae Shinawatra) โดยระบุถึงเรื่องการจำนำข้าว มีเนื้อหาว่า จำนำข้าว รัฐต้องยอมเสียเปรียบชาวบ้าน รัฐต้องยอมขาดทุน ชาวนาจึงจะลืมตาอ้าปากได้ ฝากดังๆ ถึงรัฐบาล อย่ายกเลิกโครงการเด็ดขาด จะหลงกลพรรคประชาธิปัตย์ทันที

คนไทยยังไงก็ช่วยคนไทยครับ ชาวนาลำบากอย่างไร คนไทยทุกสาขาอาชีพรู้ดีครับ เมืองเราเมืองพุทธ ชอบทำบุญกันอยู่แล้ว ทำบุญกันจนมีข่าวพระนั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ฮือฮากันไปทั่วเน็ต จะทำบุญภาษีอากรสักส่วนหนึ่ง ให้ชาวนาที่เป็นเพื่อนร่วมชาติที่ยังลำบากที่สุด ให้ลืมตาอ้าปากได้สักนิดจะเป็นไรไป ขอเพียงแต่รัฐบาลต้องทำทุกขั้นตอนให้โปร่งใส อย่าให้มีการทุจริตเกิดขึ้น และดูแลให้ตัวเลขค่าใช้จ่ายมันพอเหมาะพอสมเท่านั้น ทำไปเลย ไม่ต้องกลัว

**ชาวนาพิจิตรร่ำไห้ทวงใบประทวน

ด้านนายสุชาติ กะโห้ อายุ 40 ปี ชาวนาในตำบลสายคำโห้ อ.เมือง จ.พิจิตร ซึ่งทำนา 65 ไร่ ได้ผลผลิตข้าว 36 ตัน พร้อมด้วยเพื่อนชาวนาในตำบลเดียวกัน รวม 97 คนที่นำข้าวไปจำนำที่ท่าข้าวหัวดงตัวแทนของโรงสีแอลโกแมนูแฟคเจอร์ ซึ่งเป็นจุดรับจำนำข้าวของ อ.ต.ก.ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 มูลค่ารับจำนำกว่า 100 ล้านบาท เข้าร้องทุกข์ต่อนายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เนื่องจากยังไม่ได้รับใบประทวน ทำให้ไม่สามารถไปขึ้นเงินต่อ ธ.ก.ส.ได้

ทั้งนี้ กลุ่มชาวนาบอกว่าต้องการทวงถามใบประทวนเพื่อจะนำไปขึ้นเงินที่ ธ.ก.ส.ซึ่งที่ผ่านมาทางราชการบอกให้รอและจะได้รับใบประทวนในวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย.56 แต่เมื่อชาวนาและครอบครัวนับ 100 คนไปที่โรงสีปรากฏว่าโรงสีไม่สามารถออกใบประทวนให้ได้ อีกทั้งข้าวในโกดังก็เหลือน้อยนิด เจ้าของโรงสีรวมถึงเจ้าหน้าที่ของ อ.ต.ก.ก็หลบหน้า จึงเข้าร้องทุกข์ต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัด

โดยกลุ่มชาวนาระบุด้วยว่า ภายใน 2-3 วันนี้ หากยังไม่ได้รับใบประทวนเพื่อนำไปขึ้นเงินจะมีการรวมตัวเคลื่อนไหวประท้วงอย่างแน่นอน เนื่องจากหวั่นเกรงว่าเวลานี้มีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะเกิดเหตุการณ์เหมือนกับที่ชาวนาเคยโดนโรงสีแห่งนี้โกงเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งมีพฤติการณ์ลักษณะเดียวกันนี้ โดยครั้งนั้นโรงสีได้โกงชาวนาแล้วยอมติดคุก แต่สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไปก็สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้อีกและเข้าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลด้วย.
กำลังโหลดความคิดเห็น