โฆษกประชาธิปัตย์ โอ่ "วราเทพ" แจงขาดทุนจำนำข้าวตรงเป๊ะกับ "อภิสิทธิ์" จ้อ ซัดต่อไม่ยอมรับขาดทุนปีล่าสุด ถามข้าวที่หายไปถูกคำนวนหรือยัง เชื่อจริงๆ แล้วยอดทะลุ 2.6 แสนล้านแน่ ด้าน "หมอวรงค์" ชมทีมปิดตัวเลขมืออาชีพ ยันข้าว 2.5 ล้านตันที่หายไปมีจริง จี้เปิดจีทูจีชาติไหน ชี้ใครจะรับผิดชอบ ขณะที่ "มัลลิกา" จ่อยื่นกองปราบ,ดีเอสไอสอบข้าวเน่า
วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการขาดทุนโครงการจำนำข้าวว่า การที่นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่า การจำนำข้าวนาปี 54/55 และนาปรังปี 55 มีตัวเลขขาดทุน 1.36 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯได้แถลงไปก่อนหน้านี้คือ โครงการข้าวนาปี ปี54/55 ขาดทุน 42,963 ล้านบาท โครงการข้าวนาปรัง ปี 55 ขาดทุน 93,933 ล้านบาท โดยหากนำตัวเลขการขาดทุนสองฤดูกาลนี้มาบวกกันจะได้ตัวเลขเดียวกับที่นายวราเทพ แถลงผลการขาดทุนสองฤดูกาล 1.36 แสนล้านบาท แต่นายวราเทพ ยังไม่ยอมรับตัวเลขการขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวนาปี ปี 55/56 จำนวน 84,071 ล้านบาท ซึ่งนายอภิสิทธิ์ ได้แถลงไปก่อนหน้านี้ โดยอ้างว่าตัวเลขดังกล่าวยังสรุปไม่ได้เนื่องจากมีการคำนวนสต๊อคข้าวไม่ตรงกัน เพราะยังมีข้าวในสต๊อคอีก 2.5 ล้านตันมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท ที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวไม่ได้คำนวณรวมไว้ จึงให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯไปคำนวณใหม่
"การยอมรับของนายวราเทพ เป็นเครื่องยืนยันว่าตัวเลขที่นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์นำมาเปิดเผยเป็นของจริงที่นำมาจากส่วนราชการและเป็นตัวเลขที่ตรงกับนายวราเทพทุกประการ แต่ที่ไม่ตรงคือนายวราเทพยอมรับตัวเลขสองฤดูกาลแต่ยังไม่ยอมรับตัวเลขการรับจำนำนาปี ปี 55/56 ที่ขาดทุน 84,071 ล้านบาท โดยพยายามที่จะลดตัวเลขการขาดทุนในส่วนนี้ลง"นายชวนนท์ กล่าว
นายชวนนท์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามตัวเลขดังกล่าวเป็นสิ่งที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีรับจำนำข้าวได้สรุปไปแล้ว แต่นายวราเทพ อ้างว่ายังมีตัวเลขข้าวในสต๊อคอีก 2.5 ล้านตันมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯยังไม่ได้คำนวนไว้ และให้คณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯไปพิจารณาใหม่นั้น ไม่เป็นความจริง แต่รัฐบาลพยายามจะลดตัวเลขการขาดทุนในส่วนนี้ และขอตั้งข้อสังเกตว่าตัวเลขข้าวที่อ้างว่ามีอยู่ในสต๊อค 2.5 ล้านตันนั้น ใกล้เคียงกับข้าวถุงที่รัฐบาลมอบให้องค์การคลังสินค้านำข้าวจากโครงการรับจำนำไปบรรจุถุงขายประชาชนในราคาถูกปริมาณ 1.8 ล้านตัน แต่จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมาธิการวุฒิสภาฯพบว่า มีการผลิตออกสู่ตลาดจริง เพียงแค่ 1.4 แสนตัน เท่ากับว่ามีข้าวล่องหนไปจาก อคส.ประมาณ 1.66 ล้านตัน มีมูลค่าความเสียหายต่อรัฐถึง 2.57 หมื่นล้านบาท จึงมีคำถามว่าข้าวที่หายไปถูกคำนวนในสต๊อกข้าวนาปี 55/56 ด้วยหรือไม่ และสงสัยว่านับสต๊อกซ้ำหรือทำสต๊อกลมหรือไม่ เนื่องจากยิ่งพูดยิ่งมั่ว มีแผลเปิดใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ จึงอยากให้รัฐบาลตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง
นายชวนนท์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังพบว่าในการจัดสรรงบประมาณแต่ละปีรัฐบาลจะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายขาดปีละประมาณ 1.5 หมื่นล้าน สองปีรวม 3 หมื่นล้าน ยังไม่รวมกับค่าบริหารโครงการรับจำนำในส่วนอื่น ดังนั้นตัวเลขการขาดทุนที่ 2.6 แสนล้านนั้นความจริงแล้วน่าจะขาดทุนมากกว่า 2.6 แสนล้านด้วยซ้ำ จึงเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า อย่าเล่นเรื่องตัวเลขด้วยการเบี่ยงเบนว่าไม่ใช่ 2.6 แสนล้าน เพราะความจริงคือน่าจะเลย 2.6 แสนล้านด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการแก้ปัญหาการทุจริตและความไม่โปร่งใสในโครงการ เพราะการที่ครม.จะมีมติลดโควต้าการจำนำข้าว หรือลดราคาจำนำนั้น ก็แสดงถึงการยอมรับความล้มเหลวว่าไม่สามารถเดินหน้าโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ด 1.5 หมื่นบาทได้ แต่คำถามต่อไปคือต้องถามว่าได้ลดการทุจริตที่เงินรั่วไหลออกนอกระบบหรือไม่ เพราะในขณะที่ขาดทุนจากโครงการนี้ 2.6 แสน ล้าน เกษตรกรได้แค่ 8.6 หมื่นล้าน เท่ากับเกษตรกรได้เงินเพียง 30 % เท่านั้น หากลดราคาจำนำลงเกษตรกรได้ประโยชน์ลดลงแต่การรั่วไหลจากการทุจริตเท่าเดิม จึงต้องถามว่ารัฐบาลจะทำอย่างไรให้เงินที่เสียไปทุกบาททุกสตางค์ถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง แต่รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการป้องกันการทุจริตคิดแต่ลดประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับ แสดงว่ารัฐบาลไม่ได้คิดถึงเกษตรกรแต่คิดเดินหน้าโครงการโดยที่ให้มีการโกงต่อไป แต่เกษตรกรได้รับประโยชน์น้อยลงจนอาจไม่เหลือแม้แต่ก้านไอติมให้ชาวนาด้วยซ้ำ
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลพยายามลดตัวเลขการขาดทุน แต่ตนขอชื่นชมความเป็นมืออาชีพของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ที่ นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ที่มีการยืนยันตัวเลขการสรุปปิดบัญชีที่ระบุว่าสินค้าคงคลังต้องลงบัญชีราคาตลาดต่ำสุด และกรณีที่อ้างว่ามีการลงบัญชีสต๊อคข้าวหายไป 2.5 ล้านตัน โดยทางคณะอนุกรรมการปิดบัญชีฯ ยืนยันว่าต้องมีการตรวจสอบอย่างจริงจังเกี่ยวกับสต๊อคข้าว อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าตัวเลขนิ่งพอที่จะสรุปบัญชีได้แล้วแต่รัฐบาลเองที่ไม่นิ่งเพราะต้องการลดตัวเลขการขาดทุน จึงพยายามทำให้ตัวเลขมีปัญหาหรือคลาดเคลื่อน ในส่วนของโครงการรับจำนำข้าวนาปี ปี 55/56 ที่คณะอนุกรรมการฯสรุปไปแล้วว่าขาดทุน 84,071 ล้านบาท ซึ่งตนยืนยันว่าตัวเลขดังกล่าวนิ่งแล้ว
นพ.วรงค์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเมื่อรัฐบาลยังไม่ยอมรับตัวเลขขาดทุนในปี 55/56 จึงขอแจกแจงตัวเลขเพื่อให้เห็นชัดเจนว่าในการปิดบัญชีของคณะอนุกรรมการฯ พบว่ามีข้าวสาร 1.7 ล้านตัน ข้าวเปลือก 2.9 ล้านตัน จึงสรุปการขาดทุนที่ 84,071 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากนำข้าว 2.5 ล้านตันมาคำนวณเพิ่มก็จะเท่ากับปริมาณการรับจำนำข้าวเปลือก 9.9 ล้านตัน เท่ากับว่ารัฐบาลยังไม่มีการระบายข้าวออกเลยแม้แต่เมล็ดเดียวจึงขอตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลเสกตัวเลขหรือไม่ แต่แม้จะรวมข้าว 2.5 ล้านตันเข้ามาแล้วก็จะมีการขาดทุนไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาท เพราะราคาต้นทุนข้าวสารอยู่ที่ 2.4 หมื่นบาทต่อตันแต่รัฐขายได้ไม่เกิน 1.4 หมื่นบาทต่อตัน ทำให้รัฐขาดทุน 1 หมื่นบาทต่อตัน
"ผมยืนยันว่าหากตัวเลขข้าว 2.5 ล้านตันมีจริง ตลอด 1 ปี 4 เดือนในการบริหารโครงการนี้ คือตั้งแต่รัฐบาลบริหารประเทศจนถึงวันที่มีการสรุปปิดบัญชีโครงการรับรับจำนำข้าวเมื่อวันที่ 31 ม.ค.56 รัฐบาลจะขาดทุนจากโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน แต่ถ้ารวมค่าบริหาร ค่าเสื่อมสภาพอีกร้อยละ 20 ก็จะเป็นตัวเลข 2.4 แสนล้านบาท"นพ.วรงค์ กล่าว
นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่า โครงการไปไม่รอดการลดราคาจำนำก็ไม่แน่ใจจะไปรอดหรือไม่ เพราะอุปสรรคคือการทุจริตและปัญหาการระบายข้าว สิ่งที่ต้องแก้คือความโปร่งใสของโครงการโดยเฉพาะขั้นตอนการระบายข้าว รัฐบาลต้องเอาตัวเลขมายืนยันว่าจีทูจีขายประเทศไหน ปริมาณเท่าไหร่ ราคาเท่าไหร่ ซึ่งจะลดปัญหาการทุจริตได้ แต่รัฐบาลพยายามเบี่ยงเบนข้อมูลจากความจริง ทั้งนี้ตนอยากถามว่าภาวะขาดทุนเกิดขึ้นชัดเจนโดยที่รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้จึงอยากถามว่าใครรับผิดชอบ ส่วนปัญหาเรื่องข้าวถุงนั้นต้องตรวจสอบรายละเอียดว่านำข้าวจากโครงการรับจำนำฤดูกาลใดมาทำข้าวถุง
ขณะที่ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาเรื่องข้าวเน่าในโกดังรับจำนำข้าวของรัฐบาลว่า พรรคได้นำเสนอข้อมูลนี้หลายครั้งตั้งแต่ข้าวเน่าที่พิษณุโลก และแพร่ ซึ่งตนได้เคยมีการเรียกร้องให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบทุกโกดังที่รับจ้างรัฐบาลเก็บข้าวแต่รัฐบาลไม่เคยมีการตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว โดยล่าสุดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา อำเภอพนามสารคาม พบโกดังข้าวเน่าเนื่องจากการเก็บรักษาข้าวจากโครงการรับจำนำข้าวนาปี ปี 2554/2555 ไม่มีคุณภาพ หากนำไปแปรสภาพเพื่อบรรจุถุงจะต้องใช้สารเคมีที่อันตรายต่อการบริโภคอย่างยิ่ง และไม่สามารถส่งออกเพื่อจำหน่ายได้
น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า สำหรับโรงสีที่จังหวัดแพร่ซึ่งตนเคยนำเสนอปัญหาเรื่องข้าวเน่าไปแล้วนั้นในปัจจุบันก็ไม่มีการตรวจสอบ เพราะมีผู้ถือกุญแจอยู่สามคนคือตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ คลัง และตำรวจ แต่ไม่มีใครกล้าเปิดโกดังให้ตรวจสอบเพราะกลัวเดือดร้อน เป็นเครื่องยืนยันว่านอกจากรัฐบาลสร้างความเสียหายอย่างมากแล้วยังมีปัญหาเรื่องการเก็บรักษาด้วย จึงต้องถามว่าโรงสีที่ทำโครงการกับรัฐบาลที่ไม่มีคุณภาพเช่นนี้เป็นเพราะมีนักการเมืองระดับชาติหนุนหลังหรือมีสัมพันธ์พิเศษมาตั้งแต่รัฐบาลทักษิณหรือไม่ เพราะบางโรงสีเคยถูกขึ้นบัญชีดำในยุคทักษิณ แต่กลับได้งานอีกในยุคยิ่งลักษณ์ทั้งนี้ตนจะไปยื่นหนังสือเพื่อให้กองปราบ หรือดีเอสไอตรวจสอบเรื่องนี้ เพราะต้องรีบไปตรวจสอบก่อนที่จะมีการโยกย้ายหรือทำลายหลักฐาน
นางสาวมัลลิกา กล่าวด้วยว่า หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ดำเนินการตั้งเจ้าพนักงานตรวจสอบกระบวนการเก็บรักษาข้าวเหล่านี้ ตนจะตั้งศูนย์ประจำพรรคร่วมกับรายการสน.อาสาของบลูสกายแชนแนล เพื่อรับเรื่องร้องเรียนเรื่องการเก็บรักษาข้าวที่ไม่มีคุณภาพของโกดังที่ร่วมโครงการรับจำนำข้าวเป็นการเฉพาะ โดยขอให้ประชาชนช่วยนำหลักฐานหรือแจ้งเบาะแสได้เพื่อนำหลักฐานทั้งหมดยื่นต่อกองปราบหรือดีเอสไอต่อไป